- Home
- Isranews
- เวทีทัศน์
- ก้าวต่อไปแบงก์ชาติ! ‘วิรไท’ โชว์แผนปี 63-65 กับ 7 ความท้าทาย เท่าทันโลกที่เปลี่ยนแปลง
ก้าวต่อไปแบงก์ชาติ! ‘วิรไท’ โชว์แผนปี 63-65 กับ 7 ความท้าทาย เท่าทันโลกที่เปลี่ยนแปลง
“...อีก 3 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2563-2565) ธปท. ให้ความสำคัญมากกับความท้ายทาย กำหนดเป็นความท้าทายสำคัญที่ ธปท. จะต้องเผชิญ ... ความท้าทายที่ 1 ระบบการเงินเข้าสู่โลกการเงินดิจิทัลอย่างรวดเร็ว ความท้าทายที่ 2 กรอบและกลไกการกำกับดูแลเสถียรภาพระบบการเงินต้องเท่าทันความเสี่ยงและสภาพแวดล้อมใหม่ ความท้าทายที่ 3 นโยบายการเงินและนโยบายการคลังเผชิญขีดจำกัด โดยเฉพาะจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง ความท้าทายที่ 4 อัตราแลกเปลี่ยนจะผันผวนสูงขึ้นและภาคเอกชนต้องสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ดี ความท้าทายที่ 5 ภัยคุกคามทางไซเบอร์และความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีจะเป็นความเสี่ยงหลักของระบบการเงิน ความท้าทายที่ 6 การดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงความยั่งยืน (sustainability) ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล จะเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และความท้าทายที่ 7 การรักษาความเป็นอิสระและความน่าเชื่อถือของธนาคารกลางต้องเผชิญกับความท้าทายที่หลายหลายขึ้น...”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2562 ที่ผ่านมา ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย แสดงวิสัยทัศน์ ทิศทางแผนยุทธศาสตร์ ของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในปี 2563-2565 ณ โรงแรม เดอะแกรนด์หลวงพระบาง (The Grand Luang Prabang) เมืองหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
เดิมทีแผนยุทธศาสตร์ ธปท. ในช่วง 3 ปี พ.ศ. 2560-2562 ที่ผ่านมา มี 3 ด้าน คือ
1. ด้านเสถียรภาพ (Stability) แบ่งเป็น 1.1 เสถียรภาพการเงิน 1.2 เสถียรภาพระบบการเงิน 1.3 เสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน 1.4 เสถียรภาพระบบการชำระเงิน
2. ด้านการพัฒนา (Development) แบ่งเป็น 2.1 การพัฒนาระบบการเงิน 2.2 การเชื่อมโยงกับต่างประเทศ 2.3 การส่งเสริมบริการทางการเงินอย่างทั่วถึง เป็นธรรมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน
3. ด้านเสริมสร้างความเข้มแข็งภายในองค์กร (Internal Excellence) แบ่งเป็น 3.1 ระบบข้อมูลและการวิเคราะห์ 3.2 ความเป็นเลิศด้านงานวิจัย 3.3 การยกระดับศักยภาพบุคลากร 3.4 การยกระดับศักยภาพองค์กร 3.5 การเสริมสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้เกี่ยวข้อง
ทั้งหมดเป็นแผนที่ ธปท. ดำเนินการในช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งหลายอย่างทำได้ หลายอย่างยังต้องทำต่อไปอย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง ต้องตั้งเป้าที่ชัดเจนว่าจะทำอะไรในอีก 3 ปีข้างหน้า
สังคมกำลังเปลี่ยนแปลงไปเร็ว ในโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็วเช่นนี้ ธนาคารกลางจำต้องเปลี่ยนแปลงหรือแปลงกลายให้เท่าทันให้ได้ เพื่อทำหน้าที่ตอบโจทย์วิสัยทัศน์ว่าเป็นองค์กรที่มองไกล มีหลักการและร่วมมือ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนของไทย
ทั้งนี้ 3 ปีข้างหน้าจะเป็นโลกที่เปลี่ยนแปลง เร็วกว่า 3 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดิจิทัล แม้แต่ความคาดหวังของสังคมก็เปลี่ยนแปลงไปมากเช่นกัน ด้วยสิ่งต่าง ๆ รวมถึงสภาวะแวดล้อมทำให้เห็นถึงปัญหาหรือสิ่งที่ต้องเจอท่ามการการเปลี่ยนแปลงนั้น
ปี พ.ศ. 2563-2565 ธนาคารกลางท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง (Central Banking in a Transformative World)
ความท้าทายที่ ธปท. ต้องเผชิญในอีก 3 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2563-2565) มีมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในต่างประเทศ เช่นปีที่ผ่านมา ในพื้นที่ที่ไม่คิดว่าจะมีการประท้วงเกิดขึ้น กลับมีการประท้วงเกิดขึ้นแล้ว เช่น ฮ่องกง ชิลี หรือแม้แต่ฝรั่งเศส และสังเกตได้ว่า ในการประท้วงส่วนใหญ่นั้น เป็นกลุ่มชนชั้นกลาง ซึ่งมากที่สุดในประวัติศาสตร์
Democratization (การทำให้เป็นประชาธิปไตย) โลกที่ความเป็นปัจเจกของแต่ละบุคคลเป็นใหญ่และมีบทบาทมากขึ้น พึ่งส่วนกลางน้อยลง เช่น โลกของการสื่อสาร ทุกคนเป็นสื่อได้เอง
ปัญหาสังคมสูงวัย ยังกระทบกับฐานะทางการคลังของรัฐบาลในอนาคตอีกด้วย ค่าแรงในประเทศจะเปลี่ยนไป แรงงานไทยจะลดลงอย่างต่อเนื่อง ปัญหาดังกล่าวมีผลมากในเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ
พัฒนาการทางการเมือง จะเกิดการเน้นผลทางการเมืองระยะสั้นมากขึ้น นำไปสู่นโยบายประชานิยมต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น เช่น สหรัฐอเมริการในปัจจุบันก็เป็นไปในลักษณะนั้น ทุนนิยมแบบเดิมไม่สามารถใช้ได้
ปัญหาหนี้ครัวเรือน เป็นเรื่องที่เปราะบาง ทั้งในเศรษฐกิจระดับมหภาคจนถึงระดับครัวเรือนด้วย ในเศรษฐกิจระดับมหภาคคนรายได้ดีขึ้นจริง แต่กระนั้นการบริโภคกลับไม่เพิ่มขึ้น เนื่องจากภาระหน้าที่โดยรวมที่เพิ่มสูงขึ้น เสมือนกันชนที่ลดน้อยลง ในขณะที่การดูแลผู้สูงอายุในประเทศเพิ่มขึ้นไปอีก อีกทั้งไทยไม่มีแรงจูงใจในการออม เนื่องจากผลตอบแทนที่น้อยด้วย ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ก็เป็นปัญหาที่สำคัญเช่นกัน
ปัญหาขีดความสามรถในการแข่งขัน เช่น ปัญหาเรื่องผลผลิตทางการเกษตรไม่ได้เป็นปัจจัยเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียวแล้ว ในต่างประเทศนั้นมีประสิทธิผลในการผลิตต่อไร่สูงกว่าประเทศไทยมาก เนื่องด้วยมีการพัฒนาในด้านต่าง ๆ เข้าเสริมประสิทธิภาพ โดยที่พัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีในประเทศไทยยังส่งผลต่อขีดความสามรถในการแข่งขันนั้นเช่นกัน รวมทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อม ยังเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อม ไปจนถึงปัญหาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจ มีหลายปัญหามาก ทั้งความสามารถในการแข่งขันยังอยู่ในระดับต่ำ
ปัญหาและปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ ทำให้ ธปท. ไม่สามารถคิดและทำแบบเดิมได้
เมื่อก่อนเราอยู่ในโลก VUCA World กล่าวคือ เป็นโลกที่มี ความผันผวน (Volatility) ความไม่แน่นอน (Uncertainty) ความสลับซับซ้อน (Complexity) ความคลุมเครือ (Ambiguity) แต่ต่อไปนี้จะกลายเป็น VUCA+ ซึ่งหมายถึงมีมากกว่าเดิม มีโลกใหม่ที่ต้องไปอย่างเท่าทัน และโลกเก่าที่ยังต้องดูแล ไม่สามารถทอดทิ้งได้ ทำอย่างไรจะดูแลคนโลกเก่าให้อยู่กับโลกใหม่ที่กำลังเปลี่ยนแปลงได้ แผนยุทธศาสตร์แบบเดิมคงไม่พอ ไม่เท่าทัน
ฉะนั้น อีก 3 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2563-2565) ธปท. ให้ความสำคัญมากกับความท้ายทาย กำหนดเป็นความท้าทายสำคัญที่ ธปท. จะต้องเผชิญ โดยในแต่ละความท้าทายนั้นมีหลากหลายมิติและมีความเชื่อมโยงกัน ทุกฝ่ายจะต้องนำความท้าทายเป็นตัวตั้งและช่วยกันหาคำตอบจากความท้าท้ายนั้น ทำงานเพื่อที่จะสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยได้
ประเด็นความท้าทายและการวางรากฐานที่สำคัญขององค์กร
ความท้าทายที่ 1 ระบบการเงินเข้าสู่โลกการเงินดิจิทัลอย่างรวดเร็ว
- การเงินดิจิทัลยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและศักยภาพของภาคธุรกิจ
- ระบบการเงินไทยแข่งขันสร้างนวัตกรรม และมีพัฒนาการด้านการเงินดิจิทัลดีที่สุดแห่งหนึ่งในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่
- โครงสร้างพื้นฐานกลางทางการเงินเชื่อมโยง มั่นคง ปลอดภัย ได้มาตรฐานสากล
- พัฒนาการของ Central Bank Digital Currency (CBDC) เท่าทันโลกการเงินดิจิทัล
- ระบบเศรษฐกิจ ประชาชน และธุรกิจได้ประโยชน์จากข้อมูลรายธุรกรรมของตนเอง
ความท้าทายที่ 2 กรอบและกลไกการกำกับดูแลเสถียรภาพระบบการเงินต้องเท่าทันความเสี่ยงและสภาพแวดล้อมใหม่
- กฎเกณฑ์กำกับดูแลเอื้อให้ภาคธุรกิจการเงินเท่าทันโลกการเงินดิจิทัล แข่งขันเท่าเทียม และช่องโหว่ของกฎเกณฑ์ลดลง
- ผู้ให้บริการทางการเงินมีวัฒนธรรมการบริหารความเสี่ยง (risk culture) เข้มแข็ง
- การกำกับดูแลแบบ on-going supervision เท่าทันระบบการเงินในโลกดิจิทัล
- ความเสี่ยงนอกระบบธนาคารพาณิชย์ และความเสี่ยงใหม่จากโลกการเงินดิจิทัล ไม่ส่งผลต่อเสถียรภาพระบบการเงินและการชำระเงิน
- มีกลไกความร่วมมือระหว่างผู้กำกับดูแลอย่างบูรณาการในทุกขั้นตอนการดูแล และการแก้ไขปัญหาเสถียรภาพระบบการเงิน
ความท้าทายที่ 3 นโยบายการเงินและนโยบายการคลังเผชิญขีดจำกัด โดยเฉพาะจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง
- กรอบนโยบายการเงินและการผสมผสานเครื่องมือนโยบายสามารถบรรลุเป้าหมายด้านเศรษฐกิจมหาภาคและเสถียรภาพระบบการเงิน
- สาธารณชนเข้าใจการดำเนินนโยบายของ ธปท. และปรับตัวต่อสัญญาณของนโยบายได้อย่างเหมาะสม
- ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายของ ธปท. ได้ถูกนำไปใช้ปฏิบัติจริงเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ
ความท้าทายที่ 4 อัตราแลกเปลี่ยนจะผันผวนสูงขึ้นและภาคเอกชนต้องสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ดี
- ระบบเศรษฐกิจและภาคเอกชนทนทานต่อความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนได้ดีขึ้น
- การไหลเข้าออกของเงินตราต่างประเทศมีความสมดุลมากขึ้น
- กรอบการกำกับดูแลการแลกเปลี่ยนเงินและการติดตามเงินทุนเคลื่อนย้ายเท่าทันโลกการเงินดิจิทัล
- กรอบการบริหารเงินสำรองระหว่างประเทศเอื้อต่อการปรับตัวเข้าสู่โลกการเงินดิจิทัลและโครงสร้างการเงินโลกที่เลี่ยนไป
ความท้าทายที่ 5 ภัยคุกคามทางไซเบอร์และความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีจะเป็นความเสี่ยงหลักของระบบการเงิน
- โครงาร้างพื้นฐานสำคัญของภาคการเงินมีเสถียรภาพ ให้บริการได้ต่อเนื่อง พร้อมรองรับความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีและภัยไซเบอร์จากนอกภาคการเงิน
- ผู้ให้บริการทางการเงินบริหารจัดการข้อมูลของตนเอง และความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ได้ตามมาตรฐานสากลชั้นนำและไม่นำไปสู่ความเสี่ยงเชิงระบบ
- ภาคการเงินมีบุคคลากรที่เพียงพอรับมือความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีและภัยไซเบอร์
ความท้าทายที่ 6 การดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงความยั่งยืน (sustainability) ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล จะเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
- ธปท. และสถาบันการเงินมีการดำเนินงานที่คำนึงถึง E S G และมีส่วนช่วยลดปัญหาให้สังคมไทย
- ปัญหาหนี้ครัวเรือนลดลง ความเปราะบางของฐานะทางการเงินของครัวเรือนได้รับการดูแล และไม่สร้างความเสี่ยงในระยะยาว
- ประชาชนใช้บริการทางการเงินและเงินดิจิทัลได้เหมาะสมและเท่าทันความเสี่ยง
- ประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างทั่วถึง ได้รับบริการเป็นธรรม และมีภาระทางการเงินลดลง
ความท้าทายที่ 7 การรักษาความเป็นอิสระและความน่าเชื่อถือของธนาคารกลางต้องเผชิญกับความท้าทายที่หลายหลายขึ้น
- ประชาชนและภาคธุรกิจเข้าใจและเชื่อมั่นบทบาทและเหตุผลการดำเนินนโยบายของ ธปท.
- ผู้เกี่ยวข้องนำข้อมูลข่าวสารที่ได้จาก ธปท. ไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสม
- มีเครือข่ายพันธมิตรที่ร่วมมือผลักดันงานได้สำเร็จ พร้อมสนับสนุนและช่วยสื่อสารแนวคิดของ ธปท.
- ธปท. ได้รับการยอมรับว่าเป็นองค์กรที่มีธรรมาภิบาลสูง เปิดกว้างรับฟัง และเข้าถึงง่าย
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
ภาพจาก : ธนาคารแห่งประเทศไทย