- Home
- South
- สัมภาษณ์พิเศษ ศูนย์ข่าวภาคใต้
- ดูฟิลิปปินส์แล้วย้อนมองไทย "อกนิษฐ์"สรุปบทเรียน 1 ปีพูดคุยสันติภาพใต้
ดูฟิลิปปินส์แล้วย้อนมองไทย "อกนิษฐ์"สรุปบทเรียน 1 ปีพูดคุยสันติภาพใต้
แม้ความพยายามของไทยเรื่องเจรจาสันติภาพกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ หรือกลุ่มขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนทางจังหวัดชายแดนภาคใต้จะไม่มากและยาวนานเท่าฟิลิปปินส์ในระดับที่เรียกว่า "เทียบกันไม่ได้เลย"
แต่ความสำเร็จของรัฐบาลฟิลิปปินส์ในการลงนามข้อตกลงสันติภาพบังซาโมโร กับกลุ่มเอ็มไอแอลเอฟ (MILF : Moro Islamic Liberation Front) หรือ แนวร่วมปลดปล่อยอิสลามโมโร ซึ่งเป็นกลุ่มแบ่งแยกดินแดนเกาะมินดาเนาทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ และจัดพิธีอย่างยิ่งใหญ่เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 27 มี.ค.2557 ก็ทำให้หลายภาคส่วนในประเทศไทยเพ่งมองอย่างมีความหวังว่าภาพแบบนี้อาจจะปรากฏในบ้านเราบ้าง
ทั้งๆ ที่ปัจจัยและย่างก้าวสำคัญของความสำเร็จนั้น ถือว่าประเทศไทยยังห่างไกลมาก โดยเฉพาะความจริงจังจริงใจของระดับนโยบาย การระดมสรรพกำลังและการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย รวมทั้งการตัดผลประโยชน์ทางการเมืองเฉพาะกลุ่ม เฉพาะตัวออกไปจากกระบวนการ แต่มุ่งไปที่สันติภาพ การเคารพความแตกต่าง และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขโดยแท้จริง
ต้องบอกว่าวันลงนามในข้อตกลงสันติภาพฉบับประวัติศาสตร์ของฟิลิปปินส์ เว้นช่วงห่างจากวาระครบครอบ 1 ปีการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐเพียงไม่ถึง 1 เดือน ทว่าสันติภาพในบริบทของไทยทิ้งห่างจากฟิลิปปินส์แบบไม่เห็นฝุ่น มีเพียงความพยายามของ ดาโต๊ะ สรี อาห์มัด ซัมซามิน ฮาชิม อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองมาเลเซีย ในฐานะผู้อำนวยความสะดวกในกระบวนการพูดคุยสันติภาพเท่านั้นที่เดินสายเปิดแถลงข่าวคล้าย "จัดอีเวนท์" หรือ "โรดโชว์" เพื่อยืนกรานความสำเร็จ
ทว่าในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญซึ่งมีสายสัมพันธ์กับกองทัพอย่าง พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ประสานงานชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน กลับเห็นไปในทิศทางตรงกันข้าม เพราะเขาได้ประเมินจากข้อมูลที่รวบรวมจากทุกฝ่ายพบว่าผลสัมฤทธิ์ตลอด 1 ปีของการพูดคุยสันติภาพออกมาในระดับ "ล้มเหลว" และหากต้องการเดินหน้าต่อไป ก็ต้องปรับโครงสร้างกันขนานใหญ่เลยทีเดียว
โดยเฉพาะบทบาทของมาเลเซีย ซึ่งนายทหารที่ "รู้ลึก-รู้จริง" เกี่ยวกับบริบทของเพื่อนบ้านด้านใต้ของไทยอย่าง พล.อ.อกนิษฐ์ มองว่าไม่มีความจริงใจเอาเสียเลย และสาเหตุที่เจ้าตัวกล้าพูดประเด็น เพราะเคยเป็นตัวจักรสำคัญในการแก้ไขปัญหา "โจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา" เพื่อช่วยเหลือมาเลเซียในอดีต
พล.อ.อกนิษฐ์ อธิบายว่า ได้แบ่งการประเมินออกเป็นฝ่ายๆ ได้แก่ ฝ่ายรัฐบาลไทย ฝ่ายบีอาร์เอ็น และมาเลเซียในฐานะผู้อำนวยความสะดวก
เริ่มจากฝ่ายไทย สิ่งที่ได้รับ คือ
1.การพูดคุยสันติภาพได้แสดงให้ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้และประชาคมโลกเห็นว่าไทยมีเจตนาแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่นี้โดยสันติวิธี
2.เป็นการเปิดช่องทางการพูดคุยอย่างเป็นทางการ เปิดเผย ซึ่งจริงๆ การพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐมีมานานแล้ว แต่ไม่ใช้รูปแบบพูดคุยเปิดเผย
ฝ่ายบีอาร์เอ็น สิ่งที่ได้รับ คือ
1.ได้ยกสถานะจากการเป็นขบวนการแบ่งแยกดินแดนผิดกฎหมาย กระทั่งได้รับแรงสนับสนุนจากนานาชาติมากขึ้น
2.มุสลิมในพื้นที่ให้การสนับสนุน ดำเนินการต่อสู้รูปแบบต่างๆ มากขึ้นเพื่อปลดปล่อยปัตตานี
3.ภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่มีความตื่นตัวเรื่องเขตปกครองตนเอง เขตปกครองพิเศษ และสิทธิในการกำหนดใจตนเอง (right to self determination)
ฝ่ายมาเลเซีย สิ่งที่ได้รับ คือ
1.วันที่ 28 ก.พ.2556 ซึ่งเป็นวันลงนามในข้อตกลงริเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็น เป็นช่วงใกล้เลือกตั้งทั่วไปของมาเลเซีย บทบาทของมาเลเซียในการเป็นตัวกลางสร้างสันติภาพ จึงเกื้อกูลภาพลักษณ์ของรัฐบาลพรรคอัมโนในการเลือกตั้งของมาเลเซีย
2.มาเลเซียได้แสดงความเป็นผู้นำในกลุ่มอาเซียนในการสร้างสันติภาพในภูมิภาคนี้ เพราะมาเลเซียมีความคาดหวังว่าจะเป็นผู้นำอาเซียน
3.เมื่อการพูดคุยจบลง มีเขตปกครองพิเศษ หรือเขตปกครองตนเอง ก็จะเกื้อกูลยุทธศาสตร์ป้องกันประเทศของมาเลเซีย เพราะมี "ดินแดนกันชน" รอบประเทศทุกด้าน
บทเรียนจากการพูดคุย ได้แก่
1.ฝ่ายไทยขาดการปรึกษาหารือกับหน่วยงานด้านความมั่นคงที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการต่างประเทศ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กองทัพ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ (สขช.) เป็นต้น เมื่อไม่มีการหารือ ทำให้ขาดการมีส่วนร่วม กลายเป็นสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ปีก พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร กับแกนนำอีก 3 คนเท่านั้นทำงานกันในวงจำกัด กลายเป็นการทำงานแบบผูกขาด
2.คณะพูดคุยสันติภาพฝ่ายไทยทำงานโดยขาดความรู้ ขาดประสบการณ์เรื่องกระบวนการพูดคุย ไม่รู้ว่าต้องทำอะไร ไม่มีโรดแมพ ไปมือเปล่า โดยเฉพาะวันที่ 28 ก.พ.2556 ไม่ได้เตรียมจะไปลงนามด้วยซ้ำ
3.ก่อนการพูดคุยแต่ละครั้ง คณะทำงานพูดคุยสันติภาพแทบไม่มีการหารือร่วมกันเลย ต่างคนต่างไป และไปเจอกันที่กัวลาลัมเปอร์ ช่วงเช้าก่อนร่วมประชุมพบปะกับผู้เห็นต่างจากรัฐ จะมีประชุมนอกรอบ โดยเลขาธิการ สมช. (ในขณะนั้นคือ พล.ท.ภราดร) จะถามว่าใครมีอะไรบ้าง เมื่อไม่มีก็ไปเข้าห้องประชุมกันเลย เอกสารแทบไม่ได้เตรียม จึงถูกเรียกว่าการประชุมประจำเดือน ไม่ใช่ประชุมเพื่อพูดคุยเจรจา
4.ไม่มีการรับประทานอาหารร่วมกันระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็น รับประทานคนละห้อง ไม่เจอกัน ยกเว้นตอนดื่มชากาแฟ ทำให้ความไว้วางใจเกิดขึ้นได้ยาก
5.คณะพูดคุยไม่ได้รับมอบอำนาจ (mandate) ไปจากรัฐบาล การพูดคุยจึงไม่ประสบความสำเร็จ เพราะไม่มีอำนาจตัดสินใจว่าข้อเรียกร้องขั้นต่ำของอีกฝ่ายที่สามารถยอมรับได้คืออะไร จึงกลายเป็นไปฟังอย่างเดียว
6.ไม่มีการกำหนดข้อเรียกร้องขั้นต่ำที่รัฐบาลไทยยอมรับได้
7.สมช.เป็นหน่วยงานระดับนโยบาย ไม่ใช่หน่วยปฏิบัติ แต่ที่ผ่านมาเลขาธิการ สมช.ทำตัวเป็นผู้ปฏิบัติ งานอื่นจึงแทบไม่ได้ทำ และเมื่อมีปัญหาการเมืองรุนแรงขึ้น ก็หันไปรับมือกับปัญหาการเมือง จนละเลยเรื่องการพูดคุยและปัญหาชายแดนใต้
8.กระบวนการพูดคุยสันติภาพยังขาดช่องทางให้ประชาชนรับรู้เรื่องราว จึงขาดแรงสนับสนุนจากประชาชน
พล.อ.อกนิษฐ์ กล่าวต่อว่า เมื่อการพูดคุยสันติภาพตลอด 1 ปีที่ผ่านมา มีปัญหาและบทเรียนต่างๆ ดังกล่าว จึงต้องพิจารณากันต่อว่าจะปรับปรุงแก้ไขอย่างไร ซึ่งมีข้อเสนอดังนี้
1.การพูดคุยแบบเปิดเผย เป็นทางการ และให้มาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก และอาจถูกยกสถานะเป็น "คนกลาง" ในอนาคต ถือว่าขัดแย้งกับจุดยืนที่ไทยเคยแสดงมาตลอดว่าปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาภายใน เพราะการเปิดเวทีพูดคุยแบบเปิดเผย เป็นทางการ ถือเป็นการยกระดับปัญหาสู่สากล จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องชี้แจงให้นานาชาติเข้าใจ โดยเฉพาะประชาคมมุสลิม ให้เข้าใจว่าไทยยังมองว่าเป็นปัญหาภายใน และมุ่งแก้ไขโดยสันติวิธี
2.จัดตั้งองค์กรใหม่รับผิดชอบเรื่องการพูดคุยสันติภาพเป็นการเฉพาะ อาจเป็นหน่วยงานขึ้นตรงต่อสำนักนายกรัฐมนตรี (คล้ายฟิลิปปินส์ที่มีการตั้งเป็นหน่วยงานขึ้นตรงต่อประธานาธิบดี) ขณะที่รัฐสภาก็อาจจัดตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาติดตามตรวจสอบความคืบหน้ากระบวนการพูดคุย
3.หากไม่จัดตั้งองค์กรใหม่ตามข้อ 2 ก็ควรมอบอำนาจให้ กอ.รมน.ดำเนินการ เพราะเป็นหน่วยงานด้านความมั่นคงอยู่แล้ว และควรมีสำนักคิด ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ตั้งเป็น Think Tank เพื่อให้คำปรึกษา
พล.อ.อกนิษฐ์ กล่าวด้วยว่า บทบาทของ ดาโต๊ะซัมซามิน เมื่อวันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา (วาระ 1 ปีพูดคุยสันติภาพ) สะท้อนชัดว่ามาเลเซียไม่ใช่แค่ผู้อำนวยความสะดวกให้กระบวนการพูดคุยเดินหน้าได้ และไม่ใช่คนกลาง แต่เป็นผู้วางแผนและจัดการพูดคุยทั้งหมด เป็น "โปรโมเตอร์" จัดคนขึ้นชก โดยที่ฝ่ายไทยไม่รู้ล่วงหน้าว่าต้องชกกับใคร มาเลเซียจึงไม่ใช่ facilitator (ผู้อำนวยความสะดวก) หรือ mediator (คนกลาง) แต่เป็นโปรโมเตอร์
"สิ่งหนึ่งที่เห็นตลอด 1 ปีที่ผ่านมา คือ ขบวนการแบ่งแยกดินแดนมีความแตกแยกกันภายใน มีทั้งกลุ่มที่เห็นด้วยกับการพูดคุย หรือที่เรียกว่า เคแอล โปรเซส มีกลุ่มที่เห็นด้วยแต่ไม่ต้องการเข้าสู่เวที และไม่ต้องการให้มาเลเซียเป็นคนกลาง ทั้งยังมีกลุ่มที่ยืนหยัดต่อสู้ ใช้ความรุนแรงต่อเนื่องโดยไม่ยอมพูดคุย ส่วนปัญหาของไทยคือจะช่วงชิงความได้เปรียบจากความแตกแยกนี้อย่างไร" เขาตั้งคำถามทิ้งท้าย