บิ๊ก ศอ.บต.ตั้งโต๊ะแถลง "ตู้กรองน้ำครึ่งล้าน" ช่วยชาวบ้านประหยัดเดือนละ 6 แสน!
ผู้บริหาร ศอ.บต. ควงแขนบริษัทผู้ผลิต ตั้งโต๊ะแถลงข่าวใหญ่ยืนยัน "ตู้กรองน้ำครึ่งล้าน" คุ้มค่า ศักยภาพเทียบเท่า "โรงงานกรองน้ำในหมู่บ้าน" ช่วยประชาชนประหยัดค่าน้ำดื่มเดือนละ 6 แสน ผู้รับผิดชอบโครงการย้ำ จัดซื้อ "วิธีพิเศษ" ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุฯ
นายศุภณัฐ สิรันทวิเนติ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.) พร้อมด้วย นายประสิทธิ์ ชูเมือง รองเลขาธิการ ศอ.บต. นายกิตติ สุระคำแหง รองเลขาธิการ ศอ.บต. นายพิทยา รัตนพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ ศอ.บต. และ นายภูมิพัฒน์ บุญช่วย ผู้แทนบริษัท เซ็นทริก (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตตู้กรองน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ร่วมกันชี้แจงข้อข้องใจเกี่ยวกับโครงการติดตั้งตู้กรองน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
สาเหตุของการแถลง สืบเนื่องจากโครงการนี้ถูกตั้งคำถามถึงความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณ และความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้าง เนื่องจากราคาของตู้กรองน้ำรุ่นนี้ สูงถึงตู้ละ 549,000 บาท ศอ.บต.จัดซื้อล็อตแรกไปแล้ว ในปีงบประมาณ 2560 จำนวน 93 ตู้ แยกเป็น 2 สัญญา ติดตั้งกระจายไปในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในความรับผิดชอบของ ศอ.บต. ใช้งบทั้งสิ้นกว่า 51 ล้านบาท ทั้งยังมีแผนจัดซื้อเพิ่มเติมในปีงบประมาณ 2561 อีก 75 ตู้ งบประมาณราว 45 ล้านบาท
โครงการนี้จัดซื้อจัดจ้างด้วย "วิธีพิเศษ" ไม่มีการประกวดราคา โดยอ้างความจำเป็นเร่งด่วนด้านพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ทังยังแตกสัญญาออกเป็น 2 สัญญา ทำให้แต่ละสัญญามีมูลค่าไม่ถึง 50 ล้่าน เลขาธิการ ศอ.บต.สามารถอนุมัติจัดซื้อได้เอง แต่ก่อนจัดซื้อ ได้มีการโอนงบประมาณเหลือจ่ายจากโครงการอื่นมา โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ในฐานประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คปต.) เป็นผู้ลงนามให้ความเห็นชอบ
แจงเป็น "ของขวัญ" ให้ชาวบ้าน - ป้อง "ประวิตร" ไม่เกี่ยว
นายศุภณัฐ กล่าวตอนหนึ่งว่า กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างนั้น ศอ.บต.ดำเนินการเอง โดยการอนุมัติถือเป็นของขวัญที่รัฐบาลมอบให้กับประชาชนในพื้นที่ โดย พล.อ.ประวิตร ไม่ได้มีการสั่งการให้จัดซื้อในเบื้องต้น แต่เป็นการอนุมัติงบเหลือจ่าย เป็นงบปลายปีเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
"โครงการนี้เป็นประโยชน์ในด้านการใช้งานที่สามารถสร้างประสิทธิภาพต่อผู้บริโภค ทั้งยังเป็นเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อใช้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ อีกทั้งยังเป็นการแสดงถึงความใส่ใจของรัฐบาลที่มุ่งหวังให้ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีที่มีคุณภาพระดับสูง และสามารถตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างแท้จริง" เลขาธิการ ศอ.บต.ระบุ
เทียบเท่าโรงงานผลิตน้ำดื่ม - ช่วยชาวบ้านประหยัด 6 แสน/เดือน
ส่วนประเด็นราคาตู้กรองน้ำฯที่ถูกมองว่าสูงเกินไปนั้น นายศุภณัฐ บอกว่า เรื่องกรองน้ำชนิดนี้เป็นนวัตกรรมที่ทันสมัย สามารถเชื่อมโยงสัญญาณกับบริษัทผู้ผลิต เรื่องของคุณภาพและประสิทธิภาพในการทำงานหากเทียบราคากลาง ถือว่าเครื่องกรองน้ำของ ศอ.บต.มีราคาที่ถูกกว่าราคากลางอยู่มาก สามารถสร้างความคุ้มค่าและเกิดประโยชน์ต่อพื้นที่ได้จริง
"เราลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของสงขลา เพื่อสำรวจความต้องการของประชาชนที่ต้องการใช้น้ำสะอาดและมีคุณภาพ ซึ่งรัฐบาลทุกยุคทุกสมัยก็ต้องการดูแลเรื่องน้ำดื่มน้ำใช้ให้กับประชาชน ที่ผ่านมาคนที่มีฐานะหน่อยก็จะไปซื้อตู้กรองน้ำเล็กๆ มาใช้ในครัวเรือน ประชาชนที่มีฐานะรองลงมาก็ซื้อน้ำขวดมาดื่ม ก็ไม่ได้ตอบโจทย์ว่าน้ำมีคุณภาพ ศอ.บต.เล็งเห็นตรงนี้ จึงทำโครงการติดตั้งตู้กรองน้ำระบบโซลาร์เซลล์ (พลังงานแสงอาทิตย์) ซึ่งมีศักยภาพเหมือนเป็นโรงงานกรองน้ำในหมู่บ้าน ทำให้ประชาชนมีน้ำดื่มคุณภาพที่มีความคุ้มค่า"
"เราซื้อเครื่องกรองน้ำ 1 เครื่อง 5 แสนบาท ผลิตน้ำได้วันละ 4,000 กว่าลิตร คิดเทียบง่ายๆ ประชาชนซื้อน้ำบรรจุขวด ขวดละ 5 บาท ได้น้ำ 1 ลิตร แต่ตู้กรองน้ำฯผลิตได้ 4,000 ลิตร ถ้าต้องซื้อน้ำก็จะเท่ากับประชาชนต้องจ่ายวันละ 20,000 บาท เดือนหนึ่งก็เท่ากับ 600,000 บาท แต่นี่ประชาชนไม่ต้องจ่าย เพราะ ศอ.บต.ติดเครื่องกรองน้ำโซลาร์เซลล์ให้" นายศุภณัฐ ระบุ
เมินผลศึกษานักวิชาการ - ยันจัดซื้อ "วิธีพิเศษ" ถูกต้อง
ตอนหนึ่งของการแถลง ผู้สื่อข่าวถามถึงผลการศึกษาความคุ้มค่าของตู้กรองน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ที่จัดทำโดยนักวิชาการจากสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งสรุปว่าโครงการติดตั้งตู้กรองน้ำฯ มีความคุ้มค่าน้อย ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ทั้งยังเสี่ยงมีปัญหาเรื่องความไม่โปร่งใสและธรรมมาภิบาล ประเด็นนี้ เลขาธิการ ศอ.บต.ตอบว่า ประชาชนที่ใช้น้ำอยู่จะตอบได้ว่าคุ้มค่า ในขณะที่คนอื่นๆ ที่ไม่ได้ใช้อาจจะตอบจากความรู้สึก ซึ่งไม่ใช่ข้อมูลที่ตรงมากนัก เพราะในชีวิตประจำวัน ทุกคนจำเป็นต้องใช้น้ำ ฉะนั้นโครงการนี้จึงมีประโยชน์ เพราะสามารถผลิตน้ำสะอาดที่มีคุณภาพและดีต่อสุขภาพ
ส่วนประเด็นข้อสงสัยเรื่องความจำเป็นของการจัดซื้อด้วย "วิธีพิเศษ" โดยไม่มีการประกวดราคานั้น ประเด็นนี้ นายพิทยา รัตนพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ ศอ.บต. ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการตู้กรองน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ชี้แจงว่า เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุฯ ข้อ 24 (1) และเพื่อความโปร่งใส ศอ.บต.ได้เชิญผู้ประกอบการในพื้นที่ 3 รายเพื่อมายืนยันความพร้อมของการผลิตน้ำดื่ม แต่สุดท้ายคณะกรรมการพิจารณาจัดซื้อ ได้ตัดสินใจเลือก บริษัท เซ็นทริก (ประเทศไทย) จำกัด เนื่องจากใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ได้รับรางวัลนวัตกรรมระดับประเทศมาแล้ว
"ตู้กรองน้ำให้ความสุขกับประชาชนผ่านการมีสุขภาพที่ดี ความคุ้มค่าต้องมองที่ราคาและประโยชน์ที่ได้รับ ไม่ใช่แค่ความรู้สึก ฉะนั้นถ้าเราจะมองที่ราคาอย่างเดียวก็ไม่เป็นธรรม" นายพิทยา กล่าว
เปิดระเบียบสำนักนายกฯ - ดูชัดๆ เงื่อนไข "วิธีพิเศษ"
สำหรับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุฯ ตามที่ผู้บริหาร ศอ.บต.อ้างถึงนั้น "ทีมข่าวอิศรา" ได้ตรวจสอบเนื้อหาและรายละเอียดของระเบียบฉบับนี้ ในข้อ 24 (1) ระบุถึงการ "จ้างวิธีพิเศษ" กำหนดวงเงินงบประมาณไว้ไม่เกิน 100,000 บาท ซึ่งต้องเป็นงานที่ต้องจ้างผู้มีฝีมือโดยเฉพาะ หรือผู้มีความชำนาญเป็นพิเศษเท่านั้น
ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯฉบับนี้ เป็นการวางกรอบการซื้อ การจ้าง และการจ้างที่ปรึกษาของหน่วยราชการทุกหน่วย ซึ่งโดยหลักปฏิบัติทั่วไป การจัดซื้อจัดจ้างสามารถกระทำได้ 6 วิธี คือ วิธีตกลงราคา วิธีสอบราคา วิธีประกวดราคา วิธีพิเศษ วิธีกรณีพิเศษ และวิธีประมูลด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ แต่การจัดซื้อจัดจ้างที่ใช้งบประมาณเกิน 2 ล้านบาท โดยหลักแล้วให้ใช้วิธีประกวดราคา แต่มีข้อยกเว้นให้ใช้ "วิธีพิเศษ" ได้ เฉพาะกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน หากล่าช้าไปจะเสียหายต่อทางราชการ หรือจ้างด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผลดี หรือเป็นความลับของทางราชการ หรือต้องจ้างช่างผู้มีฝีมือเป็นการเฉพาะเท่านั้้น
นอกจากนั้นยังมีการกำหนดเพดานงบประมาณที่หน่วยหน้าหน่วยราชการที่จะจัดซื้อจัดจ้าง มีอำนาจอนุมัติให้จัดซื้อจัดจ้างวิธีพิเศษได้ เช่น ปลัดกระทรวง (ระดับ 11) ต้องไม่เกิน 50 ล้านบาท (ระเบียบฯข้อ 66)
จากเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่กล่าวมา ทำให้เกิดคำถามว่า ศอ.บต.จัดซื้อตู้กรองน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยความโปร่งใสจริงหรือไม่ ซึ่งคำตอบที่ผู้บริหาร ศอ.บต.อธิบายมาทั้งหมด คงทำให้สังคมได้คำตอบบ้างไม่มากก็น้อย
----------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพผู้บริหาร ศอ.บต.แถลงข่าว จากฝ่ายประชาสัมพันธ์ ศอ.บต.
อ่านประกอบ :
เจาะโครงการ"ตู้กรองน้ำ"ชายแดนใต้ ฮือฮาตัวละครึ่งล้าน ใช้พลังงานแสงอาทิตย์!
"ศอ.บต.-บริษัทผู้ผลิต" ประสานเสียง "ตู้กรองน้ำครึ่งล้าน" สุดคุ้ม!
นายกฯสั่ง กอ.รมน.-ป.ป.ท. ลุยสอบ "ตู้กรองน้ำครึ่งล้าน"
เลขาฯศอ.บต.การันตี "ตู้กรองน้ำครึ่งล้าน" ไม่แพง! ยันโปร่งใสพร้อมให้ตรวจสอบ
แยก 2 สัญญาจัดซื้อวิธีพิเศษ "ตู้กรองน้ำครึ่งล้าน" ไม่ต้องประมูล!
ตั้งคน ศอ.บต.สอบกันเอง - เปิดโครงการ 2 เทอีก 45 ล้านติดตู้กรองน้ำฯ
คนวงการตู้กรองน้ำ ชี้ ครึ่งแสนต่อตู้...ก็หรูแล้ว!
เปิดเอกสารชัด..."ประวิตร" เซ็น "อนุมัติ" โยกงบซื้อตู้กรองน้ำครึ่งล้าน!
เปิดใจ ปธ.สอบตู้กรองน้ำครึ่งล้าน เล็งดึงหน่วยงานกลางพิสูจน์ราคา!
ตู้กรองน้ำครึ่งล้าน...เสี่ยงธรรมาภิบาลบกพร่อง
กรองน้ำครึ่งล้าน...ราคายกโรงงานมาใส่ตู้!
ศอ.บต.ตีข่าวชาวบ้านขอตู้กรองน้ำครึ่งล้าน - ทีมผู้บริหารแถลงใหญ่บ่ายนี้
"ประวิตร"ปัดเซ็นอนุมัติซื้อตู้กรองน้ำครึ่งล้าน - ชี้ราคาถูกกว่าปกติ!