นักวิชาการมก. ชี้ไม้สักจากป่าปลูก อ.อ.ป. สร้างรัฐสภาใหม่ แห่งเดียวที่มีใบรับรอง
นักวิชาการมก. ชี้ไม้สักจากป่าปลูก อ.อ.ป. สร้างรัฐสภาใหม่ แห่งเดียวที่มี ใบรับรอง และทั่วโลกยอมรับการปลูก มีการจัดการอย่างยั่งยืน
ผศ.ดร.นิคม แหลมสัก รองคณบดีคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา ถึงโครงการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ ที่จะใช้ไม้สักจากสวนป่าของ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ว่า การที่สถาปนิกได้นำแนวคิดการออกแบบ สัปปายะสภาสถาน ให้ใช้ไม้สัก เพราะไม้สักที่ดีที่สุดในโลกคือ Siam Teak หรือ Thai Teak
“สถาปนิกออกแบบเป็นคนมีองค์ความรู้ เพราะไม้สักแสดงถึงอัตลักษณ์ของไทย และการเน้นไม้สักของ อ.อ.ป. ซึ่งปลูกที่เน้นการจัดการอย่างยั่งยืน มี ใบ CERTIFIED แทบไม่มีพื้นที่ป่าเอกชนรายได้ในประเทศไทย ได้รับใบ CERTIFIED”
นักวิชาการด้านป่าไม้ กล่าวว่า ไม้สักที่อ.อ.ป.ปลูก ส่วนใหญ่เป็น certified forest ปลูกในป่าเศรษฐกิจ ไม่ได้ปลูกในพื้นที่อนุรักษ์ ฉะนั้นรัฐสภาแห่งใหม่จะได้ certified wood ซึ่งทั่วโลกยอมรับการปลูกและมีการจัดการอย่างยั่งยืน ฉะนั้น อยากให้การสร้างรัฐสภาแห่งใหม่เป็นจุดเปลี่ยนและรณรงค์ให้คนไทยปรับวิธีคิดใหม่ ไม้ที่ตัดมาใช้ เป็นทรัพยากรที่สร้างได้ ทรัพยากรที่ใช้ไม่หมดสิ้น (Renewable Resource) ตรงข้ามกับพลาสติก คอนกรีตที่ใช้แล้วหมดไปสร้างใหม่ไม่ได้
“ไม้ที่ตัดมาสร้างรัฐสภาเป็นไม้จากป่าเศรษฐกิจ ซึ่งมีการจัดการอย่างยั่งยืน โดยอ.อ.ป. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจเดียวในประเทศไทยที่ทำพันธกิจ เรื่อง ป่าเศรษฐกิจ ทำเรื่องนี้มาโดยตลอด”
กรณีหากมีการนำเข้าไม้สักจากต่างประเทศมาสร้างรัฐสภาใหม่นั้น ผศ.ดร.นิคม กล่าว ว่า ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะจะสูญเสียความเป็นอัตลักษณ์เฉพาะไป ไม้สักที่ปลูกตั้งแต่จังหวัดนครสวรรค์ขึ้นไปถือเป็นไม้สักที่ดีที่สุดในโลกแล้ว
เมื่อถามถึงการจัดหาไม้สักตามแบบก่อสร้าง จำนวน 4,534 ต้นมาสร้างรัฐสภา ผศ.ดร.นิคม กล่าวว่า ถือว่า เป็นจำนวนที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับที่ อ.อ.ป. ตัดไม้ปีละหลายแสนต้นเป็นปกติอยู่แล้ว เมื่อตัดก็ปลูกทดแทนทุกปี ฉะนั้นจำนวนที่จะนำมาสร้างรัฐสภา จึงคิดเป็นไม่กี่เปอร์เซนต์เท่านั้น จาก 6 แสนไร่ โดย 1 ไร่ป่าสักของ อ.อ.ป.ปลูกเกือบ 100 ต้น และปลูกมาตั้งแต่ปี 2510
นักวิชาการด้านป่าไม้ กล่าวอีกว่า คนไทยต้องหันมาใช้ไม้ เพราะทั้งโลกหันมาใช้ไม้อย่างเข้มข้น เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ลดการใช้วัสดุอื่นลง ลดการใช้โลหะพลาสติก คอนกรีต หรือวัสดุที่มาจากฟอสซิล หันมาใช้ไบโอ และไบโอที่ใหญ่ที่สุดในโลก คือ ไม้ อยากให้คนไทยเข้าใจให้ถูกต้อง
และเมื่อถามถึงป่าอนุรักษ์ประเทศไทย ผศ.ดร.นิคม กล่าวว่า ปัจจุบันทำได้ถึงเป้าหมายแล้ว เหลือในเชิงคุณภาพเท่านั้น ขณะที่ป่าเศรษฐกิจยังขาดอีกจำนวนมาก เรามีป่าเศรษฐกิจ ป่ายูคาลิปตัส 2-3 ล้านไร่ ป่าสักของ อ.อ.ป. 6 แสนไร่ และป่าสักของเอกชน 2-3 แสนไร่ ถือว่า น้อยมาก
“วันนี้ป่าไม้เมืองไทยลดลงไม่ได้เกิดจากการใช้ไม้ แต่เกิดจากการที่เราขยายพื้นที่ทำเกษตรกรรม ที่ป่าหายเพราะมีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์จากที่ดิน ทำนากุ้ง ปลูกพืชไร่ ข้าวโพด มันสำปะหลัง ฉะนั้น คำว่า ตัดไม้ทำลายป่า จึงไม่จริงเสมอไป”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ไม้สักเหมือน DNA ของชาติ! ปธ.ออกแบบรัฐสภาใหม่แจงเหตุใดต้องใช้สร้าง?
ไขคำตอบ รัฐสภาใหม่ ‘สัปปายะสภาสถาน’ ออกแบบคล้ายวัด ช่วยลดโกงจริงหรือ?