เเก้ต่าง! สหกรณ์บริการจักรเพชร ยันสัญญา ‘สามล้อเอื้ออาทร’ ไม่พิสดาร หลังมพบ. ร้องเข้าข่ายฉ้อโกง
สหกรณ์บริการจักรเพชร แก้ต่างปมคนขับสามล้อถูก ‘ออมสิน’ ฟ้องเบี้ยวหนี้โครงการเอื้ออาทร ยันสัญญาไม่พิสดาร แจงมี 2 ฉบับ 'กู้สินเชื่อ-ซื้อรถ' รับหน้าที่เก็บเงินคืนแบงก์ ระบุสมาชิกผิดนัดชำระกว่า 50 คน
ดูเหมือนว่าจะเป็นหนังคนละม้วน
สำหรับประเด็นที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ออกมาเปิดเผยถึง “โครงการสามล้อเอื้ออาทร” ซึ่งได้รับการร้องเรียนจากกลุ่มผู้ขับรถสามล้อเครื่องกว่า 100 คน ว่า ถูกฟ้องคดีจากธนาคารออมสินสาขาเยาวราช และพารากอน เรื่องผิดสัญญาเงินกู้ ทั้งที่อ้างว่าจ่ายเงินชำระผ่านสหกรณ์มาโดยตลอด กรณีที่เกิดขึ้นจึงอาจเข้าข่ายฉ้อโกงประชาชน เพราะสัญญาที่พิสดาร กลุ่มผู้เสียหายต้องเซ็นสัญญากู้ถึง 2 ฉบับ และสัญญาดังกล่าวยังไม่ตรงตามเจตนารมย์ของผู้กู้เงิน เนื่องจากเป็นการกู้สินเชื่อธุรกิจห้องแถว ไม่ใช่กู้ไฟแนนซ์
(อ่านประกอบ:อ่วม! คนขับสามล้อถูก ‘ออมสิน’ ฟ้อง ฐานเบี้ยวหนี้ซื้อรถ-จ่อร้องกองปราบฯ ฉ้อโกงประชาชน )
‘วันทอง ศรีจันทร์’ ตัวแทนกลุ่มผู้เสียหายรถสามล้อเครื่อง ยืนยันก่อนหน้านี้ว่า ครั้งแรกที่เซ็นสัญญา ได้เซ็นเพียงฉบับเดียว โดยไม่เห็นว่า ตัวเลขการกู้เงินเท่าไหร่ หากไม่มีคนรู้จักมาค้ำประกัน สหกรณ์จะจัดหาคนค้ำประกันให้ และผู้กู้ต้องไปค้ำประกันตอบแทนรายนั้น
ส่วนในวันรับรถได้รับไม่ตรงกับคุณสมบัติที่ตกลงกันไว้ มีการชำรุด และให้ใบสรุปการจ่ายสินเชื่อเพียงใบเดียว ทั้งนี้ ที่ผ่านมาได้จ่ายหนี้ตามที่ตกลงกับสหกรณ์มาตลอด
เมื่อได้รับหมายศาลพบว่า ถูกธนาคารออมสินฟ้อง และในเอกสารแนบท้ายคำฟ้องดังกล่าวได้แนบสำเนาสัญญากู้มาด้วย เมื่อตรวจสอบยอดกู้ในสัญญากู้ ปรากฎว่า มียอดสูงกว่าใบสรุปการจ่ายสินเชื่อ เช่น ในสัญญาระบุกู้ 5 แสนบาท แต่ในใบสรุปสินเชื่อแจ้งว่า 3.6 แสนบาท ส่วนต่างหายไป 1.4 แสนบาท
รวมถึงมีสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้เพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งสัญญา โดยไม่ได้ทำ
“หลังจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคนัดเจรจา มีเจ้าหน้าที่ของกรมส่งเสริมสหกรณ์ชี้แจงว่า ได้ตรวจสอบกับสหกรณ์แล้ว สหกรณ์แจ้งว่า มีหนังสือยินยอมของผู้เสียหายให้สหกรณ์เป็นผู้รับเงินจากธนาคารแทน แล้วนำไปฝากกับสหกรณ์ โดยพวกผมได้เซ็นชื่อหนังสือยินยอมให้สหกรณ์ถอนเงินที่ฝากไว้กับสหกรณ์ได้”
ทั้งนี้ ในการซื้อรถสามล้อเครื่องดังกล่าว ต้องทำสัญญาเงินกู้กับสหกรณ์ไว้อีกหนึ่งฉบับ อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า ตอนเจ้าหน้าที่ธนาคารนำเอกสารมาให้เซ็นนั้น ไม่ได้อ่านรายละเอียดในสัญญา
ข้อเท็จจริงอีกด้านหนึ่ง สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เดินทางไปยัง สหกรณ์บริการจักรเพชร จำกัด ซึ่งตั้งอยู่บริเวณปากคลองตลาด กรุงเทพฯ เพื่อสอบถามถึงที่มาของโครงการฯ และปัญหาการร้องเรียนที่เกิดขึ้น
สหกรณ์ฯ ยันสัญญามี 2 ฉบับ ซื้อรถ-กู้สินเชื่อ
‘ณัฐพงศ์ แสง-ชูโต’ ที่ปรึกษาสหกรณ์บริการจักรเพชร จำกัด อธิบายถึงขั้นตอนอย่างละเอียด ยืนยันทุกอย่างเป็นไปอย่างโปร่งใส
ก่อนลำดับเหตุการณ์ให้ฟังว่า เดิมทีกลุ่มสมาชิกที่อ้างว่าเป็นผู้เสียหายประสงค์จะเข้าร่วมโครงการ แต่ไม่สามารถทำสัญญากู้ขอสินเชื่อกับธนาคารได้ เนื่องจากไม่มีเครดิต ดังนั้น จึงต้องรวมกลุ่มในรูปแบบสหกรณ์ โดยธนาคารจะมอบเงินทั้งหมดมาอยู่ที่สหกรณ์เป็นก้อนของกลุ่มสมาชิก จากนั้นสหกรณ์จะนำเงินทั้งหมดมาแตกย่อยเป็นรายละเอียดของแต่ละบุคคล เสมือนเป็นเงินฝาก
ถามว่า เหตุใดธนาคารจึงไม่มอบเงินสดให้แก่สมาชิกที่ทำสัญญากู้เงินโดยตรง เพราะไม่มั่นใจว่า สมาชิกจะนำเงินไปซื้อรถสามล้อตามวัตถุประสงค์ของโครงการจริงหรือไม่
ที่ปรึกษาสหกรณ์ฯ ชี้แจงถึงขั้นตอนต่อไป หากสมาชิกไปดูรถและพึงพอใจ ซึ่งราคาอยู่ระหว่าง 250,000-290,000 บาท ก่อนจะนำรถไป ต้องมาทำสัญญาซื้อกับสหกรณ์อีกฉบับหนึ่งก่อน เพราะหากไม่มีสัญญาฉบับนี้ กรณีที่เกิดไม่มีการชำระหนี้ขึ้นมาในอนาคต สหกรณ์จะต้องกลายเป็นผู้รับผิดชอบแทน
เขายืนยันว่า สัญญามี 2 ฉบับจริง คือ
1.สัญญากับสหกรณ์เพื่อซื้อรถ
และ2.สัญญากับธนาคารเพื่อขอกู้สินเชื่อ
ส่วนวิธีการผ่อนชำระที่เกิดข้อสงสัยว่า ทำไมต้องชำระผ่านสหกรณ์แทนที่จะเป็นธนาคารฯ นั้น
‘ณัฐพงศ์’ อธิบายต่อเพื่อให้เห็นภาพก่อนว่า ธนาคารฯ อาจกำหนดระยะเวลาผ่อนชำระ 48 งวด เฉลี่ยกว่า 1 หมื่นบาท/เดือน แต่สมาชิกอาจบอกว่าไม่ไหว ดังนั้น กรณีผ่อนชำระผ่านสหกรณ์ อาจสามารถขยายระยะเวลาให้ได้เป็น 60 งวด เป็นต้น ซึ่งยอดหนี้การชำระก็จะลดลงไป
“ถึงเวลาธนาคารฯ จะแจ้งในกลุ่ม สมมติมีสมาชิก 100 คน มียอดเงินเท่านี้ส่งมาที่สหกรณ์ เมื่อสหกรณ์เห็นรายชื่อ ก็จะทำเช็ค สมมติ 10 ล้านบาท กลับไปที่ธนาคารฯ จากนั้น ธนาคารฯ จะไปเกลี่ยเข้าบัญชีของแต่ละคน เพราะยอดหนี้ไม่เท่ากัน”
เขายอมรับว่า ทุกคนมาชำระไม่ตรงกัน บางคนจ่ายรายวัน บางคนจ่ายรายสัปดาห์ บางคนจ่ายรายเดือน เพราะฉะนั้นในระหว่างนั้นสหกรณ์จะส่งเงินเข้าไปก่อน เพื่อรักษาสิทธิของสมาชิก แม้จะยังเก็บเงินได้ไม่ครบ โดยเงินฝากนี้จะค่อย ๆ ทยอยตัด ซึ่งได้รับการยินยอมให้หักเงินฝาก
ถามกลับ ‘สัญญา’ พิสดารตรงไหน?
ที่ปรึกษาสหกรณ์ ย้ำว่า เงินฝากมีดอกเบี้ยให้ร้อยละ 0.5 คิดทบต้นไว้ให้ แต่เหตุผลไม่นำดอกเบี้ยให้ก่อนนั้น เพราะจำนวนไม่มาก ดังนั้น จะมอบให้เมื่อมีการปิดหนี้และมียอดคงเหลือรวมแล้ว
ดังนั้นที่กล่าวอ้างว่า สัญญาพิสดาร เขาถามเน้นย้ำว่า พิสดารตรงไหน? ก่อนชี้ฉบับหนึ่งเป็นสัญญาเงินกู้ กับอีกฉบับหนึ่งเป็นสัญญาซื้อรถ
“เขาไม่สามารถทำสัญญากับธนาคารฯ โดยตรงได้ เพราะธนาคารฯ ไม่มีไฟแนนซ์ จึงกู้เดี่ยวไม่ได้ ต้องรวมกลุ่มกันไปกู้ พอรวมกลุ่มไปกู้กลุ่มรถสามล้อ เงินที่ได้นำกลับมาให้สหกรณ์บริหาร เพื่อหารถให้”
‘ณัฐพงศ์’ ย้ำว่า ธนาคารฯ ปล่อยกู้สินเชื่อในลักษณะสัญญากู้บ้านนั้น เพราะไม่มีสัญญากู้รถ ดังนั้น ธนาคารฯ จึงต้องหาวิธีทำอย่างไรก็ได้ให้พวกเขาจะได้มีรถ ฉะนั้นจะเป็นสินเชื่อประเภทไหนก็แล้วแต่ ขอให้มีเงินออกมาแล้วกัน เพื่อมาให้สหกรณ์บริหารนำรถให้
ทั้งนี้ คนที่ผ่อนชำระดี สม่ำเสมอจะลดหนี้ไปทั้งสองฝ่าย และเมื่อจบสิ้น เงินฝากที่เหลือก็เอาไป "หนี้คุณก็หมด รถคุณก็ได้"
ส่วนเหตุผลที่มีกลุ่มอ้างว่า เป็นผู้เสียหายไปร้องเรียน เขายืนยันเพราะคนกลุ่มนั้นไม่ผ่อนชำระ ถามว่าสหกรณ์ต้องควักเนื้อไปให้ก็ไม่ใช่แล้ว เราจึงต้องหยุดส่งธนาคารฯ เพราะไม่มีส่ง
“เหตุผลที่ธนาคารฯ ไม่ฟ้องสหกรณ์ เพราะไม่มีสัญญากู้เงินกับสหกรณ์ แต่มีสัญญากับคนกู้ เพียงแต่เรามีข้อตกลงว่า จะเก็บเงินสมาชิกกลุ่มนี้ไปคืนธนาคารฯ ให้ เพราะหากให้สมาชิกไปส่งชำระหนี้เองทุกวัน วันหนึ่งเป็นร้อยคน บางคนส่งเป็นรายสัปดาห์ แล้วธนาคารฯ จะทำงานกันอย่างไร”
ที่ปรึกษาสหกรณ์ ยังชี้แจงต่อกรณีที่มีการอ้างว่า เอกสารแนบท้ายคำฟ้องแนบสำเนาสัญญากู้ ปรากฎว่า ยอดสูงกว่าใบสรุปการจ่ายสินเชื่อ เช่น ในสัญญากู้ระบุ 500,000 บาท แต่ในใบสรุปสินเชื่อแจ้งว่า 360,000 บาท มีส่วนต่างหายไป 140,000 บาท ซึ่งส่วนต่างนั้นสหกรณ์ชำระให้ไปแล้ว
“คุณกู้ 500,000 บาท แต่โดนฟ้อง 300,000 กว่าบาท เพราะสหกรณ์ชำระแทนคุณแล้ว แต่หากคุณกู้ 500,000 บาท แล้วไม่ชำระเลย ธนาคารฯ จึงจะฟ้องคุณ 500,000 บาท”
ทั้งนี้ สหกรณ์พยายามอธิบายให้กับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเข้าใจ แต่กลับไม่รับฟัง กล่าวหาว่าสหกรณ์กับธนาคารฯ โกง
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีสมาชิกในโครงการฯ ทั้งหมดราว 200 คน ทำผิดสัญญากว่า 50 คน ไม่ใช่ 100 คนตามที่กล่าวอ้าง
พร้อมยืนยันด้วยว่า สหกรณ์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดหารถ สมาชิกเป็นผู้ไปดำเนินการหาเอง และที่ผ่านมาได้รับการตรวจสอบบัญชีจากกรมตรวจบัญชีสหกรณ์มาโดยตลอด ซึ่งไม่พบปัญหาใด ๆ .
ทั้งหมดนี้คือข้อมูลอีกด้านหนึ่งจากปากของผู้บริหารสหกรณ์บริการจักรเพชร จำกัด ซึ่งจะจบอย่างไร เชื่อว่าอีกไม่นานเกินรอ .
ภาพประกอบ:เว็บไซต์ไทยรัฐ