- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- เหลื่อมล้ำไม่ใช่มีแค่ไทย อ็อกแฟม ชี้ 42 คนบนสุดศก.โลก มั่งคั่งเท่ากับ 3,700 ล้านคนรวมกัน
เหลื่อมล้ำไม่ใช่มีแค่ไทย อ็อกแฟม ชี้ 42 คนบนสุดศก.โลก มั่งคั่งเท่ากับ 3,700 ล้านคนรวมกัน
ศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. จัดเวทีถก พร้อมตั้งโจทย์-ตอบอนาคต แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ นักเศรษฐศาสตร์ ถามพรรคการเมือง นักการเมืองมีนโยบายเรื่องการกระจายรายได้ การถือครองที่ดิน การศึกษา สาธารณสุข อย่างไร
วันที่ 26 พ.ย. 2561 ศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดสัมมนาตั้งโจทย์-ตอบอนาคต (1) แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ณ ห้อง 101 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดย รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายจักรชัย โฉมทองดี ผู้ประสานงานด้านนโยบายและรณรงค์ องค์การอ็อกแฟมประเทศไทย
ดร.อารยะ ปรีชาเมตตา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. กล่าวเปิดงานตอนหนึ่งการจราจลที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ปัญหามาจากความเหลื่อมล้ำ การตกงานก็เป็นปัญหาหนึ่งของฝรั่งเศส มีการผูกขาดในตลาดแรงงานการแข่งขันมีน้อย ในขณะที่เศรษฐกิจไม่ได้ขยายตัวมากอย่างอดีต หลายคนมีความรู้ความสามารถไม่สามารถหางานทำได้ นี่คือโจทย์ความเหลื่อมล้ำ และนำสู่ความขัดแย้ง
“ไทยพยายามหลุดประเทศติดกับดักรายได้ปานกลาง เพื่อสู่ประเทศรายได้สูง เรามีแผนไทยแลนด์ 4.0 ถามว่าเราได้วางแผนรับมือโครงสร้างความเหลื่อมล้ำในหลายประเทศเจอหรือไม่ ที่สหรัฐฯ ก็มีความเหลื่อมล้ำสูงเช่นกัน เราอยากไปเส้นทางนั้นหรือไม่”
ผศ.ดร.ดวงมณี กล่าวถึงสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ทั้งความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ การถือครองทรัพย์สิน การศึกษา กระบวนการยุติธรรม ความเหลื่อมล้ำในระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แบบแยกส่วนมีการลดหย่อนเยอะ ทำให้รายรับของรัฐบาลลดน้อยลง และความเหลื่อมล้ำเรื่องการถือครองที่ดินในประเทศไทย มีการกระจุกตัวการถือครองที่ดิน คนๆ เดียวถือครองที่ดินกว่า 6 แสนไร่ ขณะที่การคลังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีรายได้จากการจัดเก็บเองแค่ 10% ต่างจากประเทศพัฒนาแล้วท้องถิ่นจัดเก็บรายได้เองสูงถึง 70%
สำหรับแนวทางการลดความเหลื่อมล้ำ ผศ.ดร.ดวงมณี กล่าวว่า ที่ได้ผลมักเป็นมาตรการด้านรายจ่าย เช่น สวัสดิการทาง สังคม การศึกษา สาธารณสุข ต้องรู้ว่าคนจนอยู่ที่ไหนโดยมีระบบฐานข้อมูลที่น่าเชื่อถือ เพื่อให้ตรงกับความต้องการ
“การจัดสวัสดิการแบบถ้วนหน้า เป็นไอเดียที่ดี แต่ในเมื่อบ้านเราจัดเก็บรายได้ได้น้อย ระยะเปลี่ยนผ่านอาจต้องจัดสรรงบประมาณให้ตรงจุดก่อน”
ขณะที่นายจักรชัย กล่าวถึงความเหลื่อมล้ำหลายรัฐบาลพยายามตั้งโจทย์ แต่ไม่เคยได้หาคำตอบอย่างจริงจัง ซึ่งระดับสากล คนมีทรัพย์สินเกิน 1 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ขึ้นไป (3.3 หมื่นล้านบาท) มีอยู่จำนวน 2,043 คน เรียกว่า ทุก 2 วันจะมีเศรษฐี (millionaire) เพิ่มขึ้น 1 คน โดย 9 ใน 10 คนเป็นผู้ชาย
“จำนวนคน 42 คนบนสุดของเศรษฐกิจโลกมีความมั่งคั่งเท่ากับคน 3,700 ล้านคน หมายความว่า อาศัยคนเพียง 42 คนทรัพย์สินเขาก็มหาศาลแล้ว และคนเพียง 1% มีความมั่งคั่งรวมมากกว่าจำนวนคนที่เหลือทั้งหมด การเติบของเศรษฐกิจที่มีการบอกว่า เค้กใหญ่ขึ้นจำนวนคนจนได้ประโยชน์ แนวคิดการกระจายผลการเติบโตจากบนสู่ล่างหรือ Trickle-Down Effect จึงเป็นแค่นิยายก่อนนอน”
ผู้ประสานงานด้านนโยบายและรณรงค์ องค์การอ็อกแฟมประเทศไทย กล่าวอธิบาย โดยเปรียบเทียบเศรษฐกิจโลก คนรวยที่สุด1% ได้รับส่วนแบ่ง 27% ของเศรษฐกิจที่โตขึ้น หรือ ทุก 1 บาทที่เพิ่มขึ้นมา 27 สตางค์เข้ากระเป๋าคนที่รวยที่สุด
“ ถ้าเศรษฐกิจโลกไปด้วยอัตรานี้ การลดความยากจนต้องใช้เวลานานถึง 123-209 ปี การดำเนินนโยบายปกติแบบที่ผ่านมาก็ไม่สามารถอธิบายการแก้ไขปัญหาความยากจนได้”
นายจักรชัย กล่าวถึงการสะสมทุน หรือความมั่งคั่งที่เกิดขึ้น พบว่า 1 ใน 3 ของความมั่งคั่งเกิดจากการได้รับมรดก จากนี้ไปอีก 20 ปี คนที่รวยที่สุด 500 คนจะส่งผ่านมรดกมหาศาลให้กับผู้รับมรดกของเขา มากกว่า GDP ประเทศอินเดียวทั้งปี ความมั่งคั่งอีก 1 ใน 3 มาจากธุรกิจการผูกขาด สิทธิพิเศษ (monopoly) หมายความว่า 2 ใน3 ของความมั่งคั่งที่เกิดขึ้น ไม่ได้มาจากการทำงานหนัก หรือนวัตกรรม
“รายงานเหล่านี้ กำลังส่งสัญญาณอะไร ไม่ว่าคุณจะทำอะไรก็เปลี่ยนอะไรไม่ได้ หากไม่เปลี่ยนโครงสร้างเหล่านี้ เกิดมาจนก็ตายอย่างจนๆ หากทิศทางยังเป็นแบบนี้”
นายจักรชัย กล่าวถึงวาระการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยหลังการเลือกตั้งด้วยว่า ส่วนที่ประเทศไทยทำได้ดี คือ งบประมาณด้านการศึกษา สาธารณสุข นโยบายสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งทำได้ดีอยู่แล้ว อยู่ที่คุณภาพ พรรคการเมืองควรมีนโยบายแบบนี้ออกมาชัดเจน เรื่องนี้จะเอาอย่างไร รวมไปถึงนโยบายด้านแรงงาน การเจรจาต่อรองกับนายจ้าง ความเท่าเทียมเรื่องของค่าจ้างระหว่างหญิงกับชาย และสิทธิกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงกับการยอมรับประเทศไทยในระดับสากล เป็นต้น
สุดท้ายรศ.ดร.นวลน้อย กล่าวถึงสาเหตุความเหลื่อมล้ำที่สามารถยืนหยัดอยู่ได้นานในประเทศไทย มาจากอำนาจทางการเมือง และอำนาจทางเศรษฐกิจ ที่เปลี่ยนแปลงไปน้อยมาก โดยเฉพาะโครงสร้างทางเศรษฐกิจไทย 30 ปีที่ผ่านมาไม่เปลี่ยนไปเลย มีการผูกขาดในระบบเศรษฐกิจ ผูกขาดแบบพึ่งพารัฐ วันนี้มีกฎหมายการแข่งขันทางการค้าฉบับใหม่ ก็หวังว่า แก้ไขปัญหาการผูกขาดน้อยลงได้
“โครงสร้างเศรษฐกิจไทยไม่ได้ผูกขาดโดยนวัตกรรม แต่เป็นการผูกขาดโดยกฎ ระเบียบ วิธีการ อิงกับกฎ กติกาภาครัฐ”รศ.ดร.นวลน้อย กล่าว และว่า จึงอยากเห็นนักการเมืองเสนอนโยบายเรื่องการศึกษา แรงงาน อย่างไร เรายังไม่ได้ยินเสียงเรื่องนโยบายจากใครเลย ทั้งการกระจายอำนาจ การผูกขาดทางเศรษฐกิจจะแก้กันอย่างไร
รศ.ดร.นวลน้อย กล่าวถึงการแก้ปัญหาคนจนไม่ใช่ให้จดทะเบียนเป็นครั้งๆ ต้องหาให้ได้คนจนอยู่ที่ไหน และทำให้เขามีอาชีพที่มั่นคง หากมีฐานข้อมูลสามารถศึกษาได้ ลงไปช่วยเหลือ ไปเพิ่มศักยภาพ ปัญหามีรายได้น้อยมากจากอะไร
เรื่องของอำนาจทางการเมือง รศ.ดร.นวลน้อย กล่าวว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันไม่ได้สนใจเรื่องของการกระจายอำนาจเลย ทำให้การกระจายอำนาจถดถอยด้วย เพราะไม่เชื่อมั่น ตลอดเวลาพูดว่า ท้องถิ่นไม่โปร่งใส ในฐานะทำงานคอร์รัปชั่น พูดได้เลย เป็นทั้งคู่ รัฐบาลกลางกับท้องถิ่นไม่ต่างกัน ฉะนั้นการจัดการเรื่องนี้ต้องจัดการไปพร้อม ๆ กัน เรื่องนี้ไม่ใช่ข้ออ้างเพื่อจะไม่ทำ
“การกระจายอำนาจการันตีอย่างหนึ่งว่า ทรัพยากรจะถูกกระจายไปอย่างทั่วถึง และหากเราอยากแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ เรื่องแบบนี้ยืนหยัดทำต่อไปเรื่อยๆ การจัดการทางการเงินก็ค่อยๆ ตรวจสอบไป เชื่อว่า ประชาชนมีข้อมูลข่าวสารของท้องถิ่นเขาจะควบคุมท้องถิ่นได้”