- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- รมว.คลัง โต้มิ่งขวัญ ไทยไม่ได้ 'เหลื่อมล้ำ' มากสุดในโลก หากวัดตามมาตรฐานเวิลด์แบงก์
รมว.คลัง โต้มิ่งขวัญ ไทยไม่ได้ 'เหลื่อมล้ำ' มากสุดในโลก หากวัดตามมาตรฐานเวิลด์แบงก์
'อุตตม' ยกมาตรฐานธนาคารโลก ไทยไม่ได้เหลื่อมล้ำที่สุดในโลก ส่วนรายงาน CS Global Wealth Report ใช้วิธีวัดกระจายความมั่งคั่ง ยันบ้านเราไม่ได้เก็บสถิติไว้อย่างเป็นระบบ ชี้โลกนี้ข้อมูลการวัดการกระจายความมั่นคั่งที่สมบูรณ์ในโลกนี้มีเพียง 35 ประเทศเท่านั้น
วันที่ 24 ก.พ.63 เวลา 22.50 น. ณ อาคารรัฐสภา นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยว่า เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งต้องใช้เวลาเพราะเป็นปัญหาที่สั่งสมมานาน
นายอุตตม กล่าวถึงการจัดอันดับความเหลื่อมล้ำ ไม่ใช่ใครผิดใครถูก หากใช้มาตรฐานที่ธนาคารโลกใช้ จะพบว่า ไทยไม่ได้ถูกจัดให้มีความเหลื่อมล้ำเป็นอันดับหนึ่งของโลกแต่ประการใด ส่วนรายงาน CS Global Wealth Report 2018 ระบุจริงว่า ไทยมีความเหลื่อมล้ำมากที่สุดในโลก แต่ขึ้นอยู่กับข้อมูลและวิธีการวัดด้วย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เมื่อ CS Global Wealth Report รายงานการจัดอันดับ เราก็ได้ไปศึกษา พบว่า ใช้วิธีวัดกระจายความมั่งคั่ง Wealth Distribution สำหรับไทยไม่ได้เก็บสถิติเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ ข้อมูลการวัดการกระจายความมั่นคั่งที่สมบูรณ์ในโลกนี้มีเพียง 35 ประเทศเท่านั้น
"CS Global Wealth Report ใช้ข้อมูลประมาณการณ์เอง ปี 2549 ของประเทศไทย ถือว่า ไม่ทันสมัย"นายอุตตม กล่าว และว่า หากเราใช้การวัดความเหลื่อมล้ำที่เป็นสากลที่ใช้กันทั่วไป โดยวัดจากค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาค (GINI Coefficient) ที่ธนาคารโลกใช้ เป็นที่ยอมรับของทุกประเทศ การจัดอันดับความเหลื่อมล้ำล่าสุดที่เผยแพร่ ไทยมีดัชนี GINI อยู่ที่ 0.36 หรือร้อยละ 36 หากเปรียบกับประเทศพัฒนาแล้ว เราไม่ได้ห่างไกลเท่าไหร่นัก หรือประเทศในเอเชีย ดัชนี GINI มากกว่าประเทศไทยก็เช่นจีน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์
นายอุตตม กล่าวอีกว่า ประเด็นคงไม่ใช่เถียงกันว่า ใครสูงหรือต่ำกว่าใคร เรื่องความเหลื่อมล้ำ ประเด็นคือ ความเหลื่อมล้ำเราต้องร่วมกันแก้ไข และไม่ใช่วิธีใดวิธีหนึ่ง ต้องใช้หลายนโยบายมาแก้ไขปัญหาให้ครอบคลุมให้ได้
จากนั้น รมว.คลัง ชี้แจงถึงตัวเลขหนี้ครัวเรือน รวมถึงความจำเป็นที่รัฐบาลต้องออกชุดมาตรการทางด้านเศรษฐกิจออกมา โดยยืนยันว่า มาตรการเหล่านี้รัฐบาลได้พยายามพัฒนาให้ครบวงจร มีเป้าหมายที่ชัดเจน ไม่ได้ต้องการให้เป็นมาตรการถาวรแต่อย่างใด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ข้อเท็จจริงเรื่องสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย
เหลื่อมล้ำไม่ใช่มีแค่ไทย อ็อกแฟม ชี้ 42 คนบนสุดศก.โลก มั่งคั่งเท่ากับ 3,700 ล้านคนรวมกัน
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/