- Home
- South
- คุยกับบรรณาธิการ
- สงบชั่วคราว?
สงบชั่วคราว?
28 ก.พ.60 จะมีการพบปะกันระหว่างคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ตัวแทนรัฐบาลไทย กับตัวแทนผู้เห็นต่างจากรัฐนาม "มารา ปาตานี"
หัวข้อการพูดคุยที่ว่ากันว่าบรรลุข้อตกลงเบื้องต้นแล้ว คือการร่วมกันกำหนด "พื้นที่ปลอดภัย" ซึ่งไม่ใช่แค่ระดับหมู่บ้านหรือตำบลตามที่คาดหมายกันทีแรก แต่เป็นระดับ "อำเภอ" กันเลยทีเดียว
โดยอำเภอนำร่อง ว่ากันว่าจะเป็นอำเภอหนึ่งใน จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นอำเภอสัญลักษณ์และมีเหตุรุนแรงค่อนข้างถี่
นี่ย่อมถือว่าเป็นความก้าวหน้าก้าวสำคัญของกระบวนการพูดคุย ยกเว้นว่าเป็นการให้ข่าวแบบ "ออฟไซด์" ถ้าอย่างนั้นก็ตัวใครตัวมัน
จริงๆ เรื่อง "พื้นที่ปลอดภัย" หรือ safety zone ไม่ใช่เพิ่งจะมาทำเป็นครั้งแรกในการพูดคุยรอบนี้ แต่เคยทำมาแล้วในการพูดคุยยุครัฐบาลประชาธิปัตย์ที่มี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ครั้งนั้นคณะพูดคุยที่มี มาร์ค ตามไท และ ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ เป็นหัวหอก เดินหน้าสร้างความเชื่อมั่นและกำหนดพื้นที่ปลอดภัยร่วมกัน 3 อำเภอ
ความแตกต่างระหว่างการพูดคุยหนนั้นกับหนนี้ก็คือ ในรัฐบาลอภิสิทธิ์ดำเนินกระบวนการพูดคุยแบบลับ ทำให้มีความก้าวหน้าค่อนข้างเร็ว และใช้อินโดนีเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก ไม่ใช่มาเลเซีย
ข้อตกลงเรื่องพื้นที่ปลอดภัย ซึ่งครั้งนั้นใช้คำว่า "พื้นที่หยุดยิง" มาทำกันช่วงปลายๆ รัฐบาลแล้ว เมื่อรัฐบาลเปลี่ยนขั้วจากประชาธิปัตย์เป็นเพื่อไทย จึงไม่ได้สานต่อ
ความพยายามกำหนดพื้นที่หรือกรอบเวลาการหยุดยิงมาปรากฏอีกครั้งในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ครั้งนั้นการพูดคุยมี "3 ทหารเสือ" พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เป็นหัวหอก ส่วนฝ่ายผู้เห็นต่างก็มี ฮัสซัน ตอยิบ จากบีอาร์เอ็นเป็นแกนนำ พยายามกำหนดห้วงเวลาหยุดยิงคือช่วงรอมฎอนปี 2556 แล้วก็ประสบความสำเร็จพอสมควร อย่างน้อยๆ ก็ช่วงต้นของเดือนแห่งการถือศีลอด
แต่การพูดคุยไม่ก้าวหน้าเพราะเกิดม็อบปิดเมืองกระทั่งเปลี่ยนแปลงรัฐบาลจากการรัฐประหาร
จะเห็นได้ว่าการกำหนด "พื้นที่ปลอดภัย" ไม่ได้เพิ่งเกิดครั้งนี้เป็นครั้งแรก และแม้กำหนด "พื้นที่ปลอดภัย" แล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าชายแดนใต้จะสงบสันติสุขทันที เพราะเสถียรภาพและความต่อเนื่องทางการเมืองยังคงเป็นตัวแปรสำคัญ
"เสถียรภาพทางการเมือง" เป็นจุดอ่อนของประเทศไทยมาตั้งแต่หมดยุค พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เพราะหลังจากนั้นรัฐบาลที่เปลี่ยนหน้ากันเข้ามาก็อยู่ได้ไม่นาน แม้จะมีความต่อเนื่องของรัฐบาลเลือกตั้งอย่างรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่สุดท้ายก็กลายเป็นเงื่อนปมขัดแย้งที่ฝังรากลึก
ส่วนรัฐบาล คสช.แม้ตามโรดแมพจะอยู่ได้อีกราวๆ 1 ปี แต่เมื่อรัฐบาลเลือกตั้งเข้ามา จะโละคณะพูดคุยชุดนี้ซึ่งเป็นทหารเกือบทั้งหมดหรือไม่ ยังยากจะคาดเดา
ไม่ว่าอนาคตของการพูดคุยจะเป็นอย่างไร บรรยากาศที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือ ฝ่ายความมั่นคงพยายามโหมกระแสว่าไฟใต้ใกล้จะมอดแล้ว ซึ่งหากพิจารณาจากตัวชี้วัดเฉพาะหน้า เช่น สถิติเหตุรุนแรงที่ลดลง หรือศักยภาพการก่อเหตุที่จำกัดลงอย่างเห็นได้ชัด ก็ทำให้คำโฆษณานี้น่าเชื่ออยู่พอสมควรว่าสถานการณ์โดยรวมกำลังดีขึ้น
แต่เมื่อลองอ่านบทสัมภาษณ์ของแม่ทัพภาคที่ 4 พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช ที่ปักใจว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นเพียงปฏิบัติการของพวก "รับจ้าง" หรือการก่อเหตุเพื่อแลกยาเสพติดกับของมึนเมา ฯลฯ ก็น่าตกใจเหมือนกันว่าสมรภูมิไฟใต้ผ่านมา 13 ปี ยังมีผู้นำทางทหารสรุปแบบนี้อยู่อีกหรือ
คำถามจึงย้อนกลับไปที่ "รากเหง้า" หรือ "ต้นตอ" ไฟใต้ ว่านับถึงปัจจุบันได้มีการปลดชนวนไปบ้างหรือยัง โดยเฉพาะเรื่องประวัติศาสตร์บาดแผล ความเหลื่อมล้ำ และความไม่เป็นธรรม
คำตอบก็คือ "ยัง"
ฉะนั้นสิ่งที่น่าเชื่อที่สุด ณ ขณะนี้ ก็คือความสงบที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นเพียง "ชั่วคราว" เช่นเดียวกับ "พื้นที่ปลอดภัย" ที่แม้จะประกาศได้ แต่ก็ไม่ได้การันตีสันติสุข!
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
ไม่มีอาชีพ-รับจ้างก่อเหตุ...นิยามไฟใต้ของแม่ทัพภาค 4 - ยันไม่จับมือเอ็นจีโอ
"อังคณา"ติงแม่ทัพ 4 รากเหง้าไฟใต้ไม่ใช่รับจ้างก่อเหตุ แนะเข้าใจงานนักสิทธิฯ