- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- ผอ.อ.อ.ป. ลั่นยอมเสีย'สวนป่าแม่หอพระ'กว่าพันไร่ แลกคนไทยเข้าใจป่าเศรษฐกิจ
ผอ.อ.อ.ป. ลั่นยอมเสีย'สวนป่าแม่หอพระ'กว่าพันไร่ แลกคนไทยเข้าใจป่าเศรษฐกิจ
รักษาการอธิการบดีมก. ชี้เพิ่มพื้นที่ป่า มีทางเดียว คือเพิ่มป่าเศรษฐกิจ ยันพื้นที่ป่าหาย เกิดจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินโดยคน เช่น ทำสวนยางพารา สวนปาล์ม มันสำปะหลัง ไร่ข้าวโพด
วันที่ 28 กรกฎาคม ศูนย์วิจัยป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะหน่วยงานวิชาการป่าไม้ จัดเสวนาทางวิชาการเรื่อง “ประชารัฐ ป่าเศรษฐกิจ ช่วยชีวิต ช่วยชาติ” ณ ห้องกำพล อดุลวิทย์ ตึกสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตร โดยมีดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวเปิดงาน
ดร.จงรัก กล่าวตอนหนึ่งกระแสสังคมที่ออกมาคัดค้านการห้ามตัดไม้สัก สวนป่าแม่หอพระ จังหวัดเชียงใหม่ว่า ในฐานะสถาบันทางวิชาการจะต้องตอบสังคมให้ได้ว่า ป่าเศรษฐกิจจำเป็นสำหรับประเทศไทยอยู่หรือไม่ ซึ่งการได้ข้อเท็จจริงจะนำไปสู่การจัดการป่าเศรษฐกิจในพื้นที่อื่นๆ
“สวนป่าแม่หอพระอาจเป็นกรณีศึกษา รูปแบบการจัดการสวนป่าเศรษฐกิจในพื้นที่อื่นๆ รวมถึงสวนป่าในภาคเอกชน การจัดการจะเป็นอย่างไร โดยต้องยึดถือความถูกต้องไม่เอาความถูกใจ การตัดสินใจบางอย่างควรต้องตัดสินใจบนความถูกต้องไม่ใช่ถูกใจกระแสสังคม มิเช่นนั้น เราก็จะเป๋ไปทางนั้น รวมถึงอยากให้ดูหลักฐานไม่ใช่ดูหลักการ โดยมีข้อมูล มีตัดชี้วัดเพื่อให้เห็นว่า ป่าเศรษฐกิจมีความจำเป็นอย่างไร”
รักษาการแทนอธิการบดี มก. ยกทฤษฎีห้องน้ำเหม็น เปรียบเทียบกับป่าเศรษฐกิจที่กำลังเป็นประเด็นทางสังคมว่า หากสร้างห้องน้ำขึ้นมา แล้วห้องน้ำเหม็น การแก้ปัญหาด้วยการปิดห้องน้ำก็ถือว่า เป็นวิธีง่ายสุด แต่ถามว่า ห้องน้ำมีประโยชน์หรือไม่ หากห้องน้ำมีความจำเป็นก็ต้องบริหารไมให้ห้องน้ำเหม็น ส่วนการจะบริหารดีไม่ดี ค่อยมาว่ากัน ไม่ใช่การสั่งปิดอย่างเดียว ดังนั้นไม่ควรใช้ทฤษฎีห้องน้ำเหม็นมาแก้ไขปัญหา
“ผมเชื่อว่า ประเทศไทยจะเพิ่มพื้นที่ป่า เพิ่มอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากป่าเศรษฐกิจ เพราะปัจจุบันพื้นที่ประเทศไทยถูกครอบครองโดยประชาชนหมดแล้ว พื้นที่ป่าหาย เกิดจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินโดยคน เช่น การทำสวนยางพารา สวนปาล์ม มันสำปะหลัง ไร่ข้าวโพด ดังนั้น การเพิ่มพื้นที่ป่า มีทางเดียว คือเพิ่มป่าเศรษฐกิจ”
ขณะที่ ดร.ดำรง ศรีพระราม รักษาการแทนคณบดีคณะวนศาสตร์ มก. ยกพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปลูกป่า 3 อย่าง ได้ประโยชน์ 4 อย่างว่า การปลูกป่าถ้าจะให้ราษฎรมีประโยชน์ให้เขาได้ให้ใช้วิธีปลูกไม้ 3 อย่าง แต่มีประโยชน์ 4 อย่าง คือ ไม้ใช้สอย ไม้กินได้ ไม้เศรษฐกิจ โดยปลูกรองรับการชลประทาน ปลูกรับซับน้ำ และปลูกอุดช่วงไหล่ตามร่องห้วยโดยรับน้ำฝนอย่างเดียว ประโยชน์อย่างที่ 4 คือสามารถช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำ ซึ่งกระแสสังคมคัดค้านการตัดไม้สัก ในสวนป่าขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ซึ่งเป็นไม้สักจากป่าปลูกนั้น สามารถมองวิกฤตให้เป็นโอกาสได้ รวมถึงข้อสงสัยที่ว่า ป่าเศรษฐกิจมีประโยชน์ต่อประเทศชาติ หรือต่อโลกอย่างไร ทำไมถึงปล่อยให้ ออป. ตัดไม้ คนทำอาชีพสวนป่าเป็นผู้ร้ายจริงหรือไม่ การทำสวนป่าเศรษฐกิจทำลายสิ่งแวดล้อม คนทำอาชีพสวนป่าทำให้เกิดสภาวะโลกร้อนจริงหรือไม่
รักษาการแทนคณบดีคณะวนศาสตร์ มก. กล่าวยืนยันว่า ป่าเศรษฐกิจ คนทำอาชีพนี้เป็นคนช่วยลดโลกร้อน เพราะว่า กว่าไม้จะโต จนนำไม้ไปสู่ระบบการปลูกหมุนเวียน ตัดไม้ก็จะมีการปลูกต้นใหม่ขึ้นมาทดแทน ขณะที่ไม้เติบโต รอรอบตัดฟัน ก็จะดูซับคาร์บอน และยังสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้
ด้านนายพิพัฒน์ ชนินทยุทธวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ กล่าวว่า ได้รับการยืนยันจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมว่า ที่ให้หยุดตัดไม้นั้น หยุดเฉพาะแปลงที่มีปัญหา คือ สวนป่าแม่หอพระเท่านั้น ขณะที่แปลงป่าเศรษฐกิจอื่นๆ ของอ.อ.ป. ยังทำต่อไป
“ตอนนี้เป็นโอกาสทำอย่างไรให้เรื่องป่าเศรษฐกิจ พลิกฟื้นกลับมาเป็นความเข้าใจร่วมกันของคนในสังคม ป่าเศรษฐกิจคือพื้นที่สีเขียว นับวันที่ยังยืนต้นอยู่บนแผ่นดิน ก็คือสีเขียว ทำหน้าที่อนุรักษ์ แต่วันใดที่เราต้องตัดก็ทำหน้าที่ทางเศรษฐกิจ แล้วก็ปลูกขึ้นมาใหม่ เป็นพื้นที่สีเขียวใหม่”
นายพิพัฒน์ กล่าวอีกว่า งานของอ.อ.ป.คือการปลูกป่าเศรษฐกิจ ระดับนโยบายให้ความสำคัญมาก นายกรัฐมนตรีเข้าใจอ.อ.ป. เข้าใจสวนป่าเศรษฐกิจดี แต่ที่ต้องตัดสินใจอาจเป็นการตัดสินใจเพื่อไม่ให้ปัญหาบานปลาย หากหลุดจากป่าอ.อ.ป. ก็ยังเป็นป่าอนุรักษ์อยู่ดี หากอ.อ.ป. ต้องเสียป่าสวนแม่หอพระ1,240 ไร่ แต่สร้างกระแสป่าเศรษฐกิจ อ.อ.ป. ก็ยินดีเสีย
“ผมดีใจที่คนเรา หรือสังคมเรา ตระหนักเรื่องการอนุรักษ์ แต่ต้องแยกบทบาทหน้าที่ป่าอนุรักษ์ ป่าเศรษฐกิจให้ชัดเจน เราถูกสร้างความเชื่อ ย้อนหลังไป 10 ปี นับจากปี 2547 ป่าประเทศไทยหายไปปีละ 3 ล้านไร่ หรือนาทีละ 3.7 ไร่ ภาพรุนแรงนี้ทำให้คนไทยรู้สึกว่า คนตัดไม้คือการทำลายป่า แต่ผมว่า คนเข้าไปตัดไม้ป่าอนุรักษ์ต่างหากคือคนทำลายป่า คนมีอาชีพทำป่าเศรษฐกิจ ตัดไม้มาใช้ และปลูกขึ้นมาใหม่ นี่คือพระเอก” ผอ.อ.อ.ป. กล่าว และว่า รมว.กระทรวงทรัพย์ฯ สั่งการให้อ.อ.ป.ปรับบทบาทอำนาจหน้าที่ให้เป็นองค์กรเชี่ยวชาญด้านธุรกิจป่าไม้ในระดับชาติ ปลูกป่าและทำธุรกิจอย่างมืออาชีพและสามารถสนับสนุนกิจการกรมป่าไม้ และกรมอุทยาน
นายพิพัฒน์ กล่าวถึงพ.ร.บ สวนป่าปัจจุบันด้วยว่า แม้อาจจะไม่ค่อยส่งเสริมเกษตรกรมากนัก
อ.อ.ป.เองอึดอัดต่อแนวทางปฏิบัติ แต่เรารับได้ ความเป็นหน่วยงานของรัฐ เราอึดอัดต่อการแจ้ง รายงาน การขออนุญาต ซึ่งต้องใช้เวลา
“มีประเด็นคำถาม ถึงเวลาหรือยังที่อ.อ.ป.ควรหลุดออกมาจากกรอบตรงนี้เสียที วันหนึ่งเมื่อกรมป่าไม้ มอบพื้นที่ให้สปก. เขาได้เอกสิทธิ์ในการบริหารจัดการ หรือกรมป่าไม้มอบพื้นที่ให้องค์การสวนยาง ก็ได้รับเอกสิทธิ์การบริหารจัดการพื้นที่ แต่ทำไมกรมป่าไม้มอบพื้นที่ให้อ.อ.ป. ไปจัดการสวนป่า จึงไม่มีเอกสิทธิ์การจัดการสวนป่าเองเลย เรายังต้องขออนุญาต จากกรมป่าไม้ และใช้เวลา ซึ่งหวังว่า วันหนึ่งจะดีขึ้น”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ไม้สักเหมือน DNA ของชาติ! ปธ.ออกแบบรัฐสภาใหม่แจงเหตุใดต้องใช้สร้าง?
คุยกับนักวิชาการป่าไม้ว่าด้วยเรื่อง 'ไม้สัก' จากป่าปลูก ถึงการสร้างรัฐสภาใหม่
นักวิชาการมก. ชี้ไม้สักจากป่าปลูก อ.อ.ป. สร้างรัฐสภาใหม่ แห่งเดียวที่มีใบรับรอง