- Home
- South
- ข่าวทั่วไปศูนย์ข่าวภาคใต้
- แม่ทัพ4 ซัดโรงเรียนเอกชนปัตตานีโกงงบรัฐปีละ 760 ล้าน - จ่ายเงินเดือนกลุ่มป่วนใต้
แม่ทัพ4 ซัดโรงเรียนเอกชนปัตตานีโกงงบรัฐปีละ 760 ล้าน - จ่ายเงินเดือนกลุ่มป่วนใต้
การเปิดข้อมูลของฝ่ายความมั่นคงเพื่อกล่าวหาโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามบางแห่งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีพฤติการณ์ทุจริตงบอุดหนุนรายหัวนักเรียนที่รัฐบาลจัดสรรให้ หัวละ 14,000 บาทต่อปี แล้วผ่องถ่ายเอาไปสนับสนุนกลุ่มก่อความไม่สงบ ยังคงดำเนินต่อไปอย่างเข้มข้น ล่าสุดถึงขั้นที่แม่ทัพภาคที่ 4 ออกมาแถลงข่าวยืนยันข้อมูลด้วยตนเอง
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 22 ก.พ.61 พล.ต.จตุพร กลัมพสุต ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี ได้เปิดแถลงข่าวแสดงหลักฐานการเข้าตรวจค้นโรงเรียนบากงพิทยา หรือ "ปอเนาะบากง" อ.หนองจิก จ.ปัตตานี อ้างว่าพบหลักฐานทุจริตเงินอุดหนุนรายหัวนักเรียน ด้วยการแจ้งจำนวนนักเรียนเท็จ และยังอ้างว่าพบหลักฐานการแจ้งรายชื่อครูเท็จ เพื่อเบิกงบอุดหนุนจากกระทรวงศึกษาธิการในอัตราที่สูงเกินจริงด้วย โดย พล.ต.จตุพร ระบุว่ามีการผ่องถ่ายเงินเหล่านี้ไปสนับสนุนกลุ่มก่อความไม่สงบ โดยเฉพาะ "ทีมปัตตานี" ที่ก่อเหตุรุนแรงขนาดใหญ่ในพื้นที่หลายครั้ง เช่น คาร์บอมบ์ห้างบิ๊กซีซุปเปอร์เซ็นเตอร์ เมื่อวันที่ 9 พ.ค.60 และเหตุการณ์ปล้นรถกระบะ 6 คันเพื่อนำไปทำคาร์บอมบ์ เมื่อวันที่ 16 ส.ค.60 เป็นต้น
ทั้งนี้ หลังการแถลงข่าวในครั้งนั้น ฝ่ายความมั่นคงได้ส่งตัวแทนเข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สภ.หนองจิก ให้ดำเนินคดีกับผู้บริหารโรงเรียนบากงพิทยาบางคนด้วย ต่อมาผู้บริหารโรงเรียนบากงพิทยาได้เปิดแถลงข่าวตอบโต้ข้อกล่าวหาทั้งหมด และยืนยันความบริสุทธิ์ ไม่เคยทุจริต ทั้งยังให้ความร่วมมือด้วยดีกับฝ่ายความมั่นคงมาตลอด
เป็นที่น่าสังเกตว่าประเด็นนี้เงียบหายไประยะหนึ่ง กระทั่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มีการประชุมร่วมกันระหว่างเครือข่ายโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กับ พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และหัวหน้าผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปรากฏว่าในที่ประชุมมีการยื่นข้อเรียกร้องให้กระทรวงศึกษาฯ ตรวจสอบรายชื่อนักเรียนซ้ำซ้อนระหว่างโรงเรียนในสังกัดต่างๆ ของรัฐเอง ซึ่งมีตัวเลขซ้ำซ้อนทั่วประเทศนับแสนคน และน่าจะส่งผลต่อการเบิกจ่ายเงินอุดหนุนรายหัวนักเรียนซ้ำซ้อนเช่นกัน
อ้างปัตตานีจังหวัดเดียวโกง 760 ล้าน
ล่าสุดเมื่อวันจันทร์ที่ 2 เม.ย.61 พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 ได้เปิดแถลงข่าวด้วยตนเองที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เพื่อตอกย้ำปัญหาการทุจริตเงินอุดหนุนรายหัวนักเรียนและครูของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม โดยระบุข้อมูลเพิ่มเติมว่า การทุจริตเงินอุดหนุนฯ เฉพาะโรงเรียนใน จ.ปัตตานี มีตัวเลขไม่ต่ำกว่า 700 ล้านบาท ทำให้เยาวชนที่อยู่ในวัยศึกษาเล่าเรียนตามระบบการศึกษาภาคบังคับ เสียโอกาสทางการศึกษา หรือเสียประโยชน์อันพึงได้ ปีละประมาณ 101,000 คน จากนักเรียนทั้งหมด 165,072 คน มีครูที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐเป็นค่าตอบแทนรายเดือน เสียประโยชน์อันพึงได้ ประมาณ 4,000 คน
แม่ทัพภาคที่ 4 ยังบอกว่า ประมาณการจากหลักฐานที่ปรากฏ และการสอบสวนผู้เกี่ยวข้อง พบว่า งบประมาณของรัฐในเรื่องนี้ถูกใช้จริงเพียงร้อยละ 40 และมีการทุจริตร้อยละ 60 จากเงินอุดหนุนการศึกษาของ จ.ปัตตานี ปีละประมาณ 1,260 ล้านบาท โดยถูกเบียดบังไปใช้ประโยชน์โดยทุจริตประมาณปีละ 760 ล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งน่าเชื่อว่าอำพรางด้วยรายชื่อของบุคลากรทางการศึกษาซึ่งไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีคุณวุฒิด้านใด และมีความเหมาะสมอย่างไร
หนุนกลุ่มป่วนใต้-ใช้ครูปลุกระดม
"เราพบว่าโรงเรียนบางแห่งมีพฤติกรรมให้การสนับสนุนการก่อเหตุรุนแรง พบพฤติกรรมของบุคลากรทางการศึกษาบางคนเป็นผู้ทำหน้าที่สอนบิดเบือนปลูกฝังความคิดความเชื่อในแนวทางรุนแรง ปลูกจิตสำนึกให้เกลียดชังรัฐ และปลูกฝังความคิดแบ่งแยกระหว่างประชาชนต่างศาสนาให้กับนักเรียน แล้วคัดเลือกนักเรียนไปพัฒนาต่อยอดให้เป็นสมาชิกปฏิบัติการของผู้ก่อเหตุรุนแรง"
พล.ท.ปิยวัฒน์ ยังบอกอีกว่า ข้อมูลเรื่องนี้มาจากการตรวจค้นโรงเรียน 5-6 แห่งในพื้นที่ จ.ปัตตานี เป็นการขยายผลจากปฏิบัติการตรวจค้นโรงเรียนบากงพิททยา เมื่อวันที่ 27 ม.ค.61 พบเอกสารปลุกระดมมวลชนเพื่อสร้างความวุ่นวายและก่อให้เกิดความแตกแยกในหมู่ประชาชน พบถังดับเพลิงและถังแก๊สขนาดบรรจุ 5 กิโลกรัมที่เก็บไว้ในลักษณะอำพรางซุกซ่อน ไม่ได้อยู่ในที่ที่ควรอยู่ อาจมีไว้เพื่อวัตถุประสงค์ที่น่าสงสัย และตรวจพบหลักฐานการทุจริตงบประมาณอุดหนุนการศึกษาของรัฐ รวมทั้งการให้การสนับสนุนผู้ก่อเหตุรุนแรงที่อำพรางเป็นบุคลากรทางการศึกษาอยู่ในโรงเรียน
"เราพบพฤติกรรมการทุจริตงบประมาณของรัฐในการให้การสนับสนุนการศึกษา บัญชีรายชื่อนักเรียนที่ไม่ตรงกับจำนวนที่เข้าเรียนจริง เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่ามีนักเรียนที่ไม่ได้เข้าเรียนจริงจำนวนหนึ่ง ในจำนวนนี้พิสูจน์ยืนยันแล้วว่าไม่ได้เข้าเรียนจำนวน 3 คน ที่เหลืออยู่ระหว่างการตรวจสอบ"
จ้างครูคุณวุฒิต่ำกินส่วนต่างงบรัฐ
"นอกจากนั้นยังมีใบเสร็จรับเงินที่จัดซื้อหนังสือเรียนที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ตรวจสอบแล้วเจ้าหน้าที่ของโรงเรียนที่เกี่ยวข้องยอมรับว่า จัดซื้อจริงเพียงร้อยละ 20 ส่วนที่เหลือให้ร้านค้าเขียนใบเสร็จเต็มจำนวนเพื่อให้ได้ประโยชน์จากส่วนต่าง"
"มีการจ่ายค่าตอบแทนครูน้อยกว่าที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด คือ กระทรวงศึกษาฯจ่ายค่าตอบแทนรายเดือนให้ครูที่บรรจุตามวุฒิ รายละ 15,000 บาทต่อเดือน แต่โรงเรียนจ่ายให้ประมาณ 7,000-8,000 บาท โดยอ้างว่าเป็นความสมัครใจของครู เพื่อนำเงินส่วนต่างไปเฉลี่ยจ่ายให้บุคคลอื่นที่ไม่ได้บรรจุตามวุฒิ กรณีนี้แม้จะอ้างว่า เป็นข้อตกลงร่วมกัน แต่ก็มีผลต่อขวัญกำลังใจและคุณภาพการศึกษาที่อาจจะต่ำกว่าที่ควรจะเป็น"
"มีการจ่ายค่าเสี่ยงภัยครูน้อยกว่าที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด คือกระทรวงศึกษาฯจ่ายค่าเสี่ยงภัยให้ครู รายละ 2,500 บาทต่อเดือน แต่โรงเรียนจ่ายให้เพียง 1,000-1,500 บาท โดยอ้างว่าต้องนำไปเฉลี่ยให้ครูที่ไม่ได้รับสิทธิ์ดังกล่าว ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดวัตถุประสงค์ของรัฐ และทำให้ขวัญกำลังใจครูตกต่ำ"
ร้านค้าร่วมวง-ขายบิลคิด 8%
แม่ทัพภาคที่ 4 แถลงต่ออีกว่า เมื่อตรวจสอบเอกสารหลักฐานที่ใช้เพื่อเบิกงบประมาณของรัฐ พบว่ามีสถานประกอบการห้างร้านที่เกี่ยวข้องร่วมกระทำความผิดในฐานะผู้ให้การสนับสนุนอีกหลายแห่ง จึงทำการตรวจสอบ พบหลักฐานการเขียนใบเสร็จเกินจริงโดยร้านค้าแห่งหนึ่งใน จ.ปัตตานี (แม่ทัพภาคที่ 4 ระบุชื่อร้าน) พบหลักฐานใบเสร็จ และเอกสารสั่งให้ดำเนินการออกใบเสร็จให้กับโรงเรียนแห่งหนึ่ง แนบอยู่กับใบเสร็จดังกล่าวด้วยว่า "ให้ซื้อสินค้า" มูลค่า 720,258.52 บาท แต่ยอดเขียนใบเสร็จ 1,772,495 บาท ส่วนต่าง 1,052,236.50 ค่าออกบิล 8% คิดเป็นเงิน 84,158.90 บาท แสดงให้เห็นว่า มีการร่วมกันปลอมแปลงเอกสารอันเป็นเท็จเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการเบิกงบประมาณจากรัฐ และเมื่อตรวจสอบไปยังโรงเรียนที่ทำเรื่องนี้ ก็พบหลักฐานตรงกันกับที่ร้านค้าออกให้จริง ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้บันทึกไว้เป็นหลักฐานและสอบปากคำไว้แล้ว
จากการตรวจสอบร้านค้าแห่งนี้ พบว่ามีการจดทะเบียนจัดตั้งร้านค้าตามมติของสมาคมที่มีการรวมตัวกันของผู้ที่อ้างว่าเป็นผู้บริหารโรงเรียนเอกชนหลายแห่ง ซึ่งผู้บริหารโรงเรียนเหล่านั้นก็เป็นผู้ถือหุ้นและมีส่วนได้ประโยชน์จากเงินปันผลที่ร้านค้าออกใบเสร็จให้ในลักษณะ "ขายใบเสร็จ"
"ปรากฏหลักฐานที่เจ้าพนักงานได้ตรวจยึดไว้แล้ว รวมทั้งพนักงานของร้านเองก็ให้การไว้แล้วว่า มีพฤติกรรมการออกใบเสร็จเกินจากที่ซื้อจริง" แม่ทัพภาคที่ 4 ระบุ
จ่ายเงินเดือนผู้ก่อเหตุรุนแรง
สำหรับพฤติกรรมให้การสนับสนุนกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง พบว่าโรงเรียนบากงพิทยา จ่ายเงินรายเดือนให้กับ นายซาการียา หัดสมัด ซึ่งเป็นสมาชิกผู้ก่อเหตุรุนแรง และเป็นผู้ก่อเหตุร้ายหลายคดี ประกอบด้วย เหตุเผาหัวจ่ายน้ำมันที่สถานีบริการน้ำมัน ปตท.ดอนยาง จ.ปัตตานี, เหตุกราดยิงบ้านเรือนราษฎรริมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 43 แยกดอนยาง จ.ปัตตานี เป็นเหตุให้มีประชาชนได้รับบาดเจ็บ 8 ราย และก่อเหตุระเบิดเผาสถานีบริการน้ำมัน ปตท.ดอนยาง จ.ปัตตานี โดย นายซาการียา ถูกจับกุมเมื่อเดือน พ.ย.60 ปัจจุบันถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำ และอยู่ระหว่างต่อสู้คดีการพิจารณาคดี
"ปรากฏหลักฐานว่าทางโรงเรียนจ่ายค่าตอบแทนรายเดือนให้กับ นายซาการียา หัดสมัด ตั้งแต่ปี 54 อย่างต่อเนื่องทุกเดือนจนถึงก่อนถูกจับกุม" แม่ทัพภาคที่ 4 ย้ำ
และว่า ยังพบพฤติกรรมอำพรางในการสนับสนุนเงินผ่านบุคลากรทางการศึกษาที่เป็นเครือญาติของ นายเมาลานา สาเมาะ แกนนำผู้ก่อเหตุรุนแรงระดับสั่งการ เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่ ต.ท่ากำชำ อ.หนองจิก และ นายอับดุลสะตอปา สุหลง แกนนำระดับสั่งการอีคน ที่เคลื่อนไหวในพื้นที่ ต.ตุยง อ.หนองจิก ซึ่ง นายเมาลานา สาเมาะ เป็นบุคคลที่ถูกสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ขึ้นบัญชีเป็น "บุคคลที่ถูกกำหนด" (ห้ามกระทำธุรกรรมทางการเงินทุกกรณี) ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายฯอีกด้วย และน่าเชื่อว่ามีการให้การสนับสนุนผู้ก่อเหตุรุนแรงรายอื่นๆ อีกหลายคน โดยทำธุรกรรมอำพรางผ่านผู้ที่ถูกแอบอ้างเป็นบุคลากรทางการศึกษาบางคนในโรงเรียน
ขู่เอาผิด "สมาคมโรงเรียนเอกชน" ถ้ามีเอี่ยว
พล.ท.ปิยวัฒน์ บอกด้วยว่า หลังจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้รวบรวมหลักฐานเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป สำหรับสมาคมผู้บริหารโรงเรียนเอกชน หากตรวจพบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องว่าร่วมกันกระทำความผิด ก็จะต้องดำเนินคดีกับผู้บริหารสมาคมต่อไปด้วย
"หากพบว่าบุคคลใดให้การสนับสนุนด้วยประการใดๆ กับบุคคลที่ ปปง.ประกาศรายชื่อเป็น 'บุคคลที่ถูกกำหนด" จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย จึงขอแจ้งให้บุคคลที่รู้หรือสงสัยว่าตนเองถูกใช้จ้างวานให้กระทำการใดๆ อันเป็นการสนับสนุนการก่อเหตุรุนแรงโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ขอให้มารายงานตัวกับหน่วยเฉพาะกิจในพื้นที่ เพื่อจะได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป แต่ถ้าไม่มารายงานตัว ก็อาจจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายฯ อาจจะมีผลให้ต้องถูกดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญา รวมทั้งอาจถูกยึดทรัพย์ด้วย" แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าว
ประกาศปราบ "ผี" วงการศึกษาชายแดนใต้
พล.ท.ปิยวัฒน์ บอกด้วยว่า ขณะนี้คณะทำงานเฉพาะกิจ ของหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี ได้จัดทำรายงานเฉพาะกรณี เป็นข้อเสนอเชิงนโยบายให้หน่วยเหนือได้พิจารณาแก้ไขอย่างเป็นระบบแล้ว โดยให้มีกระบวนการตรวจสอบและควบคุมมาตรฐานการเรียนการสอน มีการวัดผลเชิงคุณภาพ และมีการดูแลครูผู้สอนทั้งครูที่มีคุณวุฒิตามที่กระทรวงศึกษาฯกำหนด และบุคลากรทางการศึกษาที่มีคุณวุฒิต่ำกว่าที่กระทรวงศึกษาฯกำหนดอย่างทั่วถึงต่อไป
ตอนท้ายของการแถลงข่าว แม่ทัพภาคที่ 4 บอกว่า "อาชีพนี้จะต้องหมดไปในเร็วๆ นี้ ที่เรียกว่าโรงเรียนผี นักเรียนผี ครูผี ผู้นำศาสนาผี หรือจะอะไรก็ตาม ผมเป็นจอมขมังเวทย์ ผมจะจับผีเอง"
ค้นโรงเรียนเพิ่ม-มีเหตุรุนแรงโต้ทันที
ด้าน พล.ต.จตุพร กลัมพสุต ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี กล่าวว่า เมื่อวันที่ 29 มี.ค.61 ได้เข้าตรวจค้น "โรงเรียนประสานวิทยามูลนิธิ" มีการค้นอาคารทั้งหมดที่ตั้งอยู่ในบริเวณโรงเรียน พร้อมยึดเงินสด 1,227,980 บาท และเอกสารหลายรายการ กำลังตรวจสอบว่ามีพฤติการณ์ทุจริตงบอุดหนุนโรงเรียนหรือไม่ รวมทั้งมีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการผู้ก่อเหตุรุนแรงหรือไม่ โดยปฏิบัติการตรวจค้นโรงเรียน ตั้งแต่วันที่ 27 ม.ค.61 เป็นต้นมา ได้ค้นโรงเรียนไปแล้ว 5-6 โรง
"หลังค้นโรงเรียนประสานวิทยามูลนิธิ (ตั้งอยู่ใน อ.ยะรัง จ.ปัตตานี) และโรงเรียนใน จ.นราธิวาส ก็มีการก่อเหตุรุนแรงขึ้น และเรายังพบเอกสารการฝึกที่บ้านพักนักเรียน ซึ่งโรงเรียนจะรู้เห็นหรือไม่ คือสิ่งที่จะต้องมาตรวจสอบต่อไป"
เรียกสอบเจ้าหน้าที่ สช.
พล.ต.จตุพร กล่าวด้วยว่า จากภาพรวมที่มีการตรวจค้นโรงเรียน 5-6 โรงใน จ.ปัตตานี สามารถควบคุมตัว นายมูหัมมัดนาสีรูดดิน เล๊ะนุ๊ นายกสมาคมโรงเรียนเอกชนปัตตานี และได้เชิญตัวเจ้าหน้าที่สำนักงานการศึกษาเอกชน (สช.) และผู้ที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับเงินอุดหนุนการศึกษา และได้ปล่อยตัวกลับไปแล้ว 7-8 คน
ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี บอกอีกว่า สำหรับการทุจริตเงินอุดหนุนของโรงเรียนเอกชนในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมานานเป็นสิบๆ ปีแล้ว แต่ไม่มีหน่วยงานไหนกล้าเข้าไปยุ่งเกี่ยว โดยเฉพาะ สช.ซึ่งมีหน่วยงานระดับจังหวัดทุกจังหวัด และมีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง แต่ไม่กล้าตรวจสอบ ทั้งการเงิน การบริหาร และการเรียนการสอน ส่งผลให้โรงเรียนบางแห่งทำ "บัญชีผี" (บัญชีรายชื่อนักเรียนและครูจำนวนมากเกินจริง) โดยโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาในพื้นที่มี 200 กว่าโรง ตรวจสอบพบโรงเรียนที่เข้าข่ายทุจริตแล้วไม่ต่ำกว่า 100 โรง (อ่านประกอบ เปิดเอกสารลับ! เครือข่ายทุจริตงบอุดหนุนรายหัวนักเรียนชายแดนใต้)
วันเดียวกัน ที่ห้องประชุมกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี พล.ต.ต.ดาวลอย เหมือนเดช รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 (รองผบช.ภ.9) พร้อมด้วย พล.ต.ต.ปิยะวัฒน์ เฉลิมศรี ผูู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี (ผบก.ภ.จว.ปัตตานี) ได้ประชุมร่วมกับพนักงานสอบสวนเพื่อตรวจสอบความคืบหน้าและเร่งรัดคดีที่ฝ่ายทหารเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับผู้บริหารบางคนของโรงเรียนบากงพิทยา ทั้งการทุจริตเงินอุดหนุนของรัฐและความเกี่ยวพันกับขบวนการก่อความไม่สงบ
---------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 และ 3 แม่ทัพภาคที่ 4 นำทีมแถลงข่าวด้วยตนเอง
2 และ 4 พล.ต.จตุพร กำลังโชว์และอธิบายหลักฐานต่างๆ ที่รวบรวมมาได้
อ่านประกอบ :
เปิดเอกสารลับ! เครือข่ายทุจริตงบอุดหนุนรายหัวนักเรียนชายแดนใต้
นายอำเภอ - สช.ปัตตานี การันตี "ปอเนาะบากง"
เทียบหลักฐาน "ฝ่ายความมั่นคง-ปอเนาะบากง" ปมโกงงบรัฐหนุนป่วนใต้
ชำแหละหลักฐานมัด "ผู้บริหาร-ครู" โรงเรียนบากงฯ ทุจริตงบรัฐหนุนป่วนใต้!
ผู้บริหารโรงเรียนบากงฯ ออกโรงแจงไม่รู้เรื่องหนุนป่วนใต้ ยันเปิดสอนต่อ!