- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- ก.อุตฯ ระดมเก็บตัวอย่างน้ำทิ้งทุก รง.ริมแม่น้ำแม่กลอง
ก.อุตฯ ระดมเก็บตัวอย่างน้ำทิ้งทุก รง.ริมแม่น้ำแม่กลอง
โฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เผยพบค่าน้ำทิ้งเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่กฎหมายกำหนดจากโรงงานเอทานอล เร่งดำเนินการตามกฎหมายอย่างเร่งด่วน
วันที่ 13 ตุลาคม นางนิสากร จึงเจริญธรรม รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงเกิดเหตุการณ์ปลากระเบนตาย ในแม่น้ำแม่กลองในเขตจังหวัดราชบุรีและสมุทรสงคราม ว่า กรณีดังกล่าว กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีการให้มีการติดตามเรื่องราวดังกล่าวอย่างใกล้ชิดเพื่อเร่งแก้ไขให้สถานการณ์คลี่คลายโดยเร็ว โดยมีการดำเนินการให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายโรงงานอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ไปเก็บตัวอย่างน้ำของโรงงานเอทานอล ซึ่งตั้งอยู่ในอำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ล่าสุดผลการเก็บตัวอย่างน้ำได้ออกมาแล้วพบว่า ค่าน้ำทิ้งเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่กฎหมายกำหนด โดยค่าสารแขวนลอย ค่า BOD. และค่า COD. เกินเกณฑ์ค่ามาตรฐาน สอจ.ราชบุรี จะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเร่งด่วน และได้มีการออกหนังสือแจ้งถึงผู้ประกอบการรายดังกล่าวให้รับทราบข้อกล่าวหาว่ามีความผิดต้องดำเนินการทางอาญาฐานฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามประกาศฯ
นางนิสากร กล่าวว่า นอกจากนี้ ได้มีคำสั่งให้โรงงานปรับปรุงแก้ไขให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนด รวมถึงได้มอบหมาย ผู้บริหารกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่เพื่อสนับสนุนข้อมูลและวิชาการ และได้ส่ง นายสุรพล ชามาตย์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่พร้อมอุตสาหกรรมจังหวัดเพื่อร่วมแก้ไขปัญหากับส่วนราชการในพื้นที่
ทัง้นี้ ในวันที่ 14 ต.ค. จะตรวจโรงงานขนาดเล็กทั้งหมดที่อยู่ริมแม่น้ำแม่กลอง ประมาณ 14-15 โรงโดยตรวจสอบร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัด ซึ่งผลการวิเคราะห์จะออกมาภายใน 10-12 วัน ส่วนจังหวัดสมุทรสงคราม ได้ตรวจสอบและเก็บตัวอย่างน้ำทิ้งของโรงงานที่มีการระบายน้ำทิ้งลงสู่แม่น้ำ แม่กลองจำนวน 8 โรงงาน เพื่อนำไปวิเคราะห์ ซึ่งจากการตรวจสอบเบื้องต้นไม่มีโรงงานใดที่มีการใช้สารเคมีอันตราย ซึ่งผลคุณภาพของน้ำจะรายงานในวันที่ 17 ต.ค.59 หากพบโรงงานใด มีค่าน้ำทิ้งเกินกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด จะสั่งดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
"โดยปกติกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) จะตรวจวัดตลอดลำน้ำแม่กลอง ทุก 2 เดือน โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 5 ต.ค.59 พบว่าออกซิเจนละลายน้ำ (DO) อยู่ในช่วง 2.2- 6.9 มิลลิกรัมต่อลิตรซึ่งลดลงจากเดือนสิงหาคมโดยบริเวณที่ปลาตายวัดค่า DO ได้ 2.8 และ4.1 มก.ต่อลิตร อำเภอบางคณฑีและอำเภออัมพวา และไม่พบค่าของโลหะหนัก อย่างไรก็ตาม เหตุที่เกิดขึ้นในแม่น้ำแม่กลอง กรอ.จะได้สนับสนุนงานเชิงวิชาการอย่างใกล้ชิดเพื่อหาสาเหตุฯ และจะแจ้งผลการตรวจสอบต่อไป"