เปิดตัวบริษัทรับงานซ่อมเสาไฟโซลาร์เซลล์เงินล้าน!
ถือเป็นประเด็นที่ "ทีมข่าวอิศรา" เกาะติดมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับปัญหาการชำรุดของเสาไฟพลังงานแสงอาทิตย์ หรือโซลาร์เซลล์ ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นโครงการของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต.
โครงการนี้ ศอ.บต.ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกระทรวงพลังงานกว่า 1,000 ล้านบาท แต่ถูกชาวบ้านร้องเรียนว่าเสาไฟโซลาร์เซลล์ซึ่งทะยอยติดตั้งมาตลอด 2 ปีที่ผ่านมา รวม 14,318 จุดนั้น ชำรุดเสียหายมากกว่าร้อยละ 80
ต่อมาผู้บริหาร ศอ.บต.ออกมาชี้แจงว่า จากการสำรวจพื้นที่ พบเสาไฟโซลาเซลล์ชำรุดเสียหายเพียง 531 จุด คิดเป็นร้อยละ 4 เท่านั้น โดยมีสาเหตุหลักจากการถูกขโมยแบตเตอรี่ และได้ตั้งงบประมาณซ่อมแซม ภายใต้ชื่อ "โครงการซ่อมแซมโคมไฟฟ้าส่องสว่างพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยวิธีพิเศษ" วงเงินงบประมาณ 4,354,200 บาท เฉลี่ยราคาซ่อมแซมต้นละ 8,200 บาท
งบประมาณซ่อมแซม 4.3 ล้านบาทเศษ เป็นราคากลางที่ได้จากการสืบราคาอ้างอิงจากผู้มีอาชีพจำหน่ายและติดตั้ง จำนวน 3 ราย คือ บริษัท ไฮโตร เอเนอร์จี คอนเวอร์ชั่น จำกัด, ห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) อานา กรุ๊ป และ หจก.ศรีเมือง ซัพพลาย ปรากฏว่า ศอ.บต.เลือกว่าจ้าง บริษัท ไฮโตร เอเนอร์จีฯ โดยทำสัญญากันเมื่อวันที่ 28 ก.พ.60 วงเงินจัดจ้าง 4,248,000 บาท ต่ำกว่าราคากลางเล็กน้อย
เป็นที่น่าสังเกตว่า บริษัท ไฮโตร เอเนอร์จีฯ จดทะเบียนก่อตั้งเมื่อปี 2555 ทุนจดทะเบียน 3 ล้านบาท ประกอบกิจการเกี่ยวกับงานวิศวกรรม และการให้คำปรึกษาทางด้านเทคนิคที่เกี่ยวข้อง ที่ตั้งบริษัทตามที่แจ้งกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ตั้งอยู่เลขที่ 30/10 หมู่ 1 ต.สะเตงนอก อ.เมือง จ.ยะลา ซึ่งมีลักษณะเป็นบ้านสำหรับอยู่อาศัย ไม่พบอุปกรณ์สำหรับติดตั้งหรือซ่อมแซมเสาไฟโซลาร์เซลล์
บริษัทไฮโตร เอเนอร์จีฯ แจ้งงบกำไรขาดทุนเมื่อปี 2558 ว่าไม่มีรายได้ และยังขาดทุน 35,430 บาทจากค่าใช้จ่ายในการขายและบริการ แต่ไม่มีข้อมูลว่ารับงานหรือมีผลงานเกี่ยวกับโซลาร์เซลล์มาก่อน สอดคล้องกับข้อมูลของกรมบัญชีกลาง และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ที่ไม่พบว่าบริษัทแห่งนี้เคยเป็นคู่สัญญากับรัฐในโครงการอื่นใดเลย
ผิดกับ หจก.ศรีเมือง ซัพพลาย ที่ไม่ได้รับเลือกให้ทำสัญญาซ่อมแซมเสาไฟโซลาร์เซลล์ กลับมีผลงานติดตั้งเสาไฟส่องสว่าง และงานก่อสร้างที่เกี่ยวข้องมากมาย ขณะที่ หจก.อานา กรุ๊ป ซึ่งไม่ได้รับเลือกเช่นกัน ก็มีทุนจดทะเบียนถึง 10 ล้านบาท นอกจากนั้นยังเป็นที่น่าสังเกตว่า เอกชนที่รับงานติดตั้งเสาไฟโซลาร์เซลล์ รวม 6 สัญญา มูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาทนั้น กลับไม่ถูก ศอ.บต.สืบราคา หรือคัดเลือกให้มาทำหน้าที่ซ่อมแซมแต่อย่างใด โดยเฉพาะ หจก.สุนทรเทคโนโลยี ซึ่งได้งานไป 3 สัญญา ติดตั้ง 9,948 ชุด งบประมาณถึง 615 ล้านบาท
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 9 พ.ค.60 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทยและกองทัพภาคที่ 4 ไปตรวจสอบโครงการเสาไฟโซลาร์เซลล์ของ ศอ.บต. หลังถูกตีแผ่ปัญหา โดยย้ำว่าต้องไปหาสาเหตุของการชำรุด และดำเนินการซ่อมแซมตามที่ระบุไว้ในสัญญา
แต่หลังจากที่นายกฯสั่งการ กลับยังไม่มีความเคลื่อนไหวอะไรมากนักจากทาง ศอ.บต. เพราะผู้บริหารและอดีตผู้บริหารพยายามชี้แจงเพียงว่า เสาไฟโซลาร์เซลล์ชำรุดไม่มาก ส่วนใหญ่ที่ไฟดับเพราะแบตเตอรี่ถูกขโมย และยังมีเสาไฟโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปะปนอยู่เป็นจำนวนมากด้วย
ขณะเดียวกัน สำนักงาน ป.ป.ช.จังหวัดยะลา ได้ส่งคณะทำงานลงพื้นที่ตรวจสอบการทำงานของเสาไฟโซลาร์เซลล์ หลังได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านในหลายพื้นที่ ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 23 พ.ค.60 ลงพื้นที่ อ.บันนังสตา จ.ยะลา พบเสาไฟโซลาร์เซลล์มีปัญหาราวร้อยละ 70 ต่อมาลงพื้นที่ อ.ยะหา จ.ยะลา พบเสาไฟชำรุดเสียหายกว่าร้อยละ 80 ขณะที่ล่าสุดวันที่ 31 พ.ค. ลงพื้นที่รอยต่อ อ.บันนังสตา กับ อ.ธารโต จ.ยะลา
---------------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
เจาะโครงการเสาไฟโซลาร์เซลล์พันล้าน! ชาวบ้านร้องติดๆ ดับๆ
ศอ.บต.แจงเสาโซลาร์เซลล์เสียแค่ 531 ต้น อ้างถูกขโมยแบตเตอรี่!
ศอ.บต.ระดมแพร่ข้อมูลการันตีโครงการเสาโซลาร์เซลล์พันล้าน
สำรวจตลาด-พิสูจน์ราคาเสาไฟโซลาร์เซลล์พันล้าน!