- Home
- Thaireform
- สารคดีเชิงข่าว
- เปิดบทสรุปอนุกรรมการเฉพาะกิจ ส่วนใหญ่เห็นด้วย 'จำกัด' การใช้ ‘พาราควอต’
เปิดบทสรุปอนุกรรมการเฉพาะกิจ ส่วนใหญ่เห็นด้วย 'จำกัด' การใช้ ‘พาราควอต’
"...ภาพรวมคณะอนุกรรมการฯ ส่วนใหญ่มีความเห็นว่า วัตถุอันตรายทางการเกษตร ทั้ง 3 รายการ ควรจะใช้แนวทางจำกัดการใช้ ยกเว้นคลอร์ไพริฟอสที่นำไปใช้ในทางบ้านเรือน เห็นสมควรให้ ควบคุมเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 (ห้ามผลิต ห้ามนำเข้า ห้ามส่งออก ห้ามมีไว้ในครอบครอง)..."
ต่ออายุได้อีกรอบ! สำหรับวัตถุอันตรายทั้งสามรายการ ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ภายหลังจากคณะกรรมการวัตถุอันตราย ได้พิจารณาข้อมูลจากคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ ก่อนจะมีมติยังไม่ยกเลิกการใช้ แต่ให้จำกัดการใช้แทน พร้อมมอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรจัดทำหลักเกณฑ์การจำกัดการใช้ให้แล้วเสร็จภายใน ก.ค. 2561 (อ่านประกอบ:คกก.วัตถุอันตราย มติไม่แบน ‘พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส’-แค่จำกัดการใช้)
สำหรับข้อมูลจากคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า ได้มีการรวบรวมบทสรุป โดยเป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับวัตถุอันตรายทั้งสามรายการ จากการทบทวนวรรณกรรม การรับฟังข้อมูล ข้อคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่าง ๆ รวมทั้งภาคประชาชน และเกษตรกร ในการรวบรวม เพื่อวิเคราะห์และพิจารณาข้อเสนอการควบคุมวัตถุอันตรายดังกล่าว โดยแบ่งรายละเอียดออกเป็น 5 ส่วน ประกอบด้วย
1.สถานการณ์การใช้วัตถุอันตรายแต่ละรายการ ความเป็นพิษต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม 2.สถานภาพการห้ามใช้และจำกัดการใช้ในประเทศต่าง ๆ 3.สารเคมีทดแทนและวิธีทางเลือกอื่น 4.ความเห็นของคณะกรรมการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนต่อการควบคุมสารดังกล่าว และ 5.ข้อเสนอแนะของคณะอนุกรรมการฯ ต่อการควบคุมวัตถุอันตรายทั้ง 3 รายการ
โดยภาพรวมคณะอนุกรรมการฯ ส่วนใหญ่มีความเห็นว่า วัตถุอันตรายทางการเกษตร ทั้ง 3 รายการ ควรจะใช้แนวทางจำกัดการใช้
ยกเว้นคลอร์ไพริฟอสที่นำไปใช้ในทางบ้านเรือน เห็นสมควรให้ ควบคุมเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 (ห้ามผลิต ห้ามนำเข้า ห้ามส่งออก ห้ามมีไว้ในครอบครอง)
อย่างไรก็ตาม นายแพทย์พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ หนึ่งในคณะอนุกรรมการเห็นด้วยกับการควบคุมวัตถุอันตรายไกลโฟเซตที่ให้จำกัดการใช้ และพาราควอตให้ควบคุมเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4
ขณะที่ รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ได้ให้ความเห็นว่า ไม่เห็นด้วยในการสรุปภาพรวม เนื่องจากเป็นอำนาจของคณะกรรมการวัตถุอันตรายในการสรุปตัดสินใจเชิงนโยบาย ซึ่งอาจมีผลต่อการพิจารณาตัดสินใจของคณะกรรมการวัตถุอันตราย
ทั้งนี้ เมื่อสรุปผลการพิจารณาของคณะอนุกรรมการฯ เป็นรายสาร ปรากฎว่า
-พาราควอต เป็นสารกำจัดวัชพืชประเภทไม่เลือกทำลาย สามารถยึดจับโดยอนุภาคดินได้ดี มีโอกาสแพร่กระจายและปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมได้น้อย ใช้ฉีดพ่นสำหรับวัชพืชหลังพืชงอก (post emergence) มีข้อมูลการรับขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายจากกรมวิชาการเกษตร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555-2560 รวม 379 ฉบับ มีปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นโดยลำดับ ซึ่งในปี พ.ศ. 2560 มีปริมาณการนำเข้า 44,501,340 กิโลกรัม มีปริมาณ สารสำคัญ 15,575,469 กิโลกรัม
พาราควอตที่นำไปใช้อยู่ในรูปของเกลือพาราควอตไดคลอไรด์ สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทางการกิน การสัมผัส การหายใจ มีรายงานการศึกษาที่กล่าวถึงผลกระทบต่อสุขภาพเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นการศึกษาในสัตว์ทดลอง โดยสรุปว่า ไม่มีผลทำให้โครโมโซมของสัตว์ทดลองผิดปกติ ไม่เป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ มีรายงานการวิจัยที่กล่าวถึงการทำงานของระบบประสาทที่ทำให้การทำงานของระบบประสาท ตอบสนองช้าลง รวมทั้งผลกระทบต่อสุขภาพที่เป็นข้อกังวลของประเทศโดยที่กล่าวถึงโรคผิวหนังอักเสบเนื้อเน่า และการถ่ายทอดจากแม่ไปสู่ลูกนั้น พบว่ายังไม่มีข้อมูลที่สามารถเชื่อมโยงได้อย่างชัดเจน
จากสถิติผู้ป่วยจากการได้รับพาราควอต ระหว่างปี พ.ศ. 2553-2559 จากศูนย์พิษวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ผู้ที่ได้รับสารทางปากเสียชีวิตประมาณ 52% โดยสาเหตุหลักมาจาก การนำไปใช้ฆ่าตัวตาย ซึ่งทำให้อัตราการเสียชีวิตสูงถึง 56.60%
ความเสี่ยงจากการบริโภคอาหารสำหรับประชากรโลก ซึ่งประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญ FAO/WHO (องค์การ The Joint FAO/WHO Meeting on Pesticide Residues หรือ JMPR) ในปี ค.ศ. 2004 และ 2016 และสำหรับประเทศไทยที่ประเมินโดยสำนักมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ผลการประเมิน ความเสี่ยงแบบระยะยาวเทียบกับค่า Acceptable Daily Intake (ADI) และความเสี่ยงแบบเฉียบพลันเทียบกับค่า Acute Reference Dose (ARfD) สรุปได้ว่า ความเสี่ยงของประชากรโลกและไทยจากการบริโภคอาหารไม่อยู่ ในระดับที่ทำให้เป็นอันตราย
ความเสี่ยงของเกษตรกรและผู้รับจ้างฉีดพ่นสารมีองค์ประกอบที่นำไปสู่การสัมผัสสาร ได้แก่ ลักษณะของพืชที่ฉีดพ่น วิธีการในการฉีดพ่น เครื่องมือที่ใช้ในการฉีดพ่น ในประเทศไทยมีข้อมูลจากรายงาน การศึกษาบทบาทของพาราควอตและไกลโฟเซตในการผลิตพืชเศรษฐกิจ 6 ชนิด พบว่า เกษตรกร 55% ใช้หัวพ่นสารกำจัดวัชพืชไม่ถูกต้อง ทำให้อัตราการใช้สารสูงเกินความจำเป็น การปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม ใน น้ำ ดิน ตะกอนดิน ข้อมูลการตรวจซ้ำไม่พบสารตกค้างในน้ำ ส่วนในดินและตะกอนดินพบตกค้างเล็กน้อย
เมื่อพิจารณาสารทดแทนในพืชเศรษฐกิจหลักทั้ง 6 ชนิด พบว่า ยังมีข้อจำกัดหลายประการ ได้แก่ ระยะปลอดฝนที่นานกว่าพาราควอต การออกฤทธิ์อาจส่งผลกระทบต่อพืชหลักได้ และสารทดแทนยังมีราคาสูงกว่า รวมทั้งยังไม่มีความชัดเจนในความปลอดภัยของสารทดแทน
-คลอร์ไพริฟอส เป็นสารเคมีกำจัดแมลงศัตรูพืช ในกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต ใช้ในการกำจัด แมลงในพืช ผัก ผลไม้ มีการใช้อย่างกว้างขวางในพืชแทบทุกชนิด ปัญหาสารพิษตกค้างในประเทศไทยเกิดจากการที่เกษตรกรไม่ปฏิบัติตามหลัก Good Agricultural Practice หรือ GAP มีการใช้กับพืชที่ไม่ได้แนะนำให้ใช้ หรือใช้เกินคำแนะนำในฉลาก เมื่อทำการฉีดพ่นซ้ำ จะเกิดการสร้างความต้านทานได้ ทำให้ใช้กับพืช ผัก ผลไม้ไม่ได้ผล และการฉีดพ่นซ้ำบ่อยครั้ง จึงพบปัญหาการตกค้างในพืชผลทางการเกษตรได้ อีกทั้งคลอร์ไพริฟอส ยังใช้กำจัดแมลงศัตรูพืชในบ้านเรือน แต่ได้มีการยกเลิกการใช้ในบ้านเรือนในหลายประเทศแล้ว เนื่องจากมีการ พัฒนาการใช้ bait ต่าง ๆ ในการกำจัดปลวกและแมลงสาบซึ่งปลอดภัยกว่าการฉีดพ่น
จากข้อมูลของกรมวิชาการเกษตร พบว่า มีการขึ้นทะเบียนคลอร์ไพริฟอส ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555-2560 จำนวนรวม 375 ฉบับ มีการนำเข้าในปี พ.ศ. 2560 ปริมาณ 3,700,096.80 กิโลกรัม คิดเป็น ปริมาณสารสำคัญ 3,008,560.18 กิโลกรัม
ข้อมูลการขึ้นทะเบียนจากกรมปศุสัตว์ ในปี พ.ศ. 2560 จำนวน 4 ฉบับ คิดเป็นปริมาณ 155,000 กิโลกรัม
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา มีการขึ้นทะเบียนในปี พ.ศ. 2560 จำนวน 1 ฉบับ คิดเป็นปริมาณ 68 กิโลกรัม
ในขณะที่ไม่พบข้อมูลการขึ้นทะเบียนและนำเข้าใน ส่วนที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมโรงงานอุตสาหกรรม
ด้านความพิษของคลอร์ไพริฟอส องค์การระหว่างประเทศหลายหน่วยงาน จัดกลุ่มความเป็นอันตรายของคลอร์ไพริฟอส อยู่ในกลุ่มความเป็นอันตรายปานกลาง ไม่ส่งผลกระทบต่อระบบสืบพันธุ์ หรือการพัฒนาของระบบประสาทอย่างเฉพาะเจาะจง แต่ก็มีการศึกษาที่พบความสัมพันธ์ระหว่างคลอร์ไพริฟอสและ พัฒนาการของสมองเด็ก ไม่น่าจะทำให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งในมนุษย์ และเป็นสารที่ไม่รบกวนการทำงานของต่อมไร้ท่อ เมื่อได้รับสัมผัสอาจเกิดการคลื่นไส้ ปวดศีรษะ อาเจียน ผู้ที่ได้รับปริมาณมากจะเกิดอาการพิษ เฉียบพลัน ทำให้เกิดอาการทางระบบประสาทได้มากขึ้นหากไม่มีการขับถ่ายออกทางอุจจาระหรือปัสสาวะ
จากสถิติผู้ป่วยจากการได้รับคลอร์ไพริฟอส ระหว่างปี พ.ศ. 2553-2559 จากศูนย์พิษวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มีผู้เสียชีวิตเฉพาะในผู้ที่ได้รับโดยการกิน 3.94 % ของจำนวนผู้ป่วยที่ ได้รับสารทางปาก และคิดเป็น 3.71 % ของผู้ป่วยทั้งหมด 728 ราย
การประเมินความเสี่ยงจากการบริโภคอาหารสำหรับประชากรโลก ซึ่งประเมินโดย JMPR ในปี ค.ศ. 2004 และ 2016 และสำหรับประเทศไทยที่ประเมินโดยสำนักมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ผลการประเมินความเสี่ยงแบบระยะยาวเทียบกับค่า ADI และความเสี่ยงแบบเฉียบพลันเทียบกับค่า ARfD สามารถ สรุปได้ว่า
“ความเสี่ยงของประชากรโลกและไทยจากการได้รับสารคลอร์ไพริฟอส จากการบริโภคอาหารไม่อยู่ใน ระดับที่จะทำให้เป็นอันตราย”
เมื่อพิจารณาสารทดแทนคลอร์ไพริฟอส สำหรับการใช้เพื่อกำจัดแมลงภายในบ้านเรือน ปัจจุบัน มีสารหรือสิ่งที่นำมาใช้ทดแทนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ฟิโพรนิล (fipronil) ไซเพอร์เมทริน (cypermethrin) การพัฒนาการใช้ baits ต่าง ๆ ในการกำจัดปลวกและแมลงสาบ ซึ่งมีความปลอดภัยมากกว่า การฉีดพ่น และเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป สำหรับการใช้ในการกำจัดแมลงศัตรูพืช เนื่องจากคลอร์ไพริฟอสใช้ในการ ป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชหลายชนิด และราคาไม่แพงมากนัก ซึ่งสารทดแทนที่นำมาใช้จะมีกลไกการออกฤทธิ์ ค่อนข้างเฉพาะเจาะจง และราคาค่อนข้างสูง หรือบางชนิดประสิทธิภาพอาจทดแทนได้ แต่อาจทำให้เกษตรกรมี ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ดังนั้น การที่จะหาสารทดแทนที่มีคุณสมบัติเช่นเดียวกับคลอร์ไพริฟอส และใช้ได้ในพืช หลากหลาย ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบรอบ
ด้านคณะอนุกรรมการฯ พิจารณาแล้ว มีความเห็นว่า การใช้คลอร์ไพริฟอสในการกำจัดแมลง ศัตรูพืชในบ้านเรือน เนื่องจากมีการใช้วิธีอื่นที่ปลอดภัย เหมาะสมกว่าการฉีดพ่น จึงเห็นสมควรยกเลิกการ ใช้ได้ ซึ่งสอดคล้องกับที่กระทรวงสาธารณสุขได้เสนอให้มีการควบคุมคลอร์ไพริฟอสที่ใช้ในบ้านเรือนเป็น วัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ในความรับผิดชอบของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หากแต่ต้องมีการ เตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ ประกอบการยกเลิกการใช้ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และประชาชนทั่วไป
-ไกลโฟเซต เป็นสารควบคุมวัชพืชมาเป็นระยะเวลานานกว่า 40 ปี ใช้ในการควบคุมวัชพืช ได้ทั้งใบแคบและใบกว้าง เข้าสู่เนื้อเยื่อสีเขียวของใบและลำต้นของวัชพืช โดยดูดซึมเข้าสู่ระบบลำเลียงน้ำของพืชได้ และควบคุมวัชพืชได้นาน พบการใช้ไกลโฟเซตในพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจหลากหลายชนิด โดยเฉพาะ ปาล์มน้ำมันและยางพารา พบการปนเปื้อนไกลโฟเซตในทุกระดับห่วงโซ่อาหาร ในน้ำ พืช สัตว์ ส าหรับการจับกับอนุภาคดินนั้นขึ้นกับชนิดของดิน หากเป็นดินเหนียวจะจับกันได้ดี แต่สามารถจับกับอนุภาคของดินทรายได้ต่ำ
จากข้อมูลของกรมวิชาการเกษตร พบว่า มีการขึ้นทะเบียนไกลโฟเซตและเกลือของไกลโฟเซต ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555-2560 จำนวนรวม 435 ฉบับ มีการนำเข้าในปี พ.ศ. 2560 ปริมาณ 59,872,239 กิโลกรัม คิดเป็นปริมาณสารสำคัญ 29,936,115 กิโลกรัม
ด้านข้อมูลความพิษของไกลโฟเซต ยังมีข้อมูลที่ไม่สอดคล้องกันหลายประเด็น เช่น การจัดกลุ่มความเป็นพิษของไกลโฟเซต ซึ่งองค์การระหว่างประเทศ เช่น องค์การอนามัยโลก หรือ WHO และ Environmental Protection Agency หรือ EPA ได้จัดกลุ่มความเป็นพิษของไกลโฟเซตอยู่ในกลุ่มความเป็นพิษน้อย และเป็นกลุ่มที่ไม่น่าจะมีความเป็นอันตรายร้ายแรง ในขณะที่ International Agency for Research on Cancer (IARC) ได้จัดกลุ่มความเป็นอันตรายว่าเป็นสารที่อาจก่อให้เกิดมะเร็ง เป็นต้น
สำหรับประเทศไทย ผลกระทบต่อสุขภาพพบสารตกค้างในซีรั่มของแม่ และสายสะดือของทารก ในมารดาที่พักอาศัยในบริเวณ ใกล้เคียงกับบริเวณที่มีการฉีดพ่นไกลโฟเซต ซึ่งยังมีข้อจำกัดในการศึกษาวิจัย เนื่องจากจำนวนตัวอย่างที่ศึกษา มีไม่มาก และต้องมีการติดตามผลกระทบระยะยาวในเด็กที่สัมผัสกับไกลโฟเซตในช่วงที่อยู่ในครรภ์ต่อไป
จากสถิติผู้ป่วยจากการได้รับไกลโฟเซต ระหว่างปี พ.ศ. 2553-2559 จากศูนย์พิษวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี จากผู้ได้รับพิษจากสารกำจัดศัตรูพืช 36,731 ราย มีผู้ป่วยจากไกลโฟเซต 3,690 ราย พบว่า ผู้ที่ได้รับสารทางปากเสียชีวิต คิดเป็น 1.77% ของจำนวนผู้ป่วยทางปาก และเป็นกรณี นำไปใช้ในทางที่ผิด 15 ราย แต่ไม่มีผู้เสียชีวิต
การประเมินความเสี่ยงของการได้รับไกลโฟเซตจากการบริโภคอาหาร ซึ่งประเมินจาก JMPR ในปีค.ศ. 2004 และ 2016 และประเทศไทยที่ประเมินโดยสำนักมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติสำหรับการเป็นพิษแบบระยะยาว เปรียบเทียบกับค่า ADI ผลการประเมินสรุปได้ว่า ความเสี่ยงของ ประชากรโลกและไทยจากการได้รับสารไกลโฟเซต จากการบริโภคอาหารไม่อยู่ในระดับที่จะทำให้เกิดอันตราย เนื่องจาก ไกลโฟเซตเป็นการกำจัดวัชพืชที่ใช้กันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจ ดังนั้นสารที่จะนำมาใช้ทดแทนไกลโฟเซต จะต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพ ราคา และชนิดของพืชที่ปลูก ซึ่งหากยกเลิกการใช้จำเป็นต้องใช้แรงงานเพิ่มขึ้น อาจเป็นการกำจัดด้วยแรงมือหรือเครื่องจักร ซึ่งอาจทำให้ค่าใช้จ่าย เพิ่มสูงขึ้น .
อ่านประกอบ:“ดิฉันเป็นกก.เสียงข้างน้อย” จิราพร ลิ้มปานานนท์ แถลงชัดควรแบน ‘พาราควอต’