- Home
- Thaireform
- สารคดีเชิงข่าว
- สกอ.สรุปภาพรวม 10 โครงการ 'ทุน' พัฒนาอาจารย์ พบ 'ผิดสัญญา' อื้อ
สกอ.สรุปภาพรวม 10 โครงการ 'ทุน' พัฒนาอาจารย์ พบ 'ผิดสัญญา' อื้อ
การผิดสัญญา หมายถึง การยุติการศึกษา การพ้นสภาพนักศึกษา รวมถึงกรณีที่ลาออกจากราชการก่อนที่ปฏิบัติงานชดใช้ทุนครบถ้วนตามสัญญา
ตามที่ปรากฎข่าวอาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดลรายหนึ่ง ขอทุนไปศึกษาต่อต่างประเทศ ต่อมาไม่เดินทางกลับมาชดใช้ทุน กระทั่งมหาวิทยาลัยต้นสังกัด และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ต้องติดตามชดใช้ค่าเสียหายจากผู้ค้ำประกัน และมีการยื่นฟ้องล้มละลายในเวลาต่อมานั้น (อ่านประกอบ:"อิศรา" ค้นคำพิพากษาคดี 'ทันตแพทย์ มหิดล' เบี้ยวทุน ไฉนต้องชดใช้ 30 ล. /ทุนพัฒนาอาจารย์ 16 สาขาขาดแคลน สกอ.พบผิดสัญญา 23 คน- 'ดลฤดี' รายเดียวเบี้ยวใช้เงิน)
การให้ทุนที่ผ่านมา แม้ว่า นักเรียนทุนส่วนใหญ่ยังกลับมาใช้ทุนตามสัญญา ซึ่งนางสาวอาภรณ์ แก่นวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา ยอมรับอาจจะมีบ้างบางคนลาออกก่อนที่จะชดใช้ทุนครบจำนวน เนื่องจากเหตุผลบางประการ หรือบ้างก็เรียนจบแล้วได้งานภาคเอกชน ที่ให้ค่าตอบแทนสูงกว่า แต่ก็นำเงินมาใช้ทุนจนครบแทนการทำงานให้รัฐ ส่วนน้อยที่ผิดสัญญา
สกอ.ในฐานะหนึ่งในองค์กรผู้ให้ทุน และมีโครงการพัฒนาอาจารย์ในมหาวิทยาลัยและการจัดสรรทุนศึกษาต่อระดับปริญญาโท-เอก มาอย่างต่อเนื่อง เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2559 สำนักข่าวอิศรา ทำหนังสือขอข้อมูล สถิติ การขอรับทุนการศึกษา ระดับปริญญาโท และปริญญาเอก ณ ต่างประเทศ และจำนวนเงินทุนต่อคนต่อปี รวมถึงสถิติผู้ขอรับทุน และกลับมาชดใช้ทุน
ข้อมูลที่สำนักข่าวอิศรา ได้รับจากสกอ. เป็นข้อมูล ณ วันที่ 27 มกราคม 2559 พบว่า
- อัตราค่าใช้จ่ายของผู้รับทุนศึกษาในประเทศ สกอ.จัดสรรทุนให้เป็นเวลา 3-4 ปี จำแนกเป็น บุคคลทั่วไป 308,600 บาทต่อปี และ 365,000 บาทต่อปี และอาจารย์ จำนวนเงิน 255,800 บาทต่อปี และ 297,800 บาทต่อปี
- สำหรับอัตราค่าใช้จ่ายผู้รับทุนศึกษาต่างประเทศ จะเป็นไปตามเกณฑ์ค่าใช้จ่ายของแต่ละประเทศที่ไปศึกษา และระยะเวลาการศึกษาเป็นไปตามกรอบระยะเวลาของหลักสูตรในแต่ละประเทศ ตามที่สำนักงาน ก.พ.กำหนด
8 โครงการ ศึกษาในปท.-ตปท.ผิดสัญญารวม 165 ราย
สำหรับภาพรวมทุนพัฒนาอาจารย์ในส่วนของ สกอ. ระดับปริญญาเอก ซึ่งมีทั้งศึกษาในประเทศ และต่างประเทศ ทั้งหมดเป็นโครงการที่สิ้นสุดการจัดสรรทุนแล้ว มีทั้งสิ้น 8 โครงการ ดังนี้
1.โครงการพัฒนาอาจารย์ตามความต้องการของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ (ศึกษาต่างประเทศ ระดับปริญญาโท-เอก) (2533-2537 รวม 5 ปี)
มีวัตถุประสงค์ ผลิตและพัฒนาอาจารย์ทดแทนการเกษียณอายุราชการของอาจารย์ พร้อมรองรับการขยายงานด้านการผลิตบัณฑิตในสาขาขาดแคลนของมหาวิทยาลัย คือ สาขาวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิทยาศาสตร์ และสาขาสังคมศาสตร์ ซึ่งสิ้นสุดการจัดสรรทุนไปตั้งแต่ปี 2537 และสิ้นสุดการจัดสรรงบประมาณในปี 2545
โครงการพัฒนาอาจารย์ตามความต้องการของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐนี้ จัดสรรทุนตามแผนไป 450 ทุน มีผู้รับทุนตามประกาศ 422 คน และมีผู้รับทุนที่สละสิทธิ์ 36 คน คงเหลือจำนวนผู้รับทุนในต่างประเทศรวม 386 คน
โครงการนี้ ผู้รับทุนทั้งหมด 386 คน พบว่า สำเร็จการศึกษา และไม่มีผู้ผิดสัญญาสักรายเดียว !!
2.โครงการผลิตและพัฒนาอาจารย์ (ศึกษาในประเทศ ระดับปริญญาโท-เอก) (2533-2548 รวม 16 ปี) โครงการนี้สาขาวิชาที่จัดสรรทุนเป็นไปตามความต้องการของมหาวิทยาลัย สิ้นสุดการจัดสรรทุนในปี 2548 และสิ้นสุดการจัดสรรงบประมาณปี 2557
โครงการผลิตและพัฒนาอาจารย์ พบว่า มีผู้รับทุน 1,613 คน และมีผู้สละสิทธิ์ 60 คน รวมจำนวนผู้รับทุน 1,553 คน
จำนวนผู้รับทุนศึกษาในประเทศสำเร็จ 1,481 คน กำลังศึกษา 14 คน เสียชีวิต 3 และผิดสัญญา 55 คน
3.โครงการทุนพัฒนาอาจารย์ สาขาขาดแคลน 16 สาขา ได้แก่ สาขาแพทย์ศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ อุตสาหกรรมเกษตร สถาปัตยกรรมศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ คณิตศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ สาขาภาษา เภสัชศาสตร์ คอมพิวเตอร์ สัตว-แพทยศาสตร์ สหเวชศาสตร์ อัญมณีและเครื่องประดับ บัญชี ครุศาสตร์อุตสาหกรรม และสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ (ศึกษาในประเทศ และต่างประเทศ ระดับปริญญาโท-เอก) ระยะเวลาการจัดสรรทุน 14 ปี ตั้งแต่ปี 2535 -2548 สิ้นสุดการจัดสรรทุนปี 2548 และสิ้นสุดการจัดสรรงบประมาณในปี 2558
จำนวนทุนตามแผนนี้ 5,577 ทุน มีผู้รับทุนตามประกาศ 5,577 คน สละสิทธิ์ 235 คน แบ่งเป็นศึกษาในประเทศ 2,760 คน ศึกษาต่างประเทศ 2,582 คน รวมจำนวนผู้รับทุน 5,342 คน
ปัจจุบันผู้รับทุนที่กำลังศึกษาในประเทศ 984 คน ศึกษาสำเร็จแล้ว 1,716 คน เสียชีวิต 6 คน ผิดสัญญา 54 คน
ขณะที่ผู้รับทุนกำลังศึกษาต่างประเทศ 440 คน สำเร็จการศึกษาแล้ว 2,119 คน ผิดสัญญา 23 คน
จำนวน 23 คนที่ผิดสัญญานั้น บางคนเรียนไม่จบ หรือทำงานไม่ครบตามเงื่อนไขการใช้ทุน แต่ทุกคนก็ใช้เงินคืนครบหมด ยกเว้น ทพญ.ดลฤดี จำลองราษฎร์ อดีตอาจารย์คณะทันตแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา ยืนยันว่า มีเพียงรายเดียว ไม่ชดใช้เงินคืนรัฐบาลตามสัญญา
4.โครงการพัฒนาอาจารย์วิทยาเขตสารสนเทศ (ศึกษาในประเทศ ระดับปริญญาโท-เอก ) ระยะเวลาจัดสรรทุน 5 ปี 2541 -2545 วัตถุประสงค์ เพื่อขยายโอกาสอุดมศึกษาไปสู่ภูมิภาคอย่างมีคุณภาพ สิ้นสุดการจัดสรรทุนปี 2545 และสิ้นสุดการจัดสรรงบประมาณในปี 2553
โดยมีผู้รับทุน 436 คน สละสิทธิ์ 37 คน เหลือผู้รับทุน 399 คน ซึ่งศึกษาสำเร็จทั้งหมด
5.โครงการสนับสนุนทุนการศึกษาเด็กอัจฉริยะ (ศึกษาต่างประเทศ ระดับปริญญาเอก) ระยะเวลาการจัดสรรทุน 5 ปี 2547-2551 สาขาที่จัดสรรทุน ได้แก่ สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี เศรษฐศาสตร์ บริหารจัดการภาครัฐและเอกชน และสาขากฎหมายการค้าระหว่างประเทศ จัดสรรทุนเพียง 1 ปี และสิ้นสุดการจัดสรรงบประมาณในปี 2554
จำนวนทุนตามแผน 500 ทุน มีผู้รับทุน 73 คน และสละสิทธิ์ 11 คน เหลือผู้รับทุนศึกษาต่างประเทศ 62 คน
ในจำนวน 62 คน ศึกษาสำเร็จแล้ว 52 คน กำลังศึกษา 4 คน และผิดสัญญา 6 คน
6.โครงการพัฒนาอาจารย์เงินนอกงบประมาณ (ศึกษาต่างประเทศระดับปริญญาเอก ) จัดสรรทุนปี 2546 ระยะเวลา 1 ปี สาขาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์สุขภาพ สำหรับกลุ่มสาขาวิชาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์
มีผู้รับทุน 241 คน สละสิทธิ์ 29 คน เหลือผู้ศึกษาต่างประเทศ 212 คน
ในจำนวน 212 คน ศึกษาสำเร็จแล้ว 202 คน กำลังศึกษา 3 และผิดสัญญา 7คน
7.โครงการเครือข่ายเชิงกลยุทธ์ เพื่อการผลิตและพัฒนาอาจารย์ (ศึกษาในประเทศ และต่างประเทศระดับปริญญาเอก) ระยะเวลาการจัดสรรทุน 3 ปี 2549- 2551
วัตถุประสงค์เพื่อสร้างและพัฒนาอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาให้มีคุณวุฒิปริญญาเอกเพิ่มขึ้นภายใต้กรอบสาขา 20 เครือข่าย สิ้นสุดการจัดสรรทุนปี 2551 สิ้นสุดการจัดสรรงบประมาณ ปี 2560 โดยยังมีผู้ได้รับทุนมีสิทธิ์ได้รับงบประมาณผูกพันในปี 2560 จำนวน 5 คน
มีทุนตามแผน 1,700 ทุน จำนวนทุนผู้รับทุน 1,632 คน สละสิทธิ์ 373 คน ศึกษาในประเทศ 1,084 คน ต่างประเทศ 175 คน รวม 1,259 คน
จำนวนผู้รับทุนศึกษาในประเทศ กำลังศึกษา 312 คน สำเร็จ 758 คน และผิดสัญญา 14 คน
จำนวนผู้รับทุนศึกษาในต่างประเทศ กำลังศึกษา 63 คน สำเร็จ 106 คน และผิดสัญญา 6 คน
8.โครงการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ (ทุนเรียนดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย) ศึกษาในประเทศ ระดับปริญญาตรี โท เอก
วัตถุประสงค์เพื่อสรรหานักเรียนรับมัธยมปลายที่มีผลการเรียนดี และสนใจด้านวิทยาศาสตร์ให้เข้าศึกษาในคณะวิทยาศาสตร์ รวมทั้งสนับสนุนและส่งเสริมการผลิตบัณฑิตระดับปริญญาตรี โท และเอก ด้านวิทยาศาสตร์ ระยะเวลาจัดสรรทุน 6 ปี 2552-2557 โดยยังมีผู้รับทุนที่มีสิทธิ์ได้รับงบประมาณผูกพันในปี 2559 และอยู่ระหว่างเสนอขอดำเนินการต่อในระยะที่ 3
จำนวนทุนตามแผน 1,600 ทุน จำนวนผู้รับทุน 1,473 คน สละสิทธิ์ 32 คน
ปัจจุบันกำลังศึกษา 1,391 คน สำเร็จแล้ว 50 คน
สรุปรวม 8 โครงการดังกล่าวข้างต้น มีผู้รับทุนรวมกัน 10,654 คน แบ่งเป็นศึกษา "ในประเทศ" 7,237 คน มีผู้ผิดสัญญา 123 คน ขณะที่ "ศึกษาต่างประเทศ" 3,417 คน มีผู้ผิดสัญญา 42 คน
หากรวมผู้รับทุนทั้งหมดที่ศึกษาในประเทศและต่างประเทศ 8 โครงการนี้ มีผู้รับทุนผิดสัญญารวมกัน 165 คน
นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่ยังมีการจัดสรรทุนใหม่ อีก 2 โครงการที่อยู่ในความรับผิดชอบของ สกอ. คือ โครงการพัฒนาอาจารย์และบุคลาการสำหรับสถาบันอุดมศึกษาในเขตพัฒนาเฉพาะกิจ จังหวัดชายแดนใต้ (ศึกษาในประเทศ และต่างประเทศ ระดับปริญญาเอก) และโครงการพัฒนากำลังคนด้านมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ (ศึกษาในประเทศ และต่างประเทศ ระดับปริญญาตรี โท เอก) มีผู้รับทุนรวมกัน 773 คน
ดูเฉพาะผู้รับทุนกระทำผิดสัญญา แบ่งเป็นศึกษาในประเทศผิดสัญญา 12 คน และศึกษาในต่างประเทศผิดสัญญา 26 คน รวม 2 โครงการนี้ มีผู้รับทุนผิดสัญญา 38 คน
ตัวเลขทั้งหมดที่สกอ.สรุป 10 โครงการ สังคมไทยก็พอเห็นภาพ ที่ผ่านมามีเหตุผู้รับทุนทำผิดสัญญา ซึ่งกรณีผิดสัญญานั้นหมายถึง การยุติการศึกษา การพ้นสภาพนักศึกษา รวมถึงกรณีที่ลาออกจากราชการก่อนที่ปฏิบัติงานชดใช้ทุนครบถ้วนตามสัญญา เฉกเช่นเดียวกับกรณีทันตแพทย์สาวนั้น ยังเป็นเพียงส่วนน้อย ไม่มากนักเมื่อเทียบกับจำนวนการให้ทุนในแต่ละปี
แต่เรื่องนี้ถือเป็นอุทาหรณ์ให้ผู้รับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยหรือหน่วยงานของรัฐอนาคตต้องใช้ความรอบคอบพิจารณาตัดสินใจส่งคนไปเรียน และทำอย่างไรถึงจะสร้างจิตสำนึกให้ผู้รับทุนที่สำเร็จการศึกษาแล้ว เขาเหล่านั้นเต็มใจกลับมาทำงานรับใช้ประเทศชาติ...