- Home
- South
- คุยกับบรรณาธิการ
- "มหาธีร์" คืออดีตโต้โผ "เจรจาลับดับไฟใต้"
"มหาธีร์" คืออดีตโต้โผ "เจรจาลับดับไฟใต้"
"มั่นใจไม่ว่าจะเป็นพรรคใดเข้ามาบริหารประเทศ ก็จะไม่กระทบต่อการพูดคุยสันติสุขฯ ไม่กระทบโรดแมพ เพราะถือเป็นนโยบายระหว่างประเทศซึ่งทุกพรรครัฐบาลที่เข้ามาดำรงตำแหน่งต้องให้การสนับสนุนตามหลักสากลในแนวทางสันติวิธี เพราะปัจจุบันทั่วโลกได้เข้าสู่โหมดสันติภาพ"
เป็นคำยืนยันจาก พล.อ.อักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ออกมาแสดงความเชื่อมั่นว่า ผลการเลือกตั้งของมาเลเซียที่ "พลิกขั้ว" ได้ฝ่ายค้านมาเป็นรัฐบาล จะไม่ส่งผลใดๆ ต่อกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขระหว่างรัฐบาลไทยกับ "ผู้เห็นต่างจากรัฐ" ที่มีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกอยู่ ซึ่งท่าทีของ พล.อ.อักษรา สอดรับกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ที่มองเรื่องนี้ไม่ต่างกัน
แต่จากการประเมินของหลายๆ ฝ่าย กลับเชื่อว่าผลการเลือกตั้งและการมีรัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของ มหาธีร์ โมฮาหมัด จะกระทบกับโต๊ะพูดคุยอย่างแน่นอน อย่างน้อยๆ ก็ต้องเปลี่ยนตัว "ผู้อำนวยความสะดวก" จาก ดาโต๊ะ สรี อะหมัด ซัมซามิน ฮาซิม เป็นคนอื่น
เพราะเป็นที่รู้กันว่าระบบราชการของมาเลเซีย ฝ่ายการเมืองจะควบคุมงานของตำรวจสันติบาล ข่าวกรอง และมหาดไทยทั้งหมด โดยตั้งคนของฝ่ายการเมืองมาดำรงตำแหน่ง ขณะที่ "ผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุย" คือ ดาโต๊ะ ซัมซามิน เป็นคนของอดีตนายกฯนาจิบ ราซัค ก็น่าจะไปพร้อมนาจิบ
ฉะนั้นจึงเป็นไปได้ว่า "กระบวนการพูดคุย" หรือ "โต๊ะพุดคุย" อาจจะยังคงอยู่ แต่ "ผู้อำนวยความสะดวก" เปลี่ยนแน่ รวมไปถึง "รูปแบบ" และกลุ่มผู้เห็นต่างที่เข้าร่วมโต๊ะพูดคุยด้วย (ปัจจุบันคือ กลุ่มมารา ปาตานี ที่อ้างว่าเป็นการรวมตัวกันของขบวนการต่อสู้กับรัฐไทย 6 กลุ่ม)
สาเหตุที่ผลสะเทือนอาจหนักถึงเพียงนี้ ก็เพราะหลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่า จริงๆ แล้ว มหาธีร์ โมฮาหมัด คืออดีต "โต้โผใหญ่" ในการจัด "เจรจาลับ" เพื่อสันติภาพชายแดนใต้ ตั้งแต่ช่วงต้นๆ ของไฟใต้รอบนี้ คือราวๆ ปี 48-49 เลยทีเดียว
ผลของการ "เจรจาลับ" ไม่ใช่แค่พบปะพุดคุยกับบรรดาขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนอย่างน้อย 4-5 กลุ่มเท่านั้น แต่ยังมีการลงนามในเอกสารที่เรียกว่า Peace Proposal ด้วย ที่สำคัญยังมีตัวแทนรัฐบาลไทยที่ชื่อ พล.อ.ไวพจน์ ศรีนวล สมัยที่ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์รักษาความปลอดภัย (ศรภ.) ไปร่วมโต๊ะเจรจา
ขณะนั้น มหาธีร์ เป็นอดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เขาครองอำนาจมาอย่างยาวนานกว่า 22 ปี กระทั่งลงจากตำแหน่งเมื่อปี 46 และมีบทบาทเป็น "โต้โผ" ในกระบวนการเจรจาลับดับไฟใต้ช่วงปี 48-49
ผมรับรู้รับทราบเรื่องนี้โดยบังเอิญ เพราะมีโอกาสไปรายงานข่าวการพบปะกันระหว่าง มหาธีร์ กับแกนนำขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน ที่ "กัมปง ตก เซนิค" รีสอร์ทหรูบนเกาะลังกาวี บ้านเกิดของมหาธีร์ที่มาเลเซีย
ครั้งนั้นผมไม่ได้ไปคนเดียว แต่เดินทางไปพร้อมกับเพื่อนนักข่าวอีก 2-3 คนในนาม "ศูนย์ข่าวอิศรา" ซึ่งปัจจุบันเพื่อนกลุ่มนี้บางคนก้าวหน้าไปเป็นนักวิชาการ บางคนไปเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย แต่ยังมีบทบาทในการศึกษาวิจัยและแสดงความคิดความเห็นเกี่ยวกับปัญหาชายแดนใต้อยู่เป็นระยะ
"กำปง ตก เซนิค" ถูกระบุว่าเป็นสถานที่พบปะหารือหลายครั้งระหว่างแกนนำขบวนการแบ่งแยกดินแดนภาคใต้ของไทยหลายกลุ่ม กับเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากหน่วยงานด้านความมั่นคงของไทย โดยมี มหาธีร์ เป็นผู้ประสานงาน ในฐานะประธานมูลนิธิขององค์กรไม่แสวงหากำไรที่ชื่อ Perdana Global Peace Organization หรือ PGPO
การพบปะหารือเริ่มขึ้นครั้งแรกในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 48 โดยมี นายอานันท์ ปันยารชุน สมัยที่ยังนั่งเป็นประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) เป็นผู้จุดประกาย และเชื้อเชิญ มหาธีร์ มาเป็น "คนกลาง" ด้วยเล็งเห็นถึงศักยภาพของอดีตผู้นำมาเลเซียผู้นี้ ซึ่งครองอำนาจรัฐยาวนานถึง 22 ปี
การพูดคุย เป็นรูปแบบที่เรียกว่า Langkawi Peace Talk มีการพบปะกันอย่างต่อเนื่องหลายครั้ง ตัวแทนฝ่ายความมั่นคงไทยที่ไปร่วมวงพูดคุยก็คือ พล.ท.ไวพจน์ ศรีนวล
การลงนามในเอกสารที่เรียกว่า Peace Proposal กระทำกันในวันแห่งความรัก 14 ก.พ.49 ผู้ร่วมลงนามคือบรรดาแกนนำขบวนการแบ่งแยกดินแดนกลุ่มต่างๆ ได้แก่ ดร.วันกาเดร์ เจ๊ะมัน ประธานกลุ่มเบอร์ซาตู อุสตาซมูฮัมหมัด บิน อับดุลเราะห์มาน ประธานกลุ่มจีเอ็มพี (มูจาฮีดีนปัตตานี) นายรอซี บิน ฮัดซัน รองประธานกลุ่มพูโล และ อุสตาซอับดุลเลาะห์ บิน อิสมาแอล ประธานกลุ่มบีอาร์เอ็น คองเกรส
โดยมี ดาโต๊ะ ชาซ์ริล เอสเคย์ บิน อับดุลละห์ กงสุลกิตติมศักดิ์ไทย ประจำเกาะลังกาวี คนสนิทของมหาธีร์ ร่วมลงนามในฐานะ "ผู้ไกล่เกลี่ย" หรือ Mediator
Langkawi Peace Talk ยังคงเกิดขึ้นอีกหลายครั้ง ทั้งที่ลังกาวี และปุตราจายา ศูนย์กลางราชการของมาเลเซีย กระทั่งนำมาสู่การจัดทำ Peace Plan หรือ "แผนสันติภาพและพัฒนาร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย" ในเดือน ก.ค.49 และแผนดังกล่าวนี้ถูกส่งถึงมือ พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ขณะนั้น ในเดือน ส.ค. ก่อนการรัฐประหารประมาณ 1 เดือน โดยมีการนัดพบกันที่โรงแรมหรูแห่งหนึ่งกลางกรุงเทพฯ มีผู้บริหารระดับสูงของมูลนิธิ PGPO ร่วมเป็นสักขีพยาน
แต่แผนสันติภาพฯ ก็ไม่ได้ถูกใช้ เพราะหลังจากนั้นไม่นานก็เกิดการรัฐประหารขึ้นเมื่อวันที่ 19 ก.ย.49 โค่นล้มรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ทุกสิ่งที่ทำมาจึงยุติลง แม้จะมีความพยาามของ ดาโต๊ะ ชาซ์ริล ที่ได้จัดทำสรุปรายงานรวม 18 บท ตั้งแต่เริ่มกระบวนการเจรจาสันติภาพ การวิเคราะห์ปัญหา จำแนกกลุ่มขบวนการ รวมทั้งข้อเสนอแนะเพื่อแก้ปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว ส่งให้รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งเป็นรัฐบาลภายหลังการรัฐประหาร 19 ก.ย.49 ก็ตาม แต่ก็ไม่มีการขยับขับเคลื่อนใดๆ ต่อ
ข้อสันนิษฐานหนึ่งที่วิเคราะห์กันว่าน่าจะทำให้ "แผนสันติภาพฯ" ที่มี มหาธีร์ เป็นโต้โผใหญ่ถูกพับไป ก็เพราะเชื่อว่าบรรดาแกนนำขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่ไปร่วมลงนามใน Peace Proposal ล้วนไม่ใช่ "ตัวจริง" ที่มีผลต่อสถานการณ์ไฟใต้รอบปัจจุบัน
แต่ทั้งหมดนั้นย่อมแสดงให้เห็นว่า มหาธีร์ เป็นผู้นำมาเลเซียที่สนใจปัญหาชายแดนใต้ของไทยเป็นอย่างยิ่ง รู้จักแกนนำกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่ฝังตัวอยู่ในมาเลเซียเป็นอย่างดี ทั้งยังมีความสัมพันธ์กับบุคคลระดับสูงของไทยมากมาย เพราะเป็นผู้นำประเทศมายาวนานถึง 22 ปี และที่สำคัญ "ดีลเจรจาลับ" ครั้งก่อน เป็น "ดีล" ที่สูงกว่าระดับรัฐบาล
นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ต้องจับตาว่า แม้กระบวนการสันติภาพชายแดนใต้ที่รัฐบาลมาเลเซียมีบทบาทมาตลอดนั้น จะยังคงเดินหน้าต่อไปหลังการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล แต่ไม่น่าจะใช่ในบริบทของ "โต๊ะพูดคุยสันติสุข" โต๊ะเดิมที่ผลักดันโดยคู่ต่อสู้ทางการเมืองอย่างนายนาจิบ ราซัค เป็นแน่!
---------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพ มหาธีร์ โมฮาหมัด จากเฟซบุ๊คของ ดร.มหาธีร์
อ่านประกอบ : จับทิศรัฐบาลใหม่มาเลเซีย "กวาดล้างอำนาจเก่า - กระทบไฟใต้"