- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- Gen Y ครองแชมป์หนี้เยอะ สะท้อนค่านิยม ไม่รู้จักสมดุลการเงิน
Gen Y ครองแชมป์หนี้เยอะ สะท้อนค่านิยม ไม่รู้จักสมดุลการเงิน
นิด้าโพล เผยผลสำรวจ พบ คนไทยมีหนี้เฉลี่ย 5แสนบาท Gen Y เป็นหนี้เร็ว หนี้เยอะ หนี้นาน ขณะที่การออมเพื่ออนาคตยังน้อย ไม่รู้สมดุลการเงิน อนาคตจะส่งผลต่อการขยายเศรษฐกิจในประเทศบวกภาวะสังคมสูงอายุ
เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 60 ที่โรงแรมแกรนด์ เซ็นเตอร์ พอยท์ สุขุมวิท เทอมินอล21 นิด้าโพลและบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด จัดแถลงข่าวผลการสำรวจและเสวนา เรื่อง “พฤติกรรมการออมและภาวะหนี้สินของประชาชนในครึ่งปีแรก 2560”
ผศ.ดร.ณัฐฐา วินิจนัยภาค ผู้อำนวยการศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” ได้เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “พฤติกรรมการออมและภาวะหนี้สินของประชาชนในครึ่งปีแรก 2560” จากประชาชนที่มีรายได้ทั่วประเทศจำนวน 2,000 หน่วยตัวอย่าง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 45.15 มีรายได้พอๆ กับรายจ่าย โดยประชาชนมีรายได้ต่อเดือนเฉลี่ย 26,469.91 บาท ขณะที่รายจ่ายต่อเดือนอยู่ที่ 21,606.75
ทั้งนี้ ประชาชนเกินครึ่งเล็กน้อย หรือร้อยละ 51.65 มีเงินออมไว้ใช้โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 48.79 ออมเพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉิน เช่น เพื่อการรักษาพยาบาล การเจ็บป่วย อุบัติเหตุ ขณะที่ร้อยละ 38.33 ออมเพื่อสำรองไว้ใช้ในอนาคต ส่วนร้อยละ 26.91 ออมไว้ให้บุตรหลาน ตลอดจนการศึกษาของบุตรหลาน และร้อยละ 12.58 ออมใช้ในระยะยาวช่วงหลังเกษียณอายุ
ส่วนการมีหนี้สินของประชาชนนั้น นิด้าโพล พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 68.10 ระบุว่ามีหนี้สิน ซึ่งจำนวนนี้มีหนี้สินโดยรวมเฉลี่ยประมาณ 565,302.88 บาท ร้อยละ 59.47 ซึ่งเกิดจากการซื้อ/ผ่อน/ชำระสินค้า การบริการสินค้าอุปโภคบริโภค รองลงมาร้อยละ 35.56 เกิดจากการลงทุนในการประกอบอาชีพ การดำเนินธุรกิจ กิจการ การเกษตร การค้าขาย ร้อยละ 14.24 เกิดจากเลี้ยงดูบุตรหลาน ขณะที่ร้อยละ 11.89 เกิดจากการเลี้ยงดูบุคคลในครอบครัว ร้อยละ6.17 เกิดจากสร้าง ต่อเติม ปรับปรุงที่อยู่อาศัย บ้าน คอนโด ที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ต่างๆ
สำหรับวิธีการบริหารจัดการหนี้สินของประชาชนที่มีหนี้สิน ผลการสำรวจพบว่า ผู้ที่มีหนี้สินส่วนใหญ่ ร้อยละ 61.01 จะชำระยอดค้างให้ตรงต่อเวลา ร้อยละ 19.46 ไม่สร้างหนี้สินเพิ่มเติม ร้อยละ 14.17 ลดค่าใช้จ่าย ร้อยละ 13.29 หาช่องทางการเพิ่มรายได้ เช่นทำอาชีพเสริม หารายได้พิเศษ ทำงานล่วงเวลา ร้อยละ 10.50 ระบุว่า เลือกแบ่งงวดจ่ายให้มากครั้ง แต่จ่ายจำนวนเงินต่อครั้งน้อยๆ ขณะที่ประชาชนมีความสามารถในการชำระหนี้สินเฉลี่ย 7.72 คะแนน จากคะแนนเต็ม ซึ่งอยู่ในระดับมาก
ด้านผศ.ดร.ณดา จันทร์สม คณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ นิด้า กล่าวว่า เรากำลังจะเข้าสังคมสูงอายุ ประสิทธิภาพในการผลิตลดลง ความสามารถในการแข่งขันลดลงตาม ขณะเดียวกันปัญหากู้ยืม หนี้สินล้นพ้นตัว บวกกับความสามารถในการออมของพวกเราในระดับต่ำจะยิ่งทำให้การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศซึ่งพึ่งพาการจับจ่ายใช้สอยลดลง
ผศ.ดร.ณดา กล่าวอีกว่า เราไม่ปฏิเสธการเป็นหนี้ แต่ต้องสร้างสมดุล ภาพวันนี้คนไทยไม่เข้าใจการสร้างความสมดุลในการก่อหนี้ ต้องถามก่อนว่า เรามีวินัยในการจับจ่ายใช้สอยมากน้อยแค่ไหน มีความรู้ทางการเงินมากน้อยแค่ไหน ความสมดุลในการก่อหนี้ ไม่ควรมีหนี้เกิน 40% ของรายได้ และจากข้อมูลสถิติ กลุ่มคุณครูเป็นกลุ่มที่น่ากังวลมากที่สุด ซึ่งมาจากการกู้ยืมจาก สหกรณ์ออมทรัพย์ จะมีหนี้เฉลี่ย สูงกว่าครัวเรือนไทย 2-3 เท่าทั้งๆ ที่กลุ่มนี้เป็นคนให้ความรู้ กลับเป็นคนที่ไม่เข้าใจเรื่องทักษะทางการเงินเสียเอง
“ในแง่การศึกษาไทย เราไม่มีการพูดเรื่องการวางแผนการเงินในวัยเด็กเท่าไหร่ เทียบกับต่างประเทศ เด็กไทยเรียนเศรษฐศาตร์ แต่ไม่เกี่ยวข้องกับการเงินเท่าไหร่ เราไม่เข้าใจทักษะทางการเงิน เราไม่สร้างวินัยทางการเงินอย่างเพียงพอ”
ด้านนายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัดกล่าวว่า วันนี้คนอายุช่วง 22-37 ปี มีหนี้เกินค่าเฉลี่ยตกที่ 150,000 บาท ข้อมูลเชิงสถิติพบว่า 50% ของคนอายุ 30 มีหนี้ เรามีหนี้เร็ว อายุน้อยไม่ใช่ร้อยล้าน เเต่เป็นอายุน้อยมีหนี้ นี่ยังไม่นับหนี้กยศ.อีก 4 แสนล้านบาท รวมถึงมีหนี้อีกก้อนคือหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ 1.7 ล้านล้านบาทกลายเป็นว่าตอนนี้คนไทยเป็นหนี้เร็ว เป็นหนี้เยอะ เป็นหนี้นาน
นายสุรพล กล่าวอีกว่า เมื่ออายุยังน้อยความสามารถในการชำระก็ต่ำ พบว่ามียอดของคนค้างชำระในช่วงคนที่อายุ 29 ปี 5 คนมี1คนที่มีหนี้เสีย ขณะที่ลูกค้ารายใหญ่ของบัตรเครดิตในปัจจุบันมีบัญชีเปิดใหม่ 2.2 ล้านใบ กว่า50% เป็นการเปิดใหม่ให้คนGen Y การเป็นหนี้เป็นได้ แต่คนอายุน้อยมีหนี้เสียในประวัติตัวเอง ประสิทธิภาพในการทำงานน้อยลง ขณะเดียวกันผู้สูงอายุเพิ่ม และจำเป็นต้องพึ่งพาภาคแรงงานขับเคลื่อน เศรษฐกิจ โอกาสที่จะขับเคลื่อนน้อยลง
นายสุรพล กล่าวด้วยว่า โมเดลในการแก้ปัญหาแบ่งออกเป็นสามส่วนใหญ่คือ ส่วนท่อนหลังคือ คลินิกแก้หนี้ ครอบคลุมหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน ท่อนตรงกลางคนที่กำลังมีหนี้ แผนแม่บททางการเงินฉบับที่สอง ระบบสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้า รวมข้อมูลมาเป็นเอกภาพมากขึ้น ท่อนแรกคนที่กำลังจะเป็นหนี้ มี2 เรื่อง (1)ทำอย่างไร คนปล่อยกู้ ปล่อยกู้อย่างมีความรับผิดชอบ ต้องรู้ว่า ปล่อยกู้ไปแล้ว ในระยะยาวชีวิตของคนกู้จะแย่ลง แบบนี้ต้องไม่ให้ ไม่ใช่คำนึงแต่ธุรกิจ และต่อมา ปล่อยกู้ตามความเสี่ยง คนที่มีประวัติการชำระหนี้ดี ดอกเบี้ยต้องถูก ไม่ใช่ดอกเบี้ยเท่ากันกับคนที่มีหนี้ประวัติไม่ดี ฝั่งคนกู้ เรื่องรายได้ ที่ผ่านมาทางการพยายามออกมาตรการ จะควบคุมว่าคนที่อายุเท่านี้ให้สินเชื่อได้กี่เท่า เมื่อไหร่เราจะควบคุมสถาบันการเงินให้เหมือนกันทุกระบบ
นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่าทางบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ได้เปิดโครงการเว็บไซต์ “มันหนี้” หรือ “ Thai Debt Money” ด้วยแนวคิดง่ายๆ คือ “หนี้เป็นได้ เรียนรู้ได้ ด้วยความเข้าใจ” เพื่อเป็นช่องทางการเข้าถึงข้อมูลความรู้ทางการเงิน การบริหารจัดการหนี้สิน โดยเน้นให้กลุ่มประชาชนที่มีภาระหนี้สิน สำหรับเนื้อหาภายในเว็บไซต์ จะประกอบไปด้วย 6 เรื่องหลักๆ ได้แก่ (1) การบริการสำหรับผู้เป็นหนี้ ที่จะแบ่งระดับของภาวะหนี้อย่างเข้าใจ (2) การฟื้นฟูสุขภาพการเงิน เพื่อให้มีสุขภาพการเงินที่ดีขึ้น (3) กฎหมายคลายหนี้ในมุมที่ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาต่างๆ (4) โปรแกรมคำนวนตรวจสุขภาพหนี้ รู้อาการหนี้ก่อนใคร (5) กูรู รู้เรื่องกู้ รวมเคล็ดลับเรื่องหนี้ อย่างชาญฉลาด (6) การณรรงค์ป้องกันหนี้ ที่มีข่าวสารสาระความรู้ทั่วไปเรื่องการเงินไว้อย่างมากมาย พร้อมให้บริการแล้วแค่คลิกมาที่ www.thaidebtmoney.com หรือ www.มันหนี้.com และ www.facebook.com/thaidebtmoney
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
โฆษก รบ.เผยธปท. เตรียมออกมาตรการคุมบัตรเครดิต-สินเชื่อบุคคล แก้ปัญหาหนี้