ผอ.อ.อ.ป.ยันไม้สักรัฐสภาใหม่ไม่กระทบพื้นที่ป่าอนุรักษ์
ผอ.อ.อ.ป. ยืนยันใช้ไม้สักสร้างรัฐสภา ไม่กระทบพื้นที่ป่าในประเทศ ห่วงคนไทยไม่เข้าใจเรื่อง ป่าอนุรักษ์ กับป่าเศรษฐกิจ ด้านสถาปิก เผย ตั้งใจทำให้รัฐสภาเป็นโชว์รูมไม้สักไทยระดับโลก
เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2559 ที่ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ร่วมกับชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย จัดเสวนา “ทางออกในการใช้ทรัพยากรไม้ของประเทศไทยอย่างยั่งยืน”
นายพิพัฒน์ ชนินทยุทธวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การอุตสาหกรรมปาไม้ (อ.อ.ป.) กล่าวทำความเข้าใจระหว่างป่าเศรษฐกิจ กับป่าอนุรักษ์ ตามความเข้าใจทั่วไปมองว่าป่าอนุรักษ์คือการเก็บ ป่าเศรษฐกิจคือพื้นที่ที่เราสร้างขึ้นมาแล้วเอามาใช้ประโยชน์ แต่ตามหลักวิชาการป่าอนุรักษ์ก็ควรเอามาใช้ อยู่ที่ว่าเราจะเอามาใช้อย่างไร เพราะการอนุรักษ์ไม่ใช่แค่การเก็บ แต่คือการใช้ประโยชน์สูงสุด
นายพิพัฒน์ กล่าวว่า อ.อ.ป. ปลูกต้นไม้มาตั้งแต่ปี 2541 ปัจจุบันมีพื้นที่ป่าอยู่ ล้านกว่าไร่ เป็นพื้นที่ป่าสัก ป่าเศรษฐกิจราว 6 แสนไร่ แต่ยังน้อยมากหากเทียบกับการใช้ไม้ของคนในประเทศ ไทยเลยต้องนำเข้าไม้จากต่างประเทศจำนวนเงินมหาศาล
“คำถามคือเราจะซื้อไม้จากต่างประเทศทำไมมากมายหากเรามีพื้นที่สามารถจะลูกขึ้นมาใช้งานได้” ผอ.อ.อ.ป.กล่าว และว่า ประเทศไทยอยู่ในเส้นศูนย์สูตร ตรงนี้สามารถปลูกป่าได้ ภายในระยะไม่นานสามารถเพิ่มขึ้นได้ เพราะป่าสร้างได้ แต่ทำไมไม่ดิ้นร้นในการสร้าง ซึ่งปัญหาที่จะเจอต่อมาคือ ถ้าจะสร้างเราจะมาอาศัยพื้นที่ป่าธรรมชาติ พื้นที่ป่าสงวน พื้นที่ป่าอนุรักษ์ คงจะไม่ได้ คงต้องอาศัย พื้นที่ที่เป็นของเอกชน พื้นที่เอกสารสิทธิ์ พื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่รกร้างว่างเปล่า พื้นที่ปลูกพืชที่ให้ผลตอบแทนไม่คุ้มค่า หรือจะปลูกพืชเกษตร ก็ปลูกป่าควบคู่กันไป เบื้องต้นจึงยืนยันว่า ไทยสามารถปลูกป่าเศรษฐกิจ แล้วเอาไม้มาใช้ประโยชน์ได้
นายพิพัฒน์ กล่าวอีกว่า วันนี้อยากให้สังคมเข้าใจว่า อนุรักษ์ กับเศรษฐกิจคืออะไร เพราะความไม่เข้าใจของสังคมของคนชั้นกลางในเมืองที่ป็นห่วงและไม่มั่นใจการบริหารจัดการป่าของรัฐ ตรงนี้เป็นหน้าที่ของของ อ.อ.ป. หน้าที่กรมป่าไม้ ทำอย่างไร จะทำความเข้าใจกัน พร้อมกับเชื่อว่า ในอนาคตการใช้ประโยชน์ไม้จะดีขึ้น
"เมื่อก่อนตัวเลขย้อนหลังปี 2537-2547 ป่าของไทยหายไปนาทีละ 5 ไร่ แต่ปัจจุบันเรามีการตรวจสอบมากขึ้น แนวโน้นมในการดูเเลมากขึ้น ในฐานะของของคนตัดไม้ เราตัดไม้ปีกว่าแสนต้น แต่ปลูกเป็นล้านต้น และจะหมุนเวีบนอย่างนี้ต่อไป นั่นคือการจัดการป่าเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ส่วนที่จะเอามาสร้างรัฐสภามีเพียง5,000 ท่อน ซึ่งยืนยันว่าสามารถดำเนินการได้ ไม่มีปัญหา” ผอ.อ.อ.ป.กล่าว
ด้านนายธีรพล นิยม ประธานคณะผู้ออกแบบโครงการรัฐสภาแห่งใหม่ กล่าวถึงเจตนาการออกแบบรัฐสภาแห่งใหม่ ให้ใช้ไม้ เพราะมีคนเปรียบเทียบไว้ว่า ไม้สักคือทองคำ เราต้องการเอาทองคำมาอยู่ในรัฐสภา โดยที่วัตถุประสงค์การก่อสร้างคือ อยากให้งานสถาปัตยกรรมชิ้นนี้เป็นสถานที่ประกอบทำดี เพื่อให้การเมืองมีศีลธรรม สำหรับวัตถุประสงค์แอบแฝงของเรา คือการทำให้คนในประเทศเข้าใจการใช้ไม้ และไม้สักเป็น ดีเอ็เอของประเทศ เราใช้โอกาสในการมีรัฐสภา เพื่อพลิกฟื้นความเข้าใจของสังคม ต้องการเป็นเวทีในการเรียนรู้ทั่วสังคมไทย ให้วาระของไม้สักเป็นวาระสำคัญ
“เราจะมีความผูกพัน เราจะรักเมื่อเราได้ใช้ ในฐานะมนุษย์ เราจะมีท่าทีในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างไร นั่นคือการใช้อย่างเคารพ เราถึงมีคำอย่าง แม่น้ำ ที่ยกให้เป็นแม่ เป็นต้น”
นายธีรพล กล่าวต่อว่า ตอนที่ตัดสินใจใช้ไม้ในการก่อสร้างรัฐสภา ก็มีความกังวล แม้จะมีความรักแต่เราไม่ได้มีความรู้เรื่องไม้มากนัก อีกส่วนคือ กังวลเรื่องการดูเเลรักษาของรัฐว่าจะดูเเลดีหรือไม่
"ผมโชคดีที่ได้ อ.อ.ป. เข้ามาช่วย เพราะเราต้องการให้รัฐสภาเป็นโชว์รูมระดับโลกของไม้สักประเทศไทย อยากให้ปั้มตรา อ.อ.ป. ในทุกต้น เราต้องทำหน้าที่การใช้ไม้ให้ดีที่สุด" นายธีรพล กล่าว และยืนยันว่า ไม้สำคัญไม่ใช่เฉพาะเศรษฐกิจเท่านั้น แต่คือจิตวิญญาณ ความเป็นอยู่ของคนไทย เป็นเหมือนต้นน้ำของคนไทย
อ่านประกอบ