- Home
- Thaireform
- สัมภาษณ์ - ปาฐกถา
- 'วิรไท' เปิด 5 เทรนด์ใหญ่ มอง 5 ปีข้างหน้า 'สภาพคล่องล้นโลก-ดอกเบี้ยยังต่ำ'
'วิรไท' เปิด 5 เทรนด์ใหญ่ มอง 5 ปีข้างหน้า 'สภาพคล่องล้นโลก-ดอกเบี้ยยังต่ำ'
"...มองไปในอีก 5 ปีข้างหน้า ผมคิดว่าสภาพคล่องส่วนเกินในระบบการเงินโลกยังอยู่ในระดับที่สูง อัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำ นอกจากจะมีเหตุการณ์ที่ทำให้เงินเฟ้อกระโดดแรง เช่น อาจมีสงคราม มี Geopolitical มี supply shock อะไรแรงๆ ที่ทำให้เงินเฟ้อจะกระโดดขึ้นแรง..."
หมายเหตุ : วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวบนเวทีเสวนาเรื่อง 'โอกาสและความท้าทายที่เศรษฐกิจโลกและประเทศไทยกำลังเผชิญในการก้าวเข้าสู่ปี 2563' ในงาน The Year Ahead 2020 'Forging Resilience' จัดโดย บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 6 ก.พ.2563
มี 5 เรื่องที่จะมีผลกระทบต่อเรามาก
เรื่องแรก คือ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร เราเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในอีกประมาณ 15 ปี เราจะเป็นประเทศที่เป็นสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสูงสุด (Hyper-Aged Society) มีผู้สูงอายุมาก จะมีคน 20% ของเราที่อายุเกิน 60 ปี ภาวะแบบนั้นจะมีผลมากกับโครงสร้างแรงงานในระบบเศรษฐกิจไทย มีผลกับการบริโภคจับจ่ายใช้สอย ขนาดตลาดและระบบเศรษฐกิจไทย
“วันนี้คนไทยในวัยทำงานมีน้อยลงเรื่อยๆ เราถึงต้องมีแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานเยอะมาก ถ้านับจำนวนหัวคนไทยวัยทำงานลดลงต่อเนื่อง 3-4 ปีแล้ว ทุกคนในครอบครัวมีภาระดูแลผู้สูงอายุมากขึ้น แปลว่าจะมีรายจ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น เพราะคนไทยจำนวนมากไม่มีเงินออมเพียงพอสำหรับการเข้าสู่การเป็นผู้สูงอายุ จึงต้องพึ่งลูกหลาน หรือไม่ก็ต้องพึ่งรัฐบาล ภาระการคลังก็จะเพิ่มมากขึ้น ค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลจะเป็นค่าใช้จ่ายที่ใหญ่สุดของพวกเราในอีก 10 ปีข้างหน้า”
มีงานศึกษาของทีดีอาร์ไอ (สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย) ที่เห็นชัดเจน คือ พฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของคนในวัย 50 ปีก็ลดลงแล้วจากวัย 40 ปี พอวัย 60 ปี ยิ่งลดลงจากวัย 50 การบริโภคที่เป็นเครื่องยนต์ใหญ่ในการกระตุ้นการบริโภค การจับจ่ายใช้สอยในระบบเศรษฐกิจ เครื่องยนต์นั้นจึงไม่มี impact (ผลกระทบ) ที่แรงเหมือนเดิม ที่พูดแบบนี้ไม่ได้หมายความเป็นเรื่องที่น่ากลัว แต่เป็นทั้งความท้าทายและเป็นโอกาส
“ถ้าเราไม่ทำอะไร ก็เป็นความเสี่ยง แต่ถ้าเป็นโอกาส มันจะเป็นตลาดที่ใหญ่มาก วันนี้เราก็เริ่มเห็นการโฆษณาผ้าอ้อมผู้ใหญ่ในทีวีแทนผ้าอ้อมเด็ก อาหารสำหรับผู้สูงอายุ เฟอร์นิเจอร์สำหรับผู้สูงอายุ จะเป็นตลาดใหญ่มาก การบริการดูแลผู้สูงอายุเป็นตลาดใหม่ และการที่เราเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเป็นประเทศแรกๆ ในภูมิภาคที่และประเทศอื่นกำลังตามมา เรามีโอกาสในการพัฒนาผลิตภัณฑ์พวกนี้ก่อน มีโอกาสในการพัฒนาเป็นเจ้าตลาดได้ ถ้าเราฉวยโอกาสได้”
อีกด้านหนึ่ง โครงสร้างประชากรโลกที่เปลี่ยนแปลงไปมาก เราอยู่ในห่วงโซ่การผลิตที่ญี่ปุ่น เกาหลี จีน เป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาคของเรา และเราก็ได้รับอานิสงส์ด้วย แต่ประเทศพวกนี้จะเป็นสังคมผู้สูงอายุหมดเลยในอนาคต ญี่ปุ่นเราเห็นแล้ว จีนกำลังเป็นสังคมผู้สูงอายุเร็วมากจากนโยบายลูกคนเดียวของเขา แต่จะมีประเทศที่มีตลาดใหญ่มากเข้ามาทดแทน คือ อินเดียจะมีประชากรมากกว่าจีนในอนาคต ปากีสถาน บังกลาเทศ รวมไปถึงแอฟริกา
ดังนั้น ทำอย่างไรที่เราจะ mind set (กระบวนการคิด) ของเรา ในการทำธุรกิจที่พึ่งพิงเอเชียตะวันออกเป็นหลัก ไปดูถึงตลาดที่เป็นเอเชียใต้ด้วย นี่จึงเป็นโอกาส ไม่ใช่ความเสี่ยงอย่างเดียว
เรื่องที่ 2 สภาวะแวดล้อมทางด้านภูมิอากาศ เรื่องโลกร้อนจะยิ่งมีผลรุนแรงมากขึ้น ไฟป่าในออสเตรเลีย ไม่มีใครคิดว่าจะรุนแรงขนาดนี้ ทั้งๆที่เขาเป็นประเทศที่เตรียมความพร้อมเรื่องนี้ดีกว่าเรามาก ปีที่แล้วเรามีภาวะน้ำท่วม ภัยแล้ง ในบริเวณเดียวกัน ภายในเดือนเดียวกัน เอลนีโญ่เมื่อก่อน 10 ปีเราจะได้ยิน 2 ครั้ง เดี๋ยวนี้ได้ยินบ่อยมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเรื่องสภาวะภูมิอากาศทำให้เกิดความเสี่ยงใหม่ๆ
“เราเป็นประเทศที่ประชาชนจำนวนมากอยู่ในภาคเกษตรกรรม เขาจะได้รับผลกระทบเยอะมากจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเกษตรกรไทยมีกันชนค่อนข้างน้อยอยู่แล้ว มีหนี้เยอะ มีการออมต่ำ พืชหลักทางการเกษตรแทบทุกชนิดมีผลิตภาพหรือผลผลิตต่อไร่ค่อนข้างต่ำ คำถาม คือ เราจะเตรียมพร้อมอย่างไรให้ภาคเกษตรไทยสามารถเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลง หรือความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศได้”
การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและโลกร้อน ไม่ได้กระทบเฉพาะภาคเกษตร แต่กระทบทุกธุรกิจ น้ำจะเป็นสิ่งที่หายาก น้ำสะอาดจะเป็นสิ่งที่ขาดแคลน อุตสาหกรรมต้องใช้น้ำ ภาคการท่องเที่ยวและบริการต้องใช้น้ำ
เรื่องที่สำคัญอีกด้านหนึ่ง คือ ความคาดหวังของสังคมในการทำธุรกิจ คือ เรื่อง resilience and sustainability การทำธุรกิจเพื่อความยั่งยืนจะเป็นกระแสหลัก ใครที่ไม่ทำเรื่องนี้จะเป็นความเสี่ยงทางธุรกิจที่สำคัญ ใครที่ทำก่อนจะเป็นคนที่กำหนดมาตรฐานอุตสาหกรรม จะมีการออกเกณฑ์ใหม่มากมายเกี่ยวกับการทำธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
“ตัวอย่างที่เราเห็น คือ เรื่องพลาสติกเกิดขึ้นเร็วมาก ถ้า 3 ปีที่แล้ว เราไปร้าน ซื้อของแล้วไม่ให้ถุงพลาสติก ให้เอามาเอง วันนั้นเราต้องโกรธแน่นอน แต่วันนี้ใครขอถุงพลาสติก อาจต้องมองข้างๆ ว่ามีใครมองอยู่หรือเปล่า มันเป็นผลข้างเคียงที่เราต้องปรับตัวว่าเราจะทำอย่างไรในสภาวะที่เปลี่ยน ความคาดหวังของสังคมจะเป็นตัวกำหนดมาตรฐานของการทำธุรกิจ
อย่างเรื่องการลดการใช้คาร์บอนจะเป็นโจทย์ใหญ่ ประเทศไทยเป็นประเทศที่ใช้พลังงานแบบดั่งเดิมเยอะ และใช้พลังงานทางเลือกยังเป็นส่วนน้อยอยู่ ถ้าทิศทางของโลกไปทางลด Carbon Footprint (ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากผลิตภัณฑ์แต่ละหน่วย ตลอดวัฎจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์) เราต้องปรับตัวในเรื่องนี้ ถ้าใครไม่ปรับตัว ก็จะเป็นเรื่องความเสี่ยง และเราก็ต้องวิ่งตามเกณฑ์ ระเบียบกติกรใหม่ๆ”
เรื่องที่ 3 เป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ซึ่งมีผลกระทบต่อวิถีชีวิตของพวกเราทุกคนแล้ว วันนี้ต้องถามว่าใครไปสาขาธนาคารพาณิชย์บ้าง จำได้หรือไม่ว่าเข้าสาขาธนาคารพาณิชย์ครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ โทรศัพท์มือถือเรา เป็นทั้งสาขาธนาคารพาณิชย์ เป็นทั้ง Shopping Mall ซื้อของกันทางโทรศัพท์มือถือ เรื่องพวกนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงอีกมาก เพราะในอีก 5 ปีข้างหน้า การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีจะยิ่งเกิดขึ้นเร็ว และจะมีผลกว้างไกลมากกว่า 5 ปีที่ผ่านมา
“เรามีประมูล 5G แล้ว บวก Internet of Things (IOT) พวกนี้ไม่ใช่แค่ภาคบริการเท่านั้น ภาคอุตสาหกรรมเองก็ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลได้เพิ่มขึ้นมาก ทั้งการมีหุ่นยนต์มาทดแทนแรงงาน และ Automation โรงงานสมัยใหม่ที่ใช้หุ่นยนต์ทำงาน ไม่ต้องเปิดแอร์ ไม่ต้องเปิดไฟ สามารถทำงานในความมืดได้ตลอด 24 ชั่วโมง ผลิตภาพการผลิตเพิ่มขึ้นทันที แต่จะมีผลต่อแรงงาน เราจะเตรียมคนอย่างไรให้เท่าทันเทคโนโลยี คู่แข่งของเรา เขาทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง”
พวกนี้ไม่ใช่เป็นแค่ความเสี่ยง แต่เป็นโอกาสด้วย วันนี้เอสเอ็มอีทั่วประเทศขายของผ่านโซเชียล และอีคอมเมิร์ซได้ ไม่ได้ขายของให้เฉพาะคนในหมู่บ้าน ตำบลตัวเอง หรือคนที่ผ่านถนนหน้าร้าน ไม่ต้องลงทุนเยอะในการเปิดหน้าร้าน ก็เข้าไปคอนเนกต์กับแพลตฟอร์มอีโคโนมี หาประโยชน์กับมันได้ วันนี้ธุรกิจไม่ต้องซื้อเซิร์ฟเวอร์เป็นของตัวเอง ใช้คลาวด์ได้ จึงมีทั้งโอกาสและมีความท้าทาย หากเราฉวยโอกาสเหล่านี้ได้ จะทำให้เรามีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น
เรื่องที่ 4 เป็นเรื่องที่ที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจด้วย คือ การเปลี่ยแปลงของห่วงโซ่การผลิต หรือ value chain วันนี้ Global value chain กำลังเปลี่ยน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเทคโนโลยี อีกส่วนหนึ่งมาจากข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศต่างๆที่เกิดขึ้น อีกอย่างคือ การเปลี่ยนแปลงความคาดหวังของลูกค้า
“คนกำหนด value chain ที่สำคัญ และมีบทบาทมาในภูมิภาค คือ จีน การเปลี่ยนแปลง value chain ใหญ่ของโลกเกิดขึ้นเมื่อจีนเข้าเป็นสมาชิก WTO จีนเป็นแหล่งผลิตสำคัญ สินค้าทุกอย่างจะไปประกอบที่จีน แต่ด้วยเทคโนโลยีที่มีการพัฒนา กิจกรรมการประกอบที่ใช้แรงงานมีบทบาทน้อยลง เพราะทดแทนได้ด้วยหุ่นยนต์"
ดังนั้น Global value chain ขณะนี้ จะเห็นว่า กิจกรรม Manufacturing มูลค่าเพิ่มของมันน้อยลงเรื่อยๆ แต่กิจกรรมที่เป็นการบริการ จะมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ตั้งแต่การดีไซด์ผลิตภัณฑ์ และรถยนต์เดี๋ยวนี้เป็นอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ซึ่งอาจมีมูลค่าเพิ่มไม่น้อยไปกว่าการผลิตเหล็กมาใช้ และประกอบรถยนต์ 1 คัน ลิขสิทธิ์ทางปัญญามีความสำคัญใน value chain มากขึ้น Global value chain สมัยใหม่ ต้องเน้นกิจรรมที่อาศัยองค์ความรู้มากกว่าความได้เปรียบค่าจ้างแรงงาน
อีกอันหนึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงของจีนที่จะมีผลกระทบสำคัญต่อ value chain ในภูมิภาคนี้ เพราะวันนี้จีนผลิตได้เองเยอะมาก เขาไม่จำเป็นต้องนำเข้าสินค้าขั้นกลางหรือวัตถุดิบจากภูมิภาคเหมือนเดิม value chain ที่อยู่ในประเทศจีนยาวขึ้นๆทุกที สินค้าบางอย่างของเราที่เคยส่งออกไปจีนได้มาก และนำไปผลิตต่อ วันนี้เขาผลิตได้เอง ใครที่เน้นทำสินค้าต้นน้ำเพียงอย่างเดียว ก็จะสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน เราเห็นมาแล้วเรื่องยาง เคมีภัณฑ์ที่จีนผลิตได้เอง
“นี่การเปลี่ยนแปลงของ value chain ที่จะให้เราให้ความสำคัญกับกิจกรรมที่ให้ความรู้ และเป็นบริการสมัยใหม่มากขึ้น การอาศัยความได้เปรียบจากค่าจ้างแรงงานจะลดความสำคัญลงเรื่อยๆ”
เรื่องที่ 5 คือ เรามีระบบสภาพคล่องส่วนเกินอยู่ในระบบการเงินโลกเยอะมาก ตั้งแต่เกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ วิกฤติซับไพร์ม ปี 2008-2009 ธนาคารกลางทั่วโลก โดยเฉพาะธนาคารในประเทศอุตสาหกรรมหลัก ใช้นโยบายการเงินที่เป็น unconventional (ผิดแปลก) อัดฉีดสภาพคล่องเงินเข้าไป ธนาคารกลางยุโรป ธนาคารกลางญี่ปุ่น ก็ยังทำอัตราดอกเบี้ยนโยบายติดลบ มีการเข้าไปซื้อตราสารโดยตรงจากตลาด ไม่ว่าจะเป็นหุ้น พันธบัตรรัฐบาล
เราเคยคาดหวังว่านโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลักๆ จะเข้าสู่ภาวะที่เป็นปกติมากขึ้น เป็น Normalization มากขึ้น และสิ่งที่เป็น unconventional หรือที่ผิดแปลกจากธรรมชาติเป็นแค่มาตรการชั่วคราว แต่ด้วยการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่และเหตุการณ์เชิงลบต่างๆ ทำให้นโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลักๆ ก็ยังคงเป็นการผิดแปลกจากธรรมชาติ ไม่ได้กลับเข้าสู่สภาวะปกติ
ธนาคารกลางอเมริกาพยายามปรับ normalization โดยการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นมาตลอด แต่พอเจอสงครามการค้ากระแทกแรงในปีที่แล้ว ก็กลับมาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
“มองไปในอีก 5 ปีข้างหน้า ผมคิดว่าสภาพคล่องส่วนเกินในระบบการเงินโลกยังอยู่ในระดับที่สูง อัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำ นอกจากจะมีเหตุการณ์ที่ทำให้เงินเฟ้อกระโดดแรง เช่น อาจมีสงคราม มี Geopolitical มี supply shock อะไรแรงๆ ที่ทำให้เงินเฟ้อจะกระโดดขึ้นแรง ถ้าดูเทรนด์ก็คิดว่าอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกจะยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งสร้างผลข้างเคียงเยอะมาก สร้างผลข้างเคียงสำหรับผู้ฝากเงิน ผู้ออมเงิน ซึ่งคาดหวังจะเป็นเงินออมที่ปลอดภัย มีทรัพย์สินที่ปลอดภัย ได้ผลตอบแทน หลายประเทศคล้ายๆกับเราที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ก็จะได้รับผลกระทบ”
ภาคการธนาคารเองก็จะได้รับผลกระทบ เพราะธนาคารพาณิชย์เป็นธุรกิจที่กู้สั้นๆ และปล่อยกู้ยาว กินส่วนต่างจากอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นกับอัตราดอกเบี้ยระยะยาว หรือที่เรียกว่า yield curve แต่ถ้าอัตราดอกเบี้ยในโลกต่ำมาก สภาพคล่องของระบบการเงินโลกสูงมาก yield curve ก็ต่ำ อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นและระยะยาวแทบไม่ต่างกัน
“วันนี้อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรอายุ 10 ปีของประเทศไทยก็ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เพียง 1.3% เท่านั้นเอง รัฐบาลไทยไม่เคยกู้เงินได้ถูกแบบนี้มาก่อน และกู้ถูกกว่ารัฐบาลอเมริกาด้วย แม้อันดับความน่าเชื่อถือเราต่ำกว่า ก็เป็นโอกาสที่ใครอยู่ฝั่งผู้กู้ ก็ต้องใช้โอกาสนี้ในการปรับตัว ปรับโครงสร้างทางการเงินของตัวเองให้เหมาะสม แต่ถ้าเราไม่ระวังก็จะมีความเสี่ยง โดยเฉพาะความเสี่ยงด้านเสถียรภาพของระบบการเงิน
เพราะ ณ ขณะนี้ หนี้ทั่วโลก หนี้ภาครัฐบวกหนี้เอกชน หนี้ธุรกิจบวกหนี้ครัวเรือนสูงที่สุดเมื่อเทียบกับจีดีพี เราไม่เคยอยู่ในภาวะที่หนี้สูงแบบนี้มาก่อน เพราะไม่มีแรงจูงใจจากฝั่งการออมเท่าไหร่ เวลาที่ดอกเบี้ยก็เกิดปรากฏการณ์ search for yield คือ การไปหาผลตอบแทนที่มากขึ้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด เป็นเรื่องธรรมดา ทุกคนอยากได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น แต่เป็นเรื่องต้องระวัง เพราะนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร หรือ underpricing of risk
เช่น วันนี้เราเห็นสหกรณ์ออมทรัพย์ให้ดอกเบี้ยสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล และหุ้นกู้ภาคเอกชนมาก ไม่มีการตั้งคำถามว่า เขาเอาเงินเราไปทำอะไรจึงได้อัตราผลตอบแทนสูงขนาดนั้น และเราก็เห็นปัญหาที่เกิดขึ้น มีการโกง มีการลงทุนในสิ่งที่ไม่ควรลงทุน หรือหากย้อนกลับไปสัก 2-3 ปีที่แล้ว เกิดเหตุการณ์ผิดนัดชำระหนี้ของหุ้นกู้ภาคเอกชน
ตอนนั้นทุกคนบอกว่าไม่เป็นไร ไม่ซื้อหุ้นกู้ประเภท 6 เดือน 1 ปี เกิดอะไรขึ้น ก็แค่หุ้นกู้ระยะสั้น ถอนออกก่อนได้ไม่เจ๊งหรอก หรือไม่ก็ roll over ได้ และให้ดอกเบี้ยสูงกว่าเงินฝากตั้งเยอะก็ไป แต่ไม่มีใครไปเข้าดูว่าทั้งบริษัทนี้ อาจจะออกหุ้นกู้ 90% เป็นแบบนี้หมดเลย พอถึงเวลาต่ออายุไม่ได้ roll over ไม่ได้ ก็กระโดดออกไม่ทัน นี่คือปรากฏการณ์ underpricing of risk คือ คนไม่ประเมินความเสี่ยงอย่างถูกต้อง”
เราเห็นผลข้างเคียง เช่น ภาคอสังหาริมทรัพย์ที่แบงก์ชาติต้องออกมาตรการ LTV (loan to value) เพราะแบงก์เริ่มแข่งสูงเยอะ เนื่องจากดอกเบี้ยจากการปล่อยกู้อื่นๆ มีความเสี่ยงสูง จึงมาปล่อยกู้บ้าน ที่มีเอ็นพีแอลค่อนข้างต่ำ เพราะโดยธรรมชาติ ถ้าซื้อบ้านอยู่เอง จะไม่ผิดนัดชำระหนี้ จะรักษาบ้านไว้เป็นทรัพย์สิน แต่เมื่อเข้าแข่งขันกันปล่อยสินเชื่อ LTV ก็เพิ่มสูงขึ้นไปที่ 120% ก็มีปรากฏการณ์แปลกๆที่ เรียกว่าสินเชื่อเงินทอน
เช่น บ้านราคาขาย 3 ล้านบาท แต่แบงก์บอกว่ายินดีปล่อยให้ 110% ของราคาตามสัญญา คือปล่อยกู้ 3.3 ล้านบาท สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ 3 ปีแรก ดอกเบี้ยถูกมาก 3.5% แต่เวลาคนซื้อบ้านจริง ก็ไปต่อรองกับผู้ประกอบการอีกว่า ราคา 3 ล้านบาท ขอให้ผู้ประกอบการลดให้อีก 10% ก็จ่ายจริงแค่ 2.7 ล้านบาท เพราะฉะนั้นซื้อบ้านจริงๆ 2.7 ล้านบาท แต่ได้เงิน 3.3 ล้านบาทที่ดอกเบี้ยถูก ก็ได้เงินทอน 6 แสน ที่เอาไปใช้จ่าย หรือทำอะไรก็ได้ นี่
และที่น่าตกใจมาก คือ เราสงสัยว่าทำไมเอ็นพีแอลบ้านถึงได้ขึ้นๆ ต่างจากเทรนด์แบบเดิม เมื่อเราไปดูก็พบว่ามีคนของกู้ 3-4 สัญญาพร้อมกัน ยื่นเครดิตบูโรพร้อมกัน ซึ่งแบงก์ตรวจไม่ได้ เพราะข้อมูลเครดิตบูโรช้าประมาณ 1 เดือน และมีผู้ที่ทำธุรกิจแบบนี้เลย ผมเคยได้รับโทรศัพท์ 2-3 อาทิตย์ครั้งว่าสนใจจะซื้อบ้านหรือไม่ มีโครงการรับจัดสินเชื่อให้เป็นพิเศษ ลองคีนร์กูเกิลเข้าไป รับจัดสินเชื่อก็จะมีหมด เราจึงได้ออกมาตรการ LTV มาคุม
ส่วนคนที่จะซื้อบ้านหลังแรกจริง มาตรการของเราไม่มีผลกระทบใดๆ และยอดสินเชื่อบ้านหลังแรกยังขยายตัวได้ดีมากในปีที่ผ่านมา แต่ถ้าใครมากู้ซื้อหลังที่ 2 หลังที่ 3 หลังที่ 4 ไม่เป็นไร แต่ถ้ากู้สำหรับสัญญาที่ 2 ภายใน 2 ปี ก็ขอให้ต้องมีเงินดาวน์ ไม่ใช่มากู้จนได้เงินทอน ถ้าปล่อยเอาไว้จะเกิดฟองสบู่ เพราะทุกคนจะมอง underpricing of risk มองโลกแต่แง่ดี บ้านอย่างไรก็ขายได้ ทุกคนที่ซื้อบ้านไม่มีใครคิดว่าบ้านจะราคาตก ไม่เหมือนซื้อรถที่เรารู้ว่าเมื่อขายราคาจะลดลง
“ตอนนี้ซื้อมาก่อน 3 หลัง ได้เงินทอนมาก่อน ได้เงินไปใช้ทำอะไรก็ได้ ไปลงทุนก่อน อย่างไรบ้านก็ราคาขึ้น ปล่อยเช่าก็มีคนเช่า ได้ค่าเช่ามาก็ไปจ่ายดอกเบี้ย มีแต่ได้กับได้ แต่ในโลกความเป็นจริงไม่เป็นแบบนั้น ราคาบ้านปรับลดลงได้ ฮ่องกง ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเกาะ ราคาบ้านยังลงได้แรง และถ้าปล่อยให้ฟองสบู่แตก มันกระทบกับทุกคน ทุกคนที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินในประเทศไทย ไม่ใช่เฉพาะคนที่เพิ่งเข้ามาลงทุนซื้อบ้านในรอบหลัง นี่เป็นสิ่งที่เราต้องให้ความระมัดระวัง"
เมื่อพูดถึงธนาคารกลาง เราต้องพูดอยู่ตลอดเวลาว่า เราเป็นคนเดียวในประเทศที่ถูกกำหนดให้มีหน้าที่รักษาเสถียรภาพ ถ้ามีสถียรภาพอยู่ จะไม่มีใครให้ความสำคัญ แต่ถ้าเมื่อใดก็ตามเกิดปัญหา เกิดวิกฤติ ทุกคนจะกลับมาถามว่า 3 ปีที่แล้ว ทำไมไม่ทำอะไร ปล่อยให้เกิดปัญหานี้ได้อย่างไร ทำให้เราต้องมองไกล
และเป็นนิสัยของธนาคารธนาคารกลางคือ ต้องวิตกเล็กน้อย มองให้ไกลว่ามีความเสี่ยงอะไร แต่ไม่ได้หมายความว่าจะกลัวจนเกินเหตุ ถ้าสถานการณ์ที่จำเป็นต้องใช้ ต้องผ่อนคลายนโยบายเราก็พร้อมที่จะทำ ในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงเร็วและเป็นโลกที่มีความผันผวนสูง
ทั้งนี้ ยอมรับเรื่องเสถียรภาพระบบการเงิน เป็นสิ่งที่เรากังวล แต่เราต้องชั่งน้ำหนัก ในการทำนโยบายของเรา ไม่มีอะไรฟรี ทุกเรื่องมีผลข้างเคียง มีต้นทุนของมัน เราชั่งน้ำหนักในกรอบการทำนโยบายของเรา 3 เรื่อง
อย่างแรก คือ เป้าหมายเงินเฟ้อ ถ้าเงินเฟ้อกลับขึ้นมาสูงจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม จะมีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะยาว แต่วันนี้โชคดีที่เงินเฟ้อของเราอยู่ในระดับต่ำ การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างหลายอย่าง โดยเฉพาะเทคโนโลยีช่วยทำให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ ไม่ค่อยเป็นแรงกดดันในการทำนโยบาย
อันที่ 2 คือศักยภาพของระบบเศรษฐกิจไทย การขยายตัวเป็นไปตามศักยภาพที่ควรจะเป็นหรือไม่ และอย่างที่ 3คือ เสถียรภาพของระบบการเงิน ที่เราต้องชั่งน้ำหนัก
“การทำนโยบายต้องผสมมาตรการหลายอย่าง อย่างน้อย 3 เรื่องที่เราต้องทำ อย่างแรก คือ นโยบายดอกเบี้ย นโยบายที่เรียกว่า macro prudential เพื่อดูแลเสถียรภาพของระบบการเงิน เช่น LTV เรากังวลเรื่องหนี้ครัวเรือนมาต่อเนื่อง เราทำเรื่อง personal loan ที่เราออกเกณฑ์ใหม่ วงเงินบัตรเครดิต สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ที่รู้สึกว่ามีการแข่งขันและไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค ซึ่งเป็นตลาดใหญ่มาก ไม่มีใครกำกับดูแลมาก่อน
และมาตรการที่เรียกว่า Micro Prudential ซึ่งเป็นกำกับรายสถาบันการเงิน เพื่อดูแลไม่ให้เกิดผลกระทบ ถ้าเราหย่อนมาตรฐานมากเกินไป อาจจะมีสถาบันการเงินบางแห่งเริ่มทำ เมื่อเริ่มทำรายอื่น คนอื่นก็จะเข้ามาแข่งขัน จนกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของระบบ ซึ่งอาจจะสร้างผลในระยะยาว”
ในภาวะปัจจุบันเราจะใส่ใจเรื่องระยะสั้นๆ เปิดหน้าหนังสือพิมพ์มาก็มีแต่เรื่องระยะสั้นๆ แต่การเปลี่ยนแปลงในโลกที่เกิดรอบตัวเรา จะมีผลกว้างไกลกับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจมาก และวิถีการทำธุรกิจของทุกคนกระทบมาก อย่างน้อย 5 เรื่องที่พูดถึง
นี่ยังไม่ได้พูดถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทย ไม่ใช่ระหว่างคนรวยคนจน แต่ในภาคธุรกิจก็มีความเหลื่อมล้ำสูง ธุรกิจขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ธุรกิจที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีระดับ frontier ธุรกิจที่จะต้องปรับให้เท่าทันเทคโนโลยี พวกนี้เป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำ ถ้าเราไม่แก้ตรงนี้ ก็จะมีผลกระทบต่อความอยู่รอดของธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อม ซึ่งเป็นแหล่งจ้างงานที่สำคัญมาก
หากเขาไม่ได้ ขยายตัวไม่ได้ ลูกจ้างเขา ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศก็จะถูกกระทบ ค่าแรงก็ไม่มีทางที่จะปรับขึ้น หนี้ครัวเรือนก็จะตามมา จึงโยงกันไปหมด ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำจึงเป็นปัญหาสำคัญ
และปัญหาที่สำคัญที่สุดของประเทศไทย คือ เรื่อง productivity ผลิตภาพของเราอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ โดยเฉพาะภาคเกษตร ภาคบริการแม้จะมีสัดสวนในจีดีพีสูงขึ้น แต่ยังเป็นภาคบริการแบบโบราณ หรือ traditional services การท่องเที่ยว ขนส่งโลจิสติกส์ ที่ยังไม่เป็นโลจิสติกส์สมัยใหม่ มีบ้างที่เป็นแพลตฟอร์มเบส แต่ต้องคิดถึงบริการสมัยใหม่ coding เรื่อง digital ecosystem การจัดการข้อมูลสมัยใหม่ ซึ่งจะช่วยเพิ่ม productivity ให้กับประเทศ
“ถ้าเราให้ความสำคัญกับเรื่อง productivity เทรนด์ 5 เรื่องที่พูดถึงจะกลายเป็นความเสี่ยงมากกว่าโอกาส จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องช่วยกันขับเคลื่อน เพื่อยกระดับผลิตภาพของระบบเศรษฐกิจไทย”
อ่านประกอบ :
‘วิรไท’ ยันพร้อมลดดอกเบี้ยประคองศก. แนะรัฐบาลทำ ‘งบกลางปี’ สู้ ‘ไวรัส’
วิรไท สันติประภพ : ค่าเงินบาทคล้ายกับคนเป็นไข้
ก้าวต่อไปแบงก์ชาติ! ‘วิรไท’ โชว์แผนปี 63-65 กับ 7 ความท้าทาย เท่าทันโลกที่เปลี่ยนแปลง
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage