ยึดเอทีเอ็ม! หักหัวคิวเงินอุดหนุนครูใต้
การทุจริตเงินอุดหนุนของรัฐในการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนเอกชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงมีข้อมูลปรากฏอย่างต่อเนื่อง
จากเดิมที่มีประเด็น "นักเรียนผี" ซึ่งหมายถึงแต่ละโรงเรียนมีรายชื่อนักเรียนซ้ำซ้อนกัน หรือมีชื่อนักเรียน แต่กลับไม่มีตัวผู้เรียนอยู่จริง ส่งผลให้มีการเบิก "งบอุดหนุนรายหัวนักเรียน" เกินจริง ซึ่งอาจเข้าข่ายทุจริต โดยกระทรวงศึกษาธิการเคยตรวจสอบเรื่องนี้และสามารถเรียกคืนเงินอุดหนุนได้ถึง 134 ล้านบาทในช่วง 3 ปีงบประมาณ คือปีงบประมาณ 2556-2558 ทำให้ปัจจุบันปัญหานี้ลดน้อยลง แต่ล่าสุดมีข่าวว่าการทุจริตเงินอุดหนุนได้พัฒนาไปถึงขั้น "หักหัวคิวเงินเดือนครู" ด้วยการยึดบัตรเอทีเอ็มไว้ที่โรงเรียน
เมื่อเร็วๆ นี้ เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงได้เข้าตรวจสอบโรงเรียนเอกชนเป้าหมายหลายแห่งใน จ.ปัตตานี และสามารถตรวจยึดบัตรเอทีเอ็มที่เปิดคู่กับบัญชีเงินเดือนของครูในโรงเรียนได้จำนวน 23 ใบ โดยเป็นบัตรเอทีเอ็มของครู 23 คน เจ้าหน้าที่พบว่าถูกทางโรงเรียนยึดเอาไว้ แล้วเบิกเงินเดือนจ่ายให้ครูต่ำกว่ายอดจริงที่รัฐอุดหนุน
พล.ต.จตุพร กลัมพสุต รองแม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า รัฐบาลจ่ายเงินอุดหนุนให้กับครูโรงเรียนเอกชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งถือเป็น "พื้นที่พิเศษ" โดยอุดหนุนให้ครูมีรายรับไม่ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน บวกกับ "เบี้ยเสียงภัย" อีก 2,500 บาทต่อเดือน แต่เดิมมีการโอนเงินให้กับทางโรงเรียน เพื่อให้โรงเรียนนำไปจ่ายให้ครูอีกทอดหนึ่ง แต่จากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในปีก่อนๆ พบว่า ผู้บริหารโรงเรียนจ่ายเงินเดือนครูไม่ครบ มีการหักเอาไว้ประมาณครึ่งหนึ่ง โดยอ้างว่านำไปใช้ในกิจการอื่นของโรงเรียน หรือนำไปจ้างครูเพิ่ม เพราะครูไม่พอ
ต่อมาหน่วยงานรัฐจึงเปลี่ยนวิธีใหม่ ด้วยการโอนเงินตรงเข้าบัญชีเงินเดือนครูแทน แต่ก็พบปัญหาใหม่คือ ทางโรงเรียนบังคับให้ครูนำเงินเดือนประมาณครึ่งหนึ่ง หรือราวๆ 7,000 บาท มอบให้กับทางโรงเรียน โดยอ้างว่าเป็นการบริจาค เพื่อให้โรงเรียนนำเงินไปใช้อย่างอื่น
ล่าสุด จากการลงพื้นที่ตรวจสอบของฝ่ายความมั่นคง พบว่า หลายโรงเรียนมีพัฒนาการหลบเลี่ยงการตรวจสอบ ด้วยการยึดบัตรเอทีเอ็มของครูทุกคนไว้ แล้วทำหน้าที่กดเงินเดือนจ่ายให้ครูแทน โดยจ่ายให้เฉลี่ยคนละ 6,400 บาทเท่านั้น เท่ากับหักไปกว่าครึ่ง หรือ 8,600 บาทเลยทีเดียว ส่วน "เบี้ยเสี่ยงภัย" เดือนละ 2,500 บาท ก็ถูกโรงเรียนหักไว้ราวๆ ครึ่งหนึ่งเหมือนกัน
เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ทหารจึงยึดบัตรเอทีเอ็มของครูไว้เป็นของกลาง เพื่อตรวจสอบดำเนินคดีกับทางโรงเรียน โดยพบโรงเรียนที่ทำพฤติกรรมแบบนี้เฉพาะในพื้นที่ จ.ปัตตานี 3 โรง อยู่ใน อ.ยะรัง อ.สายบุรี และ อ.ทุ่งยางแดง อำเภอละ 1 โรงเรียน เจ้าหน้าที่กำลังประสานให้ครูที่ถูกยึดบัตรเอทีเอ็มเข้าแจ้งความในฐานะผู้เสียหาย แต่ส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร เนื่องจากครูไม่อยากมีปัญหากับทางโรงเรียน และกลัวว่าจะตกงาน เพราะในพื้นที่ชายแดนใต้หางานทำยาก การได้เงินเดือนราวๆ 6,000-7,000 บาท ก็ยังดีกว่าไม่มีรายได้อะไรเลย
ขณะที่ทางผู้บริหารโรงเรียนพยายามชี้แจงว่า เป็นการหักเงินเดือนครูเอาไว้จ้างครูเพิ่ม เพื่อประสิทธิภาพในการสอนหนังสือและดูแลเด็กให้ทั่วถึง เนื่องจากโรงเรียนหลายแห่งมีครูไม่พอ เพราะมีเด็กนักเรียนจำนวนมาก
อย่างไรก็ดี ฝ่ายความมั่นคงมองว่า เหตุผลที่ชี้แจงนี้ฟังไม่ขึ้น เพราะหากโรงเรียนมีนักเรียนมาก ก็จะได้เงินอุดหนุนรายหัวนักเรียนมากตามไปด้วย ขณะที่เงินเดือนครูที่โรงเรียนบางแห่งหักเอาไว้ พบหลักฐานเส้นทางเงินว่านำไปจ่ายให้กับคนใกล้ชิดของผู้บริหารโรงเรียน ซึ่งบรรจุเข้ามาเป็นครูทั้งๆ ที่ไม่มีวุฒิการศึกษา หรือมีวุฒิฯแต่ไม่ตรงกับวุฒิฯที่สามารถบรรจุเป็นครูได้ นอกจากนั้นยังมีบางรายนำเงินที่หักจากครูไปมอบให้กับผู้ก่อความไม่สงบที่ถูกจับกุมด้วย บางรายติดคุกอยู่ก็ยังรับเงินโอนจากทางโรงเรียน
จากการตรวจสอบเพิ่มเติมของ "ทีมข่าวอิศรา" พบว่าการจ่ายเงินอุดหนุนรายหัวนักเรียนให้กับโรงเรียนเอกชนทุกระดับ (ก่อนประถมศึกษา ประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และตอนปลาย) ทั่วทั้งประเทศนั้น มีทั้งการอุดหนุนค่าจัดการเรียนการสอน ซึ่งรวมถึงสมทบเงินเดือนครูเป็นรายปีด้วย นอกเหนือไปจากการอุดหนุนค่าหนังสือเรียน เครื่องแบบนักเรียน อุปกรณ์การเรียน และการจัดกิจกรรมพัฒนาคุณภาพให้ผู้เรียน ในส่วนนี้เรียกว่า "มาตรการช่วยเหลือนักเรียนในโรงเรียนเอกชนเป็นเงินอุดหนุนรายบุคคล" หรือ "เงินอุดหนุนรายหัวนักเรียน" ซึ่งนักเรียนในโรงเรียนเอกชนการกุศลและโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามของมัสยิดหรือมูลนิธิ ก็ได้รับเงินอุดหนุนเช่นกัน แยกเป็นระดับก่อนประถมศึกษา 13,884.50 บาทต่อคนต่อปี ระดับประถมศึกษา 13,584.50 บาทต่อคนต่อปี ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 16,432.50 บาทต่อคนต่อปี และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 16,732.50 บาทต่อคนต่อปี
จะเห็นได้ว่า เงินอุดหนุนรายหัวนักเรียนที่คิดง่ายๆ ว่าจ่ายให้เด็กแต่ละคน เฉลี่ยราวๆ 14,000 บาทถึง 16,000 บาทต่อคนต่อปีนั้น ในส่วนนี้ก็มีค่าสมทบเงินเดือนครูอยู่แล้ว ขณะที่งบอาหารกลางวันและอาหารเสริมนม ก็มีการอุดหนุนแยกต่างหาก
นอกจากนั้นยังมีการอุดหนุนเงินเพิ่มค่าครองชีพให้กับครูโรงเรียนเอกชน ผู้อำนวยการ และบุคลากรทางการศึกษาที่ได้เงินเดือนต่ำกว่า 15,000 บาทด้วย เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ให้เงินเดือนบุคลากรวุฒิฯปริญญาตรี เริ่มต้นที่ 15,000 บาท
สำหรับในพื้นที่พิเศษซึ่งเป็น "พื้นที่เสี่ยงภัย" อย่างสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐยังมีโครงการสนับสนุนการจัดการศึกษาของโรงเรียนเอกชน สถาบันศึกษาปอเนาะ และศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด หรือ "ตาดีกา" ด้วย โดยอุดหนุนทั้งค่าบริหารจัดการ และค่าตอบแทนผู้สอน ตลอดจนสื่อการเรียนการสอน และโครงสร้างด้านกายภาพของโรงเรียนด้วย เฉพาะในส่วนนี้ใช้งบประมาณเฉลี่ยปีละ 400-500 ล้านบาท
----------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : บัตรเอทีเอ็มของครูที่ถูกโรงเรียนบางแห่งยึดเอาไว้ แล้วเบิกจ่ายเงินเดือนให้ครูต่ำกว่ายอดที่รัฐอุดหนุน
อ่านประกอบ : ทัพ 4 สั่งสอบ "ทุจริตงบอุดหนุน" ครู-นักเรียนชายแดนใต้