- Home
- South
- คุยกับบรรณาธิการ
- "ประยุทธ์"สั่งลุยเจรจา - "อกนิษฐ์"หัวหน้า? - "ถวิล"ไปมาเลย์? - แม่ทัพเซย์กู๊ดบาย?
"ประยุทธ์"สั่งลุยเจรจา - "อกนิษฐ์"หัวหน้า? - "ถวิล"ไปมาเลย์? - แม่ทัพเซย์กู๊ดบาย?
ช่วงมีข่าวสารความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับชายแดนใต้ให้ได้ลุ้นกันแทบทุกวัน โดยเฉพาะเรื่องการขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่หลายฝ่ายจับตามองกันอยู่
เมื่อวันศุกร์ที่ 29 ส.ค.57 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวตอนหนึ่งในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ระบุว่า "เรื่องการแก้ไขปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คสช.และรัฐบาลต่อไปให้ความสำคัญ ได้กำหนดเป็นวาระแห่งชาติ เรียนอีกครั้งหนึ่งว่าได้ปรับการพูดคุย โดยเปลี่ยนแปลงให้เป็นรูปแบบมาตรฐานมากขึ้น คราวนี้ให้เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (เลขาฯ สมช.) และคณะไปหารือเตรียมการในการจะเดินหน้าต่อไปให้เร็วที่สุด ผมเป็นห่วงพี่น้องประชาชนคนไทยพุทธและไทยมุสลิม ผมอยู่ในสถานการณ์มาโดยตลอดอย่างต่อเนื่อง มีทั้งบางส่วนพัฒนาการดีขึ้น บางส่วนก็แย่ลงเพราะความไม่เข้าใจ..."
นอกจากนั้นยังตบท้ายถึงการปรับเปลี่ยนตัวบุคคล ท่ามกลางกระแสข่าวการย้ายแม่ทัพภาคที่ 4 ว่า "การแก้ปัญหาปัจจุบันมียุทธศาสตร์ชัดเจน ดำเนินการต่อเนื่อง จะเปลี่ยนใคร การเปลี่ยนผู้น้อย เปลี่ยนผู้พัน ผู้การ เปลี่ยน ผบ.พล หรือแม่ทัพก็ไม่มีผล เพราะการทำงานของกองทัพหรือตำรวจเขาทำงานโดยนโยบายหรือแผนงานโครงการทั้งสิ้น ไม่ใช่เปลี่ยนคน 2 ปีก็เปลี่ยนนโยบายที อย่างนั้นทำให้แก้ปัญหาไม่ได้...ไม่ใช่ เขาทำงานด้วยระบบ อย่างกองทัพบกมีผู้บัญชาการทหารบกมา 36 คนแล้ว ผมเป็นคนที่ 37 ผมก็ทำตามที่ 36 คนทำมาก่อน อันนี้เป็นหลัก ต่อมาผมก็พัฒนาในส่วนของ 37 ก็เป็นอย่างนี้ทุกที่ ระดับแม่ทัพภาค 4 ก็เหมือนกัน...เหมือนกันทุกอย่าง"
"ถวิล"ไปมาเลย์?
ด้านความคืบหน้าการส่งคณะทำงานไปประสานกับทางการมาเลเซียอย่างเป็นทางการนั้น แหล่งข่าวจากหน่วยงานความมั่นคงเปิดเผยว่า ช่วงสัปดาห์แรกของเดือน ก.ย. นายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) มีกำหนดเดินทางไปยังประเทศมาเลเซีย เพื่อหารืออย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการสานต่อกระบวนการพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ซึ่งมีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก
ก่อนหน้านี้มีข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้ส่งคณะทำงานพิเศษไปประสานงานกับทางมาเลเซีย 2 ชุด เพื่อยืนยันว่ารัฐบาลไทยพร้อมสานต่อกระบวนการพูดคุยต่อไป หลังจากริเริ่มไว้ในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปี 2556 และได้พูดคุยกับกลุ่มบีอาร์เอ็น นำโดย นายฮัสซัน ตอยิบ รวม 3 ครั้ง
อย่างไรก็ดี ฝ่ายไทยได้ยื่นข้อเสนอขอเปลี่ยนตัวผู้อำนวยความสะดวก และจัดคณะพูดคุยใหม่ ซึ่งที่ผ่านมามีข่าวว่าทางการมาเลเซียยังคงสงวนท่าที โดยเฉพาะการเปลี่ยนตัว ดาโต๊ะ สรี อาห์มัด ซัมซามิน ฮาซิม อดีตผู้บริหารสำนักข่าวกรองมาเลเซีย ซึ่งเป็นผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยอยู่เดิม เป็นผู้แทนจากฝ่ายทหาร โดยมาเลเซียแจ้งกับไทยว่าต้องรอการพิจารณาจาก นายนาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย
แหล่งข่าวกล่าวว่า นายถวิลจะเดินทางไปหารือกับมาเลเซียในประเด็นนี้เป็นพิเศษ แต่ก็มีรายงานว่าทางการมาเลเซียอาจจะเปลี่ยนผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยเป็นคนอื่น แต่ไม่ใช่ทหาร โดยอาจเป็นบุคลากรจากหน่วยงานเดิม คือ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทรงอิทธิพลด้านความมั่นคงของมาเลเซีย และขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี เช่นเดียวกับสำนักงานตำรวจสันติบาล
ล่าสุดมีข่าวว่า ฝ่ายมาเลเซียขอเลื่อนนัดพบปะหารือกับนายถวิล จากวันที่ 3-4 ก.ย. เป็นช่วงกลางเดือน โดยให้เหตุผลว่ายังไม่พร้อม ทั้งนี้คาดว่าทางการมาเลเซียน่าจะต้องการเวลาในการพิจารณาข้อเสนอของไทย โดยเฉพาะการให้เปลี่ยนตัวผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุย
"อกนิษฐ์"หัวหน้าทีม?
มีข่าวจากในกองทัพว่า มีการวางตัวหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้เอาไว้แล้ว ตามแผนโครงสร้างองค์กรรับผิดชอบการพูดคุยซึ่งมี 3 ระดับ โดยมีการเสนอชื่อ พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ ที่ปรึกษาผู้บัญชาการทหารบก (พล.อ.ประยุทธ์) และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นหัวหน้าคณะ
พล.อ.อกนิษฐ์ ปัจจุบันเป็นนายทหารนอกราชการ เพราะเกษียณอายุแล้ว แต่เป็นเพื่อนนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 12 (ตท.12) รุ่นเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ผ่านมาทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา ผบ.ทบ. และมีบทบาททำงานทางลับเรื่องกระบวนการพูดคุยกับกลุ่มเห็นต่างจากรัฐในซีกของกองทัพ
พล.อ.อกนิษฐ์ เคยเป็นผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน (มาเลเซีย) จึงมีความชำช่องกิจการชายแดนด้านมาเลเซียเป็นพิเศษ อีกทั้งเขายังเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการเจรจากับแกนนำโจรจีนคอมมิวนิสต์ กระทั่งวางอาวุธ
ในช่วงที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยดำเนินกระบวนการพูดคุยสันติภาพแบบเปิดเผย เมื่อปี 2556 โดยให้ พล.ท.ภราดร พัฒนาถาบุตร เลขาธิการ สมช.ในขณะนั้นเป็นหัวหน้าคณะ และมีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก พล.อ.อกนิษฐ์ แสดงบทบาทคัดค้านอย่างรุนแรง ทั้งรูปแบบการพูดคุยและบทบาทของผู้อำนวยความสะดวก รวมทั้งจัดทำสรุปบทเรียน 1 ปีพูดคุยสันติภาพ ในทำนองว่าไทยเสียเปรียบ และคณะพูดคุยสอบตกด้วย (อ่านได้ใน อกนิษฐ์ : ถก BRN แค่ละคร...จบตอนคือ "ปกครองพิเศษ" จับตา "ดินแดนกันชน" และ ดูฟิลิปปินส์แล้วย้อนมองไทย "อกนิษฐ์"สรุปบทเรียน 1 ปีพูดคุยสันติภาพใต้)
หลังจากนี้คงต้องรอดูว่า พล.อ.อกนิษฐ์ ในบทบาทใหม่ จะนำพาสันติสุขคืนสู่ปลายด้ามขวานได้จริงหรือไม่!
แม่ทัพเซย์กู๊ดบาย
ท่ามกลางข่าวความเคลื่อนไหวเรื่องกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข ก็มีข่าวปรับย้ายนายทหารระดับนายพล วาระประจำปี 2557 ออกมา ปรากฏว่าในโผโยกย้ายที่เสนอผ่านสื่อมวลชนแขนงต่างๆ ในส่วนของกองทัพบกนั้น พล.อ.ประยุทธ์ เปลี่ยนตัวแม่ทัพยกแผง คือ เปลี่ยนทุกภาค รวมทั้ง พล.ท.วลิต โรจนภักดี แม่ทัพภาคที่ 4 ด้วย
โดยนายทหารที่มีชื่อตกเป็นข่าวได้รับการแต่งตั้งเป็นแม่ทัพภาคที่ 1-4 ประกอบด้วย พล.ท.กัมปนาท รุดดิษฐ์ (ตท.16) ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบกฝ่ายยุทธการ (ผช.เสธ.ทบ.ยธก.) และผู้อำนวยการศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) เป็นแม่ทัพภาคที่ 1 พล.ท.จารุเกียรติ ชัยวงษ์ (ตท.14) ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก เป็นแม่ทัพภาคที่ 2 พล.ท.สาธิต พิธรัตน์ (ตท.15 ) แม่ทัพน้อยที่ 3 เป็นแม่ทัพภาคที่ 3 พล.ต.ปราการ ชลยุทธ (ตท.15) รองแม่ทัพภาคที่ 4 ขึ้นเป็นแม่ทัพภาคที่ 4
นั่นเท่ากับว่า พล.ต.ปราการ ซึ่งเดิมย้ายมาจากกองทัพภาคที่ 3 (ภาคเหนือ) กำลังจะขึ้นเป็นแม่ทัพภาคที่ 4 แทน พล.ท.วลิต โดย พล.ต.ปราการ มีบุคลิกนุ่มนวล และทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมได้ดี ทำให้ทันทีที่มีข่าวออกไป ก็มีกระแสตอบรับจากภาคประชาสังคมและองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) ในพื้นที่ทันที
สำหรับ พล.ท.วลิต นั้น หากถูกย้ายจริง ก็จะถือว่าได้ดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 4 เพียง 6 เดือนเท่านั้น (นับถึง 30 ก.ย.57) นับเป็นแม่ทัพภาคที่ 4 เพียงไม่กี่คนที่ดำรงตำแหน่งไม่เต็มปี นับจากเกิดเหตุการณ์ปล้นปืนจากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547 เป็นต้นมา
ตั้งแต่เหตุการณ์ในวันนั้น กองทัพได้เปลี่ยนตัวแม่ทัพภาคที่ 4 มาแล้วถึง 9 คน ได้แก่ พล.ท.พงษ์ศักดิ์ เอกบรรณสิงห์ (1 ต.ค.46 - 31 มี.ค.47) พล.ท.พิศาล วัฒนะวงค์คีรี (1 เม.ย.47 - 31 มี.ค.48) พล.ท.ขวัญชาติ กล้าหาญ (1 เม.ย.48 - 10 ธ.ค.48) พล.ท.องค์กร ทองประสม (11ธ.ค.48 - 30 ก.ย.49) พล.ท.วิโรจน์ บัวจรูญ (1 ต.ค.49 - 30 ก.ย.51) พล.ท.พิเชษฐ์ วิสัยจร (1 ต.ค.51 - 30 ก.ย.53) พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ (1 ต.ค.53 - 31 มี.ค.56) พล.ท.สกล ชื่นตระกูล (1 เม.ย.56 - 31 มี.ค.57) และ พล.ท.วลิต โรจนภักดี รับตำแหน่งเมื่อ 1 เม.ย.57
ที่ผ่านมากองทัพบกกำหนดนโยบายในลักษณะว่า แม่ทัพภาคที่ 4 ต้องมีอายุราชการเหลืออย่างน้อย 2 ปี เพื่อจะได้ทำงานในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภารกิจดับไฟใต้ ซึ่งในบางยุคก็ทำตามนโยบายนี้ได้ เช่น พล.ท.วิโรจน์ พล.ท.พิเชษฐ์ และ พล.ท.อุดมชัย (ยศขณะดำรงตำแหน่งแม่ทัพ) แต่เมื่อถึง พล.ท.สกล กลับดำรงตำแหน่งเพียง 1 ปี ก็ต้องย้ายกลับส่วนกลางเพื่อครองอัตราพลเอกก่อนเกษียณ ขณะที่ พล.ท.วลิต ยังเหลืออายุราชการอีกหลายปี แต่กลับมีข่าวถูกย้ายทั้งๆ ที่ทำงานได้ไม่ถึง 6 เดือนด้วยซ้ำ...เป็นเพราะอะไร?
แต่ที่แน่ๆ หากฟัง พล.อ.ประยุทธ์ พูดในรายการคืนความสุขให้คนในชาติฯ ดังที่คัดมาให้อ่านในช่วงต้น จะพบว่าวันนี้เรื่องตัวบุคคลไม่มีความสำคัญอีกแล้ว จะเปลี่ยนตัวใคร เมื่อไหร่ ก็ไม่มีผลต่อการทำงาน แม้แต่แม่ทัพ เพราะทุกอย่างดำเนินไปตามแผนงานและโครงการที่คิดและทำต่อเนื่องมา...
-----------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพจากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ