- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- สหกรณ์บริการจักรเพชร งัดหลักฐานโต้แกนนำ “ตุ๊กตุ๊กเอื้ออาทร” ใช้ไดฮัทสุ เครื่อง 3 สูบ
สหกรณ์บริการจักรเพชร งัดหลักฐานโต้แกนนำ “ตุ๊กตุ๊กเอื้ออาทร” ใช้ไดฮัทสุ เครื่อง 3 สูบ
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร้องกองปราบฯ สัญญา "ตุ๊กตุ๊ก" เอื้ออาทร ส่อฉ้อโกง เครื่องยนต์ไม่ได้มาตรฐาน ไม่ใช่ 3 สูบตามโฆษณา ด้านที่ปรึกษาสหกรณ์ฯ ยันไม่เกี่ยวข้องจัดหารถ ขณะที่รายการจดทะเบียน 'วันทอง ศรีทองจันทร์" เเกนนำฯ พบคำให้สัมภาษณ์เเย้งกับใบมอบรถได้เครื่องยนต์ 3 สูบ
วันที่ 19 พ.ย. 2561 น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นำกลุ่มคนขับรถสามล้อเครื่องกว่า 100 คน เข้าร้องทุกข์ต่อกองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) ภายหลังได้รับความเดือดร้อนจากสัญญาของโครงการสามล้อเอื้ออาทรอาจเข้าข่ายฉ้อโกงประชาชน เนื่องจากถูกธนาคารออมสิน สาขาเยาวราช และสาขาพารากอน ฟ้องผิดนัดชำระหนี้ ทั้งที่ชำระหนี้มาโดยตลอด และรถสามล้อเครื่องที่ได้รับมาไม่ได้มาตรฐาน โดยเป็นเครื่องยนต์ 2 สูบ ของจีนแดง ไม่เหมือนที่โฆษณาไว้ว่าเป็นเครื่องยนต์ 3 สูบ ยี่ห้อไดฮัทสุ ของญี่ปุ่น จนอาจเข้าข่ายหลอกลวงขายสินค้าได้ด้วย
นายณัฐพงศ์ แสง-ชูโต ที่ปรึกษาสหกรณ์บริการจักรเพชร จำกัด เปิดเผยว่า สหกรณ์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดหารถสามล้อเครื่องมาจำหน่ายให้แก่สมาชิก แต่สมาชิกจะเป็นผู้ไปดำเนินการจัดหาเอง ทั้งนี้ ยอมรับ มีทั้งระบบเครื่องยนต์ 2 สูบ และ 3 สูบ
ผู้สื่อข่าวตรวจสอบเพิ่มเติม สหกรณ์ฯ ได้เเสดงใบมอบรถของ นายวันทอง ศรีจันทร์ ตัวแทนผู้เสียหายจากโครงการฯ พบรายละเอียดว่า ได้รับมอบรถยนต์สามล้อจากสหกรณ์ฯ เป็นที่เรียบร้อย โดยสภาพทั่วไปของรถทางผู้รับมอบได้ตรวจสภาพเบื้องต้นแล้ว เป็นที่พึงพอใจและยอมรับได้
เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2559 หมายเลขเครื่องยนต์ EF-5002234 ยี่ห้อ ไดฮัทสุ หมายเลขคัสซี 20163T1295 หมายเลขก๊าซ 00116 ทะเบียนรถ สข.1830 อยุธยา
ขณะที่รายการจดทะเบียน เมื่อ 22 มี.ค. 2559 เลขทะเบียน สข 1830 จ.กรุงเทพมหานคร ประเภท รถยนต์รับจ้างสามล้อ (รย.8) ลักษณะ ประทุนสองตอน ยี่ห้อรถ S.T. TUK TUK แบบ ST สีเขียว เลขตัวรถ 2016-ST-1295 อยู่ที่หลังซ้าย ยี่ห้อเครื่องยนต์ ไดฮัทสุ เลขเครื่องยนต์ EF-5002234 อยู่ที่หน้าเครื่อง เชื้อเพลิง แก๊ส+เบนซิน เลขถังแก๊ส 00116 จำนวน 3 สูบ G59 ซีซี แรงม้า 2 เพลา 3 ล้อ ยาง 3 เส้น น้ำหนักรถ 650 กก. น้ำหนักรวม 650 กก. จำนวน 3 ที่นั่ง
ผู้สื่อข่าวรายงานก่อนหน้านี้ว่า นายวันทองให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนในคราวแถลงข่าวที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า รถได้รับมาไม่ได้มาตรฐาน แตกต่างจากโฆษณาไว้ ซ่อมตั้งแต่วันแรก เข้าไปจดทะเบียนที่กรมการขนส่งทางบก ลากกันเข้าไป ซึ่งไม่รู้ว่ากรมการขนส่งทางบกจดได้อย่างไร หลังจดเสร็จเครื่องยนต์หลุดจากตัวรถลงพื้น เพราะเครื่องไม่ได้มาตรฐาน นำมาขาย แต่ราคาแพงเกินจริง ทั้งที่ราคาสามล้อไม่มีป้ายทะเบียนเพียงกว่า 1 แสนบาทเท่านั้น .
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นายกมล บูรณพงศ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก แถลงข่าวกรณีโครงการ “สามล้อเอื้ออาทร"ว่า ไม่ได้มีส่วนร่วมในการทำนิติกรรมสัญญาเงินกู้ของสถาบันการเงิน แต่พร้อมหามาตรการเยียวยา แก่กลุ่มผู้เสียหายที่ยังต้องการประกอบอาชีพขับรถยนต์รับจ้างสามล้อโดยสุจริต โดยกรมการขนส่งทางบกกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไขเกี่ยวกับคุณสมบัติของบุคคลในการจดทะเบียนรถยนต์สามล้อรับจ้าง (เอื้ออาทร) และตรวจสอบคุณสมบัติ ของผู้ขอให้ตรงตามที่ประกาศกระทรวงกำหนดไว้เท่านั้น
ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางบกดำเนินโครงการสามล้อเอื้ออาทร ครั้งแรกเมื่อปี 2549 และขยายระยะเวลาเพิ่มเติมในปี 2558 ซึ่งเป็นโครงการตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีรถสามล้อเป็นของตนเอง เพื่อให้สามารถประกอบอาชีพขับรถรับจ้างได้อย่างสุจริต โดยมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมและกรมการขนส่งทางบกกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไขเกี่ยวกับคุณสมบัติของบุคคลในการจดทะเบียนรถยนต์สามล้อรับจ้าง (เอื้ออาทร) และตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ขอให้ตรงตามที่ประกาศกระทรวงกำหนดไว้เท่านั้น โดยผู้ขอรับสิทธิ์ตามโครงการสามล้อเอื้ออาทรต้องจัดหารถมาดำเนินการจดทะเบียนรถยนต์รับจ้างสามล้อภายในระยะเวลาที่กำหนดตามเงื่อนไข ซึ่งจะต้องดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องในการจัดหารถ หรือทำการติดต่อกับสถาบันการเงินเพื่อขอใช้บริการด้านสินเชื่อเอง ดังนั้น ในการดำเนินการขั้นตอนดังกล่าว เป็นการจัดทำสัญญาระหว่างผู้ขอรับสิทธิ์กับสถาบันการเงิน กรมการขนส่งทางบกไม่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำนิติกรรมสัญญาดังกล่าว
และจากการดำเนินโครงการสามล้อเอื้ออาทร นับตั้งแต่กระทรวงคมนาคมได้มีประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการจดทะเบียนรถยนต์รับจ้างสามล้อในท้องที่กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2549 กำหนดรถที่จะรับจดทะเบียนไว้ไม่เกิน 2,500 คัน เมื่อครบกำหนด มีผู้มาใช้สิทธิเพียง 1,686 คัน จึงคงเหลือจำนวนรถที่ยังจดทะเบียนได้อีกจำนวน 814 คัน และเพื่อเป็นการช่วยเหลือประชาชนที่มีความประสงค์จะประกอบอาชีพขับรถรับจ้าง แต่ยังคงไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขได้ กระทรวงคมนาคมโดยกรมการขนส่งทางบกได้ทำการเปิดรับคำขอเพิ่มเติมอีกสองครั้ง ดังนี้
ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 13 – 28 สิงหาคม 2558 มีผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิ์จดทะเบียน 249 คัน (คงเหลือ 565 คัน)
และครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 1 – 30 ธันวาคม 2558 มีผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิ์จดทะเบียน 131 คัน
รวมทั้งสองครั้งมีผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิ์จดทะเบียนเพิ่มเติมจำนวน 380 คัน โดยยังคงเหลือสิทธิ์ในการจดทะเบียนรถยนต์รับจ้างสามล้ออีกจำนวน 434 คัน ประกอบกับจำนวนรถสามล้อรับจ้างที่ให้บริการในปัจจุบัน เฉพาะในเขตกรุงเทพฯ มีจำนวน 9,332 คัน และในต่างจังหวัดจำนวน 10,736 คัน รวมทั่วประเทศจะมีจำนวนทั้งสิ้น 20,068 คัน
อ่านประกอบ:เเก้ต่าง! สหกรณ์บริการจักรเพชร ยันสัญญา ‘สามล้อเอื้ออาทร’ ไม่พิสดาร หลังมพบ. ร้องเข้าข่ายฉ้อโกง
อ่วม! คนขับสามล้อถูก ‘ออมสิน’ ฟ้อง ฐานเบี้ยวหนี้ซื้อรถ-จ่อร้องกองปราบฯ ฉ้อโกงประชาชน
เปิดเงื่อนไขสัญญากู้ ‘ตุ๊กตุ๊กเอื้ออาทร’ หลังถูกร้องเข้าข่ายโกง –‘ออมสิน'ปัดให้ข้อมูล