สภาวิศวกรทำหนังสือถึงอธิการบดีทุกแห่ง ชะลอรับงานด้านวิชาชีพ หวั่นผิดกฎหมาย
สภาวิศวกรทำหนังสือถึงอธิการบดีทุกแห่ง ชะลอ การรับงานที่เข้าข่ายเป็นการประกอบวิชาชีพ วิศวกรรมควบคุม เพื่อป้องกันมิให้เกิดกรณีที่อาจเป็นการกระทำผิดตามมาตรา 45 และมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ.2542 ขอให้รอคำวินิจฉัยกฤษฎีกาเพื่อความชัดเจนก่อน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกมล ตรรกบุตร นายกสภาวิศวกร ได้ทำหนังสือถึงอธิการบดี ทุกแห่ง ให้กำชับบุคลากรภายในสถาบันการศึกษาหรือหน่วยงานในกำกับของสถาบันการศึกษาที่มีเรียกอื่น มีความเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิบัติงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการประกอบวิชาชีพวิศวกรควบคุม ดังนี้
1.พระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ.2542 กำหนดให้การประกอบวิชาชีพวิศวกรควบคุมตามงาน ประเภท และขนาดที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงกำหนดสาขาวิชาชีพวิศวกรรมและวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม พ.ศ.2550 อันได้แก่ งานให้คำที่ปรึกษา งานวางโครงการ งานออกแบบและคำนวณงานควบคุมการสร้างหรือการผลิตงาน งานพิจารณาตรวจสอบ และงานอำนวยการใช้ จะต้องประกอบวิชาชีพโดยผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมจากสภาวิศวกร โดยนิยามของคำว่า "ผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม" นั้น หมายถึงบุคคลธรรมดา และนิติบุคคลซึ่งได้รับใบอนุญาตฯ จากสภาวิศวกร
2.พระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ.2542 มาตรา 45 ได้กำหนดห้ามมิให้ผู้ใดประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม หรือแสดงด้วยวิธีการใดๆ ให้ผู้อื่นเข้าใจว่า ตนพร้อมจะประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมสาขาใด เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตในสาขานั้นจากสภาวิศวกร
และตามมาตรา 47 ได้กำหนดห้ามมิให้ผู้ใดใช้คำ หรือข้อความแสดงให้ผู้อื่นเข้าใจว่า ตนเป็นผู้มีความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ทั้งนี้รวมถึงการใช้ จ้างวาน หรือยินยอมให้ผู้อื่นกระทำการดังกล่าวให้แก่ตน เว้นแต่จะเป็นผู้ได้รับวุฒิบัตร หรือหนังสืออนุมัติเป็นผู้มีความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมสาขานั้นๆ จากสภาวิศวกรหรือสถาบันที่สภาวิศวกรรับรอง หรือผู้ได้รับใบอนุญาตซึ่งมีคุณสมบัติตามที่กำหนดในข้อบังคับสภาวิศวกร
ซึ่งความหมายของคำว่า "ผู้ใด" ในบทบัญญัติทั้งสองมาตราดังกล่าว รวมถึงการห้ามบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลด้วย ซึ่งหากฝ่าฝืนอาจมีความผิดตามมาตรา 45 หรือมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ.2542 และมีโทษจำคุก หรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับตามมาตรา 71 หรือมาตรา 72 แล้วแต่กรณี
ทั้งนี้ เนื่องจากในปัจจุบัน ปรากฎข้อเท็จจริงว่า มีหลายสถาบันการศึกษาได้รับการว่างจ้างให้ดำเนินงานประเภทและขนาดที่เข้าข่ายเป็นการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม โดยสถาบันการศึกษานั้นมิได้เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ตามพระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ.2542 ซึ่งกรณีดังกล่าวเป็นประเด็นที่มีความสำคัญและควรได้รับการวินิจฉัยให้เกิดความชัดเจน
สภาวิศวกร ได้เสนอข้อหารือต่อคณะกรรมการกฤษฎีกาผ่านทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะสภานายกพิเศษแห่งสภาวิศวกร ดังนั้น ในระหว่างการรอคำวินิจฉัย จึงขอความร่วมมือพิจารณาชะลอการรับงานที่เข้าข่ายเป็นการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม เพื่อป้องกันมิให้เกิดกรณีที่อาจเป็นการกระทำผิดตามมาตรา 45 และมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ.2542 อันเป็นหลักประกันในการมุ่งคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของประชาชน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
สภาวิศวกรแถลงส่งกฤษฎีกาตีความ ปม สจล.รับงานไม่มีใบประกอบวิชาชีพ
จาก มช.สู่ สจล. มหาวิทยาลัยรับงานออกแบบ-คุมงานก่อสร้าง ได้หรือไม่?
ระอุ!!ร้องสภาวิศวกร สอบ 'สจล.' รับงานออกแบบเขื่อนกั้นนิคมฯ-แลนด์มาร์คเจ้าพระยา
เปิดกฎหมาย เถียงให้รู้เรื่อง! ทำไม สจล. รับงานแลนด์มาร์คเจ้าพระยา เทียบกับ กฟภ.ไม่ได้
สจล.ยกความเห็นกฤษฎีกาปี 47 เทียบ ยันรับงาน 'แลนด์มาร์คเจ้าพระยา' ได้