ทำไมแก้ไฟใต้ไม่ค่อยคืบหน้า ทำไมเจรจาไม่ค่อยขยับ?
รายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.ออกโทรทัศน์ชี้แจงความคืบหน้าการทำงานต่อประชาชนคนไทยในทุกๆ สัปดาห์นั้น เป็นที่น่าสังเกตว่าระยะหลังมีการพูดถึงปัญหาภาคใต้มากขึ้น
ล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว (15 ส.ค.) ท่านประยุทธ์ บอกว่าเรา (น่าจะหมายถึง คสช.) จะพยายามทำให้ดีที่สุด แต่ก็ออกตัวว่าการต่อสู้ (ความรุนแรง) จะยังคงมีอยู่ เพราะอีกฝายยังไม่บรรลุจุดประสงค์ที่ต้องการ ส่วนเรื่องการเจรจาก็กำลังประสานกับทางมาเลเซีย ในฐานะผู้อำนวยความสะดวก เพราะไทยจะปรับโครงสร้างใหม่ (น่าจะหมายถึงโครงสร้างคณะพูดคุย ซึ่งมีข่าวว่าจะแบ่งเป็น 4 คณะ)
พอผู้มีอำนาจในบ้านเมืองพูดเรื่องเจรจาขึ้นที ก็เกิดกระแสขึ้นมาที เพราะมีหลายกลุ่มหลายฝ่ายลุ้นตัวโก่งให้มีการพูดคุยเจรจากันเร็วๆ บ้างก็จริงใจอยากให้ภาคใต้สงบ บ้างก็หวังประโยชน์เฉพาะตนเฉพาะกลุ่ม
อย่างไรก็ดี เท่าที่ตรวจสอบข่าวจากหลายแหล่งได้รับการยืนยันแบบนี้
1.การพูดคุยรอบใหม่แบบเป็นทางการยังไม่คืบหน้า เพราะข่าวจากทางการมาเลเซียเองก็ยืนยันว่าทุกอย่างยังนิ่ง
2.โครงสร้างฝ่ายไทยยังไม่นิ่ง เพราะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ คปต. ที่เพิ่งถูกตั้งขึ้นให้เป็นเจ้าภาพรับผิดชอบภารกิจดับไฟใต้ในยุค คสช.นั้น กำลังจะเปลี่ยนตัวอีก หากโผโยกย้ายนายทหารเป็นจริงตามข่าว คือ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รอง ผบ.ทบ. (ประธาน คปต.คนปัจจุบัน) ขยับขึ้นเป็น ผบ.ทบ. ประธาน คปต.ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นรอง ผบ.ทบ.โดยตำแหน่ง ก็ต้องเปลี่ยนตัวใหม่
ข่าวว่า พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้ช่วย ผบ.ทบ. จะขยับขึ้นเป็นรองผบ.ทบ. ฉะนั้นประธาน คปต.คนใหม่อาจเป็น พล.อ.ไพบูลย์ อดีตผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส ซึ่งมีบุคลิกและสไตล์การทำงานคนละด้านกับ พล.อ.อุดมเดช ก็ต้องดูว่านโยบายและวิธีการแก้ไขปัญหาจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร หรือไม่
3.มีความเคลื่อนไหวบางด้านว่ามีการไปประสานให้อินโดนีเซียมาร่วมเป็น "ผู้อำนวยความสะดวก" ในกระบวนการพูดคุยด้วย โดยเฉพาะที่มีผู้สื่อข่าวของรายการข่าวชื่อดังทางโทรทัศน์ เดินทางไปทำสกู๊ปที่อาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย และมีการรายงานทำนองว่าอาเจะห์ก็พร้อมเป็นคนกลางจัดการพูดคุยเพื่อแก้ไขปัญหาภาคใต้ของไทย เรื่องนี้สร้างความสับสนให้กับทางการมาเลเซียไม่น้อยว่าไทยจะเอาอย่างไรแน่
4.มีความพยายามชิงการนำกันระหว่างหน่วยงานด้านความมั่นคงบางหน่วยในระดับดุเดือดพอสมควร ซึ่งการชิงการนำนั้น ก็รวมไปถึงการพยายามดึงอินโดฯเข้ามาร่วมวงสร้างสันติภาพด้วย
จริงๆ ประเด็นอินโดฯนี้ หลายฝ่ายในประเทศไทยก็เห็นด้วย แม้แต่ คุณสุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันเป็นประธานคณะมนตรีเพื่อสันติภาพและความปรองดองแห่งเอเซีย หรือ APRC (มีอดีตผู้นำมาเลเซีย อดีตรองประธานาธิบดีอินโดนีเซียร่วมเป็นคณะมนตรี) ที่กำลังแสดงบทบาทคลี่คลายข้อพิพาทในทะเลจีนใต้อย่างขะมักเขม้น ก็เห็นด้วยหากอินโดนีเซียจะร่วมเป็นผู้อำนวยความสะดวกกับมาเลเซีย ในกระบวนการพูดคุยดับไฟใต้
เพราะอินโดฯมีอิทธิพลไม่น้อยกับคนบางกลุ่มในสามจังหวัด โดยเฉพาะกลุ่มที่ไปจบการศึกษาจากอินโดฯ
ฉะนั้นเรื่องนี้จึงสรุปได้ว่าการมีผู้อำนวยความสะดวกแบบ "แพ็คคู่" ทั้งมาเลย์และอินโดฯ เป็นโมเดลในฝันของไทย ซ้ำยังลดอิทธิพลของมาเลเซียลง ซึ่งมาเลเซียถือเป็น party to the conflict หรือผู้มีส่วนในความขัดแย้งนี้โดยตรง เพราะมีพรมแดนติดกับไทย และมีผู้เห็นต่างจากรัฐ (ทั้งกลุ่มที่ใช้ความรุนแรงและไม่ใช้) พำนักอยู่ในมาเลย์จำนวนมาก
แต่ปัญหาคือรัฐบาลพรรคเพื่อไทยไปเปิดตัวมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกแล้ว หากจะให้อินโดฯมาแชร์ด้วย มาเลเซียจะรู้สึกอย่างไร เพราะ นายนาจิบ ราซัก นายกฯมาเลเซียเอง ก็ต้องการสถานะ Father of peace หรือผู้นำในการสร้างสันติภาพแห่งภูมิภาคนี้
นั่นคือเรื่องเจรจา ซึ่งถ้าพูดแบบตรงไปตรงมาก็ต้องบอกว่ายังไม่คืบหน้าอะไรนัก
ส่วนอีกเรื่องคือปัญหาในระดับพื้นที่ ต้องยอมรับว่าไม่ดีขึ้นเช่นกัน มีระเบิดเกือบทุกวัน มีความสูญเสียเกือบทุกรอบ ทั้งที่ส่วนใหญ่เป็นการวางแบบเร่งด่วน คือ ไม่ใช่ขุดหลุมฝัง หรือซุกระเบิดไว้ในท่อลอดใต้ถนนซึ่งถือว่ามีการเตรียมการ แต่ระยะหลังเป็นการมาวางแบบฉาบฉวยกันเห็นๆ หากเป็นเมื่อก่อนระเบิดแบบนี้มักไม่ค่อยก่อความสูญเสีย พลาดเป้าบ้าง ทำงานไม่สมบูรณ์บ้าง แต่ปัจจุบันเห็นชัดถึงพัฒนาการ
ฟังมาจากพื้นที่ว่า ความรุนแรงรายวันที่เพิ่มขึ้น ด้านหนึ่งเป็นเพราะฝ่ายความมั่นคงเปิดเกมรุกทุกด้าน ในท่วงทำนองของการกวาดล้างธุรกิจผิดกฎหมาย ซึ่งในแง่นี้ต้องชม พล.ท.วลิต โรจนภักดี แม่ทัพภาคที่ 4 ที่ขยันจริงๆ แถมยังไล่จี้ ไล่บี้ทุกเรื่อง ทั้งคดีความมั่นคงและภัยแทรกซ้อน (คดีอาญาที่เกิดจากกลุ่มอิทธิพลธุรกิจใต้ดิน)
แต่เหรียญย่อมมี 2 ด้านเสมอ เพราะต้องเรียนความจริงกับท่านว่า คนทำงานในพื้นที่เขาอึดอัดอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน เพราะบางเรื่องเขาก็ทำไม่ไหว บางเรื่องก็เป็นธรรมชาติของพื้นที่ชายแดน การบี้หนักๆ เหมือนเปิดศึกพร้อมกันทุกด้าน บางทีอาจส่งผลร้ายมากกว่าผลดี
ส่วนตัวมองเห็นความตั้งใจที่ดี เพราะข้อมูลมันบ่งชี้ไปทางนั้น กล่าวคือ เมื่อเร็วๆ นี้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้สรุปตัวเลขคดีความมั่นคงในรอบกว่า 10 ปีไฟใต้ ปรากฏว่ามีเพียง 3% กว่าๆ จากคดีอาญาในพื้นที่ทั้งหมดกว่า 2 แสนคดี เมื่อเป็นแบบนี้ยุทธศาสตร์จึงอาจกำลังถูกปรับใหม่ โดยมุ่งเน้นไปที่การปราบปรามกลุ่มอิทธิพลแทน ทั้งอิทธิพลการเมืองท้องถิ่น และธุรกิจผิดกฎหมาย
แต่การจะลุยล้างอิทธิพล ย่อมหมายความว่า "มาตรการรับมือการโต้กลับ" ต้องดีพอด้วย การข่าวต้องชัดเจน และต้องขอแรงสนับสนุนจากประชาชน แต่ที่ผ่านมาการสื่อสารกับคนในพื้นที่ดูจะน้อยไป
ที่ว่าการข่าวต้องชัดเจน เพราะปัญหามันเกิดมานาน มันก็ย่อมซับซ้อนขึ้น อย่างวันก่อนมีการจับกุมแก๊งขโมยปืนของกลางจากจุดเกิดเหตุปะทะ ซึ่งหากเจ้าหน้าที่ตามจับไม่ได้ ปืนนั้นก็จะกลายเป็นปืนของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง (ขบวนการแบ่งแยกดินแดน) ที่สูญหายไป อาจจะสรุปว่าเป็นปืนที่คนร้ายพาหนีไปด้วย แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ แก๊งขโมยปืนสามารถนำปืนไปแก้แค้นเอาคืนกันเรื่องอื่น เช่น การเมือง แล้วโยนไปเป็นเรื่องขบวนการแบ่งแยกดินแดนได้สบาย อย่างนี้เป็นต้น
ส่วนในด้านการแก้ไขปัญหาเรื่องการใช้ความรุนแรงของกลุ่มที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนซึ่งถูกปลุกระดมให้เกลียดชังรัฐไทย เกลียดชังเจ้าหน้าที่ ไปจนถึงคนไทยพุทธ ทำให้ฆ่าได้กระทั่งคนแก่ คนพิการที่ไร้ทางสู้นั้น ตรงนี้ดูจะยังไม่มียุทธศาสตร์อะไรรองรับชัดเจน ทำให้คลื่นความรุนแรงในพื้นที่ไม่เปลี่ยนแปลง...
ไม่ว่าจะส่งสัญญาณเจรจาหรือไม่ก็ตาม!
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : กราฟฟิกเส้นทาง 20 ปีเจรจาดับไฟใต้ สะท้อนความไม่คืบหน้าของการแก้ไขปัญหา
อ่านประกอบ :
ผ่าโครงสร้าง คปต.ดับไฟใต้ เปิด 4 คณะ"พูดคุยสันติสุข"
ทำไมต้องเปลี่ยนจาก "พูดคุยสันติภาพ" เป็น "พูดคุยเพื่อสันติสุข"
เปิดแฟ้มหน่วยข่าว...ย้อนรอย 20 ปีเจรจาดับไฟใต้
-
file download