นปช.ยื่นหลักฐานใหม่ขอ ป.ป.ช.รื้อคดีสลายชุมนุม-ขู่ถ้าเฉยล่า2หมื่นชื่อส่งศาลฎีกาฯสอบ
‘ณัฐวุฒิ-แกนนำ นปช.’ ยื่นหลักฐานใหม่ ขอความเป็นธรรม ป.ป.ช. รื้อคดีสลายชุมนุมปี’53 พิจารณาอีกครั้ง เทียบคดีสลาย พธม. ยังยุติในชั้นศาลฯ ทำสังคมสงสัยถึงบรรทัดฐาน ยันไม่ได้มาหาเรื่อง แต่มาหาความยุติธรรม ยังหาคำตอบไม่ได้คนตายเป็นร้อย แต่เอาผิดใครไม่ได้ ขู่ถ้ายังเฉย เตรียมล่าชื่อ 2 หมื่นคนยื่น ปธ.สภา ส่ง ปธ.ศาลฎีกา ตั้ง กก.สอบ
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2560 นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นางธิดา ถาวรเศรษฐ และนายธนาวุฒิ วิชัยดิษฐ์ แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขอให้พิจารณาคำร้องใหม่ในคดีสั่งสลายการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดงปี 2553
กลุ่ม นปช. ได้แนบเอกสารพยานหลักฐานใหม่ ได้แก่ คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองคดีสั่งสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯปี 2551 พร้อมกับรายละเอียดข่าวที่เป็นมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ตีตกข้อกล่าวหาสั่งสลายการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดงปี 2553 ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี กับพวก เป็นผู้ถูกกล่าวหา นอกจากนี้ยังนำเสนอวารสารเสนาธิปัตย์ ที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการสลายการชุมนุม และหนังสือเรื่อง ‘ความจริงเพื่อความยุติธรรม’ ที่เป็นรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์ และผลกระทบจากการสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 ด้วย
นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า การยื่นหลักฐานในครั้งนี้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ที่ระบุว่า หากมีพยานหลักฐานใหม่สามารถยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช. นำสำนวนเก่ามาพิจารณาใหม่ได้ โดยกลุ่ม นปช. ได้เทียบเคียงกรณีนี้กับการสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯปี 2551 เห็นว่า มีความคิดที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงจาก ป.ป.ช. จึงทำให้เกิดความสงสัยถึงบรรทัดฐานของการพิจารณาสำนวน จึงใคร่ของให้ทบทวนมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดเดิม เพื่อให้เกิดหลักนิติธรรมที่ชัดเจน และการมาในครั้งนี้ไม่ได้มาหาเรื่อง หรือทำให้เกิดการกระทบกระทั่งกับกลุ่มพันธมิตรฯ แต่มาเพื่อหาความยุติธรรม และขอให้เห็นใจผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 และเพียงขอโอกาสให้ได้รับความยุติธรรมอย่างเท่าเทียม
"พวกผมมีคำถามมาโดยตลอดว่าสั่งฟ้องแก๊สน้ำตา แต่ไม่สั่งฟ้องการใช้อาวุธสงครามได้อย่างไร ยืนยันว่าพวกผมไม่ได้มาหาเรื่องแต่มาหาความยุติธรรม และขอความเห็นใจ ซึ่งในเหตุการณ์ปี 2553 ยังหาคำตอบไม่ได้จนถึงปัจจุบันนี้ว่า คนมือเปล่า ถูกยิงนอนตายกลางถนนในเมืองหลวงกว่าร้อยชีวิต แต่ไม่รู้จะเอาผิดใคร และถึงวันนี้ก็ไม่รู้จะดำเนินคดีกับจำเลยที่ไหน ซึ่งความรู้สึกนี้ไม่ว่าจะผ่านไปนานเท่าไหร่ก็คงจะไม่ลบเลือนไปได้ พวกผมอยากได้รับโอกาสเหมือนกับกลุ่มอื่นก็เท่านั้น ขอให้ป.ป.ช. น้อมนำกระแสพระราชดำรัสที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานเมื่อวันที่ 8 ส.ค. เรื่องความยุติธรรม ซึ่งเราไม่ได้เรียกร้องความยุติธรรมให้แกนนำแต่เรียกร้องความยุติธรรมให้ประชาชนที่บาดเจ็บ ล้มตาย เพราะเรื่องนี้ถูกผิดก็ควรไปว่ากันในชั้นศาล ไม่ใช่ยุติเรื่องโดย ป.ป.ช. เสียงข้างมาก ซึ่งแตกต่างกันมากกับการส่งฟ้องคดีพันธมิตรฯ"นายณัฐวุฒิ กล่าว
นายณัฐวุฒิ กล่าวอีกว่า การขอให้ ป.ป.ช. รื้อฟื้นคดีใหม่อีกครั้ง เป็นการทำตามกรอบกฎหมาย แม้จะรู้ว่าสถานการณ์ขณะนี้เป็นเรื่องยากที่แกนนำ นปช. จะส่งเสียงออกมาในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่เสียงดังกล่าวออกมาจากหัวใจที่เจ็บปวด หาก ป.ป.ช. ไม่ตอบสนอง แกนนำ นปช. จะใช้ช่องทางตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 236 เพื่อรวบรวมรายชื่อประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นราย ยื่นต่อประธานรัฐสภาเพื่อพิจารณาให้ยื่นเรื่องต่อประธานศาลฎีกา ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการไต่สวนอิสระ ตรวจสอบการทำงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต่อไป เพราะพวกเราอดทนรอคอยคดีนี้มานาน และจะรอคอยจนกว่าจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จากนั้นจึงดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป หากเห็นว่า ป.ป.ช. ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่สุจริต ทั้งนี้ นปช. ไม่ขัดข้องหาก ป.ป.ช. เห็นว่าควรยื่นอุทธรณ์คดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯปี 2551 เพราะถือเป็นอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย แต่ นปช. จะรอดูว่า คดีสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงปี 2553 ป.ป.ช. จะมีวิธีปฏิบัติอย่างไร
“เราเชื่อว่าความอยุติธรรมนั้นทำลายสังคม ก่อให้เกิดความเจ็บปวด และแตกแยกในสังคม เราไม่ได้มาเพื่อเผชิญหน้ากับกรรมการ ป.ป.ช. แต่ต้องการให้ ป.ป.ช. เผชิญหน้ากับความอยุติธรรมที่เราได้รับ เพราะเป็นหน้าที่โดยตรงของ ป.ป.ช. ที่จะขับไล่ความอยุติธรรมนี้ออกไปด้วยความสุจริตตรงไปตรงมา เราไม่ได้กล่าวหาว่าใครปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ แต่หากพบว่าการปฏิบัติหน้าที่นั้นไม่สุจริตเราจะดำเนินการตามกฎหมายอย่างที่ได้กล่าวไปแล้ว” นายณัฐวุฒิ กล่าว
นายณัฐวุฒิ กล่าวด้วยว่า การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯใช้เวลาเพียงวันเดียว แต่ในสำนวนของ ป.ป.ช. ได้แยกเป็นสองเหตุการณ์ ขณะที่การสลายการชุมนุมกลุ่ม นปช. ใช้เวลา 1 เดือน การบาดเจ็บและเสียชีวิตเกิดขึ้นต่างกรรมต่างวาระ ต่างสถานที่ ผู้เสียชีวิตจำนวนหนึ่งไม่ใช่ผู้ชุมนุม มีอาสาสมัครพยาบาลเสียชีวิตด้วย แต่คดีนี้ ป.ป.ช. ได้พิจารณาแบบเหมารวมให้เป็นเหตุการณ์เดียว โดยอ้างคำวินิจฉัยศาลที่มีขึ้นก่อนยุติการชุมนุมตั้ง 1 เดือน เราจึงได้ยื่นขอให้ ป.ป.ช. พิจารณาโดยแยกเหตุการณ์ เช่น เหตุการณ์ที่วัดปทุมฯ แยกบ่อนไก่ ถนนราชปรารภ เป็นต้น
อ่านประกอบ :
'มาร์ค-สุเทพ-บิ๊กป๊อก'รอด! คดีสลายแดง ป.ป.ช.ยันทำตามหลักสากล
ยังไร้หลักเกณฑ์เปิดเผย! ป.ป.ช.ไม่ให้ข้อมูลปมตีตกคดีสลายแดงปี’53