ทัพ 4 สั่งสอบ "ทุจริตงบอุดหนุน" ครู-นักเรียนชายแดนใต้
มีความเคลื่อนไหวจากกองทัพภาคที่ 4 ที่เดินหน้าสั่งสอบทุจริต "งบอุดหนุนรายหัวนักเรียน" และ "งบอุดหนุนเงินเดือนครูในพื้นที่เสี่ยงภัย" ทั้งในส่วนของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม และโรงเรียนของรัฐบาลในพื้นที่ชายแดนใต้ หลังพบผู้บริหารโรงเรียนบางรายยังคงหาช่องทุจริตจนทำให้งบรั่วไหล ทั้งๆ ที่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องพยายามปิดช่องโหว่อย่างเต็มที่แล้ว
พล.ต.จตุพร กลัมพสุต รองแม่ทัพภาคที่ 4 ประชุมร่วมกับกำลังพลในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อเร็วๆ นี้ พร้อมสั่งการให้เจ้าหน้าที่ทหารตรวจสอบ "งบอุดหนุนรายหัวนักเรียน" ซึ่งมีทั้งค่าอุปกรณ์การเรียน เครื่องแบบนักเรียน หนังสือเรียน และอื่นๆ รวมถึงค่าอาหารกลางวันของโรงเรียนทั้งของรัฐและเอกชนกว่า 3,000 โรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย
สำหรับงบอุดหนุนรายหัวนักเรียนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพิ่มขึ้นจากคนละ 14,000 บาทต่อปี เป็น 16,000 บาทต่อปี โดยในส่วนของโรงเรียนเอกชน ทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ จะส่งเงินอุดหนุนไปยังโรงเรียน เพื่อนำไปใช้จ่ายใน 5 หมวดด้วยกัน คือ ค่าเล่าเรียน ค่าหนังสือ ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าเครื่องแบบนักเรียน และค่าใช้จ่ายในการพัฒนาผู้เรียน
ที่ผ่านมามีการตรวจพบการทุจริต "งบอุดหนุนรายหัวนักเรียน" โดยกระทรวงศึกษาธิการในยุค คสช. ภายใต้การนำของ พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาฯ ทำเรื่องนี้แบบ "เงียบๆ" เพราะมีความอ่อนไหวสูง จากการตรวจสอบพบว่ามีโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาฯ นับร้อยแห่งที่แจ้ง "รายชื่อนักเรียนซ้ำซ้อน" ทำให้ได้รับงบอุดหนุนฯสูงเกินจริง จนทางกระทรวงฯ ต้องเรียกคืนงบอุดหนุน รวม 3 ปีงบประมาณ มากถึง 134 ล้านบาท
แต่ในพื้นที่พิเศษอย่างสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้มีเฉพาะ "งบอุดหนุนรายหัวนักเรียน" เท่านั้น แต่ยังมี "งบอุดหนุนเงินเดือนครู" เดือนละ 15,000 บาทต่อคน และเบี้ยเสี่ยงภัยอีก 2,500 บาทต่อคนต่อเดือนด้วย ซึ่งก็พบการทุจริตเช่นกัน ที่ผ่านมาเคยมีการแจ้งความดำเนินคดีกับครูและผู้บริหารโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาบางแห่งไปบ้างแล้ว บางคดีอยู่ในชั้นสอนสวน บางคดีอยู่ในชั้นศาล บางคดีศาลตัดสินแล้วก็มี
เหตุนี้เองทำให้รองแม่ทัพภาคที่ 4 ต้องสั่งการให้หน่วยงานในพื้นที่เร่งตรวจสอบ โดยเน้นไปที่ "งบอุดหนุนเงินเดือนครู" ซึ่งที่ผ่านมาพบปัญหา เนื่องจากเมื่อโอนเงินไปยังโรงเรียนแล้ว ทางโรงเรียนกลับจ่ายเงินเดือนครูไม่เต็ม 15,000 บาท แต่หักไว้ส่วนหนึ่ง อ้างว่านำไปใช้ในกิจการอื่นของโรงเรียน หรีอไม่ก็นำไปใช้จ้างครูเพิ่มนอกโควต้า ทำให้ปีการศึกษา 2561 นี้มีการปรับแผนใหม่ ด้วยการโอนเงินเข้าบัญชีเงินเดือนครูโดยตรง แต่ปรากฏว่าทางโรงเรียนใช้วิธีบังคับให้ครูนำเงิน 7,000 บาทมาบริจาคให้โรงเรียน
เช่นเดียวกับ "เบี้ยเสี่ยงภัย" เดือนละ 2,500 บาท เมื่อโอนเข้าบัญชีเงินเดือนครูแล้ว กลับพบว่าทางผู้บริหารโรงเรียนบังคับให้ครูนำเงินมาบริจาคให้โรงเรียน 1,000 บาท ทำให้ครูมีรายได้น้อยกว่าที่ควรจะได้รับ และไม่พอกับการครองชีพ
นอกจากนั้น ในส่วนของนักเรียนยังพบการทุจริตงบอาหารกลางวันและนมโรงเรียนด้วย มีการร้องเรียนทั้งจากครูและผู้ปกครองหลายกรณีมาก ทำให้รองแม่ทัพภาคที่ 4 ต้องสั่งให้ตรวจสอบทั้งระบบ
"อยากให้ทุกภาคส่วนช่วยกันตรวจสอบกรณีเงินเดือนครู ที่สถานศึกษามีการใช้รูปแบบใหม่ในการหลีกเลี่ยงการจ่ายเงินเดือนเต็มให้ครู คือเราสั่งให้จ่ายเงินเดือนครู 15,000 บาทเข้าบัญชีครูโดยตรง แต่ทางโรงเรียนไปบอกให้ครูเอาเงินเดือนละ 7,000 บาทมาบริจาคให้กับโรงเรียน และค่าเสี่ยงภัย 2,500 บาททุกเดือนก็โอนเข้าบัญชีครู แต่ก็ถูกทางโรงเรียนสั่งให้ครูเอาเงิน 1,000 บาทมาบริจาคให้โรงเรียนทุกเดือนเหมือนกัน"
"ปัญหานี้แต่เดิมรัฐจ่ายเงินให้กับทางโรงเรียน แล้วให้โรงเรียนจ่ายให้ครู แต่ก็เกิดปัญหา โรงเรียนหักเงินเดือนกับค่าเสี่ยงภัยครูเอาไว้ จนมีการร้องเรียนจากครูในพื้นที่จำนวนมาก ทำให้หน่วยงานรัฐปรับวิธีการ โอนเงินเข้าบัญชีครูโดยตรง แต่โรงเรียนก็ยังซิกแซ็กบังคับบริจาคอีก ผมจึงอยากให้ทุกส่วนได้ช่วยกันตรวจสอบ รวมทั้งค่าอุปกรณ์การเรียน และค่าอาหารกลางวัน ตลอดจนนมของเด็กนักเรียนด้วย เพราะเรื่องนี้เราแจ้งกลับไปที่ ส.ช. (สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน) แล้ว เพื่อให้ ส.ช.ไปดำเนินการ แต่ก็ยังไม่มีอะไรที่เป็นรูปธรรมออกมา" พล.ต.จตุพร ระบุ
รองแม่ทัพภาคที่ 4 ย้ำด้วยว่า การพัฒนาการศึกษาเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งมีกฎหมายรองรับ และทุกหน่วยงานต้องปฏิบัติตาม ฉะนั้นจึงต้องดำเนินการอย่างโปร่งใสทุกขั้นตอน ส่วนโรงเรียนเอกชนนั้น จริงๆ เจ้าของหรือผู้บริหารมีกำไรจากการบริหารอยู่แล้ว โดยเฉพาะถ้ามีนักเรียนมาก ก็จะมีส่วนต่างจากงบอุดหนุนเหลือ แต่เท่าที่ทราบ โรงเรียนในพื้นที่ไม่ยอมขาดทุนกำไร ทำให้เกิดปัญหา
ขณะที่ พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวในงาน "แม่ทัพภาค 4 พบสื่อมวลชน" เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 8 พ.ย.61 ว่า พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 มีนโยบายให้ตรวจสอบเงินอุดหนุนรายหัวนักเรียน ตลอดจนค่าอาหารกลางวัน และนมโรงเรียน รวมถึงคุณภาพทางการศึกษาด้วย เพื่อป้องกันการทุจริต เพราะที่ผ่านมาพบการทุจริตจริงในโรงเรียนบางแห่ง และบางกรณียังเชื่อมโยงกับปัญหาความมั่นคงด้วย แต่การตรวจสอบต้องให้กระทรวงศึกษาธิการ และ ส.ช.เป็นเจ้าภาพ โดยฝ่ายทหารเป็นหน่วยสนับสนุน
ด้าน บุญสม ทองศรีพราย ประธานสมาพันธ์ครู 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวถึงการตรวจสอบงบอุดหนุนรายหัวนักเรียน เงินเดือนครู และงบอาหารกลางวัน ว่า เรื่องงบอุดหนุนรายหัวนักเรียน แต่ละระดับชั้นจะมีอัตราที่แตกต่างกัน เช่น ประถม มัธยม รัฐจะอุดหนุนต่างกัน โดยทางโรงเรียนก็ได้มีการจัดสรรให้กับนักเรียนตามความจำเป็น
ส่วนผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งในพื้นที่ จ.ปัตตานี กล่าวว่า เรื่องตรวจสอบงบอาหารกลางวัน นม และอุปกรณ์การเรียนการสอน หากฝ่ายความมั่นคงทำได้จริงจะถือว่าดีมาก เพราะประโยชน์จะตกกับเด็กนักเรียน
"หลายโรงเรียนมีอุปกรณ์การเรียนให้เด็กไม่เหมาะสมกับเงินที่รัฐอุดหนุนให้ เช่น สีที่ใช้ในวิชาศิลปะ ได้กล่องเล็ก แถมเด็กเอามาใช้ระบายสีก็ไม่ได้ เพราะไม่มีสีออกมาเลย ดินสอ 1 แท่ง ไม้บรรทัดที่ได้มา คุณภาพแทบใช้เรียนหนังสือไม่ได้เลย สุดท้ายพ่อแม่ต้องซื้อใหม่ให้หมด ทั้งสี ทั้งดินสอ ไม้บรรทัด ยางลบ นอกจากนั้นยังมีการเก็บค่าอาหารเสริม ค่าบำรุง รวมๆ แล้วเทอมหนึ่ง 3,000 กว่าบาท ถามว่าแล้วเงินที่รัฐอุดหนุนหายไปไหน ก็ไม่มีคำตอบ ฉะนั้นจึงสนับสนุนเต็มที่ให้ตรวจสอบการใช้งบประมาณของโรงเรียนเหล่านี้" ผู้ปกครองนักเรียน กล่าว
อนึ่ง ปัญหา "นักเรียนผี" หรือการทุจริตงบอุดหนุนรายหัวนักเรียนที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยแจ้งยอดนักเรียนเกินจริง เป็นปัญหาหนักมาตลอด และน่าเชื่อว่าเชื่อมโยงกับปัญหาความมั่นคงด้วย โดยที่ผ่านมาเคยมีการตรวจสอบพบนักเรียน 1 คนมีชื่อซ้ำกันถึง 7 โรงเรียน แต่หลังจากมีการตรวจสอบอย่างเข้มงวดโดยกระทรวงศึกษาธิการ ทำให้ปัญหาลดน้อยลง แต่ก็ยังมีปัญหาเรื่องงบอุดหนุนเงินเดือนครูปรากฏขึ้นมาอีก
ขณะที่ทางฝั่งสมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในพื้นที่ เรียกร้องให้หน่วยงานรัฐตรวจสอบโรงเรียนในสังกัด สพฐ.ด้วย ไม่ใช่จับตาเฉพาะโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาฯเพียงอย่างเดียว ทั้งยังยืนยันว่าที่ผ่านมาปัญหารายชื่อนักเรียนซ้ำซ้อน เป็นความผิดพลาดในแง่ธุรการ ไม่ใช่การทุจริต เมื่อตรวจสอบพบ ก็คืนเงินอุดหนุนให้กับรัฐครบทุกบาททุกสตางค์