“ดิฉันเป็นกก.เสียงข้างน้อย” จิราพร ลิ้มปานานนท์ แถลงชัดควรแบน ‘พาราควอต’
หมายเหตุ:คำแถลงของ รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ กรรมการในคณะกรรมการวัตถุอันตราย ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ภายหลังคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติไม่ยกเลิกวัตถุอันตราย 3 ประเภท ได้เเก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส เเละไกลโฟเซต เเต่จำกัดการใช้เเทน พร้อมความเห็นในทุกมิติที่เกี่ยวข้อง
ดิฉันเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในคณะกรรมการวัตถุอันตราย ในการประชุมวันนี้ได้มีการลงมติการควบคุมวัตถุอันตราย พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต
ดิฉันเป็นกรรมการเสียงข้างน้อยที่ลงมติให้ยกระดับการควบคุมให้เป็น วอ.4 คือยกเลิกการใช้สารเคมีทางการเกษตรทั้งสามตัวนี้
ก่อนลงมติดิฉันได้กล่าวถึง มาตรา 12 วรรค 2 ของ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย ที่ระบุว่า “การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก ... กรรมการผู้ใดมีส่วนได้เสียเป็นการส่วนตัวในเรื่องใด กรรมการผู้นั้นไม่มีสิทธิ์ออกเสียงลงคะแนนในเรื่องนั้น”
ปรากฏว่าไม่มีการแสดงการมีส่วนได้เสีย และไม่มีกรรมการท่านใดสละสิทธิ์ในการลงคะแนน
ในการประชุมได้มีข้อมูลเอกสารรายงานของอนุกรรมการเฉพาะกิจ และภาคผนวกซึ่งเป็นรายละเอียดของข้อมูลทางวิชาการ ประกอบกับมีข้อมูลทางวิชาการของประชาคมวิชาการและเครือข่ายนักวิชาการซึ่งมีทั้งสิ้น 14 หน่วยงาน เช่น ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยนเรศวร คณะสาธารณสุข มหาวิทยาลัยมหิดล สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นข้อมูลทางวิชาการที่แสดงให้เห็นผลกระทบต่อสุขภาพ และกลไกที่ชัดเจนในการอธิบายความเป็นพิษ
ดิฉันเห็นด้วยว่าสารทั้งสาม ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของทั้งผู้บริโภคและเกษตรกร ซึ่งทำให้เกิดโรคที่ไม่สามารถรักษาได้ เช่น พาร์กินสัน สมองเสื่อมโดยเฉพาะผลต่อเด็กและทารก โรคที่เกี่ยวข้องกับต่อมไร้ท่อ และเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ชัดเจนทั้งต่อผู้บริโภคและเกษตรกร เนื่องจากมีการใช้สารทั้งสามนี้มากมาย และสามารถตรวจพบทั้งในผัก ผลไม้ สัตว์น้ำ และสิ่งแวดล้อม
ดิฉันจึงเสนอให้คณะกรรมการฯ พิจารณายกเลิกการใช้สารทั้งสาม โดยให้มีผลบังคับใช้ในอีก 2 ปีข้างหน้า และขณะที่ยังไม่ยกเลิก ให้กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรฯ จำกัดการนำเข้าและควบคุมการใช้อย่างเข้มงวด เพื่อลดปัจจัยเสี่ยง และประเมินผลการควบคุมการใช้อย่างเข้มงวด แต่ดิฉันก็เป็นเพียงกรรมการเสียงข้างน้อย ซึ่งได้ทำความเห็นประกอบความเห็นในคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ ถึงข้อมูลวิชาการที่สนับสนุนโดยละเอียดแล้ว .
ภาพประกอบ:https://waymagazine.org