อ้างคำสั่งสารพัดศาล-ทหารใช้ปืนผิดเฉพาะตัว! ป.ป.ช.แจงทุกปมไม่รื้อคดีสลายแดง
‘ณัฐวุฒิ-เจ๋ง ดอกจิก’ โผล่ร่วมฟัง ป.ป.ช. แถลงละเอียดยิบปมไม่รื้อคดีสลายแดงปี’53 ชี้ไม่มีพยานหลักฐานใหม่ อธิบายชัดทุกปม แตกต่างจากคดีสลาย พธม.ปี’51 ทุกอย่างปฏิบัติตามขั้นตอน-สายการบังคับบัญชา อ้างอิงคำสั่งสารพัดศาลการชุมนุม นปช. ไม่ได้ทำโดยสงบ มีกลุ่มคนติดอาวุธปะปน ศอฉ. มีอำนาจให้ทหารเข้าไปคืนพื้นที่ การใช้อาวุธเป็นอำนาจของทหารระดับสูงที่คุมกำลัง ผิดเฉพาะตัว ไม่เกี่ยวกับ ‘อภิสิทธิ์-สุเทพ’ คืนเรื่องกลับดีเอสไอไปสอบต่อ
เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2561 นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติไม่รื้อฟื้นคดีสั่งสลายการชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2553 ที่มีการกล่าวหานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีต ผบ.ทบ. ว่า ตามที่นายจตุพร พรหมพันธ์ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. กับพวกยื่นให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาคดีสั่งสลายการชุมนุมทางการเมื่อปี 2553 มาพิจารณาใหม่ โดยแนบพยานหลักฐาน 4 รายการ ได้แก่ 1.วารสารเสนาธิปัตย์ 2.คำสั่งไต่สวนชันสูตรพลิกศพในชั้นศาลอาญา กรณีผู้เสียชีวิตช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. 2553 3.แผ่นบันทึกภาพและเสียง ‘รุมยิงนกในกรง’ และ 4.แผ่นบันทึกภาพและเสียง ‘ยุทธการขอคืนพื้นที่ เม.ย.2553’ นั้นคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า คำวินิจฉัยเดิมได้วินิจฉัยได้อย่างถูกต้องอยู่แล้ว และพยานหลักฐานดังกล่าวไม่ใช่พยานหลักฐานใหม่ ตามนัยยะมาตรา 44 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 จึงมีมติไม่รื้อคดีดังกล่าวมาพิจารณาใหม่
นายวรวิทย์ กล่าวว่า นายจตุพรกับพวก ได้ยื่นคำร้อง 4 ประเด็น ได้แก่
1.การตัดสินใจทางนโยบายของนายอภิสิทธิ์ มีกรณีการใช้อาวุธ และกระสุนจริง และยุทธวิธีการซุ่มยิงถูกต้องหรือไม่
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า ประเด็นนี้เคยวินิจฉัยแล้วว่า การสั่งใช้กำลังทหารพร้อมอาวุธปืนติดตัวเข้าขอคืนพื้นที่จากกลุ่มผู้ชุมนุม นปช. ระหว่างวันที่ 10 เม.ย.- 19 พ.ค. 2553 จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บนั้น ปรากฏข้อเท็จจริงตามคำสั่งของศาลว่า เป็นช่วงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เกิดเหตุการณ์ร้ายแรง การชุมนุมของ นปช. มิใช่การชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญ และมีบุคคลมีอาวุธปืนปะปนกับกลุ่มผู้ชุมนุม เป็นเหตุให้ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ต้องใช้มาตรการขอคืนพื้นที่ ให้เกิดความสงบสุขในบ้านเมือง โดยมีคำสั่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอาวุธติดตัว หากจำเป็นใช้ระงับยับยั้งได้ตามสถานการณ์ หรือเหตุการณ์เฉพาะหน้า หรือป้องกันตนเองได้ โดยเป็นไปตามหลักสากล ตามนัยศาลแพ่ง คดีหมายเลขดำ 1433/2553 ลงวันที่ 22 เม.ย. 2553 และวันที่ 14 พ.ค. 2553
อีกทั้งเจ้าหน้าที่ผู้รับคำสั่งจาก ศอฉ. ต้องปฏิบัติโดยกำหนดวิธีการ หลักเกณฑ์การปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมจนถึงหน่วยปฏิบัติในพื้นที่ มีผู้ควบคุมคือผู้บังคับกองพันในปฏิบัติการจริง ส่วนการตัดสินใจในการใช้อาวุธ เป็นอำนาจสายการบังคับบัญชา ในการสั่งการของผู้บังคับกองพล หากภายหลังสามารถพิสูจน์ได้ว่า มีการใช้อาวุธไม่สุจริต เลือกปฏิบัติ เกินสมควรแก่เหตุ เกินกรณีจำเป็น เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติต้องรับผิดในการกระทำดังกล่าว ฐานปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นหน้าที่โดยมิชอบ หรือฆ่าผู้อื่น เป็นการกระทำเฉพาะตัว ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ไปสอบสวนต่อ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และตามมาตรา 89/2 ของ พ.ร.บ.ป.ป.ช.
2.กรณีไม่ยกเลิกการปฏิบัติในทันที เมื่อทราบการเสียชีวิตของประชาชน และการอ้างว่าปรับยุทธวิธีเป็นการตั้งด่านตรวจ และมีจุดสกัดปิดล้อมให้การชุมนุมเลิกเอง แต่ในวารสารเสนาธิปัตย์ อธิบายว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นการปฏิบัติทางทหารเต็มรูปแบบ ไม่ใช่ตั้งด่านตามกล่าวอ้าง
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า เคยวินิจฉัยกรณีนี้แล้ว โดยภายหลังเกิดเหตุการณืขอคืนพื้นที่จากผู้ชุมนุมดังกล่าว เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บแล้ว ศอฉ. ได้ทบทวนรูปแบบการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ โดยไม่ใช้เจ้าหน้าที่ผลักดันผู้ชุมนุมอีกต่อไป แต่ใช้มาตรการตั้งด่านตรวจ หรือจุดสกัด ปิดล้อมวงนอกไว้โดยรอบ เพื่อให้ผู้ชุมนุมล่าถอย และสลายการชุมนุมไปเอง ทั้งนี้ในวันที่ 14 และ 19 พ.ค. 2553 ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ไม่มีการใช้กำลังทหารผลักดันกลุ่มผู้ชุมนุม เหมือนการปฏิบัติการในวันที่ 10 เม.ย. 2553 แต่เป็นการตั้งด่านอยู่กับที่ทุกแห่ง
3.อ้างว่ามีบุคคลมีอาวุธปืนปะปนในกลุ่มผู้ชุมนุม เป็นการอ้างโดยไม่มีหลักฐานใด ๆ รองรับ เป็นการอ้างไม่ตรงคำพิพากษาศาลแพ่ง เนื่องจากคำพิพากษาศาลบอกว่า มีผู้เสียชีวิตเบื้องต้นในวันที่ 10 เม.ย. 2553 ไม่ทราบว่าฝ่ายใดทำ และศาลแพ่งเตือนนายอภิสิทธิ์ กับพวก ในการสลายการชุมนุมให้ดำเนินการเท่าที่จำเป็นตามความเหมาะสม และตามคำสั่งศาลอาญา ที่วินิจฉัยกรณีมีผู้เสียชีวิต 19 ศพ ยืนยันว่า ผู้เสียชีวิต ตายจากกระสุนความเร็วสูง จากอาวุธสงครามจากเจ้าหน้าที่ และไม่ปรากฏว่าผู้ตายมีอาวุธปืน หรือยิงต่อสู้
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า เคยวินิจฉัยแล้วว่า ตามคำสั่งศาลในช่วงระยะเวลาต่าง ๆ ได้แก่ คำสั่งศาลแพ่ง คดีหมายเลขดำที่ ร2/2553 คำสั่งศาลแพ่ง คดีหมายเลขดำที่ 1433/2553 ลงวันที่ 22 เม.ย. 2553 คำสั่งศาลแพ่ง คดีหมายเลขดำที่ 1433/2553 ลงวันที่ 14 พ.ค. 2553 คำสั่งไต่สวนชันสูตรพลิกศพของศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีหมายเลขดำที่ ช7/2555 คดีหมายเลขแดงที่ ช1/2556 ลงวันที่ 16 ม.ค. 2556 คำสั่งไต่สวนชันสูตรพลิกศพศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อช8/2555 คดีหมายเลขแดงที่ อช3/2556 ลงวันที่ 21 ก.พ. 2556 สรุปข้อเท็จจริงได้ว่า การชุมนุมของกลุ่ม นปช. มิใช่การชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญ มีบุคคลมีอาวุธปืนปะปนอยู่ จึงมีความจำเป็นให้เจ้าหน้าที่ต้องสลายการชุมนุมเพื่อให้เกิดความสงบในบ้านเมือง โดยให้เจ้าหน้าที่มีอาวุธติดตัว หากจำเป็นสามารถระงับยับยั้งได้ตามสถานการณ์ หรือเหตุการณ์เฉพาะหน้า หรือป้องกันตนเอง โดยเป็นไปตามหลักสากล
4.กระบวนการไต่สวนข้อเท็จจริงไม่รอบคอบ ไม่ถูกต้อง ไม่น่าเชื่อถือมี 2 มาตรฐาน โดยมีการเปรียบเทียบกับคดีสั่งสลายการชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2551 นั้น
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า ประเด็นเหล่านี้ ข้อเท็จจริง พฤติการณ์ของคดีสั่งสลายชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ และการสั่งสลายการชุมนุมกลุ่ม นปช. มีความแตกต่างกัน คือ เหตุการณ์สลายชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ในคืนวันที่ 6 ต.ค. 2551 เวลาประมาณ 23.00 น. มีการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดพิเศษ ในท่าอากาศยานดอนเมือง ที่เป็นทำเนียบชั่วคราว นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น) ร่วมกับ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น) มีคำสั่งให้ พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร. (ขณะนั้น) เปิดทางให้สมาชิกรัฐสภาเข้าประชุมเพื่อแถลงนโยบายต่อสภาในวันที่ 7 ต.ค. 2551 ให้ได้ โดยไม่ปรากฏแนวทางปฏิบัติที่เป็นไปตามขั้นตอนหลักสากล มีการใช้แก๊สน้ำตาชนิดยิง ขว้าง ผลักดันกลุ่มพันธมิตรฯที่ปิดทางเข้ารัฐสภา 3 ครั้ง ครั้งแรกเวลา 06.00 น. มีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก บางคนขาขาด นิ้วขาด น่องเป็นแผล ครั้งที่สองเวลา 16.00-17.00 น. ภายหลังนายสมชายแถลงเสร็จแล้ว ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บจำนวนหนึ่ง ครั้งสุดท้ายเวลา 19.00 น. บริเวณหน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาล โดยใช้แก๊สน้ำตาอีกครั้ง เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย
นอกจากนั้นยังมีผู้บาดเจ็บสาหัสกว่า 700 ราย สำหรับราย พ.ต.ท.เมธี ชาติมนตรี หรือสารวัตรจ๊าบ ขณะเสียชีวิตยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า เสียชีวิตจากระเบิดของตนเอง นอกจากนี้สื่อเสนอเหตุการณ์สลายการชุมนุมด้วยแก๊สน้ำตา มีผู้เสียชีวิตบาดเเจ็บตลอดทั้งวัน แต่นายสมชาย ไม่ได้สั่งระงับ หรือยับยั้งการปฏิบัติการดังกล่าวแต่อย่างใด
แต่การสลายชุมนุม นปช. นายอภิสิทธิ์ กับพวก มีการสั่งการโดยมีแนวทางการปฏิบัติ และเน้นย้ำการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ทุกระดับตามขั้นตอน กฎ และหลักการสากลของการสลายการชุมนุม และปรากฏข้อเท็จจริงในการไต่สวนจากศาลว่า การชุมนุม นปช. มิใช่การชุมนุมสงบตามรัฐธรรมนูญ มีบุคคลที่มีอาวุธปืนปะปนในกลุ่ม นปช. มีเหตุจำเป็นให้ ศอฉ. ต้องขอคืนพื้นที่ ให้เกิดความสงบสุข โดยเจ้าหน้าที่ได้รับคำสั่งต้องปฏิบัติ กำหนดวิธีการ และหลักเกณฑ์เป็นไปตามลำดับขั้นต่อไป จนถึงหน่วยปฏิบัติในพื้นที่ ผู้ควบคุมคือผู้บังคับกองพัน การตัดสินใจใช้อาวุธ เป็นไปตามสายการบังคับบัญชา จากผู้บังคับกองพล ให้ทหารผู้ปฏิบัตินำอาวุธ พร้อมกระสุนจริง ติดตัวกี่กระบอก ต่อกองร้อย บางกองพล นำอาวุธปืนเปล่า แต่เก็บกระสุนไว้บนรถ หากนำอาวุธไป ผู้มีอำนาจสั่งใช้อาวุธคือ ผู้บังคับกองพันในพื้นที่ที่จะรับผิดชอบแหตุการณ์ดังกล่าว
นายวรวิทย์ กล่าวว่า ดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริง และพฤติการณ์การสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ และ นปช. แตกต่างกัน คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาวินิจฉัยไปตามข้อเท็จจริงข้างต้น แม้ต่อมาอัยการสูงสุด (อสส.) ไม่รับดำเนินคดีสั่งสลายการชุมนุมปี 2551 และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษายกฟ้องนายสมชาย กับพวก ถือเป็นเรื่องการใช้ดุลพินิจการรับฟังพยานหลักฐานที่ต่างกันในแต่ละองค์กร เป็นไปตามหลักการของการตรวจสอบถ่วงดุล ที่รับรองโดยรัฐธรรมนูญ คำกล่าวอ้างในประเด็นนี้ จึงเป็นการโต้แย้งในการรับฟังพยานหลักฐาน และผู้ร้องไม่ได้กล่าวอ้างพยานหลักฐานใหม่อันเป็นสาระสำคัญในการไต่สวน ดังนั้นกรณีดังกล่าวจึงไม่ใช่พยานหลักฐานใหม่ จึงต้องห้ามมิให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยกขึ้นพิจารณาใหม่ เป็นไปตาม มาตรา 44 แห่ง พ.ร.บ.ป.ป.ช.
“อย่างไรก็ตามหากปรากฏพยานหลักฐานใหม่ อันเป็นสาระสำคัญที่ทำให้ผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เปลี่ยนแปลงไป คณะกรรมการ ป.ป.ช. อาจหยิบยกสำนวนการไต่สวนดังกล่าวขึ้นมาพิจารณาใหม่ได้ทุกเมื่อ ทั้งนี้ภายในอายุความ ไม่ใช่ว่าตัดสิทธิ์ใครที่จะมาร้องเรียนเพิ่ม ถ้าใครเห็นพยานหลักฐานในการดำเนินการ หรือตรวจสอบพบหลักฐานใหม่ สามารถส่งพยานหลักฐานให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาได้ตลอดเวลา ทั้งนี้ต้องอยู่ในอายุความของคดี” นายวรวิทย์ กล่าว
เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า ส่วนกรณีดีเอสไอ ส่งสำนวนการสอบสวนกรณีการเสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บสาหัสของประชาชนในเหตุการณ์ดังกล่าวให้ ป.ป.ช. ไต่สวนนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นเรื่องเดียวกับกรณีกล่าวหานายอภิสิทธิ์ กับพวก ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาและมีมติวินิจฉัยไปแล้ว หากเป็นการดำเนินการกับทหาร และนายทหารระดับบังคับบัญชาในพื้นที่ ในการใช้กำลังบังคับ ใช้อาวุธ เป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ หรือเสียชีวิต จากการสลายการชุมนุม ให้ส่งเรื่องให้ดีเอสไอสอบสวนต่อ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และมาตรา 89/2 แห่ง พ.ร.บ.ป.ป.ช. ดังนั้นจึงมีมติส่งคืนเรื่องดังกล่าวกลับสู่ดีเอสไอเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป อย่างไรก็ดีคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้สำนักงาน ป.ป.ช. ประสานและติดตามผลการดำเนินการของดีเอสไอเพื่อความเป็นธรรมแก่ญาติผู้เสียชีวิต และผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) พร้อมกับนายยศวริศ ชูกล่อม (เจ๋ง ดอกจิก) แกนนำ นปช. ได้เข้าร่วมฟังการแถลงข่าวครั้งนี้ด้วย
อ่านประกอบ :
'ณัฐวุฒิ'แห้ว! ป.ป.ช.ไม่รื้อคดีสลายแดงมาพิจารณาใหม่ ชี้คำวินิจฉัยเดิมถูกต้อง
นปช.ยื่นหลักฐานใหม่ขอ ป.ป.ช.รื้อคดีสลายชุมนุม-ขู่ถ้าเฉยล่า2หมื่นชื่อส่งศาลฎีกาฯสอบ
'มาร์ค-สุเทพ-บิ๊กป๊อก'รอด! คดีสลายแดง ป.ป.ช.ยันทำตามหลักสากล
ยังไร้หลักเกณฑ์เปิดเผย! ป.ป.ช.ไม่ให้ข้อมูลปมตีตกคดีสลายแดงปี’53