- Home
- Thaireform
- สัมภาษณ์ - ปาฐกถา
- คุยกับหลาน พล.ต.ท.โต๊ะ อินทามระ กับปฏิบัติการทวงคืนชื่อถนน
คุยกับหลาน พล.ต.ท.โต๊ะ อินทามระ กับปฏิบัติการทวงคืนชื่อถนน
“เมื่อมีคนมารุกรานก่อน คิดมาเปลี่ยนชื่อซอยอินทามระทั้ง 59 ซอย หากไม่เปลี่ยนผมก็ไม่เรียกร้องถนนหรอก ถนนคุณจะเอาไป ก็เอาไป แต่ชื่อซอยนี่ หากผมไม่ออกมาต่อสู้ คงมีการเปลี่ยนไปนานแล้ว”
“คุณงามความดีของพลตำรวจโทโต๊ะ อินทามระ ซึ่งเป็นผู้อุทิศตนทำงานให้แก่ราชการเพื่อให้ที่ดินของกรมตำรวจเป็นที่อยู่อาศัยขอข้าราชการตำรวจและประชาชนทั่วไปได้มีที่อยู่อาศัย จนกระทั่งโครงการดังกล่าวสำเร็จทำให้มีผู้อยู่อาศัยในโครงการจัดสรร เป็นจำนวนหลายพันครอบครัวถึงทุกวันนี้ ซึ่งการอุทิศตนทำงานให้แก่ราชการในครั้งนี้ก็มิได้ทำไปโดยมุ่งประสงค์เพื่อการแสวงหากำไร จึงได้รับเกียรติจากที่ประชุม อ.พ.ก.กรมตำรวจให้จารึกคุณงามความดีไว้ในป้ายชื่อถนนนี้ว่า ถนนอินทามระ นอกจากนี้ยังมีชื่อซอยภายในโครงการจัดสรรดังกล่าว ครอบคลุมพื้นที่เขตพญาไท และเขตดินแดง อีก 59 ซอยที่ใช้ชื่อว่า ซอยอินทามระ ตั้งแต่ปี 2503 เป็นต้นมา แต่หลังจากนั้นก็ถูกบิดเบือนข้อเท็จจริง อีกทั้งมีการใช้อำนาจโดยมิชอบเลือกปฏิบัติไม่เป็นธรรมทำให้ปัจจุบันนี้มีเพียงชื่อซอยอินทามระ จำนวน 59 ซอยเท่านั้น แต่ถนนอินทามระ กลับถูกเปลี่ยนชื่อเป็น ถนนสุทธิสารวินิจฉัย ตลอดทั้งสาย"
ข้อความข้างต้น คือ คำอุทธรณ์ของนายกฤษฎา อินทามระ หลานปู่ ซึ่งเป็นหนึ่งในทายาทของพลตำรวจโทโต๊ะ อินทามระ ถูกระบุไว้ในคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด
โดยคดีพิพาทเรื่องชื่อถนนนี้ ศาลปกครองสูงสุดพิพากษากลับคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น ให้ผู้ถูกฟ้องทั้ง 5 ประกอบด้วยกรุงเทพมหานคร ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ผู้อำนวยการเขตพญาไท ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 และผู้อำนวยการเขตดินแดง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 พิจารณาดำเนินการในเรื่องการกำหนดและเปลี่ยนแปลงชื่อถนนและซอยบริเวณถนนสุทธิสารวินิจฉัย และซอยอินทามระทั้ง 59 ซอยให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงและหลักเกณฑ์ของกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ภายใน 180 วันนับแต่วันที่คดีถึงที่สุด
นายกฤษฎา อินทามระ อาชีพทนายความ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงความเป็นมาของคดีนี้ที่เริ่มเมื่อปี 2548 กรุงเทพมหานครในยุคผู้ว่าฯ อภิรักษ์ โกษะโยธิน มีนโยบายเปลี่ยนเลขที่บ้าน และเปลี่ยนชื่อซอยให้ตรงกับถนน ตามหลักสากล จากนั้นมีการประกาศให้ประชาชนทราบเพื่อเตรียมตัว
“เมื่อผมทราบข่าว ก็เห็นว่า แล้วชื่อตระกูล อินทามระ นามสกุลคุณปู่ผมที่เป็นคนบุกเบิกพัฒนาที่ดินให้ข้าราชการตำรวจ สมัย พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ เป็นอธิบดีกรมตำรวจ เดิมมีอยู่ 59 ซอย ชื่ออินทามระ จะมาเปลี่ยนชื่อ เป็นซอยสุทธิสารทั้งหมด อ้างถนนเป็นสุทธิสาร ซอยต้องตรงกับถนนนั้น และจะมีการวงเล็บไว้ให้ว่า อินทามระ ผมไม่ยอมก็เลยฟ้องศาลปกครองตั้งแต่นั้นมา”
จากนั้น นายกฤษฎา ยืนยันกับเจ้าหน้าที่กทม.หนักแน่น ที่ไม่ยอมให้กทม.เปลี่ยนชื่อซอยอินทามระ เพราะบรรพบุรุษได้ทำความดีความชอบให้กับบ้านเมือง ซึ่งเมื่อเรื่องขึ้นสู่ศาลปกครองชั้นต้น ยังไม่ทันที่ศาลจะตัดสิน กทม.ก็ยอมไม่เปลี่ยนชื่อซอยอินทามระแล้ว
“พอกทม.ไม่เปลี่ยนชื่อซอย คดีก็ยุติไป พอมาปี 2551 ผมก็มาดูว่า เกิดอนาคตข้างหน้า กทม.มาเล่นวิธีนี้อีก ให้ซอยต้องมีชื่อตรงกับถนน ผมไม่ต้องไปฟ้องอีกหรือ เลยฟ้องเขาบ้างว่า ถนนจริงๆ คุณก็ติดตั้งป้ายชื่อผิดนะ ถนนสุทธิสารวินิจฉัยมีแค่ 3 ช่วงเอง คือซอย 1-3 ตามประวัติความเป็นมาทะเบียนถนน พ.ศ. 2503”
ทายาทตระกูล อินทามระ อธิบายให้เห็นภาพว่า ตรงจากสะพานควาย เลี้ยวซ้ายจากห้างบิ๊กซี จะเป็นซอยสุทธิสาร 1 -3 เรียงไป แต่ของอินทามระ นั้นจะเริ่มตั้งแต่ซอยสุทธิสาร 3 เป็นต้นไป เป็นซอยอินทามระ 1 ไปเรื่อยจนถึงซอยอินทามาระ 59
“จากประวัติศาสตร์ทะเบียนถนนปี 2503 ก็บ่งบอกว่า ถนนสุทธิสารมีอยู่แค่ 500 เมตร คือ 3 ซอยเท่านั้น และถัดจากนั้นทั้งหมดต้องเป็นถนนอินทามระ ข้ามถนนวิภาวดีไป และยาวจนถึงเกือบจะออกถนนรัชดาภิเษก”
สำหรับคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด นายกฤษฎา ชี้ว่า การติดป้ายถนนทำได้ จุดหนึ่ง คือ ตั้งแต่ซอยอินทามระ 1 จนสุดถนนวิภาวดีรังสิต และอีกจุดหนึ่ง หัวถนนวิภาวดีรังสิต ที่ออกไปยังถนนรัชดาภิเษก รวมแล้วก็ 2 ป้ายเท่านั้นเอง ติดที่ถนนหลักๆ ขณะที่ประชาชนที่มีทะเบียนบ้านอยู่ในซอยอินทามระก็ต้องนำทะเบียนบ้านไปแก้ไข เป็นถนนนอินทามระ เช่น ถนนอินทามระ ซอยอินทามระ 1 เป็นต้น
“วันนี้กลายเป็นว่า ชื่อถนนสุทธิสาร ซอยอินทามระ ทะเบียนบ้านไม่ตรงกับหลักสากล คนก็งง ทำไมไม่ตรงกัน มีปัญหาอะไรกัน”
ทายาทตระกูล อินทามระ ยืนยันถึงการฟ้องร้องกทม.ครั้งนี้ ก็เพื่อต้องการให้รักษาชื่อเสียงวงศ์ตระกูลไว้
“เมื่อมีคนมารุกรานก่อน คิดมาเปลี่ยนชื่อซอยอินทามระทั้ง 59 ซอย หากไม่เปลี่ยนผมก็ไม่เรียกร้องถนนหรอก ถนนคุณจะเอาไปก็เอาไป แต่ชื่อซอยนี่ หากผมไม่ออกมาต่อสู้ คงมีการเปลี่ยนไปนานแล้ว”
นายกฤษฎา ยังเล่าต่อถึงชื่อถนนสุทธิสารอีกว่า อาจารย์มารุต บุนนาค ทายาทของพระสุทธิสารวินิจฉัย เคยทำหนังสือทักท้วงไปที่กทม.ว่า ต้องใช้ชื่อถนนเต็มว่า “ถนนสุทธิสารวินิจฉัย” ชื่อถนนสุทธิสารไม่ถูกต้อง
พร้อมกับนี้ เขาเห็นว่า ตามข้อเท็จจริงมีการอุทิศเป็นที่สาธารณะแค่ 3 ซอย ฉะนั้นเป็นไปได้อย่างไรที่ถนนสุทธิสารจะยาวไปถึงห้วยขวาง “ใครจะยกที่ดินจากสะพานควาย ยาวไปถึงห้วยขวาง”
นายกฤษฎา ยืนยันอีกครั้งว่า สิ่งที่ต้องทำให้ลุกขึ้นมาฟ้องร้องกทม.นั้น ที่ผ่านมาเห็นว่า อยากทำอะไรทำไปเลย แต่อย่าเอามากเกินไป
“สมัยอธิบดีฯ เผ่า ให้คุณปู่ผมนำที่ดินกรมตำรวจไปแบ่งจัดสรรให้ตำรวจผ่อนถูกๆ เช่นเดียวกับแฟลตตำรวจสมัยนายสมัคร สุนทรเวช แต่สมัยปู่ผมเป็นผู้ริเริ่มทำเป็นบ้าน เป็นหลังๆ ให้ตำรวจผ่อน ซึ่งแถวสะพานควาย สมัยนั้นเรียกว่า ทุ่งเลี้ยงควาย ทุรกันดารมาก ปู่ผมมีนโยบายทำให้ที่แถวนั้นเป็นบ้านของตำรวจโดยเฉพาะ ตำรวจก็มาจับจองผ่อนกัน สุดท้ายข้าราชการตำรวจก็ได้บ้านเป็นหลังๆ อยู่”
ทายาทตระกูล อินทามระ ยังเล่าต่อว่า สมัยนั้นผู้ใหญ่เล่าให้ฟังว่า เขามีการตกลงระหว่างผู้ใหญ่ คุณเอาถนนก็เอาไป แต่อย่ามายุ่งกับซอยนะ ยังไงก็ต้องเป็นชื่อ ซอยอินทามระไปตลอดกาล อย่าเปลี่ยน จนมาเจอหลักสากลของกทม. นี่แหละ
“หากผมไม่ลุกขึ้นมาฟ้องกทม.อีกหน่อยความดีความชอบตระกูลผมก็หายไป ผมไม่ได้ฟ้องเพื่ออะไรนะ เราถูกรุกรานก่อน มิเช่นนั้นไม่ทำอะไรหรอก ผมเป็นทนายความ รู้กฎหมาย ก็เอาให้เรื่องจบสิ้นสักที จะได้ไม่ต้องมาเปลี่ยนกันอีก ปู่ผมทำมาและเป็นชื่อเสียงวงศ์ตระกูล คนอยู่เป็นร้อยเป็นพันครอบครัว”
สุดท้าย หลานพลตำรวจโทโต๊ะ อินทามระ ซึ่งหันพึ่งความยุติธรรม ชี้ว่า หาก 180 วันแล้วกทม.ไม่เปลี่ยนป้ายชื่อถนน จะมีความผิดอาญา ฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่ แต่เขาเชื่อว่า ผู้ว่าฯ กทม. ยังไงต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาสูงสุดแน่นอน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สืบค้นประวัติ พระสุทธิสารวินิจฉัย-พล.ต.ท.โต๊ะ อินทามระ สู่บรรทัดฐานยกที่ดินให้สาธารณะ