- Home
- South
- เวทีวิชาการ
- "ผู้หญิงชายแดนใต้"รวมพลังสื่อสารผ่านโซเชียลฯ ขอพื้นที่สาธารณะปลอดภัย
"ผู้หญิงชายแดนใต้"รวมพลังสื่อสารผ่านโซเชียลฯ ขอพื้นที่สาธารณะปลอดภัย
"ผู้หญิงเราหวังให้บ้านเรารอด ต้องรัก เข้าใจ สามัคคีกัน เพื่อให้บ้านเรารอดและปลอดภัย พื้นที่ปลอดภัยสร้างยาก แต่ต้องเรียกร้องขอให้ปลอดภัยจริง...บ้านเรามีสิทธิ์เป็นพื้นที่ปลอดภัยเหมือนพื้นที่อื่นๆ ในโลก ไม่ใช่พื้นที่อันตรายแบบนี้มากว่าสิบปีแล้ว ควรยุติได้แล้ว"
เป็นเสียงของ บุษยมาศ อิศดุลย์ จากบ้านบุญเต็ม จ.ยะลา ที่บอกเล่าความรู้สึกในวันยุติความรุนแรงเพื่อเด็กและผู้หญิงสากล ซึ่ง "กลุ่มวาระผู้หญิงชายแดนใต้" หรือ Peace Agenda of Women (PAOW) จัดขึ้นเมื่อวันที่ 25 พ.ย.60 โดยใช้พื้นที่ของคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) เป็นสถานที่จัดกิจกรรม โดยมีเครือข่ายผู้หญิงเข้าร่วมกว่าร้อยคน ทุกคนแสดงสัญลักษณ์ด้วยการสวมเสื้อหรือเครื่องแต่งกายสีส้ม ประกาศจุดยืนเรียกร้องให้ยุติความรุนแรง
เครือข่ายผู้หญิงจากทั้งสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มาร่วมแสดงพลังในวันนั้น บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ต้องการให้ทุกพื้นที่มีความปลอดภัย ทั้งพื้นที่สาธารณะและพื้นที่ส่วนบุคคล โดยเริ่มจากพื้นที่สาธารณะต้องปลอดภัยจริงๆ ก่อน
"พื้นที่สาธารณะต้องปลอดภัย เป็นหัวใจหลักของการรณรงค์ครั้งนี้ โดยเฉพาะตลาด ถนน ศาสนสถาน และโรงเรียน คือ 4 สถานที่หลักที่ต้องการความปลอดภัยจากความรุนแรงทุกรูปแบบ" โซรยา จามจุรี แกนนำกลุ่มวาระผู้หญิงชายแดนใต้ บอกถึงจุดประสงค์ของการจัดกิจกรรม
ลม้าย มานะการ แกนนำอีกคนบอกว่า ยังยืนหยัดเรื่องพื้นที่ปลอดภัย โดยเพิ่มประเด็นพลเรือน ทั้งเด็ก ผู้หญิง ผู้ชาย คนแก่ ทุกศาสนาที่ไม่ถืออาวุธ ต้องได้รับการปกป้องและไม่ถูกทำร้ายจากฝ่ายที่ถืออาวุธ ไม่ว่าจะเป็นผู้เห็นต่างจากรัฐหรือเจ้าหน้าที่รัฐก็ตาม ทุกคนต้องยึดความเป็นกลาง ยึดหลักสิทธิมนุษยชน และทำงานโดยไม่แยกศาสนา
กลุ่มวาระผู้หญิงชายแดนใต้ หรือ PAOW ประกาศยุทธศาสตร์เป็นวาระในปี 2570 ว่า "ต้องพัฒนาพื้นที่ปลอดภัย ผู้หญิงก้าวหน้า สร้างสังคมประชาธิปไตย และเป็นธรรม"
คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ เกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มผู้หญิงทั้งที่นับถือศาสนาพุทธและอิสลามที่ทำงานสนับสนุนกระบวนการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวม 23 องค์กร โดยกลุ่มผู้หญิงเหล่านี้มีความห่วงใยเป็นอย่างยิ่งต่อประเด็นความปลอดภัยในพื้นที่สาธารณะ เพราะพื้นที่สาธารณะนอกจากจะมีความจำเป็นต่อการดำรงอยู่ของมนุษย์ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัยแล้ว ยังมีความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและค้ำประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนอีกนานัปการ รวมถึงเป็นพื้นที่ที่ผู้หญิงทุกศาสนาจำเป็นต้องใช้งานเพื่อตอบสนองต่อภารกิจความเป็นแม่ ภรรยา ลูกสาว น้องสาว ฯลฯ
คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ ได้จัดเวทีสานเสวนาแบบ "ประชาหารือ" มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อระดมความเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้หญิงในกลุ่มองค์กรประชาสังคมผู้หญิงในชุมชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ เรื่อง "การสร้างพื้นที่ปลอดภัยในสถานการณ์ความขัดแย้งที่มีการใช้กำลังอาวุธและความรุนแรง" โดยมีผลสรุปจากเวทีประชาหารือว่า ผู้หญิงต้องการให้พื้นที่สาธารณะ อันได้แก่ ถนน ตลาด โรงเรียน มัสยิด วัด สถานที่ประกอบศาสนกิจ ประเพณี และวัฒนธรรม มีความปลอดภัยมากที่สุด เนื่องจากสถานที่เหล่านี้มีผู้หญิงเป็นผู้ใช้ประโยชน์ ทั้งในการเดินทางสัญจร เป็นแหล่งทำมาหากิน จับจ่ายใช้สอย จัดหาสิ่งของที่จำเป็นสำหรับคนในครอบครัว ทั้งยังเป็นจุดนัดพบ พักผ่อนหย่อนใจ เป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมทางศาสนา ประเพณี วัฒนธรรม ที่แสดงถึงอัตลักษณ์และให้คุณค่าต่อจิตวิญญาณของผู้หญิง รวมทั้งเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุตรหลานด้วย
ในปีนี้ทางกลุ่มวาระผู้หญิงชายแดนใต้ ได้เชิญชวนให้ทุกคนร่วมกันรณรงค์สร้างพื้นที่สาธารณะปลอดภัยชายแดนใต้ โดยการสื่อสารข้อความและโพสต์ภาพสถานที่สาธารณะที่ต้องการให้ปลอดภัยจากความรุนแรงจากทุกฝ่าย โดยใช้โซเชียลมีเดีย หรือสื่อสังคมออนไลน์ เป็นช่องทางในการสื่อสารและส่งต่อ "สัญญะ" กับ "คำประกาศจุดยืน" สู่สังคมทั้งในและนอกพื้นที่
---------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ : พล.ต.สิทธิ : ตั้งเซฟเฮาส์ถกพื้นที่ปลอดภัย - จำเป็นไหมคุย "ดูนเลาะ แวมะนอ"