จะไปหาความยุติธรรมจากไหน? ‘ณัฐวุฒิ’ ถาม‘เลขาฯป.ป.ช.’ตอบปมไม่รื้อคดีสลายแดง
“…ผมต้องการคำตอบจากประเทศนี้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นผมต้องไปตามหาความยุติธรรมที่ไหน ใครผิดใครถูก แล้วแต่ศาลจะวินิจฉัย แล้วแต่ศาลจะมีคำพิพากษา ผมเพียงต้องการพาเหตุการณ์นี้ให้ถึงศาล ผมเพียงต้องการที่จะสร้างหลักประกันว่า จากนี้ไป ใครก็ตามมีอำนาจ ไม่ว่ารัฐบาลเลือกตั้ง รัฐบาลยึดอำนาจ จะไม่สามารถใช้กำลังอาวุธสงครามปราบปรามชีวิตประชาชนได้อีกต่อไป ผมจำเป็นต้องรักษาเกียรติยศของคนตาย แต่ผมไม่ได้รับคำตอบว่าสิ่งที่เกิดขึ้น ใช่ความยุติธรรมหรือไม่ แต่ผมแน่ใจว่า เราจะได้เจอกันอีกแน่…”
เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2561 นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แถลงข่าวกรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติไม่รื้อคดีสั่งสลายการชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2553 ที่มีการกล่าวหานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. (ขณะนั้น ปัจจุบันเป็น รมว.มหาดไทย) ขึ้นมาพิจารณาใหม่ เนื่องจากไม่ปรากฏพยานหลักฐานใหม่ นอกจากนี้การปฏิบัติยังดำเนินการตามหลักสากล เป็นไปตามสายการบังคับบัญชา ส่วนการใช้อาวุธของเจ้าหน้าที่นั้น เป็นอำนาจหน้าที่ของนายทหารที่คุมกำลังในพื้นที่สั่งการ เป็นความผิดเฉพาะตัว จึงส่งเรื่องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ไปดำเนินการสอบสวนต่อ (อ่านประกอบ : อ้างคำสั่งสารพัดศาล-ทหารใช้ปืนผิดเฉพาะตัว! ป.ป.ช.แจงทุกปมไม่รื้อคดีสลายแดง)
ในช่วงท้ายของการแถลงข่าว นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่เข้าร่วมรับฟังการแถลงข่าวครั้งนี้ด้วย ได้ลุกขึ้นมาตั้งคำถามกับเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในประเด็น ‘ความยุติธรรม’ ของการไต่สวนข้อเท็จจริงจาก ป.ป.ช. ด้วย
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปรายละเอียดการถาม-ตอบดังกล่าว ดังนี้
ณัฐวุฒิ : จากการรับฟังคำแถลงครบถ้วน แต่คำถามนี้อยากถามในฐานะความเป็นมนุษย์ด้วยกัน สิ่งที่แถลงมาทั้งหมดเปรียบเทียบกับการใช้ดุลพินิจในกรณีการสลายการชุมนุมระหว่าง นปช. กับพันธมิตรฯ และมีมติที่แตกต่างกัน มีการดำเนินการที่แตกต่างจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ท่านเชื่อว่านี่คือความยุติธรรมหรือไม่
วรวิทย์ : ข้อเท็จจริง และรายละเอียดต่าง ๆ ปรากฏอยู่ในสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทั้ง 2 สำนวน ดังนั้นการพิจารณาคดีเป็นไปตามหลักกฏหมาย ต้องพิจารณาคดีตามพยานหลักฐาน ข้อเท็จจริงปรากฏอย่างไรก็แล้วแต่ อยากให้คุณณัฐวุฒิได้ศึกษาคำชี้แจงที่เป็นรายละเอียดที่สำนักงาน ป.ป.ช. ได้มอบให้ไปดูอีกครั้ง คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ได้ตัดโอกาส ไม่ได้หมายความว่าในการยื่นคำร้องครั้งนี้ เสนอพยานหลักฐาน 4 ชิ้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. วินิจฉัยหมด แต่ไม่ได้ตัดโอกาส หมายความว่า คุณณัฐวุฒิ ได้ดูเอกสารหลักฐาน หากพบพยานหลักฐานใหม่ คณะกรรมการ ป.ป.ช. เปิดโอกาสตลอดเวลาที่จะยื่นพยานหลักฐานใหม่เหล่านี้ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาทบทวน เราเปิดโอกาสตลอดเวลา
ณัฐวุฒิ : ที่ผ่านมา ผมพยายามทำมาตลอด ศึกษาสิ่งที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติ และศึกษาข้อมูล ข้อเท็จจริง ตลอดจนหลักการของคำว่าความยุติธรรมมาอย่างครบถ้วน ศึกษามาแล้ว และมั่นใจว่า คำถามที่เรียนถาม ยังไม่ได้รับคำตอบ จึงขออนุญาตถามซ้ำอีกครั้งว่า ที่แถลงมาทั้งหมด ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นเหตุการณ์ทุกอย่าง จนถึงวันนี้ ท่านเชื่อว่า นี่คือความยุติธรรมหรือไม่
วรวิทย์ : ข้อเท็จจริงเป็นไปตามหลักฐานใน 2 สำนวน ได้อธิบายเหตุผลของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าได้นำข้อเท็จจริงที่นายณัฐวุฒิ กับพวกชี้แจงใน 4 ประเด็นดังกล่าว โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องพิจารณาพยานหลักฐานตามที่ชี้แจง และทำรายละเอียดเป็นประเด็นแล้ว คงตอบได้แค่นั้น
ณัฐวุฒิ : อย่างนั้นเรียนถามว่า สำหรับหัวใจผม จนถึงวินาทีที่แถลงเสร็จสิ้น ผมไม่เชื่อว่านี่คือความยุติธรรม เรียนด้วยความเคารพ ผมไม่อาจยอมรับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นนี้ได้ และผมเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่า ในฐานะมนุษย์ ผมยังมีสิทธิ์ที่จะติดตามและทวงถามความยุติธรรมเรื่องนี้อย่างถึงที่สุด ไม่ทราบว่าท่านรู้สึกอย่างไรในวินาทีนี้ แต่อยากให้รู้ว่าผมเจ็บปวด ผมทราบข่าวมาตั้งแต่เมื่อวาน (21 มิ.ย. 2561) ตอนเย็นว่า จะไม่มีการรื้อเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณาใหม่ วันนี้ผมไม่ได้มาฟังท่านแถลง เพราะทราบข่าวอยู่แล้ว แต่ผมมาแบกรับความยุติธรรมร่วมกับคนตาย
วรวิทย์ : รายละเอียดข้อเท็จจริงต่าง ๆ อยู่ในสำนวน ย้ำว่า ไม่ได้ปิดโอกาสฝ่ายต่าง ๆ เสนอพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ขึ้นมา ถ้าคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาว่า พยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องเป็นพยานหลักฐานใหม่ ที่ไม่มีในสำนวน มีนัยยะสำคัญ คณะกรรมการ ป.ป.ช. สามารถหยิบยกมาพิจารณาได้
ณัฐวุฒิ : ถ้าอย่างนั้นผมขอพูดว่า ประการแรกข้อเท็จจริงตามหลักสากล ทั่วโลกใช้กันเป็นปกติ รัฐบาลในฐานะฝ่ายนโยบาย เมื่อมอบหมายการปฏิบัติไปยังฝ่ายเจ้าหน้าที่เป็นความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่เองที่ดำเนินการไปตามหลักสากลดังกล่าว ถ้าอธิบายว่า เหตุการณ์เมื่อปี 2553 ไม่ผิด มันก็ชอบที่จะต้องอธิบายด้วยว่า เหตุการณ์ปี 2551 ต้องไม่มีความมผิดเช่นเดียวกัน เนื่องจากหลักปฏิบัติสากลของการชุมนุมของประชาชน ไม่ได้เป็นมติคณะรัฐมนตรี แต่เป็นหลักการที่เรียนว่าทั่วโลกรับทราบ และปฏิบัติใช้ แต่นี่ใช้ดุลพินิจ 2 เหตุการณ์ไม่เหมือนกัน เหตุการณ์หนึ่งผิด อีกเหตุการณ์หนึ่งไม่ผิด ทั้งที่คณะรัฐมนตรีไม่ได้มีสถานะต้องออกหลักปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมในทางสากล เพราะปรากฏชัดอยู่แล้ว
ประการที่สอง นายสมชาย กับพวกถูกกล่าวหาว่าไม่ปรับเปลี่ยนวิธีการปฏิบัติในปี 2551 ส่วนในปี 2553 บอกว่าเป็นการปรับแผนตามสถานการณ์ ผมอยากถามท่านเลขาธิการ ป.ป.ช. หรือว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทุกท่าน ไม่ทราบข้อเท็จจริงหรือว่า เหตุการณ์เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2551 นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีไม่อยู่ในสถานการณ์ออกคำสั่ง หรือกำหนดนโยบายใด ๆ ได้อีกแล้ว แม้แต่นายสมชาย ยังต้องปีนรั้วอาคารรัฐสภาเพื่อขึ้นเฮลิคอปเตอร์เพื่อเอาชีวิตรอดจากสถานการณ์ปิดล้อม ขณะที่ปี 2553 นายอภิสิทธิ์ กับพวก พำนักในค่ายทหารราบที่ 11 มีความปลอดภัยบริบูรณ์ เหตุการณ์ต่อเนื่องเป็นเดือน คืนวันที่ 10 เม.ย. 2553 ปรากฏว่ามีการใช้อาวุธสงคราม และอาวุธปืนติดลำกล้องยิงไกล หลังจากคืนนั้น มีการประกาศให้ใช้กระสุนจริง นี่คือสิ่งที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ใช้ดุลพินิจว่า รัฐบาลนายสมชายไม่ปรับเปลี่ยนวิธี ส่วนรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ปรับเปลี่ยนอย่างถูกต้องตามกฏหมาย
การอ้างว่าเหตุการณ์ปี 2551 ไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่า ผู้ชุมนุมมีอาวุธ แต่อ้างคำสั่งศาลแพ่ง และศาลอาญาว่า นั่นไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบ ก็อยากเรียนว่า อดีตนายตำรวจยศ พ.ต.ท. คนหนึ่ง นั่งรถบรรทุกวัตถุระเบิด และเกิดเหตุระเบิด ยืนยันว่า นั่นคือข้อเท็จจริง รับผิดชอบในสิ่งที่พูด เมื่อครู่ท่านเลขาธิการ ป.ป.ช. กล่าวอ้างว่า ใช้ดุลพินิจที่ยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงดังกล่าว ผมไม่เชื่อ และกรณีอัยการสูงสุด (อสส.) มีคำสั่งไม่ฟ้อง มีการพิจารณา และมีคำสั่งหลังเหตุการณ์นั้นผ่านไปนานพอสมควร คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ทราบข้อเท็จจริงเหล่านี้อีกหรือ
กรณีกลุ่ม นปช. เคารพคำสั่งทั้งศาลแพ่ง และศาลอาญา แต่ข้อเท็จจริงขณะนี้ คดีก่อการร้ายที่แกนนำ กับผู้ชุมนุมบางส่วนถูกดำเนินคดีอยู่ในชั้นศาล เพิ่งสืบพยานโจทก์ในศาลชั้นต้น ยังไม่มีคำพิพากษา และก่อนหน้านี้ศาลยกฟ้องกลุ่มคนที่ถูกเรียกว่าชายชุดดำในเหตุการณ์ดังกล่าวไปแล้วหลายราย นี่ไม่ใช่ข้อเท็จจริงใหม่ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องหยิบยกไปพิจารณาหรอกหรือ แน่นอนว่าคำสั่งศาลแพ่ง ศาลอาญา มีสถานะศักดิ์สิทธิ์ สังคมต้องยอมรับ ผมไม่ปฏิเสธ แต่วันนี้สถานการณ์เปลี่ยนแปลง เหตุการณ์มีความคืบหน้า ท่านจะไม่พิจารณากรณีที่เป็นหลักใหญ่ คือการดำเนินคดีอาญา อันมีจำเลยถูกกล่าวหาว่า เป็นกองกำลังติดอาวุธเลยอย่างนั้นหรือ
ส่วนการกล่าวอ้างว่า เป้าหมายของการปฏิบัติการปี 2551 คือแถลงนโยบาย ปี 2553 เพื่อความสงบสุข เรียนถามเลขาธิการ ป.ป.ช. ไปถึงคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่า การแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ แล้วการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่วันนั้น ยุทโธปกรณ์ที่ร้ายแรงที่สุดคือแก๊สน้ำตา ปรากฏเป็นหนึ่งในข้อสำคัญของหลักปฏิบัติสากล ส่วนเหตุการณ์ปี 2553 การใช้อาวุธสงครามประกาศเขตกระสุนจริง ติดกล้องยิงระยะไกล ปรากฏในข้อไหนของหลักปฏิบัติสากล
ถ้าบอกว่า เป็นความผิดของเจ้าหน้าที่ คำถามคือ นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี ที่บริหารบ้านเมืองอยู่ ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าหรือว่า การปฏิบัติเช่นนี้เกิดความสูญเสียแล้ว ควรมีคำสั่งยุติ ยกเลิก หรือให้เปลี่ยนวิธีการจาก M16 ติดกล้อง เป็นแก๊สน้ำตา มีหรือไม่ กลับกลายเป็นว่า เพิ่มปฏิบัติการ เพิ่มกำลัง ปรับอาวุธยุทโธปกรณ์ให้มีอาวุธทำลายล้างรุนแรงมากกว่าเดิม ความสงบสุขของบ้านเมือง มันสร้างได้ด้วยการยิงคนมือเปล่าตายเกือบร้อยศพหรือ ความสงบสุขของบ้านเมืองเกิดขึ้นเพราะว่าคนตายเกือบร้อยศพ และคดีไม่ถึงศาล มันสงบได้จริงหรือ
“สุดท้าย ท่านบอกผลการวินิจฉัยคดีนายสมชายกับพวกผิด แต่คดีนายอภิสิทธิ์กับพวกไม่ผิด อย่างที่เรียนผมไม่อาจยอมรับได้ และผมพูดด้วยความเป็นมนุษย์ ผมมา ไม่ได้มาเพราะแค้นคุณอภิสิทธิ์ คุณสุเทพ หรืออาฆาตใครก็ตามที่ทำให้เกิดเหตุ แต่ผมมา และผมพยายามทำมาตลอด เพราะผมต้องการคำตอบจากประเทศนี้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นผมต้องไปตามหาความยุติธรรมที่ไหน ใครผิดใครถูก แล้วแต่ศาลจะวินิจฉัย แล้วแต่ศาลจะมีคำพิพากษา ผมเพียงต้องการพาเหตุการณ์นี้ให้ถึงศาล ผมเพียงต้องการที่จะสร้างหลักประกันว่า จากนี้ไป ใครก็ตามมีอำนาจ ไม่ว่ารัฐบาลเลือกตั้ง รัฐบาลยึดอำนาจ จะไม่สามารถใช้กำลังอาวุธสงครามปราบปรามชีวิตประชาชนได้อีกต่อไป ผมจำเป็นต้องรักษาเกียรติยศของคนตาย แต่ผมไม่ได้รับคำตอบว่าสิ่งที่เกิดขึ้น ใช่ความยุติธรรมหรือไม่ แต่ผมแน่ใจว่า เราจะได้เจอกันอีกแน่”
อ่านประกอบ :
'ณัฐวุฒิ'แห้ว! ป.ป.ช.ไม่รื้อคดีสลายแดงมาพิจารณาใหม่ ชี้คำวินิจฉัยเดิมถูกต้อง
นปช.ยื่นหลักฐานใหม่ขอ ป.ป.ช.รื้อคดีสลายชุมนุม-ขู่ถ้าเฉยล่า2หมื่นชื่อส่งศาลฎีกาฯสอบ
'มาร์ค-สุเทพ-บิ๊กป๊อก'รอด! คดีสลายแดง ป.ป.ช.ยันทำตามหลักสากล
ยังไร้หลักเกณฑ์เปิดเผย! ป.ป.ช.ไม่ให้ข้อมูลปมตีตกคดีสลายแดงปี’53