- Home
- Thaireform
- สัมภาษณ์ - ปาฐกถา
- คุยกับนักวิชาการป่าไม้ว่าด้วยเรื่อง 'ไม้สัก' จากป่าปลูก ถึงการสร้างรัฐสภาใหม่
คุยกับนักวิชาการป่าไม้ว่าด้วยเรื่อง 'ไม้สัก' จากป่าปลูก ถึงการสร้างรัฐสภาใหม่
"ผมอยากให้การสร้างรัฐสภาแห่งใหม่เป็นจุดเปลี่ยน และรณรงค์ให้คนไทยปรับวิธีคิดใหม่ว่า ไม้ที่ตัดมาใช้เป็นทรัพยากรที่สร้างได้ โลหะ พลาสติก คอนกรีต ล้วนแล้วแต่ต้องใช้พลังงานในการสร้างมหาศาล ตรงกันข้ามกับไม้ ตลอดอายุวัฎจักรไม้ ใช้พลังงานน้อยกว่า 5-10 เท่า"
โครงการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ ที่จะใช้ไม้สักจากสวนป่าของ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) สถาปนิก ออกแบบ ถือว่า เป็นคนมีองค์ความรู้อย่างสุดยอด เพราะไม้สักแสดงถึงอัตลักษณ์ของไทย และการเน้นไม้สักของ อ.อ.ป. ปลูกขึ้น ปลูกอย่างมีการจัดการอย่างยั่งยืน โดยมี CERTIFIED แทบไม่มีพื้นที่ป่าของเอกชนรายได้ในประเทศไทย ได้รับการ CERTIFIED
ผศ.ดร.นิคม แหลมสัก รองคณบดีคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา ด้วยการเริ่มต้นให้ข้อมูลทางวิชาการป่าไม้ จะแยกป่าไม้ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ป่าอนุรักษ์ (เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า อุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน) ซึ่งมีอยู่ 32% กับป่าเศรษฐกิจ ซึ่งในนโยบายป่าไม้แห่งชาติ ระบุให้มีไม่ต่ำกว่า 40% แบ่งเป็น ป่าอนุรักษ์ 25 และป่าเศรษฐกิจ 15% (หรือ 48 ล้านไร่)
"วันนี้เรายังขาดป่าเศรษฐกิจอยู่จำนวนมาก และนี่เองทำให้เราต้องนำเข้าไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ปีละหลายหมื่นล้านบาท ผมจะพูดและสนับสนุนเสมอให้ปลูกต้นไม้ และใช้ไม้ เพราะจะลดโลกร้อนได้ ผมต้องขอบคุณสถาปนิกที่ออกแบบ สัปปายะสภาสถาน หรือรัฐสภาแห่งใหม่ ให้ใช้ “ไม้สัก” เพราะไม้สักที่ดีที่สุดในโลกก็คือ Siam Teak หรือ Thai Teak"
นักวิชาการป่าไม้ ย้อนไปในอดีตที่ทั่วโลกต้องการไม้จากประเทศไทย นั่นก็คือไม้สัก สมัยที่มีการค้าขาย ไม้ที่ส่งออกไปยุโรป นำไปสร้างโบสถ์ วิหาร ก็คือไม้สัก แต่วันนี้ไม้สักในประเทศไทยลดลงไป เราต้องยอมรับว่า เกิดจากการใช้พื้นที่เกษตรกรรมอย่างเข้มข้น ทำให้พื้นที่ป่าหายไปเรื่อยๆ
"ป่าในประเทศไทยไม่ได้ลดลงจากการใช้ไม้ แต่ลดลงจากการขยายพื้นที่ทำเกษตรกรรม ประโยคที่บอกว่า "ตัดไม้ทำลายป่า" ไม่จริงเสมอไป"
เขาย้ำด้วยน้ำเสียงหนักแน่น สถานการณ์ที่ป่าไม้หายไป เกิดจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์จากที่ดิน "ถามว่า ป่าโกงกางหายไปเพราะอะไร เพราะนากุ้ง ป่าภาคเหนือวันนี้หาย เพราะพืชไร่ ไร่ข้าวโพด มันสำปะหลัง"
การพยายามใช้ไม้ให้มากขึ้น ผศ.ดร.นิคม ชี้ว่า เป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ถูกต้อง อย่าลืมว่า ปัญหาใหญ่ของโลกคือเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ หรือปัญหาโลกร้อน เราเลือกใช้แต่วัสดุที่สร้างใหม่ไม่ได้ เช่น โลหะ พลาสติก รวมถึงคอนกรีตด้วย เราระเบิดภูเขาเป็นลูก ภูเขาไม่ได้งอกขึ้นมาใหม่เลย ใครเคยผ่านจังหวัดสระบุรี ภูเขาหายไปแล้ว โลหะ พลาสติก คอนกรีต ล้วนแล้วแต่ต้องใช้พลังงานในการสร้างมหาศาล ตรงกันข้ามกับไม้ ตลอดอายุวัฎจักรของการใช้ไม้ ใช้พลังงานน้อยกว่า 5-10 เท่า
สำหรับการออกแบบรัฐสภา เน้นไม้สักของ อ.อ.ป. ที่ปลูกขึ้น ปลูกอย่างมีการจัดการอย่างยั่งยืน ทราบหรือไม่ ในโลกนี้ พื้นที่ที่มี certified forest แล้ว ใหญ่กว่าประเทศไทยเป็นสิบๆ เท่า ฉะนั้นคนไทยต้องหันมาใช้ไม้ เพราะทั้งโลกหันมาใช้ไม้อย่างเข้มข้น เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ลดการใช้วัสดุอื่นลง ลดการใช้โลหะ พลาสติก คอนกรีต ลง หรือวัสดุที่มาจากฟอสซิลลง หันมาใช้ไบโอ และไบโอที่ใหญ่ที่สุดในโลก คือ ไม้
"ผมอยากให้คนไทยเข้าใจให้ถูกต้อง แล้วประเทศไทย 15% ต้องเป็นป่าเศรษฐกิจจึงนำไปสู่ความยั่งยืน อันนี้แหละที่เรามีน้อยมาก ป่าอนุรักษ์ประเทศไทย ปัจจุบันเราทำได้ถึงเป้าหมายแล้ว เหลือในเชิงคุณภาพเท่านั้น ขณะที่ป่าเศรษฐกิจยังขาดอีกจำนวนมาก
เรามีป่าเศรษฐกิจ พื้นที่ปลูกป่ายูคาลิปตัส 2-3 ล้านไร่ ป่าสักของ อ.อ.ป. 6 แสนไร่ และพื้นที่ป่าสักของเอกชน 2-3 แสนไร่เท่านั้น ถือว่า น้อยมาก วันนี้อยากให้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ของกรมป่าไม้ ทำเป็นป่าเศรษฐกิจ โดยมีการจัดการอย่างยั่งยืน
ปัจจุบันเราเห็นสิ่งปลูกสร้าง บ้านที่อยู่อาศัย ปลูกด้วยคอนกรีตเป็นหลัก ต่างจากอดีตส่วนใหญ่สร้างจากไม้ เราพึ่งตนเองได้ ผมคิดว่า นักท่องเที่ยวคงไม่อยากมาดูตึก เขาอยากมาดูวิถีชีวิต การปลูกบ้านจากไม้เป็นการใช้วัสดุที่เหมาะสมกับเขตร้อน ไม้เป็นฉนวนที่ดี มีประสิทธิภาพสูงมาก"
นักวิชาการด้านป่าไม้ มองว่า ในแผนสภาพัฒน์ฯ ระบุถึงเศรษฐกิจสีเขียว สังคมคาร์บอนต่ำ การใช้ไม้จะเป็น"พระเอก"ได้ แต่ที่ผ่านมาเราเหมือนจะหนีจากตรงนั้น เพราะแรงโฆษณา แรงผลักดัน จากโลหะ พลาสติก และคอนกรีต
นี่คือ สถาปัตยกรรมสีเขียว (Green Architecture) ที่แท้จริง นี่คือจิตวิญญาณของคนไทยที่แท้จริง เขายืนยัน ก่อนจะฝากความหวัง อยากให้การสร้างรัฐสภาแห่งใหม่เป็นจุดเปลี่ยนและรณรงค์ให้คนไทยปรับวิธีคิดใหม่ ว่า ไม้ที่ตัดมาใช้ ต้องเข้าใจก่อนว่า ไม้เป็นทรัพยากรที่สร้างได้ ทรัพยากรที่ใช้ไม่หมดสิ้น (Renewable Resource) ตรงข้ามกับพลาสติก คอนกรีตที่ใช้แล้วหมดไปสร้างใหม่ไม่ได้
ขณะที่ อ.อ.ป.หน่วยงานที่ทำพันธกิจเรื่องป่าเศรษฐกิจมาโดยตลอด นับถึงวันนี้มีอายุ 69 ปีแล้ว เป็นหน่วยงานที่พัฒนามาจากแผนกทำไม้ ของกรมป่าไม้ สมัยดร.อำนวย คอวนิช อดีตผู้อำนวยการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ท่านริเริ่มปลูกสวนป่าตั้งแต่ปี 2510 การปลูกไม้สัก ส่วนใหญ่ก็ปลูกในป่าเศรษฐกิจ ไม่ได้ปลูกในพื้นที่อนุรักษ์แต่อย่างใด
ผศ.ดร.นิคม มองถึงกระแสคัดค้านการตัดต้นไม้ อาจเป็นเพราะประชาชนเห็นการปลูกป่าเศรษฐกิจของ อ.อ.ป. ในพื้นที่นั้นๆ มาไม่ต่ำกว่า 30-50 ปี จึงรู้สึกเสียดาย แต่รู้หรือไม่ว่า อ.อ.ป.มีวิธีการจัดการอย่างยั่งยืน การตัดไม้ของ อ.อ.ป. ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ต้องขายให้ชุมชนท้องถิ่น ต้องจ้างแรงงานท้องถิ่นเป็นลำดับแรก รวมทั้งมีเกณฑ์ มีตัวชี้วัด เป็นองค์กรเดียวในประเทศไทยที่ทำแบบนี้
“อ.อ.ป. ตัดไม้ปีละหลายแสนต้นเป็นปกติอยู่แล้ว เมื่อตัดก็ปลูกทดแทนทุกปี ฉะนั้นจำนวนที่จะนำมาสร้างรัฐสภา จำนวน 4,534 ต้น จึงคิดเป็นไม่กี่เปอร์เซนต์เท่านั้น จาก 6 แสนไร่ โดย 1 ไร่ อย่างน้อยๆมีไม้สักเกือบ 100 ต้น และปลูกมาตั้งแต่ปี 2510 มีกระบวนการตัดสางขยายระยะในสวนป่าไม้สัก เพื่อให้ต้นสักเจริญเติบโต”
สำหรับอายุไม้สักที่จะนำมาใช้งานต้องไม่ต่ำกว่า 25 ปี นักวิชาการด้านป่าไม้ มั่นใจมีเยอะมาก และอายุไม่ต่ำกว่า 48 ปี ฉะนั้นอายุไม้สักขนาดนี้เชื่อว่า มีพอแน่นอน นับแล้วไม่ถึงครึ่งเปอร์เซ็นต์ของไม้ที่อ.อ.ป. มีอยู่
"อ.อ.ป.ตัดไม้ทุกปี และมีการปลูกทดแทนทุกปีหลายพันไร่ ถือเป็นภารกิจปกติ ผมอยากให้หน่วยงานในประเทศไทย มี อ.อ.ป. สัก 10 อ.อ.ป. ประเทศไทยจะเป็นพื้นที่สีเขียว ในหน้าแล้งก็มีน้ำ ในหน้าฝนน้ำก็ไม่ท่วม และอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงก็มีป่าคอยรักษาไว้ ไม่ให้สูงมากหรือต่ำจนเกินไป"
เขายังย้อนความไปสมัยที่กทม.หาไม้สักมาทำเสาชิงช้า ที่ต้องไปหาไม้สักจากภาคเหนือ ตัด 6-7 ต้น ก็เคยให้สัมภาษณ์สมัยนั้นว่า "อีก 120 ปี เมื่อไม้สักต้นนี้ผุไป เราก็ต้องปลูกทดแทนที่เดิมอยู่ดี เพราะว่า ไม้สักเป็นทรัพยากรที่เติบโต และสร้างได้ ข้อดีของมัน ระหว่างที่เติบโต ก็เอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ กลับมาสร้างตัวมันเอง และระหว่างที่มันเติบโตก็ปล่อยออกซิเจนให้มนุษยชาติ ไม่มีวัสดุไหนในโลกทำได้”
ส่วนการแก้ไขปัญหา ด้วยการนำเข้าไม้สักมาสร้างรัฐสภา นั้น นักวิชาการด้านป่าไม้ ยืนยันไม่เห็นด้วย เพราะจะเสียอัตลักษณ์ความเป็นชาติ หากไม้สักจากประเทศข้างเคียง เช่น เมียนมา อาจใกล้เคียง แต่เราก็จะสูญเสียความเป็นอัตลักษณ์เฉพาะไป ไม้สักที่ปลูกตั้งแต่จังหวัดนครสวรรค์ขึ้นไป ถือเป็นไม้สักที่สุดยอดของโลกแล้ว
"ไม้สักเป็นไม้ผลัดใบ ในพื้นที่ที่แตกต่างในฤดูกาลชัดเจน ทำให้การเจริญเติบโตของต้นไม้มีวงปีชัดเจน จะสังเกตว่า ไม้สักส่วนที่เป็นแก่น เป็นสีทอง ไม้สักทองส่วนมากจะขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือ ผมเสียดายหากอาคารระดับชาติ มีเอกลักษณ์เฉพาะ หากต้องนำเข้าไม้จากต่างประเทศ
ท่านทราบหรือไม่ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศเขตร้อนที่ปลูกไม้โตเร็วกว่าประเทศอื่นในโลก 5-8 เท่า แต่เราต้องนำเข้าไม้ซุง ไม้แปรรูป 2-3 หมื่นล้านบาท และเรานำเข้าไม้โอ๊ค (Oak)ไม้แอช (Ash) ไม้บีช ไม้จะประเทศเขตหนาว ซึ่งเขาปลูกต้นไม้แล้วโตช้า
นี่เราจะสูญเสียความเป็นเอกลักษณ์ไป เรื่องของการใช้ไม้ ทัศนะเราผิดพลาดมาโดยตลอด การที่สถาปนิกกำหนดให้ใช้ไม้สักจากป่าปลูก ของอ.อ.ป. ซึ่งส่วนใหญ่ เป็น certified forest ฉะนั้นรัฐสภาแห่งใหม่จะได้ certified wood ซึ่งทั่วโลกเขายอมรับว่า ไม้สักมีการปลูกและมีการจัดการอย่างยั่งยืน ทั้งสังคมและสิ่งแวดล้อม
และเมื่อผ่านไปอีกกี่ร้อยปี ลูกหลานจะบอกว่า บรรพบุรุษมีวิสัยทัศน์ มีความเป็นไทย มีแก่นสารของความเป็นไทย ไม่ใช่เอาแต่กระพี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับอาคารที่เกี่ยวกับนักการเมืองด้วยแล้ว"
เมื่อถามถึง การจะเปลี่ยนไปใช้ไม้สักที่ถูกยึดเป็นของกลาง หรือไม้สักเก่า มาสร้างรัฐสภาแห่งใหม่นั้น เขาเห็นว่า คงไม่เหมาะ หลายประการ ไม่มีความเสถียรในเรื่องของขนาด ปริมาณที่ได้ ของกลางที่ยึดมาก็หลากหลายขนาด หลายไซต์ แต่ไม้จากการป่าปลูก ไซต์จะแน่นอน
"คนไทยต้องทำความเข้าใจใหม่ พื้นที่ที่อ.อ.ป. ปลูกเป็นป่าเศรษฐกิจ มิเช่นนั้น อ.อ.ป. จะปลูกไม่ได้ วันนี้ป่าเศรษฐกิจก็ยังดำรงความเป็นป่าเศรษฐกิจ วันนี้ซึ่งมีน้อยเกินไป เป็นเรื่องน่าอายที่ประเทศไทยต้องนำเข้าไม้ปีละหลายหมื่นล้านบาท และน่าเสียดาย ช่างไม้พื้นบ้านของไทยก็ค่อยๆ หดหายไปด้วย
ญี่ปุ่นมีช่างไม้ฝีมือเยอะมาก เขาใช้ไม้ต่อคนต่อปีสูงสุดในโลก เพราะเขาให้การศึกษาว่า การใช้ไม้คือการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโลกที่แท้จริง ผมอยากให้ขีดเส้นใต้ ปรับทัศนคติคนไทยเสียใหม่ ผมเองก็คนไทยรู้สึกเสียใจ และเสียดาย ทำอย่างไรต่อจากนี้ไป จะเป็นจุดเริ่มต้น ปีที่การป่าไม้ไทยครบ 120 ปี คณะวนศาสตร์อายุครบ 80 ปี ประเทศไทยมีอายุเป็นพันปี เริ่มต้นปรับหันกลับมาใช้ไม้”
รวมถึงอยากให้เปลี่ยนคำว่า ตัดไม้ทำลายป่า เป็นสิ่งที่ทำให้ประเทศไทยสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ คือ การตัดไม้และเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดิน
"การตัดต้นไม้ ลูกไม้ก็ขึ้นมาเป็นป่าเหมือนเดิม หากพื้นที่นั้นดำรงเป็นป่าเช่นเดิม แต่หากพื้นที่นั้นเปลี่ยนเป็นไร่ข้าวโพด หรือถูกเปลี่ยนเป็นนากุ้ง นั่นแหละ คือป่าหาย ตัดไม้ ป่าไม้ได้หาย แต่เปลี่ยนใช้ประโยชน์ที่ดินต่างหากเล่า ทำให้พื้นที่ป่าประเทศไทยลดลง ผมเชื่อว่า คนไทยเข้าใจผิดมาเยอะ อย่าคิดว่า คนถือเลื่อยเป็นคนทำลายป่า" ผศ.ดร.นิคม กล่าวทิ้งท้าย...
ที่มาภาพ:http://entertain.enjoyjam.net/forum/index.php?topic=54000.0