- Home
- Thaireform
- สัมภาษณ์ - ปาฐกถา
- ‘ผู้ว่าฯ กฟผ.’ กับคำถาม ใครทำให้คนไทยกลัวถ่านหิน
‘ผู้ว่าฯ กฟผ.’ กับคำถาม ใครทำให้คนไทยกลัวถ่านหิน
“การศึกษาที่ผ่านมามักพบโรงไฟฟ้าถ่านหินมีผลกระทบ ซึ่งนั่นเป็นการศึกษาโรงไฟฟ้าถ่านหินรุ่นเก่า แต่หากมีการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าไปจะสามารถควบคุมได้ แต่ก็ยังไม่เชื่อ”
“การระบุโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ ก่อให้เกิดผลเสียด้านต่าง ๆ ซึ่งบางครั้งมีการเขียนเกินเลยความจริงไปมาก ภาษาปัจจุบันเรียกว่า ดราม่า”
สุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยในเวทีเสวนา ‘คนไทยกลัวอะไร ถ้ามีโรงไฟฟ้าถ่านหิน’ ณ สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ถึงภาพจำของคนไทยส่วนใหญ่ต่อกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งเลี่ยงไม่พ้นจะนึกถึงโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง
โดยเขาคุยว่า มีการใช้เทคโนโลยีที่มีขนาดและประสิทธิภาพกำจัดสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งถือว่าดีที่สุดในโลก
นั่นคือข้อเท็จจริงท่ี่ผู้บริหาร กฟผ.ระบุ...ถึงกระนั้น คนไทยบางกลุ่มยังไม่มั่นใจในการบริหารจัดการของ กฟผ. หากย้อนกลับไปดูอดีตของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ซึ่งสร้างผลกระทบให้ชาวบ้านในพื้นที่ จนนำมาสู่การต่อต้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าประเภทนี้ในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศ โดยเฉพาะภาคใต้ ปักหมุดสำคัญ จ.กระบี่
สุนชัย บอกว่า แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2558-2579 (PDP 2015) สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ได้วางแผนอย่างระมัดระวังและรอบคอบ ทั้งนี้ การกระจายความเสี่ยง ได้เพิ่มพลังงานทดแทน และพลังงานหมุนเวียนเข้าไปเกือบ 2 หมื่นเมกะวัตต์ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องท้าทาย
ก่อนระบุถึงสาเหตุคนไทยกลัวโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยยืนยันเป็นเพียงคนบางกลุ่มเท่านั้น แต่หากพูดให้ชัดเจน คือ มีใครทำให้คนไทยกลัวโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือไม่ ทั้งนี้ ยอมรับว่าข้อมูลบางเรื่องสามารถค้นหาได้จากอินเทอร์เน็ต แต่ตั้งคำถาม การหยิบยกข้อมูลดังกล่าวขึ้นมามีเจตนาอย่างไร และผ่านการศึกษารอบคอบหรือไม่
เขายกตัวอย่าง เรื่องร้องเรียนกรณีเรือขนน้ำมันทิ้งสมอทำลายปะการัง แต่ข้อเท็จจริงที่พิสูจน์โดย กฟผ.ร่วมกับชาวบ้านดำน้ำลงไป พบพื้นที่ดังกล่าวเป็นเนินทราย ไม่มีปะการัง หรือกรณีจะมีเรือขนถ่านหินวันละ 90 รอบ ผ่านเกาะลันตา จนอาจทำให้นักท่องเที่ยวดำน้ำชมปะการังโผล่หัวขึ้นมาชนเรือได้ ซึ่งมองเป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อน
นอกจากนี้ยังสื่อสารว่า เส้นทางขนส่งถ่านหินเป็นภัยพิบัติครั้งใหม่ เร็วและแรงยิ่งกว่าสึนามิ โหดร้ายกว่าระเบิดฮิโรชิมา ทำให้คนเกาะลันตาตายทั้งเป็น ผู้ว่าฯ กฟผ. เห็นว่า ข้อมูลเหล่านี้ค่อนข้างสร้างความหวาดกลัว ทั้งที่ กฟผ.ระบุตลอดมาว่า เรือขนส่งถ่านหินและกระบวนการนำขึ้นมาใช้เป็นระบบปิดทั้งหมด ถือเป็นการลงทุนจริง ๆ เพราะตั้งใจไม่ให้ระหว่างการขนส่งเกิดฝุ่นละอองตกไปในทะเล
“ กฟผ.ถูกตำหนิตลอดเวลาให้ข้อมูลด้านเดียว ทั้งที่มีข้อเสียมากมาย ถามว่าข้อเสียเหล่านั้นเป็นข้อเท็จจริงหรือไม่ เราไม่เคยบอกว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดหมดจด ไม่ปล่อยของเสียออกมาเลย แต่เราบอกว่า สิ่งที่ปล่อยออกมา เช่นสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ได้รับการกำจัดจากเครื่องทำให้ไม่เกินค่ามาตรฐาน และยังสัญญาจะปล่อยไม่เกิน 1/3 ของมาตรฐานที่กำหนด”
ยกเว้นก๊าซเรือนกระจกไม่สามารถควบคุมได้ทั้งหมด แต่การเลือกใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงก็สามารถลดได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20-30
ผู้บริหาร กฟผ. กล่าวถึงสิ่งที่ดำเนินการ นอกเหนือจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพื่อให้ภาคใต้มีไฟฟ้าใช้เพียงพอ ซึ่งแผน PDP 2015 เติบโตประมาณ 3.49% แต่โดยนโยบายของรัฐบาลต้องการส่งเสริมนโยบายประหยัดพลังงาน และเมื่อเทียบกับแผน PDP เดิม ความต้องการใช้ไฟฟ้าจะลดลงได้ 1 หมื่นเมกกะวัตต์ จากโปรแกรมต่าง ๆ ในการอนุรักษ์พลังงาน นั่นหมายความว่า แผน PDP 2015 จะสร้างโรงไฟฟ้าบนพื้นฐานการประหยัดพลังงาน
ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยใช้ก๊าซประมาณ 1.8 หมื่นเมกกะวัตต์ หากก๊าซหมดจะนำพลังงานไหนมาแทน พลังงานทดแทนอย่างแสงแดด หรือลม ใช้ได้หรือไม่ กำลังเป็นปัญหา จึงคิดถึงถ่านหินเป็นทางเลือก อีกประการหนึ่ง ภาคใต้เติบโตด้านการท่องเที่ยวร้อยละ 8 ต่อปี แต่แผน PDP วางแผนเติบโตประมาณร้อยละ 2.9 เท่านั้น หากไม่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่กระบี่ภายในปี 2562 ภาคใต้จะมีไฟฟ้าใช้ไม่เพียงพอ
ส่วนข้อกังวลเส้นทางขนส่งถ่านหินจะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว เขากล่าวว่า เรือขนส่งแล่นห่างจากเกาะลันตาประมาณ 10 กิโลเมตร ดังนั้นคนนั่งทำสปาบนเกาะคงไม่น่ามองเห็นได้ และใช้ความเร็วเพียง 20 กม./ชั่วโมง วันละไม่เกิน 2 รอบ จึงเชื่อว่าไม่น่ามีปัญหาอะไร
แม้ จ.กระบี่เป็นเมืองท่องเที่ยว แต่โรงไฟฟ้าถ่านหินมิได้ก่อสร้างในพื้นที่นั้น ซึ่งยืนยันได้จากแผนผัง ส่วนผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจะทำให้ดีที่สุด และแผน PDP 2015 ก็ให้ความสำคัญเรื่องภาวะโลกร้อนด้วย
ผู้ว่าฯ กฟผ. ยังเปิดเผยถึงข้อเสนอให้หันมาส่งเสริมใช้พลังงานทดแทนและพลังงานหมุนเวียนว่า มีเงินก็ซื้อไม่ได้ เช่นแสงอาทิตย์ ในอินเดีย ต้นทุน 2 บาท หากไม่มีแสงอาทิตย์ ถามว่า จะนำเงินจากไหนไปซื้อ สองบาทก็ขายให้ไม่ได้ เพราะขึ้นอยู่กับดวงอาทิตย์
ทั้งนี้ สนับสนุนการปลูกพืชพลังงาน อย่างปาล์มน้ำมัน จ.กระบี่ แต่ต้องชั่งน้ำหนักระหว่างพลังงาน เพราะกังวลเรื่องความมั่นคง เนื่องจากพืชชนิดดังกล่าวมักประสบปัญหาเรื่องสภาพภูมิอากาศ แต่ประชาชนใช้พลังงาน 24 ชั่วโมง ฉะนั้นต้องให้เกิดความมั่นคง
“การศึกษาที่ผ่านมามักพบโรงไฟฟ้าถ่านหินมีผลกระทบ ซึ่งนั่นเป็นการศึกษาโรงไฟฟ้าถ่านหินรุ่นเก่า แต่หากมีการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าไปจะสามารถควบคุมได้ แต่ก็ยังไม่เชื่อ”
ผู้บริหาร กฟผ. ระบุว่า คงสุดกู่เรื่องพลังงานทดแทนหรือพลังงานหมุนเวียนไม่ได้ เพราะเกี่ยวเนื่องกับต้นทุน เงินก็ซื้อไม่ได้ ต้องรอเทคโนโลยีในการกักเก็บพลังงาน อีกทั้งภาคใต้ฝนตกบ่อย แม้จะมีคนบอกว่า ทำพลังงานแสงอาทิตย์ในภาคใต้ต้นทุนถูก แต่สุดท้ายชาวบ้านก็ไม่มีเงินจ่าย ดังนั้น จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าฐานอยู่ดี
“หากมองแต่ตัวเราเอง ประเทศจะอยู่ไม่ได้ ดังนั้นผมมองว่าไม่เป็นธรรม หากจะปล่อยให้พื้นที่อื่นจ่ายค่าไฟราคาสูง แล้วลดค่าไฟให้พื้นที่ได้รับผลกระทบ ยกเว้นหาวิธีชดเชยอื่น ดังเช่น การตั้งกองทุน และ กฟผ.ยังมีแผนดำเนินการตามรายงานศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นการพัฒนาสังคม สิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิต ทั้งนี้ หากพี่น้องคนกระบี่ร่วมกันวางแผนอนาคตให้มีทิศทางการพัฒนาระยะยาวอย่างไรก็จะเกิดประโยชน์” เขากล่าวทิ้งท้าย .
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: