- Home
- Thaireform
- ข่าวเด่น นโยบายสาธารณะ
- Dark side of the city รอยแผลลึกแม่เมาะ ตอกฝาโลงโรงไฟฟ้าถ่านหิน
Dark side of the city รอยแผลลึกแม่เมาะ ตอกฝาโลงโรงไฟฟ้าถ่านหิน
เริงฤทธิ์-เริงชัย คงเมือง เปิดตัวนิทรรศการสะท้อนความเจ็บปวดคนเเม่เมาะ 'Dark side of the city ด้านมืดของเมือง' หลังได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ยกผลวิจัยเป็นพลังงานสกปรกที่สุด หวั่นเกิดซ้ำ จ.กระบี่
การต่อต้าน “โรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดกระบี่” ได้สร้างกระแสความตื่นตัวของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศ และคุณภาพชีวิตในชุมชนท้องถิ่น ซึ่งน้อยคนนักจะตระหนักถึงความสูญเสียอันประเมินค่ามิได้ ซ้ำร้ายยังฝากรอยแผลที่ไม่เคยถูกสมานไว้จากการเกิดขึ้นของเหมืองแร่ถ่านหินลิกไนต์และโรงไฟฟ้าถ่านหินในอดีต โดยเฉพาะที่อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ก็เป็นพื้นที่หนึ่งที่ต้องจำทนกับผลกระทบจากวาทกรรม “ถ่านหินสะอาด”
(เริงฤทธิ์ คงเมือง ช่างภาพสารคดีอิสระ กลุ่ม 10 FOTOS)
ภาพถ่ายผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะนับสิบภาพถูกประดับเรียงร้อยบอกเล่าเรื่องราวความเจ็บปวดอันเกิดจากเชื้อเพลิงปฏิกูลเหล่านี้ผ่านเลนส์กล้องของ ‘เริงฤทธิ์ และ เริงชัย คงเมือง’ สองพี่น้องช่างภาพสารคดีอิสระ ที่จัดแสดงไว้ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ภายใต้นิทรรศการ "Dark side of the city ด้านมืดของเมือง" ซึ่งจัดโดยคณะทำงานโลกเย็นที่เป็นธรรม (Thai Climate Justice)
เริงฤทธิ์ หนึ่งในช่างภาพเริ่มต้นบอกเล่าที่มาของนิทรรศการครั้งนี้ว่า ได้มีโอกาสลงพื้นที่ตระเวนถ่ายภาพผลกระทบเหมืองแร่ในประเทศไทย ซึ่งโรงไฟฟ้าถ่านหินที่อำเภอแม่เมาะเป็นอีกหนึ่งกรณีที่ทำให้เราทราบถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสังคม ด้วยเหตุนี้จึงตัดสินใจลงพื้นที่ถ่ายภาพ เจาะในมิติของผู้ป่วย เพราะอยากให้ทุกคนทราบว่า ชาวบ้านที่อาศัยรอบเหมืองและโรงไฟฟ้าได้รับผลกระทบอะไรบ้าง และเหมือนกับการโฆษณาไว้หรือไม่ว่า “ถ่านหินนั้นสะอาด?”
(สภาพเหมืองถ่านหินที่อำเภอแม่เมาะ)
สิ่งที่ปรากฏในภาพถ่าย กลับพบว่า พื้นที่เหมืองถ่านหินเคยเป็นแอ่งที่ราบระหว่างภูเขา แต่ตอนนี้กลายเป็นหลุมขนาดใหญ่ที่ครอบคลุมความเสียหายลึกเป็นบริเวณกว้าง เนื่องจากถูกขุดเปิดหน้าดินเพื่อนำถ่านหินออกมาเป็นเวลานานกว่า 30 ปี และนักธรณีวิทยาจะคอยเจาะชั้นดินเพื่อตรวจสอบความแข็งแรงของดิน มีการปลูกพืชยึดดิน และทำบันไดดินเพื่อป้องกันดินถล่ม
“มันเป็นการทำลายล้างอย่างมหาศาล ผมเคยได้ไปถ่ายตรงบริเวณสายพานที่ลำเลียงถ่านหินเข้าไปสู่โรงไฟฟ้า ฝุ่นถ่านหินมันก็กระจาย ผมถ่ายอยู่บริเวณนี้สิบกว่านาที หลังจากนั้นก็ทนไม่ไหว เพราะมีอาการแสบตา จมูก และคอ ผมพยายามจะตะโกนเรียกเจ้าหน้าที่บริเวณนั้น แต่ก็ไม่มีเสียงดังออกมาเลย หลังจากนั้นก็ไอไม่หยุด รู้สึกว่าในปอดมันมีฝุ่นเข้าไปเยอะมาก”
เขาระบุต่อว่า คนทำงานในเหมืองและชาวบ้านต่างป่วยด้วยอาการหลายอย่าง อาทิ อาการไอ แสบจมูกและตา ผืนคัน ภูมิแพ้ หอบหืด ซึ่งเป็นเพียงข้างต้นเท่านั้น และถ้าอาการหนักกว่านั้นจะสร้างความผิดปกติทางด้านหัวใจและหลอดเลือดที่พบเจออาการตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยชรา
อย่างกรณีของ วรรณา อินปัญโญ (ฟ้า) อายุ 10 ปี อาศัยอยู่ที่หมู่ 6 บ้านสบจาง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง มาตั้งแต่เกิด มีปัญหาทางเดินหายใจ ภูมิแพ้ ตั้งแต่เกิด สุขภาพไม่แข็งแรง เป็นไข้บ่อย
(ด.ญ.วรรณา อิญปัญโญ (ฟ้า) )
ก่อนจะชี้ไปยังภาพ ‘น้องฟ้า’ ถือถุงใบหนึ่งไว้ ในนั้นคือขวดยาแก้อักเสบที่ต้องกิน และเก็บไว้เป็นหลักฐาน เพื่อนำไปอ้างการป่วย เนื่องจากไม่มีแพทย์กล้าออกใบรับรองให้ ทุกครั้งเมื่อถึงช่วงที่มีอาการหนัก เลือดกำเดาจะไหลออกเป็นทางแทนน้ำมูก
นอกจากนี้ยังมีเด็กอีกจำนวนมากที่ต้องต่อสู้กับความเจ็บป่วยด้วยโรคลักษณะเดียวกับน้องฟ้า
“คิดดูว่ากว่าเด็กจะโตขึ้นมาด้วยสุขภาพแบบนั้น ด้วยสถานการณ์ที่โรงเรียนและสังคมใน มันเหมือนกับเขาเกิดขึ้นมาในสภาพที่ลำบาก ผมว่ามันไม่น่าจะใช่แผ่นดินไทยแล้ว เพราะเขาเสียสิทธิอะไรไปเยอะมาก”
(นางปราณี อินปัญโญ)
ไม่เพียงเท่านั้นในรูปนี้ ปราณี อินปัญโญ มารดาของ วรรณา ได้กอดรูปของบิดา สงวน วงศ์ดี เอาไว้ ซึ่งเขาเป็นหนึ่งในผู้ป่วยชุดแรก 131 คน ที่ได้รับใบรับรองแพทย์และสามารถยื่นฟ้อง กฟผ.ในคดีมลพิษตั้งแต่ปี 2546 แต่กว่าจะสามารถชนะคดีได้ล่วงเลยถึงปี 2557 แต่เขาได้เสียชีวิตไปแล้ว เมื่อ 22 ก.ค. 2551 ด้วยโรคมะเร็งสมองและไซนัส ทำให้กรณีดังกล่าว ปราณี ขึ้นมาเป็นผู้ฟ้องแทน
จากข้อมูลนั้นในตอนแรกบิดาของปราณีจะฟ้อง กฟผ. แต่เธอก็ไม่ได้เห็นด้วย เพราะสามีทำงานเกี่ยวข้องกับทางการไฟฟ้า แต่เมื่อเริ่มได้รับผลกระทบกับตัวเองและลูกจึงตัดสินใจขึ้นมาเป็นผู้ฟ้องแทน ในปี 2556 อย่างไรก็ตาม ครอบครัวของเธอเคยถูกประชาชนขับไล่ให้ออกจากชุมชน เพราะเธอเคยร้องเรียนไปทาง กฟผ. ให้ช่วยย้ายที่อยู่อาศัย เนื่องจากจำเป็นต้องพาบุตรไปรักษาที่ รพ.ลำปาง ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวได้ถูกเผยแพร่ในสื่อหลายฉบับ
ช่างภาพอิสระทิ้งท้ายว่า ผลกระทบไม่ใช่เพียงแค่ด้านสุขภาพของคนในชุมชนหรือสิ่งแวดล้อมที่ถูกทำลาย แต่ยังนำไปสู่เรื่องเศรษฐกิจ เพราะคนในชุมชนไม่สามารถทำงานได้ ส่งผลให้รายได้ลดลง สัตว์หรือพืชผลทางการเกษตรพิการ เนื่องด้วยการอาศัยอยู่ในสภาวะมลพิษแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ อีกทั้งยังเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง
ผลการวิจัยปรากฏแล้วว่า ถ่านหินเป็นพลังงานฟอสซิลที่สกปรกที่สุด ทำไมคนที่มีอำนาจในการตัดสินใจจึงยังเลือกสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินอีก และสิ่งนี้ก็กำลังจะเกิดขึ้นที่จังหวัดกระบี่
“ถ้าคุณกลับมามองเด็กที่ป่วยอยู่ เด็กเหล่านี้เป็นทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ คุณต้องมาจ่ายให้เขามีสุขภาพเหมือนเดิมหรือ จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเท่าไหร่เพื่อให้เขากลับคืนมาเหมือนคนทั่วไปได้ สิ่งเหล่านี้เป็นต้นทุนที่ไม่ถูกพูดถึง และไม่คิดที่จะพูดถึง แต่ถึงพูดถึงก็ไม่คิดที่จะชดเชย นั่นแหละคือต้นทุนที่แท้จริง ไม่ใช่ต้นทุนขุดหรือเผาถ่านหิน”
(นางมะลิวรรณ นาควิโรจน์ (คนกลาง) ประธานเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ)
‘มะลิวรรณ นาควิโรจน์’ ประธานเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ เป็นหนึ่งในบุคคลที่ได้รับผลกระทบและร่วมต่อสู้กับคนในพื้นที่มาจนถึงปัจจุบัน เปิดเผยว่า โรงไฟฟ้าถูกก่อสร้างมาก่อนกฎหมายว่าด้วยเรื่องของผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม ไม่มีการทำประชาพิจารณ์ใดๆ ซึ่งเริ่มแรกใช้การผลิตจากแรงงานคนที่หาบ ต่อมาในช่วงปี 2527 ได้ขยายโรงไฟฟ้ามากขึ้นอันเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้า จากนั้นหลังปี 2547 เป็นต้นไป ก็มีการพูดคุยจากพี่น้องชาวบ้าน แต่ก็ไม่เห็นผลใด ๆ
“ต่อให้เราไปคัดค้านหรือประท้วงอย่างไร นโยบายของรัฐบาลก็บอกว่า มีความจำเป็นที่ต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่นี่ ฉะนั้นการทำเวทีประชาคมก็ไม่ได้เกิดประโยชน์เลย เราก็เป็นเพียงแค่ตัวประกอบเท่านั้นเอง ต่อให้มีสิทธิออกความเห็นขนาดไหนเขาก็ไม่บรรจุความเห็นเราลงไป”
เธอยังกล่าวถึงการฟ้องร้องคดีการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment:EIA) ที่ศาลปกครองสูงสุดได้อ่านคำพิพากษา เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2558 ทาง กฟผ.ออกมายืนยันว่าจะทำตามคำสั่งศาล แต่ศาลได้มีวงเล็บว่า ยกเว้นกรณีที่ กฟผ.มีมาตรการที่เหมาะสมกว่า นั่นทำให้มาตรการชดเชยถูกปรับเปลี่ยน อาทิ จากคำสั่งศาลที่ให้อพยพโยกย้ายชาวบ้านออกไปจากรัศมี 5 กิโลเมตร กฟผ.เองก็บอกว่ามีมาตรการป้องกันปัญหาผลกระทบที่ดีกว่าแล้ว ถ้าจะย้ายออกไปตามคำสั่งศาลก็จะต้องมีการถมดินเพิ่มขึ้นอีก หรือในเรื่องของการทำรายงานทุก ๆ 2 ปี ก็เปลี่ยนไปทำทุก 5 ปี ถ้าศาลเห็นชอบตามนั้น ชาวบ้านก็คงต้องน้อมรับ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มียื่นฟ้องในคดีอื่น ๆ เพราะนั่นทำให้เราต้องทบทวนตัวเองเช่นกันว่ามีช่องโหว่ทางการต่อสู้คดีในจุดใดบ้าง
(ชาวบ้านส่วนหนึ่งที่ได้รับใบรับรองแพทย์จากโรงพยาบาลราชวิถี)
ในปี 2546 คดีมลพิษ ที่ชาวบ้าน 130 คน ชนะคดีเนื่องจากมีใบรับรองแพทย์จากโรงพยาบาลราชวิถี ยืนยันว่าสาเหตุความเจ็บป่วยมาจากถ่านหิน โดย พญ.อรพรณ เมธาดิลกกุล ซึ่งชาวบ้านใช้ใบรับรองแพทย์เป็นเครื่องมือในการต่อสู้ แต่ต่อมาคดี EIA ตามคำฟ้องร้องของชาวบ้านทั้ง 381 คน ศาลพิพากษาว่า ไม่พบหลักฐานจากเอกสารที่หน่วยงานรัฐ หรือใบรับรองจากแพทย์เฉพาะทาง กฟผ.จึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ทั้ง ๆ ที่ทั้งสองเป็นคนในหมู่บ้านเดียวกัน
“ในคดีที่สอง ไม่มีแพทย์เฉพาะทางท่านใดเลยที่จะเข้ามาตรวจ และพิสูจน์ว่าเราเจ็บป่วยจากเรื่องนี้ หลังจากที่เข้าสู่กระบวนการในชั้นศาล คุณหมอท่านนี้ก็ประสบปัญหาซึ่งถูกกดดันในที่ทำงานจึงต้องไปอยู่ที่อื่น หลังจากนั้นก็ไม่มีแพทย์ท่านใดที่กล้าออกใบรับรองแพทย์ว่าเราประสบปัญหาสุขภาพจากโรงไฟฟ้าอีกเลย”
มะลิวรรณ ยังบอกว่า การรักษาเฉพาะทางที่โรงพยาบาลแม่เมาะไม่ดีเท่าที่ควร โรคนี้ไม่ใช่โรคทางเดินหายใจทั่วไป เพราะมันเกิดจากมลภาวะทางด้านสิ่งแวดล้อม จะต้องมีแพทย์เฉพาะทางดูแล 24 ชม. ความเจ็บป่วยด้วยโรคหายใจเรื้อรังจะสามารถเกิดอาการได้ตลอดเวลา ซึ่งชาวบ้านที่เจ็บป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจจะต้องพบแพทย์ทันที และได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี
“โรงพยาบาลแม่เมาะก็รักษาโรคทั่วไป พบคุณหมอ รับยา และกลับบ้าน ในกลุ่มผู้ป่วยอย่างดีก็ได้ยาแก้ปวด หรือยาที่ช่วยให้หลับ พอตื่นมาก็ปวดเหมือนเดิม ทำให้ผู้เจ็บป่วยหลายรายไม่ไว้ใจโรงพยาบาลนี้ แต่จะให้ไปรักษาถึงโรงพยาบาลเชียงใหม่ ก็เสียค่าใช้จ่ายสูง ทั้งค่ายา ค่าเดินทาง ชาวบ้านธรรมดาๆ ก็ไม่มีเงินไปรักษา”
เธอยังยืนยันว่า เราไม่คัดค้านที่จะมีโรงไฟฟ้าถ่านหินที่แม่เมาะ เพราะทราบว่าพลังงานมีความจำเป็นต่อประชากรทุกคนในประเทศไทย แต่ขอเสนอในเมื่อทุกคนส่วนใหญ่ได้รับประโยชน์แล้ว เพราะเหตุใดต้องให้คนส่วนน้อยอย่างเราได้รับผลกระทบด้วย และเหตุใดจึงไม่ดูแลคนที่อยู่ขอบเหมืองของโรงไฟฟ้าให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จะปล่อยให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบจากมลภาวะที่เป็นพิษอยู่แล้ว ต้องรับผลกระทบทางด้านวิถีชีวิตและสังคมที่เปลี่ยนไปอีกหรือ
ทั้งนี้ เรื่องทุกอย่างจะไม่ใหญ่และลุกลามมาจนถึงขนาดนี้หากทุกรัฐบาลมีเจตนาที่จะเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบเป็นอย่างดี ในอนาคตทั้งรัฐบาลหรือ กฟผ.จะลงมารับฟังชาวบ้าน เอื้ออาทรต่อกัน ถึงตอนนั้นแล้ว กฟผ. จะสามารถอยู่ได้ ชาวบ้านก็อยู่ได้ เพราะการจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อมและมลพิษเป็นจริงและจริงใจ
เหนือความคุ้มค่าของขุมพลังงาน คือทรัพยากรธรรมชาติ เศรษฐกิจ สังคม ตลอดจนชีวิตและจิตใจที่ได้รับผลกระทบอย่างมหาศาล รอคอยซึ่งการเยียวยาที่เป็นธรรม แม้ทุกคนในสังคมจะตระหนักดีว่าพลังงานเป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต แต่นี่ยังไม่สมควรแก่เวลาอีกหรือที่ผู้บริหารประเทศและองค์กรที่เกี่ยวข้องจะไตร่ตรองทางออกเสียใหม่ พร้อมรับผิดชอบและฟื้นฟูผลกระทบต่อทุกชีวิตอย่างยั่งยืน ไม่ใช่เพียงแค่ในพื้นที่แม่เมาะหรือจังหวัดกระบี่ แต่รวมถึงการลงทุนด้านพลังงานทั่วประเทศ อันเป็นสิ่งที่สมควรคำนึงถึงมากกว่าความตะกละตะกลามของอำนาจเงินตรา .
หมายเหตุ:นิทรรศการ “Dark Side of the City : ด้านมืดของเมือง” ชวนคุณไปสัมผัสคำว่า “ถ่านหินสะอาด” ไม่ได้บัญญัติไว้ ภาพถ่ายโดย เริงฤทธิ์ และ เริงชัย คงเมือง นิทรรศการจัดวาง โดย Thai Climate Justice และ Civilize Creation จัดแสดงวันที่ 14 - 26 กรกฎาคม 2558 ณ บริเวณผนังโค้ง ชั้น 4 – 5 หอศิลปกรุงเทพฯ
(ภาพเด็กๆที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน จนมีโรคประจำตัว)
(ภาพ "ชีพจรแผ่วเบา" อิ่น คำณะ เสียชีวิตด้วยอาการติดเชื้อทางปัสสาวะ หลังนอนทุกข์ทนในมุ้งนาน 4 ปี)