- Home
- South
- สัมภาษณ์พิเศษ ศูนย์ข่าวภาคใต้
- ผู้บริหาร รร.เอกชนงงข้อหาโกงเงินอุดหนุนฯ ยันหนี้ท่วม จะเอาที่ไหนมาทุจริต!
ผู้บริหาร รร.เอกชนงงข้อหาโกงเงินอุดหนุนฯ ยันหนี้ท่วม จะเอาที่ไหนมาทุจริต!
ปัญหาหักหัวคิว "งบอุดหนุนเงินเดือนครู" โรงเรียนเอกชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นประเด็นที่หลายฝ่ายให้ความสนใจ
วันก่อน "ทีมข่าวอิศรา" เปิดข้อมูลฝั่งทหาร เป็นข้อมูลของฝ่ายความมั่นคงที่พบว่าโรงเรียนบางแห่งยึดบัตรเอทีเอ็มของครูไป แล้วกดจ่ายเงินเดือนให้ครูไม่ตรงตามยอดเงินอุดหนุนที่ได้รับจากรัฐบาล คือไม่ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อคนต่อเดือน แต่ครูได้เงินกันแค่ 6,400 บาทถึง 8,000 บาทเท่านั้น แต่ล่าสุดผู้บริหารโรงเรียนเอกชนรายหนึ่งในพื้นที่ ออกมายืนยันว่าข้อมูลของฝ่ายความมั่นคงไม่ถูกต้อง และมีลักษณะจงใจใส่ร้ายสาดโคลนโรงเรียนเอกชน
ในมุมมองของฝ่ายทหาร รูปแบบการทุจริตได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง จากเดิมกระทรวงศึกษาธิการส่งเงินอุดหนุนให้โรงเรียนเพื่อให้จ่ายเงินเดือนครู ปรากฏว่าโรงเรียนก็หักหัวคิว จ่ายเงินให้ครูไม่เต็มเดือน ต่อมากระทรวงศึกษาฯปรับวิธีการใหม่ ด้วยการโอนเงินตรงเข้าบัญชีเงินเดือนครู แต่ครูก็โดนโรงเรียนบังคับให้นำเงินมาบริจาคครึ่งหนึ่ง สุดท้ายกระทรวงศึกษาฯให้ครูทำเอทีเอ็ม แต่ก็โดนโรงเรียนยึดบัตรเอทีเอ็มไว้อีก แล้วก็กดเงินเดือนจ่ายครูไม่ถึงครึ่ง
"ทีมข่าวอิศรา" สอบถามไปยังผู้บริหารโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งในพื้นที่ ได้รับคำยืนยันว่าเรื่องที่เกิดขึ้นไม่ใช่การทุจริต ส่วนการยึดบัตรเอทีเอ็มของครูนั้น มีบางโรงเรียนที่ทำ แต่โรงเรียนส่วนใหญ่ไม่ได้ทำ ฉะนั้นการให้ข่าวของฝ่ายความมั่นคงในเรื่องนี้จึงเหมือนสาดโคลนให้ได้รับความเสียหายไปทั้งหมด
ผู้บริหารโรงเรียนเอกชนรายนี้ อธิบายว่า ตัวเลขงบอุดหนุนเงินเดือนครู 15,000 บาทต่อเดือนต่อคนนั้น จริงๆ แล้วแยกเป็นเงินเดือนเพียงราวๆ 6,000-8,000 บาท ส่วนที่เหลือเป็นค่าบริหารจัดการของทางโรงเรียน ฉะนั้นถ้าโรงเรียนจ่ายเงินอุดหนุน 15,000 บาทให้ครูทั้งหมด แล้วค่าบริหารจัดการจะนำมาจากที่ไหน
"ก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ได้มีการตรวจค้นโรงเรียนแห่งหนึ่งใน อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี พอไปตรวจค้นแล้วก็ได้ถามครูว่าได้เงินเดือนเท่าไหร่ ทีแรกครูไม่ตอบ สุดท้าย ก็ถามว่าเอทีเอ็มอยู่ที่ไหน ครูก็บอกอยู่ที่เจ้าของโรงเรียน พอไปตรวจก็ไปเจอ นี่คือเรื่องของเรื่อง เขาเจอแค่ใน อ.ทุ่งยางแดง แต่ข้อมูลที่เขาพูดออกสาธารณะมันขยายไปที่โรงเรียนอื่นด้วย เหมือนต้องการสาดโคลน สาดแบบนี้โดนไปหมด ถึงไม่ได้มาดูที่โรงเรียนของเรา ก็รู้สึกว่าโดนไปด้วย" ผู้บริหารโรงเรียนเอกชน ย้อนเล่าถึงต้นตอของข่าว
เขาอธิบายต่อถึงรายละเอียดการจ่ายเงินอุดหนุนของรัฐ และวิธีการจ่ายเงินเดือนครู
"เงินอุดหนุนเข้ามาราวๆ 15,000 บาทจะแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นค่าเงินเดือนบุคลากรประมาณ 8,000 บาท ที่เหลือเป็นค่าบริหารจัดการ เราต้องเข้าใจส่วนนี้ ภาพรวมถ้ามองว่า 15,000 บาทก็จริง แต่ลองไปดูรายละเอียดการเบิกเงินอุดหนุน ก็จะพบว่ามันแยกเป็น 2 สว่น คือเงิน 7,000 บาทเป็นค่าบริหารจัดการของโรงเรียน ถามว่าถ้าโรงเรียนจ่ายหมด เอาเฉพาะแค่ครูที่บรรจุ ก็เกินยอดที่รัฐอุดหนุนแล้ว"
จากคำอธิบายเบื้องต้น จะพบว่าโรงเรียนเอกชนในพื้นที่ชายแดนใต้มีครู 2 แบบ คือแบบที่บรรจุ กับแบบที่ไม่ได้บรรจุ ซึ่งทางโรงเรียนต้องบริหารจัดการจากเงินอุดหนุนก้อนเดียวกัน
"เปรียบเทียบง่ายๆ สมมติเงิน 100 บาท ให้เป็นค่าจ้างครู 60 บาท ที่เหลือ 40 บาทเป็นค่าบริหารจัดการของโรงเรียน ส่วน 60 บาทก็จ่ายครูที่ได้รับการบรรจุเท่านั้น แต่ต้องเข้าใจว่าโรงเรียนอย่างเรามี 2 ระบบ ทั้งครูสอนศาสนาและครูสายสามัญ เราจ่ายเงินเดือนเฉพาะครูที่บรรจุคิดเป็นอัตราส่วนราวๆ 65% ของเงินอุดหนุนที่โรงเรียนได้รับทั้งหมด ส่วนครูที่ไม่ได้บรรจุ แต่เป็นพนักงานต่างๆ เราก็ต้องเอาเงินสำหรับการบริหารจัดการมาจ่ายให้ การจ่ายตรงนี้ประมาณ 25-30% ก็เหลือประมาณ 15% ที่เป็นค่าบริหารจัดการจริงๆ เช่น ค่าไฟ ค่าน้ำ"
ผู้บริหารโรงเรียนเอกชน ยืนยันว่า ทั้งหมดเป็นเรื่องการบริหารจัดการเงินที่ได้รับมา ซึ่งครูทุกคนที่เข้ามาสอนก็ทราบข้อมูลเป็นอย่างดี
"ก่อนที่ครูจะเข้ามาสสอน เราคุยตั้งแต่แรกแล้วว่าเราจะให้เรทประมาณนี้ เรียนจบมา 5 ปีจะได้ประมาณ 12,580 บาท ยอดนี้คือครูที่ไม่บรรจุ แต่ถ้าบรรจุก็จะให้ 15,000 บาท ตรงนี้อยากให้เข้าใจว่าทางรัฐบาลหรือทหารเขาพยายามที่จะพูดว่าทุกคน ไม่ว่าจะเป็นครูบรรจุหรือไม่บรรจุ ต้องให้เงิน 15,000 บาท ที่นี้ถ้าเราให้ 15,000 บาท คำถามคือไหนละค่าบริหารจัดการ ทั้งที่เงินไม่พอจ่ายค่าไฟ ค่าอุปกรณ์การเรียน และค่าจัดการต่างๆ โดยเฉพาะเงินเดือนของครูที่ไม่บรรจุ เราจะเอามาจากไหน"
"สภาพปัญหาแบบนี้ โรงเรียนอื่นๆ ก็เป็นเหมือนๆ กัน ยิ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็กก็ยิ่งลำบาก และต้องเข้าใจว่าโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาที่มีมูลนิธิ กับโรงเรียนสอนศาสนาที่ไม่มีมูลนิธิ ก็จะได้รับเงินอุดหนุนต่างกันด้วย พูดง่ายๆ คือสมมติเรามีเด็ก 10 ห้อง เราได้เงินอุดหนุนตามจำนวนเด็ก ไม่ใช่ได้เต็มห้อง คือห้องหนึ่งมี 40 คนบ้าง 20 คนบ้าง 30 คนบ้าง 15 คนก็มี ลองเอายอดทั้งหมดมารวมกัน ถ้าเกิดเราคิดว่าโรงเรียนนี้มีครู 10 คน ต้องจ่ายคนละ 15,000 บาท ก็เป็นค่าจ้างครู 150,000 บาทต่อเดือนไปแล้ว ถ้าเกิดเราได้เงินอุดหนุนแสนเดียวล่ะ (เพราะเงินอุดหนุนมาจากจำนวนเด็กนักเรียน ไม่ใช่มาจากจำนวนครู) ฉะนั้นโรงเรียนจึงต้องคำนวณอย่างละเอียดเพื่อบริหารจัดการให้อยู่ได้"
"เรื่องแบบนี้ สช.กลางก็รู้ (หมายถึงสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน หรือ สช.) เขารู้ดีว่าเขาให้เงินอุดหนุนเท่าไหร่ ค่าบริหารจัดการเท่าไร ค่าเงินเดือนครูเท่าไหร่ คือข้อมูลนี้รัฐบาลหรือ สช.จังหวัดก็รู้ แต่คนที่อยู่สังกัดอื่นจะไม่รู้ เขาจะรู้แค่ว่ายอด 15,000 บาท ต้องจ่ายครูทั้งหมด อันนี้ก็ผิด เพราะถ้าจ่ายครูตามยอด 15,000 บาท แล้วค่าไฟค่าบริหารต่างๆ เอาที่ไหน ค่าจ้างครูที่ไม่ได้บรรจุจะเอาที่ไหน"
เขายังชี้แจงเรื่อง "เบี้ยเสี่ยงภัย" ซึ่งก็เป็นปัญหาแบบเดียวกับเงินเดือน
"เรื่องเงินเสี่ยงภัย ดูได้จากโรงเรียนของเราเลย เรามีครู 200 กว่าคน แต่คนที่ได้เงินเสี่ยงภัยจริงๆ จากรัฐมีแค่ 145 คน ส่วนอีก 60 คนไม่ได้เงินเสี่ยงภัย รัฐจะจ่ายเงินเสี่ยงภัยให้กับครู เขาคิดจากจำนวนเด็ก คือเด็ก 30 คน ครูจะได้ค่าเสี่ยงภัย 1 คน โรงเรียนเรามีเด็กพันกว่าคน ครูจะได้ค่าเสี่ยงภัยประมาณ 145 คน ที่เหลือประมาณ 60 คนโรงเรียนเป็นคนจ่ายให้ครูคนละ 1,000 บาท ส่วนครูอีก 145 คนก็จะได้ 2,500 บาทเต็มจำนวน"
ผู้บริหารโรงเรียนเอกชนที่ชายแดนใต้ ย้ำว่า การเปิดโรงเรียนมีค่าใช้จ่ายสูงมาก ไม่ใช่เงินเหลือเฟือเหมือนที่หลายฝ่ายเข้าใจ
"เอาแค่ค่าไฟฟ้า ที่โรงเรียนนี้มีค่าไฟเดือนละ 2 แสนกว่าบาท ค่าอินเตอร์เน็ต ค่าสื่อการสอนต่างๆ อีก รวมๆ แล้วประมาณ 5-6 แสนบาทต่อเดือน นี่คือเงินที่เป็นค่าบริหารจัดการ แต่บางฝ่ายเข้าใจว่าเงินที่ให้กับทางโรงเรียนเอกชนเหลือเยอะ จริงๆ แล้วไม่เหลือ ถามว่าที่อยู่ทุกวันนี้ อาคารแต่ละหลังมาจากไหน ถนนมาจากไหน ถนน ทุกสายในนี้มาจากไหน รัฐไม่ได้สนับสนุนเลย นอกจากเราไปกู้มาเอง ล่าสุดก็กู้มา 20 กว่าล้านบาท คือพูดตรงๆ ตอนนี้ผู้บริหารโรงเรียนกำลังคิดว่าเรื่องการเงินต่างๆ ของโรงเรียนจะไม่มั่นคง หลายๆ โรงกำลังคิดว่าจะเปิดธุรกิจข้างนอกเพิ่ม เปิดบริษัทอะไรต่างๆ เพื่อเพิ่มรายได้"
"ถามว่าเงินที่ได้มาทั้งหมด โรงเรียนเอาไปทำอย่างอื่นไหม ขอบอกว่าไม่ทันที่จะไปทำอย่างอื่นหรอก ขนาดตอนนี้ของที่สั่งซื้อจากร้านค้าต่างๆ (เช่น หนังสือ อุปกรณ์การเรียน เครื่องแบบนักเรียน) ก็ไม่ได้ไปเอาของ เพราะไม่มีเงินจ่าย แต่ละครั้งที่จะไปเอา ก็ต้องมี 2-3 แสนบาท ฉะนั้นถ้าจะบอกว่าเอาเงินอุดหนุนไปรั่วไหลที่อื่น บอกเลยว่าไม่มีทาง เพราะหนี้มันเยอะ เรามีหนี้ร้านค้า เราใช้เครดิตในการไปเอาของ แล้วทยอยจ่ายแต่ละเดือน ก็ต้องหมุนเวียนกัน"
ผู้บริหารโรงเรียนเอกชนรายนี้ ข้องใจว่า เหตุใดหน่วยงานความมั่นคงมักมองว่าโรงเรียนเอกชนพยายามทุจริต ทั้งๆ ที่ไม่เป็นความจริง และสาเหตุที่เปิดโรงเรียน ก็เป็นการทำเพื่อสังคม
"ยังไม่เห็นเลยว่าจะทุจริตได้อย่างไร เราทำตรงนี้ก็เพื่อสังคม อยากให้มองในมุมดีบ้าง แทนที่จะมาสนับสนุน แต่กลับมาจับผิด ทำแบบนี้แล้วโรงเรียนเอกชนอีกหลายโรงก็ต้องเหนื่อย ทุกวันนี้โรงเรียนเอกชนเรากำลังคิดว่าจะทำเรื่องพัฒนาเด็ก จะทำอย่างไรให้เด็กจบ ม.6 สามารถสอบเข้าคณะดี มหาวิทยาลัยดีๆ ได้ เช่น แพทย์ วิศวะ"
เขาย้ำทิ้งท้ายว่า กิจการของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาไม่เกี่ยวข้องอะไรกับกลุ่มต่อต้านรัฐ หรือกลุ่มที่ต่อสู้กับรัฐ เพราะการเปิดโรงเรียนก็เพื่อสร้างอนาคตที่สดใสเพื่อให้กับเด็ก จะได้พัฒนาพื้นที่ พัฒนาประเทศให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป
----------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : กราฟฟิกประกอบจากรายการล่าความจริง เนชั่นทีวี 22
อ่านประกอบ :