- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- ฉบับเต็ม! คำวินิจฉัยศาล รธน.ฟัน อนค.ทำพรรคเป็นธุรกิจการเมือง-บงการเพียงผู้เดียว
ฉบับเต็ม! คำวินิจฉัยศาล รธน.ฟัน อนค.ทำพรรคเป็นธุรกิจการเมือง-บงการเพียงผู้เดียว
“...ข้อเท็จจริง พฤติการณ์ หลักฐานดังกล่าว เห็นว่า การที่นายธนาธร ให้เงินกู้แก่พรรคอนาคตใหม่ เป็นการบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใด และการที่นายธนาธรเป็นหัวหน้าพรรค ให้พรรคอนาคตใหม่กู้ยืมเงินจำนวนมาก กรรมการบริหารพรรคควรจะรู้ว่า การเป็นหนี้จำนวนมากต่อบุคคลใด ย่อมก่อให้เกิดการครอบงำ สามารถอาศัยอำนาจมูลหนี้ หรืองดเว้นการอันใดอันหนึ่งตามสัญญาก็ได้ ก่อให้เกิดความได้เปรียบทางการเงินมาเป็นผู้บงการพรรคแต่เพียงผู้เดียวหรือกลุ่มเดียว ส่งผลให้พรรคการเมืองเป็นธุรกิจการเมือง ดังนั้นการกู้ยืมของพรรคการเมือง หลีกเลี่ยงการรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ตามมาตรา 66 การรับบริจาคดังกล่าวต้องห้ามตามมาตรา 66 จึงเป็นการรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 72…”
หลายคนคงทราบไปแล้วว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 เสียง เห็นว่าควรยุบพรรคอนาคตใหม่ ในคดีกู้เงินจากนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค 191.2 ล้านบาท โดยเห็นว่า อาจเปิดช่องให้มีการครอบงำพรรค และเป็นการทำธุรกิจการเมือง หลังจากนั้นศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรค ชุดที่ทำหน้าที่เมื่อวันที่ 2 ม.ค. 2563 และชุดที่ทำหน้าที่เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2562 ซึ่งเป็นวันที่กระทำการอันเป็นเหตุให้ยุบพรรค เป็นเวลา 10 ปี และห้ามมิให้กรรมการบริหารพรรคดังกล่าว หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาใหม่ภายใน 10 ปีด้วย (อ่านประกอบ : ยุบพรรคอนาคตใหม่! คำวินิจฉัย ศาล รธน.คดีเงินกู้-เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง กก.บห.10 ปี)
สำหรับรายชื่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก 7 ราย ได้แก่ สำหรับรายชื่อตุลาการเสียงข้างมาก 7 ราย ได้แก่ นายนุรักษ์ มาประณีต ประธานศาลรัฐธรรมนูญ นายจรัญ ภักดีธนากุล นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ นายบุญส่ง กุลบุปผา นายปัญญา อุดชาชน นายวรวิทย์ กังศศิเทียม และนายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี ตุลาการเสียงข้างน้อย 2 ราย ได้แก่ นายชัช ชลวร และนายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ (อ่านประกอบ : เปิดมติศาล รธน. 7:2 ยุบ อนค.คดีกู้เงิน‘ชัช-ทวีเกียรติ’เสียงข้างน้อย)
เหตุผลของศาลรัฐธรรมนูญเป็นอย่างไร ? สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สรุปรายละเอียดคำวินิจฉัยดังกล่าวให้สาธารณชนรับทราบ ดังนี้
คดีนี้ฝ่ายผู้ร้อง (กกต.) มีนายสมพล พรผล ผอ.สำนักกิจการพรรคการเมือง สำนักงาน กกต. เป็นผู้แทนมาฟังคำวินิจฉัย ส่วนฝ่ายผู้ถูกร้อง (พรรคอนาคตใหม่) รับทราบนัดโดยชอบแล้ว แต่มิได้มาศาลแต่อย่างใด โดยมีนายวรวิทย์ กังศศิเทียม นายปัญญา อุดชาชน และนายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ เป็นผู้แทนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยดังกล่าว
โดย กกต. ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉํยเพื่อมีคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำร้อง คำชี้แจงข้อกล่าวหา และเอกสารประกอบแล้วเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยโดยไม่จำเป็นต้องทำการไต่สวนพยานบุคคล แต่เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาให้พยานบุคคลรวม 17 ปาก เช่น นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ นายนิติพัฒน์ แต้มไพโรจน์ เหรัญญิกพรรค นายพุฒิพงษ์ พงษ์เอนกกุล ทีมกฎหมายพรรค นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง นายแสวง บุญมี รองเลขาธิการ กกต. เป็นต้น
ข้อเท็จจริงเบื้องต้นปรากฏในคำร้อง คำชี้แจงข้อกล่าวหา ความเห็นของผู้เกี่ยวข้อง เอกสารหลักฐานประกอบ ฟังได้ว่า พรรคอนาคตใหม่จดทะเบียนจัดต้งพรรคเมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2561 ส่งงบการเงินประจำปี 2561 รอบระยะเวลาบัญชีเมื่อวันที่ 3 ต.ค.-31 ธ.ค. 2561 ต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง ระบุว่า มีรายได้รวม 71 ล้านบาทเศษ และมีค่าใช้จ่ายรวม 72 ล้านบาทเศษ โดยมีค่าใช้จ่ายสูงกว่ารายได้เป็นเงิน 1.4 ล้านบาทเศษ
เมื่อวันที่ 2 ม.ค. 2562 พรรคอนาคตใหม่ทำสัญญากู้ยืมเงินจากนายธนาธร จำนวนเงิน 161.2 ล้านบาท ข้อ 1 ผู้กู้ได้รับต้นเงินกู้เรียบร้อยแล้วทั้งจำนวน ข้อ 2 ระบุว่า ผู้กู้ยอมเสียดอกเบี้ย ร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินกู้ กำหนดส่งดอกเบี้ยทุกเดือน จนกว่าสัญญาสิ้นสุดลง ทั้งนี้หากผู้กู้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ผู้กู้ต้องรับผิดชอบในเบี้ยปรับวันละ 100 บาท จนกว่าผู้กู้จะชำระเงินกู้
ต่อมาพรรคอนาคตใหม่ มีการชำระเงินกู้ยืมบางส่วนแก่นายธนาธร เป็นจำนวน 3 ครั้ง ได้แก่ เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2562 ชำระเงินสดคืน 14 ล้านบาท เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2562 ชำระเงินสดคืน 8 ล้านบาท และเมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2562 ชำระเงินโดยวิธีการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขาไทยซิมมิทพาวเวอร์ จำนวน 50 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 72 ล้านบาท
เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2562 พรรคอนาคตใหม่ ทำสัญญากู้ยืมเงินจากนายธนาธรอีก จำนวน 30 ล้านบาท โดยสัญญาข้อ 1 ระบุว่า วันทำสัญญานี้ ผู้กู้ได้รับเงินกู้จำนวน 2.7 ล้านบาท ส่วนเงินกู้ที่เหลือ นายธนาธรจะให้พรรคอนาคตใหม่ภายหลัง ข้อ 2 ระบุว่า ผู้กู้ยอมเสียดอกเบี้ยแก่ผู้ให้กู้อัตราร้อยละ 2 ต่อปีของต้นเงินกู้ เท่าที่ผู้กู้ยังคงค้างชำระ
อีกทั้งพรรคอนาคตใหม่ และนายธนาธร ผู้ให้กู้ ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาสอดรับกันว่า มีการแก้ไขสัญญาเงินกู้ จากเดิมส่งดอกเบี้ยทุกเดือน เป็นทุกปี นอกจากนี้เดือน ก.ค. 2562 นายธนาธร บริจาคเงินให้แก่พรรคอนาคตใหม่ จำนวน 8.5 ล้านบาท และเมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2562 พรรคอนาคตใหม่ชำระค่าดอกเบี้ย และเงินกู้ยืมบางส่วนแก่นายธนาธร จำนวน 3 ครั้ง แบ่งเป็นค่าดอกเบี้ย พร้อมเบี้ยปรับ จำนวน 5.8 ล้านบาทเศษ และชำระเงินกู้ยืมบางส่วนในสัญญาฉบับวันที่ 2 ม.ค. 2562 จำนวน 5 ล้านบาท และค่าดอกเบี้ยเงินกู้ พร้อมเบี้ยปรับ จำนวน 1.4 ล้านบาทเศษ
(เมื่อเวลา 15.00 น. ตัวแทนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ ใช้เวลาประมาณ 53 นาที)
ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดประเด็นวินิจฉัยรวม 4 ประเด็น ได้แก่
หนึ่ง กกต. มีอำนาจยื่นคำร้องนี้ตาม พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ มาตรา 92 หรือไม่
@มีอำนาจรับคำร้อง เหตุ กกต.มีอิสระไม่ผูกพันความเห็น กก.สืบสวนฯ
โดยสรุปศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) (2) (3) (4) และมาตรา 93 ประกอบระเบียบ กกต. ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ข้อ 54 วรรคหนึ่ง และข้อ 55 วรรคหนึ่ง กำหนดรองรับหลักเกณฑ์ลักษณะทำนองเดียวกันกับ พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ มาตรา 92 และมาตรา 93 และตามระเบียบ กกต. ว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวน และการวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ. 2561 เป็นระเบียบใช้สืบสวน หรือสอบสวน เพื่อดำเนินคดีอาญากับบุคคล เพราะเหตุกระทำผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง และพรรคการเมือง ซึ่งมีกระบวนการแจ้งข้อกล่าวหา และส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวน หรือพนักงานอัยการดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
ข้อที่พรรคอนาคตใหม่โต้แย้งว่า เมื่อคณะกรรมการไต่สวน คณะที่ 13 เสนอรายงานต่อ กกต. ว่า คดีไม่มีมูลแล้ว กกต. มีหน้าที่สั่งยุติเรื่องตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2561 มาตรา 41 แต่เลขาธิการ กกต. ได้อาศัยข้อเท็จจริงจากสำนวนการสืบสวนดังกล่าวข้างต้นมาตั้งฐานความผิดตาม พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ มาตรา 72 เสนอต่อที่ประชุม กกต. ครั้งที่ 129/2562 ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธณรมนูญเพื่อยุบพรรค โดยมิได้ดำเนินการส่งเรื่องให้เลขาธิการ กกต. ดำเนินการแก้ไขสำนวน หรือไต่สวน และแสวงหาข้อเท็จจริงนั้น จึงไม่ชอบด้วยมาตรา 41 แห่ง พ.ร.บ.กกต. และระเบียบ กกต. ว่าด้วยการสืบสวนฯ ข้อ 54
ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ความเห็นของ กกต. เป็นอิสระ มิได้ผูกพันไปตามความเห็นของคณะกรรมการสืบสวนฯ นอกจากนี้ยังปรากฏข้อเท็จจริงว่า การดำเนินคดีอาญานั้น อยู่ระหว่างการพิจารณาของ กกต. ยังไม่ถึงขั้นตอนการแจ้งข้อกล่าวหา ตามระเบียบ กกต.ว่าด้วยการสืบสวนฯ ส่วนการดำเนินกรณียุบพรรค ตาม พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ มาตรา 92 นั้น เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2562 เลขาธิการ กกต. มีคำสั่ง 7/2562 ตั้งกรรมการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน โดยศึกษาวิเคราะห์รายละเอียดสำนวนการสืบสวนของนายธนาธร ให้พรรคอนาคตใหม่กู้เงิน เป็นการกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายพรรคการเมืองหรือไม่ ต่อมากรรมการฯชุดดังกล่าวรวบรวมข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานเสนอ กกต. และ กกต. เห็นว่ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรรคอนาคตใหม่กระทำการฝ่าฝืน มาตรา 72 แห่ง พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ อันเป็นเหตุให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามมาตรา 92 (3) แห่ง พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ และมีมติให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเป็นคดีนี้ ดังนั้นกระบวนการดำเนินคดีอาญา และยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรค จึงแยกเป็นอิสระต่อกัน การยื่นคำร้องของ กกต. ชอบด้วยกฎหมาย ข้อโต้แย้งของพรรคอนาคตใหม่ฟังไม่ขึ้น
@ชี้มีอำนาจยุบพรรคตาม กม.ลูก-ผ่านความเห็นชอบสภา กลไกตาม รธน.
พรรคอนาคตใหม่โต้แย้งอีกว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจวินิจฉัยยุบพรรคตามรัฐธรรมนูญ เพราะไม่มีอำนาจตามกฎหมายอื่นนั้น ศาลรัฐธรรมนูญยกรัฐธรรมนูญมาตรา 210 วรรคหนึ่ง (3) และมาตรา 130 (4) บัญญัติให้มี พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 โดยในมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.ศาลรัฐธรรมนูญฯ ให้ศาลมีอำนาจหน้าที่ในคดีต่อไปนี้ (13) คดีอื่นที่รัฐธรรมนูญ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ กฎหมายอื่นกำหนดในเขตอำนาจศาล โดย พ.ร.บ. ทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวโดยความเห็นชอบจากรัฐสภา กระทำโดยชอบของฝ่ายนิติบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ
ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 เห็นว่า มีหน้าที่และอำนาจวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ได้ ข้อโต้แย้งดังกล่าวฟังไม่ขึ้น
@แจงใช้เวลาประชุมปรึกษา 11 ครั้ง 71 วัน มิได้เร่งรัด
ศาลรัฐธรรมนูญ ชี้แจงเพิ่มเติมว่า คดีนี้ดำเนินการตามกระบวนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อรับคำร้องจาก กกต. เมื่อช่วงเดือน ธ.ค. 2562 มีการประชุมร่วมกัน ปรึกษาหารือเรื่องนี้ในองค์คณะตุลาการตลอดมา 11 ครั้ง จนที่ประชุมได้ข้อยุติ และนัดฟังคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2563 จึงเป็นการที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้ระยะเวลาในการพิจารณาคดีโดยละเอียดถี่ถ้วน และใช้ระยะเวลานานพอสมควร ให้ความเป็นธรรมแก่คู่กรณีทั้ง กกต. และพรรคอนาคตใหม่ในการชี้แจงข้อกล่าวหา มีการประชุมปรึกษาก่อนวินิจฉัย 71 วัน จึงมิได้กระทำการโดยเร่งรัด หรือรวบรัดแต่อย่างใด
(กรรมการบริหารพรรคทั้ง 16 รายที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี โดยมี 11 รายเป็น ส.ส. (ไม่รวมนายธนาธรที่พ้นไปก่อนหน้านี้))
สอง มีเหตุอันควรยุบพรรคอนาคตใหม่ ตาม พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯก มาตรา 92 หรือไม่
ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 45 วรรคหนึ่ง กำหนดว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมืองตามวิถีทางประชาธิปไตยตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ วรรคสอง กำหนดว่า กฎหมายตามวรรคหนึ่งอย่างน้อยต้องมีกฎหมายเกี่ยวการบริหารพรรคการเมืองที่เปิดเผยตรวจสอบได้ เปิดโอกาสให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง กำหนดนโยบาย และส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง กำหนดมาตรการให้ดำเนินการอย่างอิสระ ไม่ถูกครอบงำ จากคนที่มิใช่สมาชิก และต้องมีมาตรการกำกับดูแล มิให้สมาชิกฝ่าฝืนการเลือกตั้ง
พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ มาตรา 66 บัญญัติว่า บุคคลใดจะบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดให้แก่พรรคการเมืองมีมูลค่าเกิน 10 ล้านบาท/พรรคการเมือง/ปีมิได้ และในกรณีที่บุคคลนั้นเป็นนิติบุคคล การบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดให้แก่พรรคการเมืองไม่ว่าพรรคเดียวหรือหลายพรรคเกินปีละ 5 ล้านบาท ต้องแจ้งให้ที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นทราบในการประชุมใหญ่คราวต่อไปหลังจากบริจาคแล้ว
พรรคการเมืองจะรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดซึ่งมีมูลค่าเกินวรรคหนึ่งมิได้
มาตรา 72 ห้ามมิให้พรรคการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
@ยก รธน. ม.45-พ.ร.บ.พรรคฯ มุ่งให้ ปชช.มีเสรีภาพ ป้องคนบงการครอบงำพรรค
พิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 45 มุ่งหมายรับรองเสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมือง กำหนดกรอบกฎหมายให้การจัดตั้งพรรคการเมืองเป็นของประชาชนอย่างกว้างขวาง บริหารกิจการภายในของพรรคเป็นไปตามหลักประชาธิปไตยภายในพรรค โดยเฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งในทางการเมือง และภายในพรรค สามารถปฏิบัติหน้าที่โดยอิสระ ปราศจากการครอบงำ หรือชี้นำโดยบุคคลหรือคณะบุคคลใด ๆ โดยมิชอบ ประชาชนมีส่วนร่วมจัดตั้งพรรคการเมืองตั้งแต่แรก กำหนดการบริหาร การส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. การดำเนินกิจกรรมใด ๆ อื่น ๆ ของพรรค สมาชิกต้องมีส่วนร่วมด้วย ป้องกันมิให้พรรคการเมือง เป็นธุรกิจการเมือง หรือมีบุคคลหรือคณะบุคคลใดอาศัยความได้เปรียบมาเป็นผู้บงการแค่เพียงบุคคลหรือคณะบุคคลกลุ่มเดียว ดังนั้นรัฐสภาจึงตรา พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ เป็นกฎหมายตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 45 บัญญัติไว้
ส่วน พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ มาตรา 66 บทบัญญัติดังกล่าวมุ่งหมายควบคุมการบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดจากบุคคลไม่เกิน 10 ล้านบาท/พรรค/ปี ป้องกันบุคคลหรือคณะบุคคลอาศัยความได้เปรียบทางการเงิน มาเป็นนายทุนเพื่อบงการ หรือมีอิทธิพลครอบงำ มาดำเนินกิจกรรมพรรค ทำให้การบริหารพรรคไม่เป็นไปโดยอิสระ ทำให้การตรวจสอบถ่วงดุลในพรรค ไม่มีสภาพอย่างแท้จริง อาจทำหลายหลักประชาธิปไตยภายในพรรค ตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ มาตรา 45 และอาจส่งผลให้พรรคถูกใช้เป็นเครื่องมือส่วนตนโดยมิชอบของผู้บงการที่มีอิทธิพลเหนือพรรค จึงต้องมีมาตรการควบคุมมูลค่าการบริจาค สร้างเสริมให้พรรคมีการบริหารกิจการเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยในพรรค เพื่อให้พรรคเป็นสถาบันของประชาชน มีความน่าเชื่อถือ และเป็นที่ยอมรับ
@ตีความ ม.72 พ.ร.บ.พรรคฯ หมายถึงการรับบริจาคด้วย
มีประเด็นปัญหาพิจารณาประการแรกว่า การที่พรรค และผู้ดำรงตำแหน่งในพรรค รับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรรู้ว่าได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย หรือมีเหตุอันสงสัยแหล่งที่มาว่าได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ฝ่าฝืน พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ มาตรา 72 นั้นมีความหมายเพียงใด
มาตรา 72 ดังกล่าว มีข้อห้าม 2 กรณีคือ หนึ่ง พรรค และผู้ดำรงตำแหน่งภายในพรรค ฝ่าฝืนรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรรู้ว่าได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ทั้งการได้มาซึ่งเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยมิชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่เปิดเผยตามกฎหมาย
สอง พรรค และผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง กระทำการฝ่าฝืนรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการได้มาซึ่งเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ที่มีแหล่งที่มาจากการกระทำความผิดตามกฎหมาย หรือเป็นเงินสกปรก การฟอกเงิน ค้าของเถื่อน ค้ามนุษย์ หรือการทุจริต
สองกรณีดังกล่าว ไม่ว่าเป็นจำนวนเท่าใดก็ตาม ย่อมถือว่าเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมายทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้ พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ มาตรา 72 จึงได้กำหนดข้อห้ามดังกล่าว ป้องกันมิให้พรรคไปเกี่ยวข้องกับเงินเหล่านั้น ทำให้พรรคกลายเป็นผู้มีส่วนร่วม ช่วยเหลือ หรือสนับสนุน การกระทำผิดไปด้วย ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชน ต่อระบบการเมืองไทย กระทบมาตรการสำคัญในการสร้างระบบการเมืองให้โปร่งใส มีความน่าเชื่อถือต่อประชาชน ซึ่งสอดคล้องกับมาตรา 77 วรรคหนึ่ง ตาม พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ กำหนดมาตรการ และพฤติการณ์จำเป็นปฏิบัติเพื่อให้การรับบริจาคเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย เปิดเผย และตรวจสอบได้
@แม้กฎหมายไม่บัญญัติ แต่ไม่รับรองว่าให้กระทำได้
มีประเด็นปัญหาพิจารณาประการที่สองว่า พรรคการเมืองสามารถกู้ยืมเงินตาม พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ ได้หรือไม่
เห็นว่า การทำกิจกรรมพรรคการเมือง ต้องอาศัยรายได้ของพรรค กำหนดแหล่งที่มาไว้ตามมาตรา 62 แห่ง พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ ดังนั้นเงินส่วนใดที่พรรคการเมืองนำมาใช้จ่ายในการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง มิได้มีแหล่งที่มาตามที่กฎหมายระบุไว้ ย่อมถือว่า เป็นเงินที่ได้มาโดยมิชอบตามมาตรา 72 แห่ง พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ แม้ พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ จะมิได้บัญญัติการห้ามกู้เงินไว้โดยชัดเจน แต่ไม่ได้รับรองว่าให้กระทำได้
ประกอบกับพรรคการเมืองมีสถานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชน และเงินกู้แม้นมิได้เป็นรายได้ แต่ก็เป็นรายรับ และเป็นเงินทางการเมือง การดำเนินการเกี่ยวกับการได้มาซึ่งการทำกิจกรรมทางการเมือง กระทำได้ภายในขอบเขตกำหนดไว้เท่านั้น เมื่อพิจารณาเจตนารมณ์กฎหมายที่กำหนดมาตรการทางกฎหมาย กำหนดให้พรรคดำเนินการได้โดยอิสระ ไม่ถูกชี้นำโดยกลุ่มบุคคลใดอาศัยเงินการกู้ยืมเงินของพรรคการเมือง จึงต้องสอดคล้องตามเจตนารมณ์ของพรรคและกฎหมาย
@คำว่า ปย.อื่นใดเป็นคำเฉพาะ เพื่อควบคุมการสนับสนุนพรรคให้พอเหมาะพอควร
มีประเด็นปัญหาพิจารณาประการที่สามว่า การรับบริจาคเงินตาม พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ มาตรา 72 มีความหมายอย่างไร
เห็นว่า เมื่อพิจารณาบทนิยาม พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ มาตรา 4 บัญญัติคำว่า บริจาค หมายความว่า การให้เงิน หรือทรัพย์สินแก่พรรคการเมืองนอกจากค่าธรรมเนียม และค่าบำรุงพรรคการเมือง และให้หมายความรวมถึงการให้ประโยชน์อื่นใดแก่พรรคการเมือง บรรดาที่สามารถคำนวณเป็นเงินได้ตามที่ กกต. กำหนดด้วย
ส่วนประโยชน์อื่นใด หมายความรวมถึง การให้ใช้ทรัพย์สิน การให้บริการ หรือการให้ส่วนลดโดยไม่มีค่าตอบแทนหรือมีค่าตอบแทนที่ไม่เป็นไปตามปกติทางการค้า และการทำให้หนี้ที่พรรคการเมืองเป็นลูกหนี้ลดลงหรือระงับสิ้นไปด้วย
ทั้งนี้ตามที่กฎหมายใช้คำว่า ให้หมายความรวมถึง ในการนิยามความหมายของคำนี้ในกฎหมาย รวมถึงสิ่งอื่นนอกจากคำจำกัดความของความหมายด้วย
การให้ประโยชน์อื่นใดแก่พรรค รวมถึงทำนองเดียวกับการให้บริการ ให้ส่วนลด หรือไม่มีค่าตอบแทน หรือมีตอบแทนไม่เป็นไปตามกฎกติกาการค้า หรือหนี้พรรคการเมืองลดลง หรือระงับสิ้นไป หรือให้ประโยชน์อื่นใดในพรรคที่บรรดาคำนวณเป็นเงินได้ โดยปกติต้องจ่าย หรือเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ การให้โดยไม่คิดดอกเบี้ย หรือคิดดอกเบี้ยที่ไม่เป็นไปตามปกติทางการค้า ย่อมถือว่าเป็นการให้ผลประโยชน์อื่นใดตาม พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ มาตรา 4 ต้องอยู่ในเจตนารมณ์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 45 วรรคสอง ภายใต้หลักเกณฑ์การรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดตาม พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ มาตรา 66 และมาตรา 72
ด้วยเหตุนี้คำว่าบริจาคและประโยชน์อื่นใดตาม พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ จึงเป็นคำที่มีความหมายเฉพาะในกฎหมายนี้ กำหนดสิ่งขอบข่ายบังคับในเรื่องนี้ เป็นไปตามจุดประสงค์ตามรัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายควบคุมการสนับสนุนทางการเมือง หรือแก่พรรคการเมือง ให้เป็นไปโดยพอเหมาะพอควร กับการดำเนินกิจกรรมของพรรค กำหนดให้พรรคมีระบบทางการเงิน ทางบัญชี รายได้ของพรรคมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ตลอดจนการสนับสนุน คุ้มครองตามหลักประชาธิปไตยภายในพรรค โดยป้องกันมิให้บุคคลหรือกลุ่มคนใดอาศัยพรรคการเมืองแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน ความได้เปรียบทางการเงิน บงการหรือมีอิทธิพลครอบงำ หรือชี้นำกิจการพรรคการเมืองแต่เพียงบุคคลหรือคณะบุคคลได้
@กู้เงินได้ 2 วันชำระหนี้ผิดปกติ-ลดดอกเบี้ยเหลือ 2% เอื้อ ปย.เป็นกรณีพิเศษ
ข้อเท็จจริงคดีนี้ปรากฏว่า งบการเงินประจำปี 2561 ของพรรคอนาคตใหม่ ระหว่างวันที่ 3 ต.ค. 2561-31 ต.ค. 2561 มีรายได้รวม 71.1 ล้านบาทเศษ รายจ่ายรวม 72.6 ล้านบาทเศษ มีสินทรัพย์หมุนเวียน และไม่หมุนเวียน 32.8 ล้านบาทเศษ ค่าใช้จ่ายจึงสูงกว่ารายได้เป็นเงิน 1.4 ล้านบาทเศษ แต่พรรคอนาคตใหม่กลับทำสัญญากู้ยืมเงินจากนายธนาธร ที่มีฐานะเป็นหัวหน้าพรรค รวม 2 ฉบับ จำนวนเงินถึง 191.2 ล้านบาท
ทั้งนี้การคิดอัตราดอกเบี้ย และเบี้ยปรับ ไม่เป็นไปตามปกติทางการค้า ถือเป็นการให้ประโยชน์อื่นใดแก่พรรคการเมืองอันบรรดาคำนวณเป็นเงินได้ แม้พรรคอนาคตใหม่ชำระหนี้เงินกู้บางส่วนให้แก่นายธนาธรหลายครั้ง แต่การชำระครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2562 โดยชำระเงินสด 14 ล้านบาท ภายหลังทำสัญญากู้เงินเพียง 2 วัน (ทำสัญญา 2 ม.ค. 2562) ถือว่าผิดปกติวิสัย
นอกจากนี้สัญญากู้ยืมเงิน 11 เม.ย. 2562 วงเงินกู้ 30 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี แต่วันทำสัญญาพรรคอนาคตใหม่กลับรับเงินเพียง 2.7 ล้านบาท การทำสัญญากู้เงินฉบับนี้เพิ่มเติม โดยที่ยังมีหนี้เงินกู้ค้างชำระอยู่ ไม่เป็นไปตามปกติวิสัย การทำสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าว มีข้อตกลงพฤติการณ์เอื้อประโยชน์หรือช่วยเหลือพรรคอนาคตใหม่เป็นกรณีพิเศษ ไม่เป็นไปตามปกติทางการค้า และไม่เป็นไปตามปกติวิสัยของการให้เงินกู้ยืม และการชำระหนี้เงินกู้ยืม ทั้งการคิดดอกเบี้ยอัตราไม่เป็นไปตามปกติการค้าสำหรับการกู้ยืม ต้องมีหลักประกัน ถือเป็นการให้ประโยชน์อื่นใดแก่พรรคการเมือง อันบรรดาคำนวณเป็นเงินได้ หรือประโยชน์อื่นใด
การที่พรรคอนาคตใหม่ได้รับบริจาคเงินกู้ 191.2 ล้านบาท กับเงินที่นายธนาธรบริจาคแก่พรรคอนาคตใหม่ในปี 2562 จำนวน 8.5 ล้านบาทแล้ว ย่อมชัดแจ้งว่า เป็นกรณีการบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่มีมูลค่าเกิน 10 ล้านบาท/พรรค/ปี ต้องห้ามตามมาตรา 66 วรรคสอง
@ชี้การให้กู้มาก ย่อมก่อให้เกิดการครอบงำ-เป็นผู้บงการ ฝ่าฝืน ม.72 เป็นเหตุให้ยุบพรรค
ข้อเท็จจริง พฤติการณ์ หลักฐานดังกล่าว เห็นว่า การที่นายธนาธร ให้เงินกู้แก่พรรคอนาคตใหม่ เป็นการบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใด และการที่นายธนาธรเป็นหัวหน้าพรรค ให้พรรคอนาคตใหม่กู้ยืมเงินจำนวนมาก กรรมการบริหารพรรคควรจะรู้ว่า การเป็นหนี้จำนวนมากต่อบุคคลใด ย่อมก่อให้เกิดการครอบงำ สามารถอาศัยอำนาจมูลหนี้ หรืองดเว้นการอันใดอันหนึ่งตามสัญญาก็ได้ ก่อให้เกิดความได้เปรียบทางการเงินมาเป็นผู้บงการพรรคแต่เพียงผู้เดียวหรือกลุ่มเดียว ส่งผลให้พรรคการเมืองเป็นธุรกิจการเมือง ดังนั้นการกู้ยืมของพรรคการเมือง หลีกเลี่ยงการรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ตามมาตรา 66 การรับบริจาคดังกล่าวต้องห้ามตามมาตรา 66 จึงเป็นการรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 72
ศาลรัฐธรรมนูญมีมีติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 พยานหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรรคอนาคตใหม่ ฝ่าฝืนมาตรา 72 แห่ง พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ ประกอบมาตรา 92 วรรคสอง และมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) เป็นเหตุทำให้ยุบพรรค
(เพจเฟซบุ๊ก พรรคอนาคตใหม่ เปลี่ยนรูปโปรไฟล์ โดยขีดฆ่าคำว่าพรรค ขณะที่นายธนาธร ประกาศเดินหน้าต่อ เปลี่ยนชื่อเป็น คณะอนาคตใหม่)
@เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง กก.บห. 10 ปี
สาม กรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ ถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ มาตรา 92 วรรคสองหรือไม่ เพียงใด
ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 วินิจฉัยว่า เมื่อพรรคอนาคตใหม่ได้กระทำการอันเป็นเหตุให้สั่งยุบพรรค และเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคแล้ว จึงชอบที่จะมีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าวอยู่ในวันที่ 2 ม.ค. 2562 หรือวันที่ 11 เม.ย. 2562 โดยกำหนดระยะเวลาของการเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งให้เป็นไปตามหลักความได้สัดส่วนพอเหมาะพอควรแก่กรณี ดังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2562 เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2562 (กรณียุบพรรคไทยรักษาชาติ)
ดังนั้นจึงให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่มีการกระทำอันเป็นเหตุให้สั่งยุบพรรคอนาคตใหม่มีกำหนดเวลา 10 ปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่
@ห้าม กก.บห.พรรคเดิม จัดตั้งพรรค-มีส่วนร่วมพรรคใหม่ 10 ปี
สี่ ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ที่ถูกยุบ และถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง จะไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรค หรือมีส่วนร่วมจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีกไม่ได้ 10 ปี นับแต่พรรคถูกยุบตาม พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ ตามมาตรา 94 วรรคสอง หรือไม่
ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 วินิจฉัยว่า เมื่อสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่แล้ว จึงต้องสั่งห้ามมิให้ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าวในวันที่กระทำความผิด ไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีก ภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่
อ่านประกอบ :
@คดีกู้เงินพรรคอนาคตใหม่
เปิดมติศาล รธน. 7:2 ยุบ อนค.คดีกู้เงิน‘ชัช-ทวีเกียรติ’เสียงข้างน้อย
ยุบพรรคอนาคตใหม่! คำวินิจฉัย ศาล รธน.คดีเงินกู้-เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง กก.บห.10 ปี
‘ธนาธร-แกนนำ อนค.’ไม่ไปฟังคำวินิจฉัยคดีกู้เงิน-ปัดกดดันศาล รธน.แต่ต้องพิสูจน์ว่าอิสระ
กาง 4 แนวทางคำวินิจฉัยศาล รธน. คดีเงินกู้ อนค.-ชี้ชะตา'ส.ส.สีส้ม'ถ้าโดนยุบเอาไงต่อ?
ไทม์ไลน์ 10 เดือนคดีเงินกู้ อนค.จากคำพูด‘ธนาธร’ถึงศาล รธน.-21 ก.พ. รอดหรือยุบ?
ศาล รธน.ไร้อำนาจยุบพรรค!‘ปิยบุตร’ แจงคดีกู้เงิน-รับความสามารถระดมทุนไม่เท่ากัน
รอศาล รธน.วินิจฉัยก่อน!ปธ.กกต. ชี้เงินกู้ อนค.-พรรคอื่นต่างกัน-คดีอาญา‘ธนาธร’งวดแล้ว
กกต.โดนอีก! ‘ธนาธร’จ่อฟ้องรายคนปมชงศาล รธน.ยุบ อนค.-ท้าสอบเงินกู้ได้มามิชอบอย่างไร
อนค.โต้ศาล รธน.! ไม่เปิดไต่สวนเป็นธรรมหรือไม่-หลังตีตกคำร้องแต่ขยายเวลายื่นคำให้การ
‘ปิยบุตร’ค้านคำสั่งศาล รธน.ขอให้เปิดไต่สวนพยาน-อ้างสื่อตีข่าวตุลาการฯเก่าตัดสินทิ้งทวน
มั่นใจไม่ถูกยุบ! ‘ปิยบุตร’แถลงแจงปมร้อนศาล รธน.นัดวินิจฉัยคดีกู้เงิน 21 ก.พ.
ศาล รธน.นัดชี้ชะตา! วินิจฉัยคดียุบ อนค. กู้เงิน 21 ก.พ.-ปมเสียบบัตร 7 ก.พ.
ขอศาล รธน.เปิดไต่สวนพยาน!โฆษก อนค. เผยส่งเอกสารเพิ่มคดีกู้เงินครบ-มั่นใจทำถูกต้อง
‘จารุวรรณ’ร้องสอดศาล รธน.ขอขยาย 30 วันแจง อนค.คดีกู้เงิน-ชี้ กกต.ยังไม่เปิดสำนวน
ทำตามขั้นตอน! กกต.แจงปมเอกสารลับยกคำร้องคดี อนค.กู้เงิน-สั่งสอบคนปล่อยหลุด
ศาล รธน.นัดวินิจฉัยคดี อนค.ล้มล้างการปกครอง 21 ม.ค. 63-สั่งแจงปมกู้เงินใน 15 วัน
อนค.เผยศาล รธน.ไม่รับคำร้องไต่สวนพยานคดีล้มล้างการปกครอง-รอนัดฟังคำวินิจฉัย
ปัดใช้เวลา 89 วันชงยุบพรรค! กกต.แจงรับคำร้องสอบ อนค.กู้เงิน'ธนาธร'ตั้งแต่ พ.ค.62
กกต.ยื่นศาล รธน.วินิจฉัยยุบ อนค.แล้ว-ลุ้น 18 ธ.ค.เข้าที่ประชุมตุลาการฯหรือไม่
เผยเหตุผล กกต.ชงศาล รธน.ยุบ อนค. ชี้ข้อเท็จจริงยุติแล้วเหลือแค่ตีความ กม.
กาง กม.ค้นเบื้องหลัง! กกต.ฟัน อนค. คดีกู้เงิน-จับตา 3 เส้นทาง(หาก)พรรคถูกยุบ?
คำต่อคำ 'ปิยบุตร' : กกต.ลงมติส่ง ศาลรธน.ยุบอนาคตใหม่ ..วันนี้เป็นวันอัปยศอีกครั้งหนึ่ง
กฎหมายไม่เปิดช่องให้ทำ! มติ กกต.ชงศาล รธน.ยุบอนาคตใหม่ปมกู้เงิน'ธนาธร'
ปัดมีใบสั่งการเมือง! กกต.โต้‘พรรณิการ์’ คดี อนค.กู้เงิน ยันเลขาฯมีสิทธิเสนอความเห็น
‘ปิยบุตร’โต้ กกต.คดี อนค.กู้เงิน ยันส่งหลักฐานสำคัญไปหมดแล้ว-ขู่ฟ้องใช้อำนาจมิชอบ
กกต.ตัดหลักฐานที่เหลือคดี อนค.กู้เงิน ‘ธนาธร’ 191 ล.เหตุส่งช้า-ชงที่ประชุม 11 ธ.ค.
กกต.ขยายให้แค่ 6 วัน! ขีดเส้น 2 ธ.ค. อนค.ต้องส่งเอกสารเพิ่มปมกู้เงิน‘ธนาธร’
กกต.เรียกหลักฐานเพิ่มจาก อนค.ปมกู้เงิน'ธนาธร' 191 ล.-ก่อนนี้อนุฯขอแล้วไม่ส่งให้
กาง กม.พรรคการเมือง ชำแหละปม ‘ธนาธร’ปล่อยกู้อนาคตใหม่ได้ไหม-ใช้คืนอย่างไร?
ปมใหม่‘ธนาธร’ปล่อยกู้ อนค.191 ล.รับคืนแล้วบางส่วน ไฉน! ไม่แจ้งรายได้กับ ป.ป.ช.?
โชว์ละเอียดสัญญาปล่อยกู้‘ธนาธร-อนค.’ 2 ครั้ง 191 ล.-คิดดอกเบี้ยไม่เท่ากัน?
‘ธนาธร’ตั้งข้อสังเกต 5 ปมถูกศาล รธน. ฟันพ้น ส.ส.ยันหลักฐานโอนหุ้นเป็นไปตาม กม.
4 ข้อสังเกต‘อิศรา’คดีหุ้น‘วี-ลัค มีเดีย’ สอดคล้อง คำวินิจฉัยศาล รธน.-หลักฐานเชิงประจักษ์
@32 พรรคอื่นปมกู้เงิน
ขมวดข้อเท็จจริง 8 พรรคแจ้งกู้เงินจาก หัวหน้า-กก.-คนนอก มิใช่เงินทดรองจ่าย?
เจออีก! 9 พรรคเล็กแจ้งมีเงินกู้-ทดรองจ่าย กกต.ลุยสอบ-ยอดพุ่ง 32 พรรค
อย่างน้อย 23 พรรคแจ้งกู้เงิน! ชัด ๆ รายละเอียดสัญญา-วัดบรรทัดฐาน กกต.?
อนค.เอฟเฟกต์! กกต.แจงสอบอยู่ปมพรรคการเมืองอื่นกู้เงิน-พบฝ่าฝืน กม. ดำเนินการแน่
ซ้ำรอยอนาคตใหม่! ‘ศรีสุวรรณ’ลุยร้อง กกต.สอบ 16 พรรคการเมืองปมกู้เงิน
คุ้ยเจออีก 7 พรรคเล็ก! แจ้งหนี้สินมีเงินกู้ยืม-ทดรองจ่าย? ยอดรวม 15 พรรค
ไม่ตรงตามธงเลยหาช่อง! ‘ปิยบุตร’แจงปม อนค.กู้เงิน-จี้ กกต.ต้องมีบรรทัดฐานให้ชัด
ไม่ใช่แค่ อนค.! เปิดอีก 7 พรรคกู้ยืมเงิน กก.บริหารฯหลักสิบล.-ใช้เป็นเงินทดรองจ่าย?
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/