เปิดตัว 7 อรหันต์สอบ ศอ.บต.4 โครงการฉาว...ฟอกขาวหรือเอาจริง?
คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 166/2560 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง กรณีการดำเนินงานโครงการของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. น่าจะเรียกได้ว่าเป็นครั้งแรกๆ ที่การใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลในภารกิจ "ดับไฟใต้" ตลอด 13 ปีที่ผ่านมา ถูกตรวจสอบอย่างเป็นทางการและปรากฏต่อสาธารณะ
ที่ผ่านมาอาจมีการตรวจสอบบ้าง แต่ก็น่าจะเป็นในกรอบปกติของกระบวนการพิจารณางบประมาณ หรือการตรวจสอบจากคณะกรรมาธิการชุดต่างๆ ของสภาเท่านั้น และการตรวจสอบก็ทำได้ค่อนข้างยากเนื่องจากติดขัดคำว่า "งบลับ" และ "งบด้านความมั่นคง" ซึ่งกลายเป็นเหมือนคาถาป้องกันการตรวจสอบ ขณะที่ปัจจุบันงบดับไฟใต้บานปลายไปถึงกว่า 3 แสนล้านบาทแล้ว
แต่วันนี้..จากการร้องเรียนของชาวบ้านในพื้นที่ชายแดนใต้เองซึ่งตื่นตัวอย่างมาก ประกอบกับการรายงานข่าวอย่างเกาะติดของสื่อมวลชน ทำให้นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องออกปากสั่งด้วยตนเอง
และล่าสุดก็ออกมาเป็นคำสั่งนี้ที่แม้ลงนามโดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ แต่ก็เป็นการลงนามแทนนายกรัฐมนตรี
4 โครงการฉาวที่คณะกรรมการต้องเข้าไปตรวจสอบ และระบุในคำสั่งชัดเจนก็คือ 1.โครงการติดตั้งเสาไฟส่องสว่างพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ โซลาร์เซลล์ งบประมาณ 931 ล้านบาทเศษ ซึ่งชำรุดเสียหายจำนวนมาก โครงการนี้มี 6 สัญญา ถูกตั้งคำถามว่าเอกชนบางรายได้งานไปเกินกว่าศักยภาพที่ทำได้ ขณะที่การตั้งงบประมาณซ่อมแซม ได้ว่าจ้างเอกชนที่มีประสบการณ์จริงเข้าไปทำงานหรือไม่
2.โครงการก่อสร้างสนามฟุตซอล 1 ตำบล 1 สนาม งบประมาณ 179.3 ล้านบาท แต่ถูกปล่อยทิ้งร้าง และพื้นสนามพัง
3.โครงการปรับปรุงโรงแรมร้าง "ชางลี" เป็นสำนักงานใหม่ของ ศอ.บต.ในตัวเมืองยะลา ใช้งบรวมกว่า 263 ล้านบาท ทั้งๆ ที่ ศอ.บต.มีสำนักงานใหญ่โตอยู่แล้วในเขตอำเภอเมืองยะลาเช่นเดียวกัน
และ 4.โครงการปรับปรุงมัสยิด 300 ปีที่ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ใช้งบประมาณกว่า 149 ล้านบาท แต่ไปว่าจ้างบริษัทล้มละลายมาทำโครงการ รวม 4 โครงการ งบสูงถึงกว่า 1,500 ล้านบาท!!
ทันทีที่มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงฯ เผยแพร่ทางสื่อมวลชน ปรากฏว่ามีเสียงวิจารณ์ตามมาทันทีว่างานนี้รัฐบาล โดยเฉพาะ "บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะผู้ลงนามในคำสั่ง ตั้งใจจะ "ตรวจสอบจริงๆ" หรือว่า "ฟอกขาว" ให้ ศอ.บต.กันแน่ โดยเฉพาะคณะกรรมการ 7 คนที่ตั้งขึ้นมา ยกเว้นประธานที่ชื่อ นายจิรชัย มูลทองโร่ย แล้ว ที่เหลือน่าจะไม่มี "เพาเวอร์" มากพอที่จะจัดการหน่วยงานระดับ ศอ.บต.
ไล่เรียงดู "รายชื่อ" และ "ที่มา" ของกรรมการแต่ละคน เริ่มจาก...
นายจิรชัย มูลทองโร่ย ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ถูกวางตัวเป็นประธาน
ต่อมาคือ พล.อ.จำลอง คุณสงค์ อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4 "สายพิราบ" ปัจจุบันเป็นผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
พล.อ.สสิน ทองภักดี เสนาธิการทหารบก และเลขาธิการ กอ.รมน.
นายสมเกียรติ ศรีประเสริฐ รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ
นายอิสระ ศิริวรภา ผู้ตรวจราชการประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
นายวิริยะ รามสมภพ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ
และ พล.ต.ภราดร จินดาลัทธ จากสำนักงานตรวจสอบภายในกลาโหม (สตน.กห.)
ข้อสังเกตจากหลายๆ ฝ่าย และอารมณ์ความรู้สึกของประชาชนที่สะท้อนผ่านโซเชียลมีเดียมองว่า กรรมการทั้ง 7 คนดูแล้ว "โนเนม" เกินไปในแง่ของการตรวจสอบทุจริตหรือการใช้จ่ายงบประมาณ มีเพียง นายจิรชัย เท่านั้นที่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดจากโครงการรับจำนำข้าว และฟันธงว่าการดำเนินโครงการจำนำข้าวของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นความผิดอย่างน้อย 3 กระทง
ขณะที่ พล.อ.สสิน ทองภักดี เป็นอีกคนที่มีดีกรีเป็นเสนาธิการทหารบก ก็ยังถือว่ายอมรับได้ เพราะเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 5 หรือ ศปป.5 ของ กอ.รมน. น่าจะรู้เส้นสนกลในการบริหารงบประมาณในพื้นที่ปลายด้ามขวานเป็นอย่างดี
ขณะที่ พล.อ.จำลอง แม้จะเคยเป็นใหญ่ในกองทัพภาคที่ 4 แต่ปัจจุบันก็เป็นเพียงอดีต ส่วนสถานะ "ผู้แทนพิเศษของรัฐบาล" หรือ "ครม.ส่วนหน้า" ก็ทำงานใกล้ชิดกับ นายภาณุ อุทัยรัตน์ อดีตเลขาธิการ ศอ.บต. ซึ่งหลายฝ่ายรู้กันดีว่ายังมีบทบาทอย่างสูงต่อผู้บริหาร ศอ.บต.ชุดปัจจุบัน ส่วนกรรมการคนอื่นๆ ดูแล้วตั้งเข้าไป "โดยตำแหน่ง" มากกว่า
ที่สำคัญไม่มีตัวแทนจากกรมบัญชีกลาง หรือสำนักงบประมาณ เข้าไปร่วมเป็นกรรมการด้วยเลย ทั้งๆ ที่เป็นปัญหาการใช้จ่ายงบประมาณ ซึ่งตามคำสั่งระบุชัดว่าไม่เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ และกฎระเบียบของราชการ
ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ลืมว่า พล.อ.ประวิตร เป็นประธาน คปต. หรือคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งก็เท่ากับเป็นรองนายกฯคุมงานดับไฟใต้นั่นเอง และที่ผ่านมาผู้บริหาร ศอ.บต.ก็เคยออกมาชี้แจงว่าการจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ ซึ่งใช้ "วิธีพิเศษ" นั้น ได้มีการสอบราคาและลงนามในสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง พร้อมรายงาน พล.อ.ประวิตร ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี ให้รับรองด้วยทุกครั้ง
คำถามก็คือ ถ้าการดำเนินโครงการและการจัดซื้อจัดจ้างของ ศอ.บต.ผิดพลาด บกพร่อง ไม่โปร่งใส รองนายกรัฐมนตรีที่รับผิดชอบจะมีความผิดด้วยหรือไม่ คำถามแค่นี้ก็ทำให้หลายคนรู้ธงคำตอบของการสอบสวน เหมือนเมื่อครั้งตั้งแท่นขึงขังสอบโครงการอุทยานราชภักดิ์
จะว่าไปแล้วการดำเนินโครงการต่างๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีปัญหาความไม่โปร่งใส และไม่ถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้นจริงจังเหมือนภูมิภาคอื่นๆ สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะได้รับอนุมัติจากกรมบัญชีกลาง และกระทรวงมหาดไทย ให้ใช้การ "จัดซื้อจัดจ้างวิธีพิเศษ" ได้โดยไม่ต้องเปิดประมูล หรือปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุฯ
เหตุผลก็คือสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น และเพื่อความคล่องตัวในพื้นที่พิเศษที่มีปัญหาความมั่นคง แต่ไปๆ มาๆ กลับกลายเป็นช่องทางให้หน่วยงานรัฐบางหน่วย และเจ้าหน้าที่รัฐบางคน ใช้เงินงบประมาณจากภาษีประชาชนอย่างสนุกมือ
หากรัฐบาลและ พลเอกประวิตร ต้องการให้สังคมเชื่อมั่นว่าการตรวจสอบการดำเนินโครงการของ ศอ.บต.ครั้งนี้ ไม่ใช่ "มวยล้ม-ฟอกขาว" ก็ควรยกเลิกสิทธิพิเศษในการ "จัดซื้อจัดจ้างวิธีพิเศษ" ทันที ไม่ต้องรอให้กฎหมายจัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่มีผลใช้บังคับเหมือนที่หน่วยงานในพื้นที่อ้างกันอยู่
หากวันนี้สถานการณ์ที่ชายแดนใต้ดีขึ้นจริงอย่างที่รัฐบาลบอก ก็ควรเลิกให้สิทธิพิเศษเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง แล้วปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ปกติเหมือนพื้นที่อื่นๆ อย่าปล่อยให้ดินแดนปลายด้ามขวานและสถานการณ์ความรุนแรง เป็นข้ออ้างของบรรดาพวกหาผลประโยชน์โดยมิชอบจากงบประมาณต่อไปอีกเลย
-----------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 นายจิรชัย มูลทองโร่ย
2 พล.อ.จำลอง คุณสงค์
3 พล.อ.สสิน ทองภักดี
4 นายสมเกียรติ ศรีประเสริฐ
5 นายอิสระ ศิริวรภา
6 นายวิริยะ รามสมภพ
7 พล.ต.ภราดร จินดาลัทธ
ขอบคุณ : ภาพต้นฉบับ วิริยะ รามสมภพ จากเว็บไซต์ไทยพับลิก้า
อ่านประกอบ :
"ศุภณัฐ" ลั่นพร้อมแจง 4 โครงการฉาว - แย้มคุย "ประวิตร" แล้ว
"ประวิตร"สั่งตั้งกรรมการสอบ 4 โครงการฉาว ศอ.บต.
3 ปี 179 ล้าน...โครงการ 1 ตำบล 1 สนามฟุตซอล "พัง-ร้าง" อื้อ!
ฟุตซอลโคกโพธิ์ ปัตตานี...สนาม (ร้าง) 1 ล้าน หลังคา 3 ล้าน!
ศอ.บต.แจงสนามฟุตซอลชำรุด 20 แห่ง เหตุกีฬาในร่มแต่สร้างกลางแจ้ง!
เจาะโครงการเสาไฟโซลาร์เซลล์พันล้าน! ชาวบ้านร้องติดๆ ดับๆ
ศอ.บต.แจงเสาโซลาร์เซลล์เสียแค่ 531 ต้น อ้างถูกขโมยแบตเตอรี่!
ศอ.บต.ระดมแพร่ข้อมูลการันตีโครงการเสาโซลาร์เซลล์พันล้าน
สำรวจตลาด-พิสูจน์ราคาเสาไฟโซลาร์เซลล์พันล้าน!
นายกฯสั่งสอบเสาไฟโซลาร์เซลล์พันล้านชายแดนใต้
ป.ป.ช.ลงพื้นที่บันนังสตาตรวจเสาไฟโซลาเซลล์พันล้าน
เปิดตัวบริษัทรับงานซ่อมเสาไฟโซลาร์เซลล์เงินล้าน!
เทศบาลปะแตแฉเสาไฟโซลาร์เซลล์เสีย 90% ศอ.บต.เทอีก 12 ล้านติดตั้งเพิ่ม
นายกฯสั่ง ศอ.บต.แจงเสาไฟโซลาร์เซลล์พันล้าน - อบต.มึนไม่ได้สักต้น!
ศอ.บต.อ้าง "อากาศชื้น" ทำเสาไฟโซลาร์เซลล์ติดๆ ดับๆ
ชำแหละ 6 สัญญาโซลาร์เซลล์ชายแดนใต้...รายเดียวกวาด 615 ล้าน!
ศอ.บต.ดันต่อ "หมู่บ้านโซลาร์เซลล์100%" โต้กลับท้องถิ่นยันไม่มี "โครงการลม"
ถามช้างตอบม้า? ศอ.บต.กับโซลาร์เซลล์พันล้าน
"ภาณุ" เปิดใจ ศอ.บต. "หมู่บ้านกระสุนตก" เพราะอ่อนประชาสัมพันธ์
เปิดงบปรับปรุง "โรงแรมร้างชางลี" เฉียดร้อยล้าน! ออฟฟิศใหม่ ศอ.บต.