- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- “ฝายมีชีวิต” เมื่อชุมชนลุกขึ้นจัดการตนเอง แก้น้ำท่วม ซับน้ำไว้ใช้หน้าแล้ง
“ฝายมีชีวิต” เมื่อชุมชนลุกขึ้นจัดการตนเอง แก้น้ำท่วม ซับน้ำไว้ใช้หน้าแล้ง
การทำฝายมีชีวิต เป็นการยกระดับน้ำขึ้นระดับหนึ่งเท่านั้น เป็นฝายน้ำล้น ช่วยชะลอน้ำ มีน้ำผ่านตลอดเวลา แตกต่างจากฝายของชลประทาน นอกจากโครงสร้างแข็ง ทำด้วยปูน เหล็ก ยังทำสูง ปิด-เปิดน้ำเป็นเวลา จึงทำให้น้ำนิ่ง น้ำจะตาย กลายเป็นน้ำเน่าในที่สุด
การบริหารจัดการน้ำ ไม่ใช่แค่เพียงการกักปริมาณน้ำไว้ให้พอใช้ตลอดปีเท่านั้น แต่คือการรักษาระบบนิเวศน์ เพื่อให้ได้น้ำ เพื่อรักษาการผลิตน้ำตามธรรมชาติไว้เติมเต็มระบบอย่างยั่งยืน แต่การตัดสินใจเลือกวิธีการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมาเน้นหนักและให้ความสำคัญกับงบประมาณ และลงทุนด้านเทคโนโลยีเป็นหลัก
ข้อมูลเชิงประจักษ์ที่ปรากฏให้เห็นปัจจุบัน คือ ภาพน้ำที่เหือดแห้งในแทบทุกเขื่อน ทุกคูคลอง หนอง บึง โดยเฉพาะหน้าแล้งปีนี้ ยิ่งเห็นชัด ทั้งๆ ที่ประเทศไทยตั้งอยู่บนภูมิศาสตร์ที่ดีสุดแห่งหนึ่งของโลก มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ แต่เรากลับเผชิญวิกฤตภัยแล้งได้ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
"ฝายมีชีวิต" อีกหนึ่งนวัตกรรมใหม่ของชุมชน ที่ "ศักดิ์พงษ์ นิลไพรัช" ผู้นำชุมชนเมือง ศูนย์การศึกษาและพัฒนาชุมชนท้องถิ่น จังหวัดนครศรีธรรมราช หนึ่งในผู้สร้างกระบวนการให้ชาวบ้านสร้างฝายมีชีวิตมาแล้วไม่ต่ำกว่า 170 ตัว เชื่อมั่นว่า จะเป็นกุญแจสู่การฟื้นฟูระบบนิเวศน์ขึ้นมาใหม่
ฝายมีชีวิตเป็นกระบวนการเปลี่ยนวิธีคิดจากการพัฒนาที่เอาเงินนำ เป็นสร้างปัญญาก่อน แล้วเงินตามมาทีหลัง เขามองว่า ฝายมีชีวิตจะต้องไม่เริ่มต้นจากงบประมาณเด็ดขาด เพราะเชื่อว่า ที่ใดเริ่มจากงบประมาณ ก็จะจบตั้งแต่วันเริ่มทำโครงการ
ฝายมีชีวิต คำตอบทางวิชาการของชุมชน ผ่านเวทีประชาเข้าใจ ที่เปิดให้ทุกคนในชุมชนร่วมสร้างความเข้าใจ เรียนรู้ เรื่องดิน น้ำ ป่า ตัดสินใจบนพื้นฐานความถูกต้อง กระบวนการนี้เริ่มต้นจากความต้องการแก้ไขปัญหาน้ำของชุมชนเอง จากนั้นวางแผน เมื่อประชาลงมือแล้ว ขาดเหลืออะไร อาจารย์ศักดิ์พงษ์ ชี้ว่า เมื่อนั้นรัฐถึงจะเข้ามาช่วยทีหลัง
"โครงการสร้างฝายมีชีวิต เป็นการยกระดับน้ำเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก และชะลอน้ำมิให้กระแสน้ำไหลหลาก ลดความรุนแรงของการกัดเซาะ นอกจากนี้ ฝายมีชีวิตจะช่วยพยุงเศษซากพืช ซากสัตว์ ไม่ให้ถูกพัดพาลงสู่แหล่งน้ำตอนล่างหมด ช่วยให้คุณภาพน้ำตอนล่างดีขึ้น ขณะที่ซากสัตว์ต่างๆ ที่ถูกพยุงไว้ ก็จะเป็นอาหารให้กับสัตว์น้ำ"
หัวใจหลักของการทำฝายมีชีวิต นอกจากเป็นโครงสร้างสีเขียว 100% ไม่ใช้สิ่งแปลกปลอมธรรมชาติ เช่น เหล็ก หรือปูน แล้ว โครงสร้างฝายมีชีวิต ยังแตกต่างจากฝายอื่นๆ หรือเขื่อนๆ โดยฝายโดยทั่วไปทำโครงสร้างสี่เหลี่ยม พอน้ำมาก็มาตีและทรายก็กองอยู่หน้าฝาย ยิ่งนานๆ เข้าก็จะตื้นเขิน ขณะที่ปลาว่ายน้ำมา ชนเขื่อน ชนฝายที่มีโครงสร้างแข็ง นี่คือการทำลายระบบนิเวศน์ ที่ผู้นำชุมชนท่านนี้อธิบายให้เห็นภาพถึงความแตกต่าง
ฉะนั้น โครงสร้างฝายมีชีวิต เป็นการแก้ไขฝายที่มีอยู่แล้วให้สมบูรณ์ ส่วนประกอบสำคัญ เช่น
- “บันไดนิเวศน์” อยู่ด้านหน้าและด้านหลังฝาย แก้ปัญหาการตื้นเขินที่หน้าฝายได้ ตลอดจนสัตว์น้ำทุกชนิดสามารถผ่านตัวฝายได้
- ตัวฝายกั้นน้ำ ใช้วัสดุธรรมชาติ คือ ทราย ขุยมะพร้าว มูลสัตว์ ผสมเข้ากันและบรรจุใส่กระสอบวางเรียงซ้อนกันเพื่อให้เป็นกำแพงกั้นชะลอน้ำ
- ลำไผ่ ตัวโครงปักฝังลงไปในลำคลองเสมือนเสาเข็มเป็นแนวผูกด้วยเชือกยึดโยงกระสอบที่กั้นน้ำไว้แข็งแรง
- หูช้าง เป็นแนวกำแพงยาวยื่นไปตามริมตลิ่งทั้งเหนือฝาย ตลอดจนใต้ฝาย และใช้กระสอบทรายผสมเช่นเดียวกัน ซึ่งจะเป็นอาหารให้กับต้นไม้ที่นำมาปลูกกับหูช้างได้เป็นอย่างดี เช่น ต้นไทร มะเดื่อ ไม้ไผ่ จิกน้ำ
ภูมิปัญญาบรรพบุรุษ บอกให้เรารู้ว่า ต้นไทรมีระบบรากยาวได้ถึง 500 เมตรถ้าไม่มีน้ำให้กิน แต่จะหยุดทันทีที่เจอน้ำ และก่อนจะไปถึงน้ำ รากไทรก็จะทำหน้าที่ยึดหน้าดิน ยึดตลิ่งเอาไว้ไม่ให้ทรุดตัวได้ง่ายๆ
“การนำไม้ไผ่มาปักเป็นเสา จะอยู่ได้ประมาณ 20 ปี แต่เมื่อมีการนำหลักคิดรากไทรสร้างสายน้ำ ปลูกบริเวณหูช้างเพื่อให้รากไทรคลุมฝายมีชีวิตนั้น รากไทรจะเจริญเติบโตเป็นตัวฝายที่มีชีวิตต่อไป มีอายุนานเป็นร้อยๆปี และยังเป็นที่อยู่ของปลาและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ”
ผู้นำปฏิบัติการสร้างฝายมีชีวิต เห็นว่า บ่อน้ำอย่างเดียวไม่เคยเก็บน้ำได้ ดังนั้น ในสมัยโบราณทุ่งนาทุกทุ่ง จะเห็นบ่อน้ำ ต้องมีต้นไทรอยู่ด้วยเสมอ และแม้แต่ฤดูแล้งที่สุดรากไทรก็สร้างสายน้ำให้เราด้วย
"การทำฝายมีชีวิต เป็นการยกระดับน้ำขึ้นระดับหนึ่งเท่านั้น เพื่อช่วยชะลอน้ำ เป็นฝายน้ำล้น น้ำจะไหลผ่านฝายตลอดเวลา แตกต่างจากกระแสพัฒนาสมัยใหม่ ฝายของชลประทาน นอกจากโครงสร้างแข็ง ทำด้วยปูน เหล็ก ยังทำสูง ปิดเปิดน้ำเป็นเวลา จึงทำให้น้ำนิ่ง น้ำจะตาย กลายเป็นน้ำเน่าในที่สุด" อาจารย์ศักดิ์พงษ์ ชี้ว่า นี่คือการทำลายระบบนิเวศน์มาอย่างต่อเนื่อง
ส่วนที่ห่วงการสร้างฝายมีชีวิต แล้วคนต้นน้ำ ปลายน้ำ จะมีน้ำใช้หรือไม่ “อาจารย์ศักดิ์พงษ์" บอกว่า น้ำจะมีใช้ตลอดทั้งปี รวมถึงฝายมีชีวิตยังตอบโจทย์น้ำท่วมได้อีกด้วย พร้อมกับยกตัวอย่างที่เกิดขึ้นแล้ว ที่ จ.นครศรีธรรมราช ที่เมื่อก่อนเกิดน้ำท่วมทุกปี แต่พอสร้างฝายมีชีวิตเสร็จ น้ำไม่ท่วมเมืองนครฯ อีกเลย
“สาเหตุน้ำท่วมเมืองนครฯ เพราะน้ำเดินทางเร็ว ระบายไม่ทัน ปัจจุบันฝายมีชีวิตช่วยชะลอการเดินทางของน้ำ สามารถระบายลงทะเลได้ทัน รวมทั้งมีรายงานวิจัยของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ที่พบว่า ปีหนึ่งๆ จ.นครศรีธรรมราช มีปริมาณฝนตก 700 ล้านลูกบาศก์เมตร มีน้ำที่ต้องใช้จริงๆ แค่ 154 ล้านลูกบาศ์กเมตร แต่ที่นครศรีธรรมราช ขาดแคลนน้ำ เพราะตอนน้ำมาไม่ได้กักเก็บไว้ แต่เมื่อมีฝายมีชีวิตเกิดขึ้น 30 ตัว น้ำเมืองนครไม่มีวันแล้ง”
ขณะที่รศ.ดร.อภิชาติ อนุกูลอำไพ นักวิชาการด้านน้ำ ชี้ว่า ภาคใต้เป็นพื้นที่ราบชายฝั่ง ฉะนั้น การสร้างฝายจึงเป็นการซับน้ำไม่ให้ไหลทิ้งทะเล ซึ่งที่ผ่านมานักวิชาการมองว่า การทำฝายไปสร้างสิ่งกีดขวางทางน้ำ อาจทำให้พื้นที่ด้านล่างไม่มีน้ำ แต่เมื่อพบว่า ฝายมีชีวิตช่วยซับน้ำได้ดี ยิ่งทำเยอะก็จะมีพื้นที่ซับน้ำมากขึ้น เชื่อว่า สามารถขยายผลไปยังภาคอื่นๆ ของประเทศได้
ส่วนศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล ประธานสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ระบุว่า มีตัวอย่างความสำเร็จเกิดขึ้นแล้วที่ ศูนย์ศึกษาห้วยฮ่องไคร่ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่สามารถทำให้เขาหัวโล้น กลายเป็นป่าต้นน้ำ ป่าเปียกได้อีกครั้ง แต่สำหรับฝายมีชีวิต สำเร็จโดยความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้าน ดังนั้น หน่วยงานราชการ ไม่ควรเข้าไปยุ่งมาก และไม่ควรนำโครงการลงไปให้ชาวบ้าน เพราะหากนำเม็ดเงินลงไป ชาวบ้านจะแตกคอ ไม่มีทางสำเร็จ
การสร้างฝายมีชีวิต แม้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นการประยุกต์ข้อดี-ข้อเสียของฝายแม้ว ฝายชะลอน้ำ ทำนบ มารวมกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง โดยไม่ใช่เงินมากมายมหาศาล ในหน้าแล้ง ฝายมีชีวิตยังมีส่วนช่วยเก็บน้ำไว้กับดิน น้ำที่ถูกเก็บไว้จะคายความชื้น ซึม และแผ่กระจายออกไปตามธรรมชาติ สู่ลำคลอง โดยไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งตรงกันข้ามกับการส่งน้ำทางท่อ หรือขุดลอกให้เป็นคลองขนาดใหญ่เพื่อส่งน้ำไปอีกที่หนึ่ง ใครจะใช้น้ำต้องสูบขึ้นท่อ
ปัจจุบันหลักคิดฝายมีชีวิต ส่งต่อจากชุมชนสู่ชุมชน เรียกว่า มีพลังพิเศษสามารถดึงดูดความร่วมมือจากหน่วยงาน ภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง มาร่วมสนับสนุนฝายมีชีวิตให้แจ้งเกิดแล้วไม่ต่ำกว่า 100 ฝาย