- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- ผู้บริหาร ม.มหิดล แจงไม่นิ่งนอนใจคดีทพญ.หนีทุน-4 ผู้ค้ำฯ จ้างทนายสหรัฐฯ ฟ้องเป็นสิทธิ
ผู้บริหาร ม.มหิดล แจงไม่นิ่งนอนใจคดีทพญ.หนีทุน-4 ผู้ค้ำฯ จ้างทนายสหรัฐฯ ฟ้องเป็นสิทธิ
'ศ.นพ.บรรจง' เผยมหาวิทยาลัยไม่นิ่งเฉยคดี ทพญ.ดลฤดี ประสานงานกับ สกอ.อย่างต่อเนื่อง ระบุ 4 ผู้ค้ำประกันมอบอำนาจทนายสหรัฐฯ ฟ้องเพิ่มทำได้ ขณะที่กระบวนการต่อไป ให้คำตอบหลังศาลพิจารณานัดเเรก 14 มี.ค. 59
จากกรณี ทพญ.ดลฤดี จำลองราษฎร์ อดีตอาจารย์คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ขอรับทุนจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เพื่อศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ณ สหรัฐอเมริกา แต่เมื่อศึกษาจบหลักสูตรกลับไม่มาชดใช้ทุนดังกล่าว ส่งผลให้ผู้ค้ำประกันเดือดร้อนต้องชดใช้แทนเป็นเงิน 8 ล้านบาท
ปัจจุบันสำนักงานอัยการสูงสุดได้ยื่นฟ้องล้มละลาย ตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2558 ในคดีหมายเลขดำ ที่ ล.3603/2558 ขณะเดียวกัน ทพ.เผด็จ พูลวิทยกิจ พร้อมผู้ค้ำประกันอีก 3 คน เตรียมมอบอำนาจให้ทนายความในสหรัฐอเมริกายื่นฟ้อง ทพญ.ดลฤดี อีกด้วย
(อ่านประกอบ:เปิดคำฟ้องคดีล้มละลาย ‘หมอฟันหนีทุน’ พบยอดหนี้พุ่ง 48 ล้าน/สามี ‘ดลฤดี’ ขู่ผู้ค้ำฯ หากฟ้องไม่ได้อะไร เตรียมยื้อคดี)
ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงกรณีที่ผู้ค้ำประกันจะมอบอำนาจให้ทนายความในสหรัฐอเมริกายื่นฟ้อง ทพญ.ดลฤดี สามารถดำเนินการได้ ซึ่งที่ผ่านมามหาวิทยาลัยมหิดลมิได้นิ่งนอนใจ มีการประสานงานกับสกอ.ตลอดเวลา อีกทั้งได้ยื่นฟ้องล้มละลายไปแล้ว โดยศาลจะนัดพิจารณาคดีครั้งแรก 14 มีนาคม 2559
"หากจะให้มองไปในอนาคตกระบวนการหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร ยังตอบไม่ได้ ต้องรอให้ถึงวันพิจารณาคดีก่อน"
สำหรับการนำไปสู่การยื่นฟ้องล้มละลาย มียอดหนี้สินรวมสูงถึง 48 ล้านบาทนั้น รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ทพญ.ดลฤดี มี 2 สัญญา ผู้ค้ำประกันรวม 4 คน โดยสัญญาการรับทุนของ สกอ. หรือทบวงมหาวิทยาลัย (ในอดีต) เป็นเงินก้อนโต ซึ่งขณะนั้นเงื่อนไขสัญญาค้ำประกันนักเรียนทุนของรัฐบาล ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงให้บิดาหรือมารดา พี่ น้องเป็นผู้ค้ำประกันเหมือนปัจจุบัน
"ปกติแล้วกรณีเงินทุนไม่สูงมากนัก ญาติที่เป็นผู้ค้ำประกัน พร้อมจะชดใช้แทน บางครั้งลูกหลานไม่ประสงค์รับราชการ ผู้รับทุน ก.พ.ในอดีตหลายคน ก็ไม่อยู่ในระบบภาคราชการไปทำงานภาคเอกชนแทน มีบางรายรับราชการเพียงไม่กี่ปี ถูกภาคเอกชนซื้อตัวไป ก็นำเงินก้อนมาชดใช้คืน ซึ่งเป็นลักษณะที่รัฐได้รับค่าตอบแทนกลับมาเป็นตัวเงิน แม้จะผิดวัตถุประสงค์การให้ทุนที่เราไม่ต้องการก็ตาม"
ศ.นพ.บรรจง กล่าวด้วยว่า การไม่กลับมาชดใช้ทุน ของนักเรียนทุนรัฐบาล มิได้เพิ่งเกิดขึ้น มีอีกหลายกรณี แต่ยืนยันว่า อยู่ในสัดส่วนที่น้อย ส่วนสาเหตุที่ไม่กลับมาชดใช้ทุน ย่อมมีความจำเป็นในชีวิต จึงเลือกเดินในเส้นทางนั้น แม้แต่การออกไปทำงานให้ภาคเอกชน ก็เป็นการรับใช้ประเทศได้เหมือนกัน ขณะนี้ภาคราชการต้องการกำลังคน แต่ประเด็นขึ้นอยู่กับว่า คนเราจะมีจิตสำนึกมากน้อยเพียงใด ฉะนั้นขึ้นอยู่กับการพิจารณาของผู้ให้ทุน ทำอย่างไรให้นักเรียนทุนที่ส่งไปศึกษาเล่าเรียน กลับมาใช้ทุน ผูกมัดด้วยใจเป็นส่วนหนึ่ง ผูกมัดด้วยสัญญาก็ส่วนหนึ่ง ท้ายสุดเมื่อไม่กลับมา เราก็เรียกร้องอะไรไม่ได้
อ่านประกอบ:"มหิดล" เล็งฟ้องล้มละลาย ทันตแพทย์หนีชดใช้ทุน ก่อนหมดอายุความ 14 ก.พ.
สกอ.สรุปภาพรวม 10 โครงการ 'ทุน' พัฒนาอาจารย์ พบ 'ผิดสัญญา' อื้อ
คำสอนสุดท้ายจาก'อ.อารยา' ถึงศิษย์ชื่อ 'ดลฤดี'-ผู้ค้ำราย4 ใช้หนี้แทน2แสน
"อิศรา" ค้นคำพิพากษาคดี 'ทันตแพทย์ มหิดล' เบี้ยวทุน ไฉนต้องชดใช้ 30 ล.
ล่าข้ามโลก! เผยโฉมที่ทำงานอดีตอ.สาวมหิดล ในฮาวาร์ด หลังหนีทุนไม่กลับปท.