เปิดแฟ้มหน่วยข่าว...ย้อนรอย 20 ปีเจรจาดับไฟใต้
เป็นที่ทราบกันดีว่าการพูดคุยเจรจากับกลุ่มขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้มีขึ้นเป็นครั้งแรกในปีนี้หลังจากที่ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ไปลงนามในข้อตกลงริเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพกับ นายฮัสซัน ตอยิบ แกนนำขบวนการบีอาร์เอ็น เมื่อวันที่ 28 ก.พ.และนัดหมายพูดคุยกันต่อเนื่องมา
แต่น้อยคนนักที่จะทราบว่าการพูดคุยเจรจาดำเนินมาอย่าง (ไม่) ต่อเนื่อง แต่ยาวนานถึง 20 ปีแล้ว โดยมีการพูดคุยอย่างเป็นทางการนับได้ทั้งสิ้นถึง 17 ครั้ง!
ความแตกต่างอย่างสำคัญระหว่างการพูดคุยเจรจา 17 ครั้งที่ผ่านมา กับครั้งที่กำลังทำอยู่ในปัจจุบันนี้ก็คือ เป็นการพูดคุยแบบปิดลับ และไม่มีการลงนามในเอกสารใดๆ
แน่นอนว่าการพูดคุยเจรจาในแต่ละรูปแบบ ย่อมมี "จุดแข็ง" และ "จุดอ่อน" ในตัวของมันเอง อาจจะสรุป ณ เวลานี้ไม่ได้ว่ารูปแบบใดดีกว่า เพราะยังไม่มีรูปแบบไหนที่เดินหน้าเข้าใกล้ความสำเร็จอย่างแท้จริง ทว่าบทเรียนจากอดีตหากหยิบมาเรียนรู้และทำความเข้าใจ ย่อมส่งผลดีแน่กับปัจจุบันและอนาคตของกระบวนการพูดคุยสันติภาพ
เปิดไทม์ไลน์เจรจาดับไฟใต้
ข้อมูลจากหน่วยข่าวความมั่นคง ระบุว่า การพูดคุยเจรจาอย่างเป็นทางการระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐนั้น เริ่มขึ้นครั้งแรกเมื่อราว 20 ปีก่อน และดำเนินการต่อเนื่องมา โดยแยกเป็นห้วงเวลาได้ดังนี้
ปี 2536 ภายใต้การนำของกองทัพภาคที่ 4 แบ่งการพูดคุยออกเป็น 2 ลักษณะ กล่าวคือ
- ส่งคนไปหาข่าวและพูดคุยเจรจาไปด้วยในตัว
- พูดคุยเพื่อชักชวนให้กลับมาร่วมโครงการพัฒนาชาติไทย โดยเปิดทางแก้ปัญหาเกี่ยวกับคดีความและไกล่เกลี่ยคู่ความ
การพูดคุยเจรจาในห้วงนี้เกิดขึ้นที่กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ และกรุงดามัสกัส ประเทศซีเรีย โดยที่ซีเรียเป็นการคุยกับประธานผู้ก่อตั้งองค์การพูโล คือ ตนกูนีรอ กอตอนีลอ (ราวปี 2536-2537)
แต่ปัญหาก็คือ คณะเจรจาไปลงนามรับรองผลการประชุม ฝ่ายขบวนการจึงนำข้อมูลส่งให้โอไอซี (องค์การการประชุมอิสลาม : ชื่อในขณะนั้น) ว่าขบวนการสามารถยกระดับการพูดคุยได้แล้ว ทำให้แม่ทัพภาคที่ 4 สั่งยุติกระบวนการทั้งหมด
ปี 2538 รัฐบาลไทยยุค นายชวน หลีกภัย ตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการพูดคุยอีกครั้งจากการชักนำของอธิบดีกรมตำรวจของมาเลเซียที่เดินทางเยือนประเทศไทย โดยมีการตั้งคณะกรรมการร่วมสองฝ่ายระหว่างสันติบาลมาเลเซีย กับกองทัพภาคที่ 4 ของไทย ได้ข้อสรุปคือ
- ใช้กฎหมายมาเลเซียจับกุมผู้ที่กระทำความผิดและมีหมายจับจากทางการไทยชัดเจน
- ใช้กระบวนการพูดคุยกับกลุ่มนักคิดอาวุโสของขบวนการ
ปี 2538-2540 จากการทำงานร่วมกันดังกล่าว นำมาสู่การจับกุมสมาชิกขบวนการพูโลคนสำคัญ 4-5 คน แต่ปัญหาคือทั้งสองฝ่ายมีข้อตกลงร่วมกันว่าให้ส่งตัวในทางลับ และให้ฝ่ายไทยออกข่าวว่าจับกุมตัวได้เอง แต่ตำรวจไทยกลับไปเปิดเผยว่ามาเลเซียให้ความร่วมมือ ทำให้มาเลเซียรู้สึกว่าถูกหักหน้าในฐานะที่เป็นประเทศมุสลิม แต่กลับส่งคนมุสลิมให้ประเทศพุทธ ส่วนกลุ่มนักคิดอาวุโส ยังไม่ได้เริ่มต้นพูดคุยเพราะทางกองทัพภาคที่ 4 เห็นว่าควรใช้วิธีการทางกฎหมายอย่างเดียว กระบวนการจึงหยุดไป
ปี 2540-2542 รัฐบาลไทยเริ่มมีนโยบายด้านสังคมจิตวิทยา ให้น้ำหนักเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ สังคม ประกอบกับบทบาทของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ในช่วงนั้นได้รับความไว้วางใจจากชาวบ้านมาก ทำให้สถานการณ์ความไม่สงบเบาบางลง
ปี 2544-2545 ช่วงรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยการ ยุบ ศอ.บต. และ พตท.43 หรือกองกำลังผสมพลเรือน ตำรวจ ทหารที่ 43 เมื่อปี 2545 และให้กองทัพรับผิดชอบป้องกันแนวชายแดนอย่างเดียว ส่วนงานปราบปรามมอบให้ตำรวจดำเนินการ
ปี 2545-2546 ตำรวจก่อเงื่อนไขในพื้นที่มากมาย กระทั่งสถานการณ์สุกงอม เกิดเหตุการณ์ปล้นปืนครั้้งใหญ่เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547 แม้สำนักข่าวกรองแห่งชาติ (สขช.) จะประเมินว่ามีกระบวนการบ่มเพาะนักรบหรือนักต่อสู้มาเป็นเวลา 8-10 ปีก่อนหน้านั้น แต่ก็เชื่อว่าปัญหาจากฝ่ายรัฐเองเป็นตัวเร่งให้สถานการณ์สุกงอม
ปี 2547-2548 เกิดเหตุรุนแรงรายวัน
ปลายปี 2548 พ.ต.ท.ทักษิณ ได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของสหรัฐ ว่ามีองค์กรเอกชนระหว่างประเทศประสานงานและเข้าถึงขบวนการแบ่งแยกดินแดนได้ จึงมอบหมายให้ ส.ส.พรรคไทยรักไทยในขณะนั้น ซึ่งเป็นอดีตนายทหารและเคยเป็นผู้บังคับบัญชาระดับสูงใน ศรภ. (ศูนย์รักษาความปลอดภัย) เดินทางไปพูดคุยกับสมาชิกองค์การพูโล 2 กลุ่ม และแกนนำกลุ่มบีไอพีพี ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แต่หลังจากการพูดคุยกัน 2 ครั้ง คณะพูดคุยฝ่ายไทยประเมินว่าไม่น่าจะได้ผล กระบวนการจึงยุติลง
ปี 2549 คณะกรรมการยุทธศาสตร์สันติวิธี สมช. ซึ่งมีกรรมการเป็นนักวิชาการจากภายนอกรวมอยู่ด้วย ได้เสนอให้ พ.ต.ท.ทักษิณ เปิดกระบวนการพูดคุยขึ้นอีกครั้ง มีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้น 2 ระดับ คือ คณะกรรมการอำนวยการ มี กองทัพบก สขช. กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงยุติธรรม และ สมช.ร่วมเป็นกรรมการ มี พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเป็นประธาน และมีคณะกรรมการพูดคุย ทำหน้าที่พูดคุยโดยตรงอีกคณะหนึ่ง แต่การพูดคุยในช่วงนี้ยังไม่สามารถสร้างความไว้วางใจให้กับกลุ่มขบวนการได้
ปี 2549 (หลังรัฐประหาร) ถึงปี 2550 พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี นั่งเป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการพูดคุยสันติภาพด้วยตัวเอง และให้การสนับสนุนเต็มที่ อนุมัติงบประมาณให้คณะทำงานเป็นครั้งแรก ทำให้การพูดคุยมีความคืบหน้าอย่างมาก กล่าวคือ
- ดีพีพี หรือสภาองค์กรนำของบีอาร์เอ็นซึ่งมี 8 คน มีมติให้อุสตาซอาวุโสคนหนึ่งเป็นตัวแทนมาพูดคุย
- เป้าหมายการพูดคุยเปลี่ยนแปลงไปเป็นการสร้างพันธมิตรเพื่อร่วมกันหาทางออกจากความขัดแย้ง และเป็นที่มาของนโยบายพูดคุยกับผู้มีอุดมการณ์แตกต่างจากรัฐ โดยมองคนเหล่านั้นเป็น partnership หรือหุ้นส่วน จุดนี้เองทำให้ฝ่ายบีอาร์เอ็นไว้วางใจรัฐบาลไทยมาก ถึงขึ้นเปิดวงพบปะพูดคุยระหว่าง พล.อ.สุรยุทธ์ กับแกนนำขบวนการที่ประเทศบาห์เรน โดยฝ่ายขบวนการเริ่มส่งสัญญาณบวกเข้ามายังพื้นที่
ปี 2551 เปลี่ยนรัฐบาลจาก พล.อ.สุรยุทธ์ เป็นรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช และเปลี่ยนตัวเลขาธิการ สมช.เป็น พล.ท.สุรพล เผื่อนอัยกา ซึ่งได้เสนอให้ยุติการพูดคุย
ปี 2552-2554 รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้รื้อฟื้นกระบวนการพูดคุยขึ้นใหม่ มีคำสั่ง สมช.ตั้งคณะกรรมการพูดคุยสันติภาพ มี ดร.มารค ตามไท เป็นประธาน มีการริเริ่มกระบวนการสร้างความไว้วางใจ
- กลางปี 2553 ฝ่ายไทยขอให้บีอาร์เอ็นส่งคนในขบวนการต่อสู้มาพูดคุย
- มีการแสดงความจริงใจต่อกันด้วยการขอให้แต่ละฝ่ายไปหาวิธีลดความรุนแรง สรุปคือให้ลดความรุนแรงบางพื้นที่ใน จ.นราธิวาส โดยฝ่ายบีอาร์เอ็นให้ฝ่ายไทยเลือกอำเภอเองเพื่อแสดงศักยภาพว่าสามารถทำได้จริง ทางกองทัพบกจึงกำหนดให้เป็น อ.บาเจาะ อ.เจาะไอร้อง และ อ.ยี่งอ ระยะเวลา 1 เดือน (มิ.ย.ถึง ก.ค.) ต้องปลอดการโจมตีด้วยระเบิดทุกประเภท ยุติการกระทำต่อพลเรือนและผู้บริสุทธิ์
- ฝ่ายบีอาร์เอ็นแจ้งว่า สามารถยุติการกราดยิงในย่านชุมชนและยุติระเบิดได้ทุกกรณี แต่ไม่สามารถหยุดเหตุยิงรายวันตามท้องถนนได้เพราะมีหลายเหตุปัจจัย ขณะที่ฝ่ายกองทัพบกไทยสั่งการให้ยุติการปิดล้อม ตรวจค้น จับกุมชั่วคราว แต่ไม่หยุดหากมีการปะทะซึ่งหน้า
- ผลสรุปการทดลองลดความรุนแรง ปรากฏว่ามีเหตุการณ์เกิดขึ้น 8 ครั้ง ไม่มีเหตุยิงปะทะเลย แต่มีระเบิด 1 ครั้ง ฝ่ายบีอาร์เอ็นชี้แจงว่าเป็นคนจากนอกพื้นที่เข้าไปทำ โดยทั้ง 8 เหตุการณ์บีอาร์เอ็นสามารถอธิบายได้ทั้งหมดว่าเกิดจากอะไร เช่น มี 3 เหตุการณ์เป็นเรื่องยาเสพติด เป็นต้น
- ปลายปี 2553 คณะทำงานพูดคุยสันติภาพประสานงานกันเพื่อทดลองลดเหตุรุนแรงรอบ 2 โดยขยายขอบเขตพื้นที่มากขึ้น และเพิ่มน้ำหนักเรื่องการพัฒนา โดยให้ตัวแทนในท้องถิ่น และตัวแทนของขบวนการที่เป็นตัวเปิดในพื้นที่เข้าร่วมกระบวนการพัฒนาตามที่ท้องถิ่นต้องการ ทั้งสองฝ่ายเห็นด้วยในหลักการทั้งหมด แต่รัฐบาลอภิสิทธิ์ยุบสภาเสียก่อนช่วงกลางปี 2554 ทุกอย่างจึงสะดุดหยุดลง
ปลายปี 2554 (หลังเลือกตั้ง) รัฐบาลพรรคเพื่อไทยเข้ามาบริหารประเทศ ได้ปรับเปลี่ยนตัวบุคคลใน สมช.ที่เคยร่วมกระบวนการพูดคุยสันติภาพทั้งหมด แต่ยังมีสิ่งที่ผลักดันต่อมาจนเกิดผลเป็นรูปธรรม คือ นโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2555-2557 ซึ่งมีการกำหนดไว้ในข้อ 8 จาก 9 ข้อ เรื่องการพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ถือเป็นพื้นฐานของกระบวนการพูดคุยในปัจจุบันนี้
ปี 2555 รัฐบาลให้น้ำหนักมาเลเซียมากขึ้น มีการตั้งคณะทำงานร่วมระหว่าง สมช.ของทั้งสองประเทศ แต่ต่อมากลับมีสัญญาณจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ให้สันติบาลมาเลเซียกับ ศอ.บต.เป็นผู้ประสานงาน
มี.ค.2555 พ.ต.ท.ทักษิณ เดินทางไปมาเลเซียและเปิดการพูดคุยกับแกนนำขบวนการทุกกลุ่มรวม 16 คน
31 มี.ค.2555 เกิดเหตุคาร์บอมบ์ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และ อ.เมือง จ.ยะลา
28 ก.พ.2556 พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สมช.เป็นตัวแทนลงนามในข้อตกลงริเริ่มกระบวนการสันติภาพครั้งใหม่กับแกนนำขบวนการบีอาร์เอ็น ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการพูดคุยอย่างเปิดเผย และลงนามเป็นลายลักษณ์อักษร
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ไทม์ไลน์แสดงการเจรจาสันติภาพดับไฟใต้ในแต่ละห้วงเวลาย้อนหลังกลับไป 20 ปี พร้อมเหตุการณ์สำคัญในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
ขอบคุณ : ฝ่ายกราฟฟิก หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
หมายเหตุ : ชมกราฟฟิกขนาดใหญ่ขึ้นในเฟซบุ๊คของอิศรา