- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- ผอ.ศอร. เผยตร.สอบปมสื่อเสนอเสียงสัญญาณวิทยุ - เรียกคนผิด 'โดรนบิน' รายงานตัวเเล้ว
ผอ.ศอร. เผยตร.สอบปมสื่อเสนอเสียงสัญญาณวิทยุ - เรียกคนผิด 'โดรนบิน' รายงานตัวเเล้ว
ผอ.ศอร. เเจงตร.ตรวจสอบปมสื่อเสนอเสียงจากสัญญาณวิทยุ หวั่นทำให้ข่าวคลาดเคลื่อน - เรียกคนผิด 'โดรนบิน' รายงานตัว ด้าน กสทช. ประวิทย์ ชี้ ว.เเดง เป็นคลื่นสาธารณะ ทุกคนฟังได้ ไม่ผิดกม. ประเด็นอยู่ที่ความเหมาะสม ขณะที่ เวิร์คพอยท์-พีพีทีวี เเถลงขอโทษแล้ว
วันที่ 9 ก.ค. 2561 ช่วงบ่ายนายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายในวนอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย (ศอร.) แถลงข่าวผลการปฏิบัติช่วยเหลือสมาชิกทีมฟุตบอลหมูป่า อะคาเดมี่ อีก 9 คนที่เหลือ ภายหลังจากเมื่อวานนี้ (8 ก.ค. 2561) ช่วยเหลือมาได้ 4 คน ณ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)โป่งผา อ.แม่สาย จ.เชียงราย
นายณรงค์ศักดิ์ เปิดเผยตอนหนึ่งระบุถึงการตรวจสอบพบการสแกนความถี่คลื่นวิทยุนำไปเผยแพร่ผ่านสื่อมวลชนนั้น ว่า หลายอย่างเป็นเรื่องไม่จริง เช่น ทีมกู้ภัยกำลังนำสมาชิกทีมหมูป่า อะคาเดมี่ ออกมาได้ 6 คน โดยเจ้าหน้าตำรวจกำลังติดตามตรวจสอบอยู่ เพราะการนำเสนอข่าวที่คลาดเคลื่อนออกไป จะทำให้ลำบากในการตอบสังคม ทั้งที่ผลการปฏิบัติงานจริงนำออกมาได้เพียง 4 คน
ขณะที่การนำโดรนขึ้นบินทำผิด 2 เรื่อง ซึ่งได้มีการเรียกผู้กระทำผิดมารายงานตัวแล้ว ทั้งนี้ พื้นที่ดังกล่าวเป็นจุดปฏิบัติงาน ดังนั้น การนำโดรนขึ้นบินจึงเป็นการแทรกแซงการทำงานและกระทบการบินปฏิบัติงานของเฮลิคอปเตอร์จนอาจก่อให้เกิดความเสียหายได้
ด้านนายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการในคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แสดงความเห็นกับสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ต่อกรณีการนำเสนอเสียงจากสัญญาณวิทยุสื่อสาร ในระหว่างภารกิจช่วยเหลือครั้งนี้ ว่า วิทยุสื่อสารสีแดง (ว.แดง) เป็นวิทยุคลื่นสาธารณะ ไม่ใช่คลื่นเฉพาะ ทุกคนจึงฟังได้ ดังนั้น จึงไม่มีความผิดฐานลักลอบดักฟัง อย่างไรก็ตาม กรณีที่เกิดขึ้นประเด็นอยู่ที่ความเหมาะสมมากกว่า ในการนำเนื้อหาที่คนอื่นพูดไปเผยแพร่ต่อ
“ยังไม่เห็นข้อกฎหมายใดเข้าข่าย เพราะ ว.ปกติ ไม่บันทึกเสียงอยู่แล้ว เหมือนกับโทรศัพท์ พูดคุยกันเสร็จ ข้อความการสนทนานั้นจะหายไป หรืออัดเสียงระหว่างคุยโทรศัพท์ไม่มีความผิดตามกฎหมาย” กรรมการ กสทช. กล่าว และว่า ว.สีแดง ไม่มีระบบอัดเสียง จึงแสดงว่า มีการอัดเสียงผ่านระบบอัดเสียงอื่นอีกต่อหนึ่ง ซึ่งยังบอกไม่ได้ว่า ผิดกฎหมายอย่างไร
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ล่าสุด ช่อง 23 เวิร์คพ้อยท์ (WorkPoint) ได้ออกมาขอโทษและชี้แจงภายหลังนำเสนอเสียงจากสัญญาณวิทยุสื่อสาร ในระหว่างภารกิจค้นหาผู้สูญหาย ว่าได้สัญญาณจากวิทยุเครือข่ายเครื่องสีแดงของภาคประชาชน ถ่ายทอดผ่านแอพพลิเคชั่น Zello ที่ประชาชนเข้าถึงได้ตลอด เช่นเดียวกับช่อง 36 พีพีทีวี (PPTV) ออกมาขอโทษกรณีโดรนบินระหว่างช่วยเหลือผู้ป่วยทางอากาศยาน โดยระบุว่ากองบรรณาธิการมิได้มีเจตนาฝ่าฝืนข้อพึงปฏิบัติในฐานะสื่อมวลชนที่ประจำการอยู่ อย่างไรก็ตาม กองบรรณาธิการ ขอน้อมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นเเละขออภัยอย่างสูงจากเหตุการณ์ดังกล่าวได้ทำให้เกิดผลกระทบใด ๆ เเละยืนยันว่าจะไม่มีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นอีก .
อ่านประกอบ:สื่อดักฟังวิทยุราชการทำได้หรือไม่
ภาพประกอบ:เว็บไซต์เวิร์พอยท์