ระอุ!!ร้องสภาวิศวกร สอบ 'สจล.' รับงานออกแบบเขื่อนกั้นนิคมฯ-แลนด์มาร์คเจ้าพระยา
ผู้ที่จะประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมสาขาใดได้ จะต้องได้รับใบอนุญาตในสาขานั้นจากสภาวิศวกร อันประกอบด้วยใบอนุญาตที่เป็นบุคคลธรรมดา และใบอนุญาตที่เป็นนิติบุคคล
โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ของกระทรวงมหาดไทย และสำนักโยธา กรุงเทพมหานคร ได้ลงนามสัญญาจ้างสถาบันการศึกษา ได้แก่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เป็นที่ปรึกษางานสำรวจ ออกแบบ และจัดทำแผนแม่บทเพื่อการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา รวมระยะเวลา 7 เดือน งบประมาณ 120 ล้านบาทไปเมื่อวันที่ 29 ก.พ.59 (อ่านประกอบ:กทม.ยัน 1.4 หมื่นล.ไม่ใช้งบฯ แลนด์มาร์คเจ้าพระยา-สร้างเสร็จแน่กลางปี'61 )
ซึ่งการเข้าไปรับงานที่ปรึกษาฯ โดยใช้ชื่อ สจล. ในฐานะสถาบันการศึกษา ซึ่งทำหน้าที่ผลิตนักวิชาชีพ ถูกตั้งคำถามมีความเหมาะสมหรือไม่ (อ่านประกอบ:ศิษย์เก่า จี้สจล. ถอนตัว ที่ปรึกษาโครงการแลนด์มาร์คเจ้าพระยา) อีกทั้งมหาวิทยาลัยประกอบวิชาชีพวิศกรรมควบคุม โดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพควบคุม ตามพระราชบัญญติ (พ.ร.บ.) วิศวกร พ.ศ.2542 นั้นทำได้หรือไม่
สภาวิศวกร ซึ่งมีหน้าที่ออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบข้อมูลว่า ในช่วงที่ผ่านมา มีสมาชิกสภาวิศวกรร้องเรียนการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมของสถาบันการศึกษา เข้ามาตั้งแต่ปี 2555
- ปี 2555 มีผู้ร้องเรียนขอให้ สภาวิศวกรตรวจสอบและดำเนินคดีกับสถาบันการศึกษา สืบเนื่องจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยว่าจ้างสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ศึกษา ออกแบบ แนวทางการป้องกัน น้ำท่วม 6 นิคมฯ
โดยเห็นว่า การกระทำดังกล่าว อาจผิดตามพระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ. 2552 หมวด 6 เรื่องการควบคุมการประกอบวิชาชีพวิศวกรรม มาตรา 45-49 ที่บัญญัติไว้ว่า ผู้ที่จะประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมสาขาใดได้ จะต้องได้รับใบอนุญาตในสาขานั้นจากสภาวิศวกร อันประกอบด้วยใบอนุญาตที่เป็นบุคคลธรรมดา และใบอนุญาตที่เป็นนิติบุคคล
- พฤศจิกายน 2558 มีผู้ร้องเรียน กรณีกรุงเทพมหานครจะดำเนินการจ้างสถาบันการศึกษาแบบ จีทูจี เพื่อจัดทำแผนแม่บทเพื่อพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยขอให้สภาวิศวกรจัดประชุมสัมมนาหรือส่งหนังสือถึงหน่วยงานของรัฐและสถาบันการศึกษา เพื่อทำความเข้าใจและแจ้งให้ปฎิบัติตามพระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ. 2542 พร้อมขอให้ตรวจสอบและดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดตามพระราชบัญญัติ วิศวกร พ.ศ.2542
- ตุลาคม 2558 กรมโยธาธิการและผังเมือง ส่งหนังสือถึงสภาวิศวกร ขอให้พิจารณา กรณีที่บริษัท ไอดับเบิ้ลยูบีสยามเท็ค จำกัด ร้องเรียนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเพื่อขอให้แก้ไขปัญหากรณีศูนย์บริการมหาวิทยาลัย กระทำการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมอันอาจเข้าข่ายเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ. 2542
ขณะที่สำนักกฎหมายและจรรยาบรรณ ได้ส่งเรื่องดังกล่าวให้กับคณะอนุกรรมการพิจารณาออกใบอนุญาตนิติบุคคลพิจารณา เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2558 อนุกรรมการฯ ขอให้สมัยที่ 6 พิจารณา
23 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ประชุมคณะอนุกรรมการนิติบุคคลฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า กรรมการสภาวิศวกร มีมติให้สอบถามไปที่กฤษฎีกา ดังนั้นให้รอผลการหารือกฤษฎีกา
- มกราคม 2559 สมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทยและสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมป์ ร้องเรียน กรณีมหาวิทยาลัยได้จัดตั้งองค์กรในกำกับของมหาวิทยาลัย ออกไปการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมอันอาจเข้าข่ายเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ. 2542
สมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทยและสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมป์ ได้ส่งหนังสือดังกล่าวถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และสภาสถาปนิก ทั้งนี้ กรมโยธาธิการและผังเมือง มีหนังสือที่ มท 0706/1148 ลงวันที่ 27 มกราคม 2559 ให้สภาวิศวกรพิจารณากรณีดังกล่าว (เนื้อหาการร้องเรียนกรณีเดียวกับไอดับเบิ้ลยูฯ)
- มกราคม 2559 สมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย ร้องเรียน กรณีสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร เตรียมว่าจ้างสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ซึ่งไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม จัดทำแผนแม่บทเพื่อพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นงานวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมอันอาจเข้าข่ายเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ. 2542 โดยขอให้สภาวิศวกรกำกับดูแลตักเตือนผู้ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ. 2542
จะเห็นว่า กรณีมีเรื่องร้องเรียนต่อสภาวิศวกรมีมาตั้งแต่ปี 2555 ขณะที่งานก่อสร้างบางเรื่องที่ร้องเรียน เช่น ออกแบบ แนวทางการป้องกัน น้ำท่วม 6 นิคมอุตสาหกรรม สร้างเสร็จสมบูรณ์ไปแล้ว ถึงวันนี้สภาวิศวกร ก็ยังไม่มีการพิจารณา หรือจะดำเนินการตามกฎหมายแต่อย่างใด
หรือล่าสุด เรื่องร้องเรียนการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมของมหาวิทยาลัยที่มีคุณสมบัติ ไม่ได้เป็นนิติบุคคลสมาชิกของสภาวิศวกร มาออกแบบรายละเอียดในงานวิศวกรรมควบคุม ในโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ลุ้นกันว่า สภาวิศวกรจะดำเนินตามกฎหมาย หรือจะส่งให้คณะกรรมการจรรยาบรรณ เพื่อดำเนินการตาม พ.ร.บ.วิศวกร 2542 ต่อไป...
ด้านนายไกร ตั้งสง่า กรรมการสภาวิศวกร ให้สัมภาษณ์สำนักข่าอิศราถึง พ.ร.บ.วิศวกร 2542 กำหนดให้มีใบประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม เหมือนกับเเพทย์ ฉะนั้นเมื่อ สจล.มารับโครงการพัฒนาริมฝั่งเเม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นโครงการที่มีการออกเเบบโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ จึงต้องมีใบอนุญาตนิติบุคคล
ทั้งนี้ กรมบัญชีกลาง กำหนดว่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. หรือศูนย์บริการวิชาการ สจล. หรือศูนย์บริการวิชาการทุกมหาวิทยาลัย ไม่ใช่นิติบุคคล เเต่นิติบุคคล คือ สจล.
ฉะนั้น กรณีดังกล่าวประเด็นจึงอยุู่ที่ สจล.ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม หากไม่มีถือว่าเป็นวิศวกรหรือสถาปนิกเถื่อน อีกทั้ง มหาวิทยาลัยมีหน้าที่หลัก คือ การสอน เเต่กลับมาทำงานเเย่งอาชีพลูกศิษย์เสียเอง ซึ่งไม่ถูกต้อง
กรรมการสภาวิศวกร ยังตั้งข้อสังเกตว่า การที่เข้าไปรับทำงานโครงการขนาดใหญ่เช่นนี้ จำเป็นต้องทุ่มเทเวลาการทำงานให้ประสบความสำเร็จ ภายใต้ข้อจำกัดทางด้านเวลา 7 เดือน ฉะนั้นถือเป็นงานประจำด้วย ถามว่า จะนำเวลาที่ไหนไปทำงาน นอกเสียจากเวลาราชการ เพราะโครงการนี้ไม่ใช่เป็นการสร้างบ้าน 2 ชั้น เเต่เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ต้องใส่ใจมาก
นอกจากนี้ การที่ สจล. ผลักงานให้บริษัทที่ปรึกษา เเสดงว่า กินหัวคิวใช่หรือไม่ เพราะยอมรับไม่ได้ทำเอง จึงส่อในเชิงทุจริต ประกอบกับตามกฎหมายของ ป.ป.ช.ระบุโครงการใหญ่ลักษณะนี้จะต้องเเสดงบัญชีทรัพย์สิน เเต่ไม่มีการดำเนินการ ถามว่า การปฏิบัติเป็นมาตรฐานอย่างไร
"ศ.ดร.สุชัชวีร์ อธิการบดี สจล. ยังสวมหมวกหลายใบ เป็นนายกวิศวกรรมสถานฯ เเละเป็นหนึ่งในคณะกรรมการโครงการพัฒนาริมฝั่งเเม่น้ำเจ้าพระยา เเล้ว สจล. ก็ไปรับงานเสียเอง รวมถึงยังเป็นกรรมการสภาวิศวกร ที่ต้องดูเเลปกป้องวิศวกรรมควบคุม เเต่ไม่ได้ทำ ถือเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน" นายไกร กล่าว เเละว่า ที่ผ่านมา ทุกมหาวิทยาลัยทำเช่นนี้มาตลอด เเย่งอาชีพวิศวกร สถาปนิก เเต่ละปีประมาณ 4 หมื่นล้านบาท เเละสจล.เป็นเจ้าใหญ่ในการรับงานทั้งหมด ซึ่งเรากำลังทำในสิ่งไม่ถูกต้องมานาน
ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง: พระราช บัญญัติวิศวกร พ.ศ. 2542