- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- กรมควบคุมมลพิษ แถลงปลากระเบนราหูตาย เกิดจากการรั่วไหลของน้ำกากส่า
กรมควบคุมมลพิษ แถลงปลากระเบนราหูตาย เกิดจากการรั่วไหลของน้ำกากส่า
คพ. แถลงข่าว ตั้งสมมุติฐานการตายของปลากระเบนราหูในแม่น้ำแม่กลอง เกิดจากระดับความเข้มข้น ของแอมโมเนียอิสระสูง ซึ่งเป็นจากการรั่วไหลของน้ำกากส่า ทำให้เป็นพิษต่อปลากระเบนราหูและสัตว์น้ำอื่นๆ โดยเฉพาะในช่วงที่มีออกซิเจนละลายน้ำต่ำ หรือสภาวะไร้อากาศใต้ท้องน้ำ
วันที่ 21 ตุลาคม 2559 เวลา 14.00 น. ที่ ห้อง 301 อาคารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายวิจารย์ สิมาฉายา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เป็นประธานการแถลงข่าว ผลพิสูจน์ สาเหตุการตายของปลากระเบนราหูในแม่น้ำแม่กลอง ว่า จากกรณีปลากระเบนราหูและสัตว์น้ำอื่นๆ ตายเป็นจำนวนมากในแม่น้ำแม่กลอง จังหวัดราชบุรี และจังหวัดสมุทรสงคราม ในระหว่างวันที่ 1-7 ตุลาคม 2559 โดยเฉพาะในเขตอำเภอบางคนที และอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม จากการวิเคราะห์คุณภาพน้ำของกรมควบคุมมลพิษและจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สันนิษฐานได้ว่า ยังคงมีน้ำกากส่าที่รั่วจากการระบายทิ้งจากโรงงานเอทานอลราชบุรีสะสมในแม่น้ำแม่กลอง โดย บริษัท ราชบุรีเอทานอล จำกัด ได้มีหนังสือชี้แจงกรณีน้ำกากส่าในบ่อสุดท้ายที่ผ่านการบำบัดแล้วของโรงงานรั่วไหลลงแม่น้ำแม่กลอง เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2559
"จากผลการวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำในแม่น้ำแม่กลองตอนล่าง ช่วงระหว่างวันที่ 4-10 ตุลาคม 2559 พบว่า ค่าออกซิเจนละลายน้ำ (DO) ประมาณ 1.0-2.8 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งมีค่าต่ำกว่าช่วงเดือนเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว (พ.ศ.2558) และมีค่า BOD ในแม่น้ำแม่กลอง พื้นที่เขตจังหวัดสมุทรสงคราม (ตั้งแต่อำเภอบางคนทีลงมาจนถึงปากแม่น้ำ) เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2559 มีค่าสูงระหว่าง 11-28 มิลลิกรัมต่อลิตร"
นายวิจารย์ กล่าวอีกว่า จากผลการวิเคราะห์คุณภาพน้ำดังกล่าว ประกอบกับความเห็นของ รศ.สพญ.ดร.นันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สันนิษฐานได้ว่า ปลากระเบนราหูได้รับสารเคมีที่เป็นพิษต่อระบบไตและระบบเหงือก และยังพบว่าความสามารถในการควบคุมความสมดุลในร่างกายเสียไป
กรมควบคุมมลพิษ จึงได้ตั้งสมมุติฐานการตายของปลากระเบนราหูในแม่น้ำแม่กลองว่าเกิดจากระดับความเข้มข้นของแอมโมเนียอิสระสูง ซึ่งเป็นจากการรั่วไหลของน้ำกากส่า ทำให้เป็นพิษต่อปลากระเบนราหูและสัตว์น้ำอื่นๆ โดยเฉพาะในช่วงที่มีออกซิเจนละลายน้ำต่ำ หรือสภาวะไร้อากาศใต้ท้องน้ำ สำหรับการดำเนินการในขั้นตอนต่อไป กรมควบคุมมลพิษ จะดำเนินการกล่าวโทษโรงงานที่เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
คพ. พบสารพิษโลหะหนัก 5 จุด น้ำแม่กลอง ยังไม่ฟันธงทำปลากระเบนราหูตาย
เปิดหนังสือ รง.ราชบุรีเอทานอล ทำน้ำกากส่ารั่วลงแม่กลอง