สื่อดักฟังวิทยุราชการทำได้หรือไม่
"...แม้วิทยุสื่อสารสีแดง (ว. แดง) เป็นอุปกรณ์ที่ภาคเอกชนนำไปใช้งานติดต่อสื่อสารระหว่างกันได้ เช่น เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.) ของเอกชน เป็นต้น แต่การอ้างว่ารับสัญญาณผ่าน ว. แดงของภาคประชาชน จึงนำไปถ่ายทอดต่อนั้น ข้อเท็จจริงไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบทางกฎหมาย ซึ่งอาจเปรียบเทียบได้กับคดีรับของโจร แม้ไม่รู้ที่มาและไม่มีเจตนาเลยก็ตาม..."
กรณีผู้สื่อข่าวโทรทัศน์ช่อง 23 เวิร์คพ้อยท์ (WorkPoint) เมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ 8 กรกฎาคม 2561 ดักฟังวิทยุสื่อสารของทางราชการ แล้วนำมาเผยแพร่ออกอากาศ อันเป็นการเปิดเผยข้อมูลที่ศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายในวนอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย (ศอร.) ถือว่าเป็นเรื่องที่ยังไม่สมควรเปิดเผย โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนที่ได้รับการช่วยเหลือให้ออกจากถ้ำได้แล้ว แต่ยังอยู่ในกระบวนการ ‘ส่งกลับ’
การกระทำดังกล่าว ถูกสังคมตำหนิ และยังส่งผลกระทบต่อภาพรวมของเพื่อนสื่อด้วยกัน ต่อมา ทาง ‘เวิร์คพ้อยท์’ วันนี้ ได้ลงประกาศขอโทษผ่าน Page ‘Workpoint News’ และชี้แจงประเด็นทางกฎหมาย ว่าได้สัญญาณจากวิทยุเครือข่ายเครื่องสีแดงของภาคประชาชน ถ่ายทอดผ่านแอพพลิเคชั่น Zello ที่ประชาชนเข้าถึงได้ปกติ นั้น ข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ เป็นเรื่องที่อาจเกิดขึ้นได้ไม่ว่าอาชีพใด เมื่อผิดพลาด โดยเฉพาะไม่ได้เกิดจากเจตนา การขอโทษพร้อมกับคำสัญญาที่จะระมัดระวัง จึงเป็นสิ่งที่คนในวิชาชีพพึงกระทำ - สังคมจะยอมรับหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตที่ผู้บริหารและผู้สื่อข่าวเวิร์คพ้อยท์ควรพิจารณา 3 ประการ ได้แก่
(1) แม้วิทยุสื่อสารสีแดง (ว. แดง) เป็นอุปกรณ์ที่ภาคเอกชนนำไปใช้งานติดต่อสื่อสารระหว่างกันได้ เช่น เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.) ของเอกชน เป็นต้น แต่การอ้างว่ารับสัญญาณผ่าน ว. แดงของภาคประชาชน จึงนำไปถ่ายทอดต่อนั้น ข้อเท็จจริงไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบทางกฎหมาย ซึ่งอาจเปรียบเทียบได้กับคดีรับของโจร แม้ไม่รู้ที่มาและไม่มีเจตนาเลยก็ตาม
(2) ผู้อยู่ในอาชีพสื่อต้องเป็นผู้ ‘รู้ทันสื่อ’ เสียก่อน ไม่เช่นนั้น ผู้รับสารจะมีปัญหาไม่ ‘ทันสื่อ’ ตามไปด้วย กรณีนี้ก็คือ ว. แดง กำลังรับฟังข้อความจากวิทยุสื่อสารของทางราชการ (เครื่องสีดำ: ว. ดำ) ซึ่ง ว. แดงต้นแหล่ง กำลังกระทำการที่หมิ่นเหม่ต่อกฎหมาย ทำไมเราต้อง ‘หมิ่นเหม่’ ตาม
และ (3) จากข้อ 2 เมื่อข้อความที่รับฟังจาก ว. แดง ขัดหรือแย้งกับคำสั่งหรือประกาศของ ศอร. จึงต้องพิจารณาต่อไปว่า สมควรนำมาถ่ายทอดต่อหรือไม่ โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน ซึ่งต้องได้รับการคุ้มครองอันไม่อาจปฏิเสธได้ โดยเฉพาะในมิติทางจริยธรรม
บรรยงค์ สุวรรณผ่อง
ประธานกรรมการจริยธรรมวิชาชีพ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
กรรมการควบคุมจริยธรรม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
9 กรกฎาคม 2561
ภาพประกอบ:เเฟนเพจเฟซบุ๊กข่าวเวิร์คพอยท์