- Home
- South
- สัมภาษณ์พิเศษ ศูนย์ข่าวภาคใต้
- "อังคณา"ติงแม่ทัพ 4 รากเหง้าไฟใต้ไม่ใช่รับจ้างก่อเหตุ แนะเข้าใจงานนักสิทธิฯ
"อังคณา"ติงแม่ทัพ 4 รากเหง้าไฟใต้ไม่ใช่รับจ้างก่อเหตุ แนะเข้าใจงานนักสิทธิฯ
คำสัมภาษณ์ของ พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 ทั้งในประเด็นที่เกี่ยวกับต้นตอของปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงมุมมองที่มีต่อภาคประชาสังคมและองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) ถูกโต้แย้งจากกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่ทำงานในพื้นที่มายาวนานเช่นกัน
ประเด็นที่ พล.ท.ปิยวัฒน์ ระบุว่า รากเหง้าของปัญหาชายแดนใต้ไม่ใช่เรื่องอัตลักษณ์หรือประเด็นอื่นใด แต่ความยากจน ยาเสพติด และภัยแทรกซ้อน โดยกลุ่มผู้ก่อเหตุทำไปเพื่อรับจ้าง หวังค่าจ้างเล็กๆ น้อยๆ นั้น
ประเด็น อังคณา บอกว่า ที่ผ่านมามีรายงานหลายฉบับ รวมถึงรายงานการศึกษาปัญหาของคณะกรรมาธิการวิสามัญของวุฒิสภาชุดก่อน ชี้ชัดว่ารากเหง้าของปัญหาชายแดนใต้คือความรู้สึกที่ไม่เป็นธรรม การถูกเลือกปฏิบัติของประชาชน ที่สำคัญคือไม่เคยมีเจ้าหน้าที่ต้องรับโทษกรณีทำให้เกิดการละเมิดสิทธิต่อประชาชนเลย
ส่วนเรื่อง 3 นักสิทธิมนุษยชนที่ถูก กอ.รมน.ฟ้องดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาท และกระทำผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากการเปิดเผยรายงานการซ้อมทรมานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะที่แม่ทัพภาคที่ 4 ก็ยืนยันไม่ร่วมทำงานกับเอ็นจีโอนั้น
ประเด็นนี้ อังคณา บอกว่า ต้องแยกแยะระหว่างการทำหน้าที่ของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน กับความถูกต้องของตัวรายงานฯ กล่าวคือรัฐต้องยอมรับการทำหน้าที่ของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และเปิดโอกาสให้มีการนำเสนองานวิจัย หรือรายงานทางวิชาการ โดยหากเอกสารหรือข้อมูลทางวิชาการไม่ถูกต้อง รัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีหน้าที่ต้องชี้แจงข้อเท็จจริง
ขณะที่นักสิทธิมนุษยชนเองก็ต้องระมัดระวังการนำเสนอข้อมูลต่างๆ ต้องมีข้อเท็จจริงที่อ้างอิงได้ จึงจะได้รับการยอมรับจากสาธารณะ
"หลักการคือ รัฐไม่ควรใช้การฟ้องร้องดำเนินคดีเพื่อยุติการทำหน้าที่ปกป้องสิทธิมนุษยชน แต่ควรหาทางทำงานร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ เพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชน ขณะนี้ในต่างประเทศมี anti slapp law เพื่อเปิดโอกาสให้คนกล้าตรวจสอบรัฐ หรือเรื่องที่กระทบต่อสาธารณะ สามารถเปิดเผยข้อมูลได้ โดยรัฐหรือผู้เกี่ยวข้องไม่สามารถอ้างการฟ้องร้องเพื่อให้หยุดพูดหรือหยุดเคลื่อนไหวได้ แต่ประเทศไทยยังไม่เคยมีการพูดถึงกฎหมายลักษณะนี้" กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าว
สำหรับคำว่า SLAPP ย่อมาจาก Strategic Lawsuit Against Public Participation หมายถึงการใช้เทคนิคทางกฎหมายเพื่อคุกคามหรือปิดปากการมีส่วนร่วมสาธารณะ เช่น รัฐ หรือกลุ่มทุนขนาดใหญ่ มักยื่นฟ้องภาคประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหว เพราะตนเองมีทุนเยอะ หรือไม่ก็ใช้งบประมาณของรัฐ จึงทำให้สามารถฟ้องร้องได้ง่ายๆ ฟ้องซ้ำหรือแตกคดีเท่าใดก็ได้ ทำให้หลายประเทศมีกฎหมายที่เรียกว่า anti slapp law เพื่อป้องกันการกระทำดังกล่าว โดยให้ศาลเป็นผู้พิจารณาว่าการฟ้องร้องในแต่ละเรื่อง เป็นการกลั่นแกล้งเพื่อปิดปากอีกฝ่ายหรือไม่
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : อังคณา นีละไพจิตร
ขอบคุณ : ภาพจากอินเทอร์เน็ต
อ่านประกอบ : ไม่มีอาชีพ-รับจ้างก่อเหตุ...นิยามไฟใต้ของแม่ทัพภาค 4 - ยันไม่จับมือเอ็นจีโอ