"ศอ.บต.-บริษัทผู้ผลิต" ประสานเสียง "ตู้กรองน้ำครึ่งล้าน" สุดคุ้ม!
เจ้าหน้าที่ระดับสูงจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ซึ่งรับผิดชอบโครงการติดตั้ง "ตู้กรองน้ำพลังงานแสงอาทิตย์" ที่มีราคาสูงกว่าตู้ละ 500,000 บาท หรือที่เรียกว่า "ตู้กรองน้ำครึ่งล้าน" ออกมายืนยันความคุ้มค่าของโครงการซึ่งใช้งบประมาณปีเดียวกว่า 51 ล้าน และข้อสังเกตตลอดจนข้อสงสัยเกือบทั้งหมดขององค์กรตรวจสอบและภาคประชาชนในพื้นที่
การเดินหน้าโครงการติดตั้ง "ตู้กรองน้ำพลังงานแสงอาทิตย์" ถูกวิจารณ์อย่างกว้างขวางในโลกออนไลน์ เพราะปีที่แล้วปีเดียว (งบปี 60) ศอ.บต.จัดซื้อและติดตั้งไปทั้งหมด 90 กว่าตู้ กระจายไปในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา และสตูล สนนราคาอยู่ที่ตู้ละ 549,000 บาท ใช้งบประมาณรวมกว่า 51 ล้านบาท ทำให้หลายฝ่ายออกมาตั้งคำถามถึงเรื่องราคาและความคุ้มค่าในการดำเนินโครงการ เพราะในปีนี้ (งบปี 61) ศอ.บต.ก็เตรียมงบประมาณสำหรับติดตั้ง "ตู้กรองน้ำครึ่งล้าน" เพิ่มอีก
ข้อสงสัยจากองค์กรตรวจสอบการใช้งบประมาณในพื้นที่ รวมถึงภาคประชาชน เกี่ยวกับโครงการติดตั้งตู้กรองน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ มีหลายประเด็น เช่น 1.ราคาต่อเครื่องแพงเกินไปหรือไม่ 2.ทำไมต้องแยกการจัดซื้อออกเป็น 2 สัญญา โดยใช้การจัดซื้อ "วิธีพิเศษ" ไม่มีการประกวดราคาตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุฯ
3.ใช้หลักเกณฑ์อะไรในการเลือกพื้นที่ และบริเวณที่ติดตั้งตู้กรองน้ำฯ ตรงตามความต้องการของประชาชนจริงหรือไม่ 4.มีการอบรมผู้นำท้องถิ่นหรือผู้นำชุมชนเพื่อดูแลตู้กรองน้ำฯ ให้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดหรือไม่ และหากเครื่องหมดระยะเวลาประกันจากบริษัทผู้ผลิต ใครจะรับผิดชอบดูแล และ 5.ใครเป็นผู้รับผิดชอบค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า เพราะตู้กรองน้ำฯ ใช้งานได้ 2 ระบบ คือ พลังงานแสงอาทิตย์ และระบบไฟฟ้า เมื่อกระแสไฟฟ้าที่เก็บจากพลังงานแสงอาทิตย์ไม่เพียงพอ ก็ต้องใช้ระบบไฟฟ้าปกติ ทำให้มีค่าใช้จ่าย
ศอ.บต.แจงยิบ-ยืนยันสุดคุ้ม!
ล่าสุด นายพิทยา รัตนพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ศอ.บต. ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการ ได้ออกมาชี้แจงข้อสงสัยแต่ละประเด็นดังนี้
1.เรื่องราคาของตู้กรองน้ำฯ ที่มองว่าสูงเกินไปหรือไม่ นายพิทยา อธิบายว่า ตู้กรองน้ำตัวนี้เป็นตู้กรองน้ำขนาดใหญ่ วันหนึ่งสามารถผลิตน้ำสะอาดได้ถึง 4,000 ลิตร ได้รับการรับรองมาตรฐานจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทั้งยังได้รับการตรวจสอบคุณภาพจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
2.หลักเกณฑ์การเลือกพื้นที่ติดตั้งตู้กรองน้ำฯ และการอบรมผู้นำท้องถิ่นให้เข้าใจระบบการทำงานของเครื่อง รวมถึงการดูแลรักษา มีบ้างหรือไม่ นายพิทยา ชี้แจงว่า ทาง ศอ.บต.เลือกพื้นที่ติดตั้งตู้กรองน้ำฯ จากสถิติประชาชนที่ร้องขอเข้ามาจำนวนมาก และเมื่อนำตู้กรองน้ำฯไปติดตั้งแล้ว ก็ได้จัดอบรมผู้นำท้องถิ่นเพื่อให้สามารถดูแลรักษาตู้กรองน้ำฯได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3.ความเป็นห่วงเรื่องการดูแลรักษาตู้กรองน้ำฯ ค่าใช้จ่ายหลังหมดระยะเวลาประกัน และค่าน้ำ ค่าไฟ นายพิทยา บอกว่า ขณะนี้มีบางพื้นใช้วิธีรับบริจาคเงินจากผู้ที่มาใช้บริการ (มากดน้ำฟรี) เพื่อลงขันเตรียมไว้เป็นค่าซ่อมบำรุงเมื่อตู้กรองน้ำฯเสีย และในอนาคตก็จะให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น อบต. เทศบาล เข้ามาดูแลและรับผิดชอบร่วมด้วย
4.การแบ่งสัญญาออกเป็น 2 สัญญา นายพิทยา อธิบายว่า เป็นเพราะจุดที่ติดตั้งส่วนหนึ่งอยู่นอกพื้นที่ความมั่นคงของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) คืออยู่นอกสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (จ.สตูล และ สงขลา) แต่พื้นที่ดังกล่าวเป็น "พื้นที่พัฒนา" ของ ศอ.บต.
"โครงการนี้เป็นโครงการที่เป็นการพัฒนาเสริมความมั่นคง ทำขึ้นมา 2 โครงการควบคูกัน ไม่ใช่โครงการเดียว โดยโครงการที่ 1 เป็นโครงการติดตั้งเครื่องกรองน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ด้านความมั่นคง ในพื้นที่ จ.ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา โครงการที่ 2 เป็นโครงการติดตั้งเครื่องกรองน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ด้านการพัฒนา ภายใต้การกำกับดูแลของ ศอ.บต. ในพื้นที่ จ.สตูล และอีก 12 อำเภอของ จ.สงขลา" นายพิทยา ระบุ
ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ศอ.บต. ยืนยันทิ้งท้ายด้วยว่า ตามข่าวที่อ้างว่ามีตู้กรองน้ำฯบางจุดชำรุด ก็ไม่เป็นความจริง เพราะมีเจ้าหน้าที่ระดับอำเภอไปตรวจสอบตลอด ย้ำว่าโครงการนี้คุ้มค่าที่สุด และประชาชนพึงพอใจมาก
บริษัทผู้ผลิตชูคุณภาพ "ตู้กรองน้ำอัจฉริยะ"
สำหรับบริษัทผู้ติดตั้งและจำหน่ายตู้กรองน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับ ศอ.บต. คือ บริษัท เซ็นทริก (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งอยู่ที่ถนนนวลจันทร์ กรุงเทพมหานคร "ศูนย์ข่าวอิศรา" ได้ส่งทีมข่าวไปสังเกตการณ์ และคุยกับผู้จัดการโครงการผลิตเครื่องกรองน้ำฯ ได้ข้อมูลว่า ได้ผลิตตู้กรองน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ส่งไปติดตั้งในโครงการที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นตู้สำเร็จรูป ระบบอัจฉิรยะทั้งอุปกรณ์ประกอบและตัวตู้
"จุดเด่นอยู่ตรงที่เป็นตู้กรองน้ำอัจฉริยะ สามารถเช็คจากระบบออนไลน์ได้ว่าตู้ไหนเสีย หรือตู้ไหนระบบการจ่ายน้ำขัดข้อง และสามารถกรองน้ำได้ทุกประเภท ทั้งน้ำในดินหรือแม้แต่น้ำที่เป็นโคลน ที่สำคัญใช้บุคลากรในการดูแลตู้น้ำจำนวนไม่มาก คุณภาพน้ำที่ผลิตออกมาได้มาตรฐานระดับโลก" ผู้จัดการโครงการตู้กรองน้ำฯ ระบุ
ขณะที่ผู้บริหาร บริษัท เซ็นทริก (ประเทศไทย) จำกัด ได้เดินทางเข้าพบ "ทีมข่าวอิศรา" เพื่อชี้แจงข้อมูลอีกทางหนึ่ง โดยย้ำว่า บริษัทเป็นผู้พัฒนาระบบเครื่องกรองน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ จนได้รับรางวัล "สุดยอดนวัตกรรม เซเว่น อินโนเวชั่น อวอร์ดส์" ประจำปี 2559 สามารถผลิตน้ำสะอาดคุณภาพมาตรฐานองค์การอนามัยโลกได้วันละ 4,000 ลิตร โดยตู้กรองน้ำฯทุกตู้ติดตั้งระบบควบคุมและรายงานผลระยะไกล สามารถตรวจสอบคุณภาพเครื่องและการทำงานของเครื่องได้ผ่านทางออนไลน์ ทั้งยังมีช่างประจำอยู่ในพื้นที่ชายแดนใต้นับสิบคน
นายภูมิพัฒน์ บุญช่วย กรรมการบริษัทเซ็นทริกฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีที่หมดระยะเวลาประกันของตู้กรองน้ำฯ ทางบริษัทฯยังสามารถช่วยเหลือเรื่องการซ่อมบำรุงผ่านระบบควบคุมและรายงานผลระยะไกลได้ (ระบบออนไลน์) โดยมีทีมงานเข้าไปดูคุณภาพน้ำ และการทำงานต่างๆ ของเครื่อง เมื่อพบความผิดปกติก็จะใช้วิธีติดต่อกับผู้ดูแลหน้างาน และช่างของ ศอ.บต.ที่ทางบริษัทฯอบรมเอาไว้ เพื่อให้ทราบถึงสถานะของเครื่องและการดำเนินการที่ต้องการ
"ส่วนนี้ไม่มีค่าใช้จ่ายในการเข้าไปควบคุมดูแล เนื่องจากบริษัทฯจะต้องควบคุมดูแลตู้กรองน้ำฯ ไม่แต่เฉพาะในโครงการนี้เท่านั้น แต่ยังรวมถึงโครงการอื่นๆ ในอนาคตด้วย" นายภูมิพัฒน์ ระบุ
สำหรับระยะเวลาประกันของตู้กรองน้ำฯ ทางบริษัทฯรับประกันตัวตู้และส่วนประกอบเป็นเวลา 1 ปี แต่ นายภูมิพัฒน์ ยืนยันว่า ช่างของบริษัทฯ จะดูแลต่อเพิ่มให้อีก 1 ปี ขณะที่อายุการใช้งานของตู้กรองน้ำฯ เฉลี่ยอยู่ที่ 5 ปี
ยันตู้กรองน้ำฯไม่ได้ขึ้นสนิม
วันเดียวกัน ศอ.บต. และบริษัทผู้ติดตั้งตู้กรองน้ำฯ ยังได้ส่งคลิปวีดีโอมาให้ "ทีมข่าวอิศรา" กรณีนำเสนอภาพตู้กรองน้ำฯบางตู้ที่เพิ่งนำไปติดตั้ง แต่มีลักษณะคล้ายๆ สนิมขึ้น โดยเป็นตู้กรองน้ำฯ ที่ ต.น้ำบ่อ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี
สำหรับภาพในคลิปวีดีโอ เป็นภาพช่างของบริษัทฯ เดินทางไปตรวจสอบตู้กรองน้ำฯที่ปรากฏภาพมีคราบคล้ายสนิมขึ้น จากนั้นได้เช็ดคราบคล้ายสนิมออก และยืนยันว่าตู้ไม่ได้ขึ้นสนิม แต่เป็นคราบที่เกิดจากสภาพอากาศบริเวณนั้นอยู่ใกล้ทะเล นอกจากนั้นยังมีการสอบถามชาวบ้านที่ไปกดน้ำดื่ม ถามว่าดีไหม รสชาติดีไหม ชาวบ้านซึ่งเป็นผู้หญิงมุสลิมตอบอย่างเขินอายว่า "ดี น้ำอร่อยดี"
-------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ช่างของบริษัทผู้ติดตั้งฯ เข้าไปเช็ดคราบคล้ายสนิมจากตู้กรองน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งถูกติดตั้งไว้ที่ ต.น้ำบ่อ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี
2 หญิงมุสลิมหิ้วขวดไปกดน้ำจากตู้กรองน้ำพลังงานแสงอาทิตย์
ขอบคุณ : ภาพจากคลิปวีดีโอที่ถ่ายโดยช่างของบริษัทผู้ผลิต
อ่านประกอบ : เจาะโครงการ"ตู้กรองน้ำ"ชายแดนใต้ ฮือฮาตัวละครึ่งล้าน ใช้พลังงานแสงอาทิตย์!