- Home
- South
- เวทีวิชาการ
- จับทิศรัฐบาลใหม่มาเลเซีย "กวาดล้างอำนาจเก่า - กระทบไฟใต้"
จับทิศรัฐบาลใหม่มาเลเซีย "กวาดล้างอำนาจเก่า - กระทบไฟใต้"
ในฐานะที่เป็นเพื่อนบ้านใกล้เคียงกับไทย และยังเป็นสมาชิกประชาคมอาเซียนด้วยกัน การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลแบบ "พลิกขั้ว" ของมาเลเซีย จากการพ่ายแพ้ของ "พรรคพันธมิตรบีเอ็น" ที่ครองอำนาจการเมืองมายาวนานถึง 60 ปี ย่อมกระทบกับไทยอย่างแน่นอน
ดร.นิชานท์ สิงหพุทธางกูร อาจารย์จากสำนักวิชานวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ผู้เชี่ยวชาญด้านการปรองดองสมานฉันท์ และการเมืองในกลุ่มประเทศอาเซียน มองว่า การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลแบบพลิกขั้วในมาเลเซีย ระยะสั้นจะยังไม่ส่งผลกระทบกับไทยมากนัก แต่ในระยะยาวน่าจะมีการปรับเปลี่ยนนโยบายด้านการต่างประเทศที่ส่งผลกระทบกับไทยค่อนข้างแน่
แต่สิ่งที่ ดร.นิชานท์ มองว่าเป็นบทเรียนสำหรับการเมืองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งไทยก็คือ มาเลเซียมีความก้าวหน้าทางประชาธิปไตยค่อนข้างมาก เพราะปล่อยให้กระบวนการเลือกตั้งดำเนินไปตามครรลอง โดยไม่มีการแทรกแทรงใดๆ ถือว่าทุกฝ่ายเล่นตามกติกาพอสมควร การประท้วงและความรุนแรงทางการเมืองที่มีขึ้นประปรายในช่วงที่การชุมนุมขับไล่นายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค เห็นได้ว่ามาเลเซียไม่ได้ใช้การรัฐประหาร หรือใช้ทหารเข้ามาควบคุมสถานการณ์เหมือนไทย สะท้อนว่าปัญหาทางการเมืองแก้ไขได้ด้วยการเมือง
ด้านเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากฝ่ายความมั่นคง มองว่า การเปลี่ยนขั้่วการเมืองของมาเลเซีย จะกระทบกับการเมืองภายในประเทศค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการกวาดล้างกลุ่มอำนาจเก่า หลังจากนี้คาดว่ารัฐบาลใหม่จะปรับเปลี่ยนนโยบายด้านเศรษฐกิจพอสมควร การกวาดล้างคอร์รัปชั่นจะเข้มข้นมาก เพราะในยุคนายนาจิบ มีข้อกล่าวหาเรื่องการทุจริตมาก
ส่วนนโยบายต่อต้านการก่อการร้าย ไม่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลง นโยบายด้านสังคมจะมีการเปิดรับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นมากขึ้น ขณะที่นโยบาย "ภูมิบุตร" (ให้สิทธิพิเศษกับคนเชื้อสายมาเลย์) จะลดความสำคัญลง แต่ไม่ยกเลิก ประเด็นที่น่าจับตาคือกระแสต่อต้านจีนที่กำลังรุกด้านเศรษฐกิจในมาเลเซีย ต้องรอดูว่ารัฐบาลใหม่ที่เป็นฝ่ายค้านมาก่อน จะกำหนดท่าทีอย่างไร
สำหรับผลกระทบที่เกิดกับไทย น่าจะเป็นเรื่องนโยบายการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะ นายมหาธีร์ โมฮัมหมัด ผู้นำคนใหม่ของมาเลเซียคนใหม่ สนใจปัญหาภาคใต้อย่างมาก สมัยที่พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรอบที่แล้ว ก็เคยเป็น "โต้โผ" จัดกระบวนการเจรจาสันติภาพ เป็นการเจรจาแบบลับ ที่เกาะลังกาวี บ้านเกิดของนายมหาธีร์ มีการลงนามในข้อตกลงสันติภาพระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทย กับขบวนการแบ่งแยกดินแดนอย่างน้อย 4 กลุ่ม เมื่อวันที่ 14 ก.พ.2549 ซึ่งตรงกับวันวาเลนไทน์ และมีการยกร่าง "แผนสันติภาพและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้" ส่งให้รัฐบาลอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร ในช่วงเดือน ส.ค.2549 แต่รัฐบาลทักษิณถูกรัฐประหารเสียก่อน ทำให้แผนสันติภาพต้องหยุดชะงักไป
เฉพาะในมุมที่เกี่ยวกับปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขกับ "มารา ปาตานี" ที่มาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกอยู่ในปัจจุบันนั้น เจ้าหน้าที่ระดับสูงจากฝ่ายความมั่นคง มองว่า จะเกิดผลกระทบแน่นอน โดยจะเริ่มในระดับตัวบุคคลก่อน เพราะระบบราชการของมาเลเซีย ฝ่ายการเมืองจะควบคุมงานของตำรวจสันติบาล ข่าวกรอง และมหาดไทยทั้งหมด โดยตั้งคนของฝ่ายการเมืองมาดำรงตำแหน่ง ขณะที่ "ผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุย" คนปัจจุบันที่ทำหน้าที่อยู่ คือ ดาโต๊ะ สรี อาหมัด ซัมซามิน ฮาซิม เป็นคนของนายกฯนาจิบ ราซัค ที่พ่ายแพ้การเลือกตั้งอย่างหมดรูป
เพราะฉะนั้นเมื่อรัฐบาลใหม่มา น่าจะเปลี่ยนตัว "ผู้อำนวยความสะดวก" แน่นอน และจะกระทบกับกระบวนการพูดคุยในภาพรวมด้วย เพราะ นายมหาธีร์ ให้ความสนใจกับปัญหาชายแดนใต้ของไทยอย่างมาก
สำหรับการป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขซึ่งกำลังไปได้ดีนั้น มีข้อเสนอจาก พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ว่า สิ่งที่รัฐบาลไทยควรทำก็คือประกาศจุดยืนว่าสนับสนุนใครก็ตามที่มาเป็นรัฐบาลชุดใหม่ของมาเลเซีย และขอให้มีกระบวนการพูดคุยสันติสุขต่อไป และต้องเร่งเปลี่ยนแปลงนโยบายการเมืองระหว่างประเทศ เพื่อเชื่อมสัมพันธ์กับนายมหาธีร์ให้ได้
"เรามีจุดยืนไปเลยดีกว่าไหมว่า ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาลก็แล้วแต่ เราสนับสนุนทั้งหมด แล้วอยากให้มีกระบวนการเจรจาต่อไป ถ้าเผื่ออย่างนี้เราได้ทั้งสองฝ่าย เช่นวันนี้เราก็ยังไม่มีสัญญาณว่าเราจะสนับสนุนรัฐบาลใหม่ ทั้งๆ ที่วันนี้พลิกแผ่นดินเลย นาจิบที่เคยช่วยเราเรื่องพูดคุยเจรจาต้องออกไป เพราะแพ้เลือกตั้ง มหาธีร์เข้ามาแทน พรรคปาสก็เข้ามา (พรรคปาสมีฐานเสียงในรัฐกลันตัน กับตรังกานู ตอนเหนือของประเทศติดกับไทย) ซึ่งพรรคปาสเป็นพรรคที่มีฐานเสียงคนไทยจำนวนมากที่อาศัยอยู่ในรัฐกลันตันและตรังกานู ตอนนี้พรรคปาสไปสนับสนุนมหาธีร์แล้ว"
"ฉะนั้นไทยต้องเปลี่ยนแปลงนโยบายการเมืองระหว่างประเทศ เชื่อมต่อกับมหาธีร์ให้ได้ เพื่อให้สนับสนุนการเจรจาของเราต่อไป ตรงนี้สำคัญมาก เราจะมองว่านาจิบไปแล้ว เราเลิกการเจรจาไปเลยคงไม่ได้ ต้องทำให้ต่อเนื่องต่อไป" พล.อ.เอกชัย ระบุ
ดูเหมือนการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของมาเลเซีย จะส่งผลให้ไทยต้องปรับนโยบายกันขนานใหญ่เลยทีเดียว!
-----------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพประกอบภาพแรกจากเว็บไซต์ MALAYSIAKINI https://www.malaysiakini.com/news/424180?utm_source=dlvr.it&utm_medium=facebook
ภาพที่ 2 : ดร.นิชานท์ สิงหพุทธางกูร
ภาพที่ 3 : พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ