- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- ไม่แก้ปัญหาน้ำท่วมเมืองนคร ชาวบ้านค้านโครงการ "8 เขื่อน 1 แม่น้ำ"
ไม่แก้ปัญหาน้ำท่วมเมืองนคร ชาวบ้านค้านโครงการ "8 เขื่อน 1 แม่น้ำ"
ชาวบ้าน นครศรีฯ ค้าน 8 เขื่อน 1 แม่น้ำ โครงการของรัฐ วอนทบทวนแผนการจัดการน้ำ ทั้งระบบก่อนดำเนินการใดๆ ยืนยันฝายดีกว่าเขื่อน ฟื้นฟูระบบนิเวศให้กลับคืนมา
วันที่ 15 มกราคม 2560 อาสาสำนักงานภัยพิบัติภาคพลเมือง แผนงานปกป้องสิ่งแวดล้อม จัดเสวนาหารือมองทางออกจากปัญหาน้ำท่วมนครศรีธรรมราช ผ่านโจทย์ของกรมชลประทาน " 8 เขื่อน 1 แม่น้ำ " เขื่อนคือหายนะของสิ่งแวดล้อมและชุมชน ณ ศาลาริมฝายมีชีวิตไชยมนตรี ต.ไชยมนตรี อ.เมืองนครศรีธรรมราช
นายกัมพล จิตตะนัง อาสาจากสำนักงานภัยพิบัติภาคพลเมือง แผนงานปกป้องสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า เมื่อเดือนธันวาคม 2559 ชาวนครฯ เจอน้ำท่วมใหญ่ 2 รอบ ซึ่งความจริงไม่ได้มีแค่เรื่องน้ำท่วม ยังมีเรื่องดินถล่ม สาเหตุที่ต้องหารือร่วมชุมชน เพราะภาครัฐมีแผนเรื่องการจัดการน้ำไว้แล้ว โดยเมื่อไม่นานมานี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ลงพื้นที่ในจังหวัดนครศรีธรรมราช และได้ประกาศผ่านสื่อมวลชนแล้วว่า มี 7 เขื่อนที่เมืองนครจะต้องสร้างให้เสร็จ คือ ในอำเภอสิชล 1 เขื่อน อำเภอจุฬาภรณ์ 3 เขื่อน อำเภอร่อนพิบูลย์ 1 เขื่อน อำเภอทุ่งสง 1 เขื่อน อำเภอทุ่งใหญ่ 1 เขื่อน
"รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้พูดถึงการขุดลอกคลองขยายคลอง แต่ไม่ได้ลงรายละเอียดมากมาย แต่ตามนโยบายที่มีอยู่คือการขุดแม่น้ำสายใหม่ คือพื้นที่ตำบลไชยมนตรี และล่าสุดเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2560 รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯ ได้แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นอีก 1 เขื่อน และจะเริ่มก่อสร้างในปี 2560 นี้ ซึ่งกำลังจะนำเครื่องลง แต่ชาวบ้านในอำเภอทุ่งสงได้คัดค้านเอาไว้"
ในส่วนของเขื่อนที่กำลังจะเกิดขึ้น นายกัมพล กล่าวว่า ขอเรียกว่า แม่น้ำสายไหม เพราะในภาครัฐเขาจะเรียกขุดลอกขยายคลอง แต่ถ้ากว้าง 150 เมตร จะเรียกคลองไม่ได้ โดยจุดเริ่มต้นของแม่น้ำสายไหมก็คือคลองท่าดีหรือตำบลไชยมนตรี ซึ่งมีน้ำไหลจากคลองท่าดีไปออกที่ตำบลบางจาก
"แผนของการสร้างเขื่อนไชยมนตรี เป็นเรื่องของการป้องกันน้ำในเมืองนครศรีธรรมราชจากน้ำท่วม ซึ่งเป็นเรื่องที่พูดคุยกันมานานแล้ว และมีหลายๆ โครงการที่ภาครัฐจัดทำเพื่อเลี่ยงน้ำท่วมในเมืองนครศรีฯ แต่ที่เราไม่เคยเห็นเลยคือ การฟื้นฟูระบบนิเวศ"
อาสาจากสำนักงานภัยพิบัติภาคพลเมือง กล่าวอีกว่า ตั้งแต่น้ำท่วมเดือนธันวาคม 2559 จนถึงมกราคม 2560 ภาครัฐเองก็มีความพยายามอยู่ตลอดในการหยิบโครงการเดิมๆที่เคยพยายามไว้เมื่อหลายปีแล้วขึ้นมาทำ แต่ทุกโครงการนั้นกรมชลประทานจะอ้างถึง และให้เหตุผลกับประชาชนว่า เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และโครงการ 8 เขื่อนก็อ้างถึงโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้งหมด
"ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานเรื่องการการจัดการน้ำไว้ให้กับกรมชลประทานได้นำมาใช้ ในหลวงได้ทรงรับสั่งให้สร้างอ้างเก็บน้ำในวังหิน กรมชลประทานก็สร้าง แต่ครั้งนี้ก็ยังคงอ้างโครงการเนื่องในพระราชดำริอีก จึงเกิดเป็นข้อสงสัยของภาคประชาชน แต่ภาครัฐก็มีเหตุของเขา จะจริงหรือเท็จก็ไม่มีใครรู้" นายกัมพล กล่าว และว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องของประเทศชาติ งบประมาณ 2 หมื่นล้านบาทที่นำมาลงในโครงการ 8 เขื่อน กับ 1 แม่น้ำ อาจไม่สอดคล้องกัน
นายกัมพล กล่าวถึงการที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่กล่าวถึงสาเหตุที่น้ำท่วมในเขตพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นเพราะมีสิ่งขีดขวาง สิ่งกีดขวางที่ว่านั้น รวมถึงฝายมีชีวิตด้วยหรือไม่
ขณะที่ครูท้วม ไม้หลา ผู้ริเริ่มฝายมีชีวิตไชยมนตรี คลองท่าดี กล่าวถึงเหตุการณ์น้ำท่วมนั้น จริงๆ ท่วมได้ทุกๆ พื้นที่จะมีฝายหรือไม่มี ก็ท่วม ถ้าฝนตกหนัก
สำหรับ 8 เขื่อนกับ 1 แม่น้ำ เพื่อแก้ปัญหา ครูท้วม กล่าวว่า ไม่ใช่ทางออกที่ดี เราสร้างฝายมีชีวิตขึ้นมาเพื่อรักษาระบบนิเวศให้คงอยู่กับชาวบ้าน ได้ใช้น้ำจากลำคลอง หากทั่วเมืองนครมีฝายทุกลำคลอง คลองหลายตัวก็จะช่วยละน้ำได้มากขึ้น และยังเลี้ยงชีวิต คน สัตว์ ป่าไม้ได้ดี และการจะแก้ปัญหาน้ำท่วมนั้นต้องมีฝายจำนวนเพียงพอด้วย เช่น คลองท่าดีแห่งนี้ ต้องเพิ่มอีกประมาณ 25 ตัว ส่วนคลองอื่นๆ ก็เพิ่มจำนวนตามความยาวของคลองให้เหมาะสม ถ้าทางภาครัฐช่วยสนับสนุนจะดีมาก
ครูท้วม กล่าวถึงความแตกต่างระหว่างเขื่อนกับฝายว่า เขื่อนคือจุดที่น้ำไหลผ่านไม่ได้ แต่ฝายจุดที่น้ำไหลผ่านได้ และช่วยชะลอน้ำเพื่อลดความแรงของน้ำ แต่เขื่อนจะเป็นสาเหตุให้น้ำท่วมได้ง่ายขึ้นและผลกระทบเมื่อเขื่อนรับน้ำไม่อยู่ประชาชนจะเดือดร้อนหนักกว่าเดิม
"ที่สำคัญที่สุดเราสร้างฝายมีชีวิตขึ้น เพื่อในหลวง และจะไม่ยอมให้เขื่อนเกิดขึ้นแน่นอน ในหลวงเคยตรัสว่า ถ้าโครงการพระราชดำริแตะต้องไม่ได้ ประเทศไทยก็ไม่เจริญ ฉะนั้นจะอ้างว่า โครงการในพระราชดำริแตะต้องไม่ได้นั้น ไม่จริง และทางเราจะร่วมมือกับประชาชนช่วยกันเดินหน้าสร้างฝายให้ได้มากที่สุด"
ด้านตัวแทนประชาชนจาก 4 ชุมชนที่เข้าร่วมหารือ มีความเห็นตรงกัน ไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อน เพราะสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาน้ำท่วมในเมืองนครนั้น เป็นเพราะการจัดการน้ำไม่ดีเอง จะมาโทษน้ำจากเทือกเขาไม่ได้ เพราะมีฝายกั้นน้ำ และฝายช่วยกั้นน้ำได้ดี เพียงแต่ปริมาณน้ำมากเกินไปจึงไหลสมทบกับฝนที่ตกลงมาอย่างหนักเป็นเวลาหลายวันติดต่อกัน จึงทำให้น้ำท่วมขัง
ที่สำคัญ คือ ลำคลองที่น้ำไหลลงจากเขาไม่ได้ปล่อยน้ำเข้าตัวเมือง น้ำท่วมคือเรื่องปกติ ที่ห้ามไม่ได้ แต่จะทำอย่างไรให้ไม่ท่วมขัง หรือระบายน้ำโดยใช้เวลาน้อยที่สุด เพื่อไม่ให้เป็นกระทบกับชีวิตน้อยที่สุด
ส่วนสาเหตุหลักๆที่ทำให้เกิดน้ำท่วมขัง ชาวบ้านแสดงความเห็นว่า
1.ลำคลองตัดเมืองมีขนาดเล็กเกินไป และยังมีการสร้างหัวสะพานใหญ่กว่าลำคลองทำให้น้ำไหลไม่สะดวก ทำให้น้ำหลีกไปทางอื่นไม่ได้ เพราะอย่างไรก็ต้องผ่านเมือง และน้ำจากที่สูงก็ต้องลงที่ต่ำเป็นธรรมชาติ ถ้ามีสิ่งกีดขวางก็ท่วม ฝนไม่ได้ตกแค่ในชุมชน ในเมืองก็มีน้ำต้นทุนอยู่แล้วเมื่อน้ำผสมกันก็ต้องท่วม
2.การสร้างถนนไม่บูรณาการกัน อาจเป็นเพราะผู้รับเหมา ที่ออกแบบทำถนนให้สูงทำให้น้ำไหลผ่านไม่ได้
อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านเห็นว่า การสร้างเขื่อนนั้นคาดว่าจะสร้างความเดือดร้อนให้กับชุมชนอย่างมหาศาล เพราะต่อให้สร้างดีแค่ไหนน้ำก็ท่วมอยู่ดี อาจเดือดร้อนมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ ภาครัฐจะดำเนินตามนโยบาย หากไม่ได้ลงมาสัมผัสจริงว่า ความจริงของสาเหตุเกิดจากอะไร และไม่ฟังเสียงประชาชนที่อยู่นอกตัวเมือง มัวแต่จะแก้ปัญหาในเมืองให้ได้เท่านั้น
สำหรับทางแก้ปัญหาน้ำท่วมเมืองนครศรีธรรมราช ชาวบ้านเสนอว่า
1.ต้องสร้างฝายมีชีวิต เพราะนอกจากได้น้ำแล้วยังได้ระบบนิเวศที่ดีกลับมาด้วย ดีกว่าที่ภาครัฐจะเอา 2 หมื่นล้านบาท มาสร้างเขื่อนหรือโครงการน้ำ โดยการแล้วมาช่วยกันสร้างฝายกั้นน้ำทุกสายน้ำ
2.ชาวบ้านต้องจับมือเดินไปด้วยกัน โดยมีเป้าหมายเดียวกัน จะได้มีความเข้มแข็ง
3.ฝายจะต้องเสร็จก่อนเขื่อน เพื่อพิสูจน์ว่าฝายดีกว่าเขื่อนอย่างไร
ทั้งนี้ ในตอนท้ายของการประชุมหารือ ตัวแทนจากทุกชุมชนที่เข้าร่วมการเสวนาได้ข้อสรุปเบื้องต้นไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนและขุดแม่น้ำเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง พร้อมขอให้ให้รัฐทบทวนแผนการจัดการน้ำจังหวัดนครศรีธรรมราชทั้งระบบก่อนจะดำเนินการใดๆ และจะไม่ยอมให้เขื่อนเกิดขึ้น เพราะไม่สมเหตุสมผล ไม่ได้ตอบโจทย์การแก้ปัญหาน้ำท่วม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
“ฝายมีชีวิต” เมื่อชุมชนลุกขึ้นจัดการตนเอง แก้น้ำท่วม ซับน้ำไว้ใช้หน้าแล้ง