- Home
- South
- ข่าวทั่วไปศูนย์ข่าวภาคใต้
- ยื่นสภาสอบปม "อับดุลเลาะ-คณากร-116" เชิญทูตถกปมซ้อมทรมาน
ยื่นสภาสอบปม "อับดุลเลาะ-คณากร-116" เชิญทูตถกปมซ้อมทรมาน
บรรยากาศที่อาคารรัฐสภาใหม่ เกียกกาย วันพุธที่ 9 ต.ค.62 คึกคักเป็นพิเศษ เพราะมีการยื่นเรื่องให้คณะกรรมาธิการสามัญของสภาผู้แทนราษฎร ตรวจสอบประเด็นร้อนทางการเมืองหลายเรื่อง
ทั้งปม นายคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาศาลจังหวัดยะลายิงตัวเอง กรณีการเสียชีวิตของผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคง นายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ และการรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญที่พาดพิงมาตรา 1 จนทำให้ฝ่ายความมั่นคงแจ้งจับแกนนำฝ่ายค้าน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ซึ่งทุกเรื่องที่กล่าวมามีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
เริ่มที่กรณี นายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ช่วงเช้า มูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้พาภรรยาของนายอับดุลเลาะเดินทางไปที่อาคารรัฐสภา เพื่อยื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน โดยยื่นผ่าน "ช่อ" นางสาวพรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ ในฐานะรองประธานกรรมาธิการฯ เพื่อขอความเป็นธรรมกรณีการเสียชีวิตหลังถูกคุมตัวเข้าค่ายทหารที่จังหวัดปัตตานี โดยให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนของเจ้าหน้าที่ชายแดนใต้
นอกจากยื่นเรื่องที่สภาแล้ว มูลนิธิผสานวัฒนธรรมยังได้พาภรรยาของนายอับดุลเลาะไปยื่นหนังสือที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ด้วย เพื่อให้รับคดีนี้เป็นคดีพิเศษ และตรวจสอบในเชิงลึกต่อไป
เชิญทูตนานาชาติถกปัญหาซ้อมทรมาน
ขณะเดียวกัน นายปิยบุตร แสงกนกกุล ประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมายฯ ได้เชิญเอกอัครราชทูต และผู้แทนทูตหลายประเทศ เช่น อังกฤษ นอร์เวย์ สวีเดน โปรตุเกส สเปน และเยอรมนี รวมถึงองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนสากล เข้าหารือแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย โดยยกประเด็นเรื่องการซ้อมทรมานในภาคใต้เป็นหัวข้อในการหารือด้วย
นายรังสิมันต์ โรม โฆษกกรรมาธิการฯ บอกว่า แม้บางเรื่องจะเป็นเรื่องภายในประเทศ แต่ก็ได้รับความสนใจจากต่างประเทศ โดยเฉพาะคดีที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน และปัญหาการซ้อมทรมาน อย่างกรณีนายอัลดุลเลาะ และกรณีอื่นๆ ที่มีการร้องเรียนมาเป็นระยะ
เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังจากนายอับดุลเลาะถูกคุมตัวเข้าค่ายทหาร และมีอาการหมดสติ สมองบวมทันทีในคืนเดียวกัน (วันที่ 20-21 ก.ค.62) จนต้องมีการหามส่งห้องไอซียู ปรากฏว่า ทางแม่ทัพภาคที่ 4 ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้ โดยมีผู้นำศาสนา ผู้แทนองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน และภาคประชาสังคมเกือบทุกองค์กรในพื้นที่ชายแดนใต้เข้าร่วมเป็นกรรมการ ผลการตรวจสอบพร้อมรายงานทางการแพทย์ยืนยันว่า นายอับดุลเลาะเสียชีวิตจากอาการเจ็บป่วย และไม่พบร่องรอยการทำร้ายหรือซ้อมทรมาน
กมธ.รับสอบปมผู้พิพากษายิงตัวเอง
วันเดียวกันนี้ คณะกรรมาธิการการกฎหมายฯ ยังมีมติรับเรื่องตรวจสอบและศึกษากรณีที่มีผู้พิพากษาศาลจังหวัดยะลายิงตัวเอง แต่ยังไม่มีมติว่าจะเชิญบุคคลใดมาให้ข้อมูลบ้าง โดย นายรังสิมันต์ โฆษกกรรมาธิการฯ บอกว่า ความตั้งใจของกรรมาธิการฯ คือต้องการทำให้ผู้พิพากษามีอิสระในการทำงานมากยิ่งขึ้น และคำนึงถึงความเป็นเอกภาพของผู้พิพากษา เพื่อให้ประชาชนมั่นใจได้ว่าจะได้รับความยุติธรรมจากกระบวนการยุติธรรม
แต่ก็ยอมรับว่า คณะกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน ซึ่งมี นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.พรรคเพื่อไทยเป็นประธาน ก็ต้องการศึกษาเรื่องนี้เช่นกัน แต่ตามข้อบังคับของสภา ไม่อนุญาตให้คณะกรรมาธิการฯ ทำงานซ้อนกันได้ จึงต้องหารือกันอีกครั้งว่าจะให้คณะกรรมาธิการฯชุดใดรับผิดชอบ
อีกด้านหนึ่ง นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ออกมาเตือนว่า การตรวจสอบหรือศึกษาเรื่องผู้พิพากษายิงตัวเองของคณะกรรมาธิการฯ แม้จะเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ แต่ต้องไม่ก้าวล่วงเข้าไปในเนื้อคดีหรือสำนวนคดีที่ผู้พิพากษาอ้างว่ามีปัญหาถูกแทรกแซง
อธิบดีศาลภาค 9 ยันไม่เคยแทรกแซงคำพิพากษา
วันเดียวกัน เพจเฟซบุ๊ก "สื่อศาล" ของสำนักงานศาลยุติธรรม ได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์ นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เกี่ยวกับแนวทางการทำงานของอนุกรรมการตุลาการวิสามัญ ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณี นายคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดยะลา ยิงตัวเอง โดยบอกว่า ตามกฎหมายยังไม่สามารถสั่งย้ายผู้เกี่ยวข้องได้จนกว่าจะมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงเสร็จสิ้น
ส่วนตัวได้มีโอกาสพูดคุยกับอธิบดีผู้พิพากษาภาค 9 ถึงเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว โดยอธิบดีผู้พิพากษาภาค 9 ยอมรับเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ยืนยันว่าการปฏิบัติหน้าที่ที่ผ่านมาทำไปตามระเบียบ ไม่มีเจตนาที่จะแทรกแซง ซึ่งผลการพิพากษาจะออกมาเป็นอย่างไร อธิบดีฯทำได้เพียงทักท้วงเท่านั้น เพื่อให้กระบวนการต่างๆ ในการพิจารณา มีความรอบคอบ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงหรือให้แก้ไข ฉะนั้นเรื่องที่เกิดขึ้นอาจเกิดจากสื่อสารที่คลาดเคลื่อน
พร้อมทั้งยืนยันระบบการบริหารบุคคลของศาลว่า ได้วางหลักประกันความเป็นอิสระของผู้พิพากษาไว้เป็นอย่างดี แม้อธิบดีผู้พิพากษาภาคจะย้ายผู้พิพากษาในภาคตัวเอง หากผู้พิพากษาไม่ยินยอมก็ไม่สามารถย้ายได้ ขณะที่อำนาจของการแต่งตั้งโยกย้ายของประธานศาลฎีกา ถ้าไม่ใช่โยกย้ายประจำปี ประธานศาลฎีกาจะสั่งย้ายผู้พิพากษาโดยไม่รับความยินยอมก็ไม่ได้เช่นกัน ต้องให้ ก.ต.เห็นชอบด้วยเท่านั้น
พปชร.ลุยยื่นถอดแกนนำฝ่ายค้านขึ้นเวทีแก้รธน.
อีกเรื่องหนึ่งที่มีความพยายามยื่นเรื่องให้ใช้กลไกสภาตรวจสอบ ก็คือ การใช้อำนาจของ กอ.รมน. โดย พลตรี บุรินทร์ ทองประไพ ผู้ชำนาญการสำนักงาน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับแกนนำพรรคฝ่ายค้านที่ขึ้นเวทีรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญที่จังหวัดปัตตานี ซึ่งมีการเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 1 โดยคณะกรรมาธิการการกฎหมายฯ ปีกพรรคอนาคตใหม่ มีแนวคิดที่จะเรียก พลตรี บุรินทร์ เข้าชี้แจง แต่ปรากฏว่าที่ประชุมวันนี้ยังพิจารณาไม่ถึงวาระการเรียก พลตรี บุรินทร์
อีกด้านหนึ่ง นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และ นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ ได้นำรายชื่อ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐจำนวน 51 คน ยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้ส้่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยสมาชิกภาพของ ส.ส. 6 คนซึ่งเป็นแกนนำ 7 พรรคฝ่ายค้าน ว่าต้องขาดสมาชิกภาพหรือไม่ จากการร่วมเวทีที่มีการเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 1 และยังใช้อำนาจ ส.ส.ก้าวก่ายการทำหน้าที่ของ กอ.รมน.ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐด้วย
-----------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
ผู้พิพากษาศาลยะลายิงตัวเองหน้าบัลลังก์ หลังยกฟ้องคดีความมั่นคง
เปิดสำนวนคดีชนวนเหตุผู้พิพากษายะลายิงตัวเอง
ชง ก.ต.สอบปมผู้พิพากษาศาลยะลายิงตัวเอง
คลี่ 4 ปมคำแถลง"ผู้พิพากษาคณากร" กับข้อสังเกตชนวนเหตุยิงตัวเอง
เตือนเลิกตรวจคำพิพากษาผลร้ายหนักกว่า - แฉยิงกระสุนซ้อมก็ตายได้
กระสุนซ้อมหรือจริง...โดนยิงจุดสำคัญก็ตาย!
เจาะ ป.อาญา 116 แจ้งจับง่ายแต่เอาผิดไม่ง่าย?
แกนนำไทยพุทธโวยถูกเหมาเข่งแจ้งจับปมแก้ รธน.มาตรา 1
ม.116 วุ่น นศ.-อาจารย์ฮือต้าน - มูลนิธิผสานฯจี้สางปมผู้พิพากษา