กาง 4 แนวทางคำวินิจฉัยศาล รธน. คดีเงินกู้ อนค.-ชี้ชะตา'ส.ส.สีส้ม'ถ้าโดนยุบเอาไงต่อ?
กาง พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ วิเคราะห์ 4 แนวทางคำวินิจฉัยของศาล รธน. คดีเงินกู้อนาคตใหม่ ยุบพรรค-รอดแต่ตัดสิทธิ์แค่ กก.บห.-ไร้ความผิด ชี้ชะตา 'ส.ส.สีส้ม' วัดบรรทัดฐานอีก 31 พรรคจ่อคิวรอ กกต.สอบต่อ รอดูผล ?
วันสุดท้ายนับถอยหลัง 21 ก.พ. 2563 เวลา 15.00 น. เป็นต้นไป ศาลรัฐธรรมนูญนัดชี้ชะตาฟังคำวินิจฉัยคดีพรรคอนาคตใหม่กู้เงินนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค 191.2 ล้านบาท หลังนายธนาธรพูดเปิดประเด็นนี้ไว้ตั้งแต่ช่วงเดือน พ.ค. 2562 นำไปสู่การร้องสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ดำเนินการไต่สวน ท้ายที่สุดส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญ รวมใช้ระยะเวลาประมาณ 10 เดือน
อย่างที่หลายคนทราบไปแล้วว่า ข้อเท็จจริงกรณีนี้ถึงที่สุดแล้วคือ พรรคอนาคตใหม่ มีการกู้เงินจากนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จริง อย่างน้อย 2 ครั้ง ครั้งแรกเดือน ม.ค. 2562 วงเงิน 161.2 ล้านบาท และครั้งที่สองเดือน เม.ย. 2562 วงเงิน 30 ล้านบาท รวม 191.2 ล้านบาท
โดยปรากฏเอกสารหลักฐานทั้งจากการแจ้งบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของนายธนาธร ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีเข้ารับตำแหน่ง ส.ส. เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2562 ระบุไว้ในส่วน ‘เงินให้กู้ยืม’ พร้อมแนบเอกสารเป็นสัญญากู้เงินประกอบ นอกจากนี้ในรายงานงบการเงินของพรรคการเมืองประจำปี 2561 พรรคอนาคตใหม่ยังระบุหมายเหตุ เฉพาะในส่วนของการกู้เงินจากนายธนาธร สัญญาแรก 161 ล้านบาทไว้ด้วย (อ่านประกอบ : ไทม์ไลน์ 10 เดือนคดีเงินกู้ อนค.จากคำพูด‘ธนาธร’ถึงศาล รธน.-21 ก.พ. รอดหรือยุบ?)
ดังนั้นจึงเหลือแค่ประเด็นข้อกฎหมายเท่านั้นว่า ทำได้หรือไม่ อย่างไร ?
สำหรับกฎหมายที่คาดว่าจะถูกศาลรัฐธรรมนูญนำไปประกอบการวินิจฉัย น่าจะเป็น พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ กกต. นำมาไต่สวนตั้งแต่ต้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สรุปให้ทราบ ดังนี้
มาตรา 62 พรรคการเมืองอาจมีรายได้ดังต่อไปนี้ (1) เงินทุนประเดิมตามมาตรา 9 วรรคสอง (2) เงินค่าธรรมเนียมและค่าบำรุงพรรคการเมืองตามที่กำหนดในข้อบังคับ (3) เงินที่ได้จากการจำหน่ายสินค้าหรือบริการของพรรคการเมือง (4) เงิน ทรัพย์สิน และประโยชน์อื่นใดที่ได้จากการจัดกิจกรรมระดมทุนของพรรคการเมือง (5) เงิน ทรัพย์สิน และประโยชน์อื่นใดที่ได้จากการรับบริจาค (6) เงินอุดหนุนจากกองทุน (7) ดอกผลและรายได้ที่เกิดจากเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดของพรรคการเมือง
การได้มาซึ่งรายได้ตาม (2) (3) (4) และ (5) ต้องมีใบเสร็จรับเงิน หรือหลักฐานการได้มาซึ่งรายได้นั้นเป็นหนังสือ ทั้งนี้ตามแบบที่คณะกรรมการฯ (กกต.) กำหนด
การจำหน่ายสินค้าหรือบริการตาม (3) และการจัดกิจกรรมระดมทุนของพรรคการเมืองตาม (4) ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการฯ กำหนด
รายได้ของพรรคการเมืองจะนำไปใช้เพื่อการอื่นใด นอกจากการดำเนินงานของพรรคการเมืองมิได้
มาตรา 66 บุคคลใดจะบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดให้แก่พรรคการเมืองมีมูลค่าเกิน 10 ล้านบาท/พรรคการเมือง/ปีมิได้ และในกรณีที่บุคคลนั้นเป็นนิติบุคคล การบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดให้แก่พรรคการเมืองไม่ว่าพรรคเดียวหรือหลายพรรคเกินปีละ 5 ล้านบาท ต้องแจ้งให้ที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นทราบในการประชุมใหญ่คราวต่อไปหลังจากบริจาคแล้ว
พรรคการเมืองจะรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดซึ่งมีมูลค่าเกินวรรคหนึ่งมิได้
โดยบทกำหนดโทษของมาตรานี้อยู่ในมาตรา 124 ระบุว่า ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 66 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด 5 ปี
ในกรณีที่ผู้กระทำผิดตามวรรคหนึ่งเป็นนิติบุคคล ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวเกิดจากการสั่งการหรือการกระทำของบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคล ให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของบุคคล ซึ่งสั่งการหรือรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้นด้วย
มาตรา 72 ห้ามมิให้พรรคการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
สำหรับบทกำหนดโทษของมาตรานี้อยู่ในมาตรา 126 ระบุว่า ผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 72 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น
นอกจากนี้ยังโยงถึงมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) ระบุว่า เมื่อคณะกรรมการมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองกระทำการฝ่าฝืนมาตรา 20 วรรคสอง มาตรา 28 มาตรา 30 มาตรา 36 มาตรา 44 มาตรา 45 มาตรา 46 มาตรา 72 หรือมาตรา 74
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการไต่สวนแล้ว มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองจะทำการตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลรัฐธรรมนูญ ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น
อธิบายให้ง่ายคือ กกต. เริ่มดำเนินการไต่สวนคดีกู้เงินของพรรคอนาคตใหม่ โดยอ้างอิงตามมาตรา 62 และมาตรา 66 ต่อมาท้ายที่สุด กกต. เคาะเอาผิดตามมาตรา 72 ซึ่งโยงกับมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรค
เมื่อทราบข้อกฎหมายกันไปแล้ว แนวทางคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะออกมาหน้าไหนได้บ้าง ?
หนึ่ง ยุบพรรคและตัดสิทธิ์คณะกรรมการบริหารพรรคทั้งหมด
อย่างไรก็ดีอยู่ที่การตีความมาตรา 72 ว่า เงินกู้จากนายธนาธร เข้าข่ายรับบริจาคเงิน หรือทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะบางฝ่ายตีความว่า เงินกู้ดังกล่าวอาจเข้าข่ายเป็นเงินโดยมิชอบด้วยกฎหมาย บางฝ่ายเห็นว่า เงินมิชอบด้วยกฎหมายนั้น อาจหมายความว่า เป็น ‘เงินสีเทา’ จากธุรกิจที่ผิดกฎหมาย เป็นต้น
สอง ไม่ยุบพรรค แต่สั่งให้ กกต. ดำเนินคดีอาญา-ตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค
อาจเล็งเห็นความผิดเป็นการเฉพาะตัวระหว่างนายธนาธร กับคณะกรรมการบริหารพรรค ตามมาตรา 126 อย่างไรก็ดีต้องตีความข้อกฎหมายไปอีกว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจดำเนินการเอง หรืออาจอาศัยอำนาจตามมาตรา 74 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 ซึ่งเป็นช่องทางใหม่ สั่งการให้ กกต. ดำเนินการฟ้องศาลอาญาเพื่อดำเนินคดีนี้ (เหมือนกรณีที่สั่งให้สภาผู้แทนราษฎรโหวตร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯปี 2563 วาระที่ 2-3 ใหม่ภายใน 30 วัน)
สาม ไม่ยุบพรรค แต่ตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคเอง
แนวทางนี้เกี่ยวเนื่องกับแนวทางที่สอง คือไม่ยุบพรรค แต่อาจเห็นว่ามี ‘ช่องทางบางอย่าง’ ในการตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคด้วยตัวเอง ส่วนการดำเนินคดีอาญาอาจสั่งให้ กกต. ไปดำเนินการแทน
สี่ ไม่ยุบพรรค ไม่มีความผิด
อย่างไรก็ดีต้องไม่ลืมว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ อาจส่งผลสะเทือนไม่น้อย และนำมาเป็นบรรทัดฐานกับพรรคการเมืองอย่างน้อย 31 พรรค (ไม่นับพรรคอนาคตใหม่ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้ว) ถูกกล่าวหาว่ามีพฤติการณ์กู้เงิน กู้ยืมระยะสั้น เงินทดรองจ่าย จากกรรมการบริหารพรรค สมาชิกพรรค หรือคนนอก ที่จ่อคิวรอสอบอยู่ในชั้น กกต. ด้วย (อ่านประกอบ : เจออีก! 9 พรรคเล็กแจ้งมีเงินกู้-ทดรองจ่าย กกต.ลุยสอบ-ยอดพุ่ง 32 พรรค)
อีกประเด็นที่เกี่ยวพันต่อเนื่องกันคือถ้าผลออกมาเลวร้ายที่สุดคือ พรรคถูกยุบและคณะกรรมการบริหารพรรคทั้งหมดโดนตัดสิทธิ์ จะเป็นอย่างไร ?
รัฐธรรมนูญ มาตรา 101 ระบุว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง เมื่อ (10) ขาดจากการเป็นสมาชิกของพรรคการเมือง แต่ในกรณีที่ขาดจากการเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองเพราะมีคําสั่งยุบพรรคการเมืองที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้นั้นเป็นสมาชิก และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้นั้นไม่อาจเข้าเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองอื่นได้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่มีคําสั่งยุบพรรคการเมือง ในกรณีเช่นนี้ให้ถือว่าสิ้นสุดสมาชิกภาพนับแต่วันถัดจากวันที่ครบกําหนดหกสิบวันนั้น
นั่นหมายความว่า คณะกรรมการบริหารพรรคทั้งหมด 16 ราย เป็น ส.ส. จำนวน 11 ราย (เดิม 12 ราย แต่นายธนาธร ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นสภาพไปก่อนหน้านี้) จะต้องสิ้นสภาพความเป็น ส.ส. และทำให้ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ จากเดิมมี 80 ราย ลดเหลือ 69 รายเท่านั้น และต้องหาสังกัดพรรคใหม่ภายใน 60 วัน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 หากเกินกำหนดให้ถือว่าพ้นสมาชิกภาพ ส.ส.
ความเป็นไปได้ของอนาคตทางการเมือง ส.ส. อีก 69 ราย จะไปอยู่ตรงจุดไหน ?
หนึ่ง ดำเนินการตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาใหม่ เพราะต้องไม่ลืมว่านอกเหนือจากนายธนาธร นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค และ น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรค แล้ว ยังมี ส.ส. ‘ระดับนำ’ อีกหลายราย เช่น นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ทายาทนักการเมืองดัง หรือนายรังสิมันต์ โรม ลูกศิษย์ก้นกุฏิของนายปิยบุตร นี่ยังไม่นับนายชัยธวัธ ตุลาธน รองเลขาธิการพรรค หนึ่งในสามผู้ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ ที่ไม่ได้เป็นกรรมการบริหารพรรค หลุดรอดการถูกตัดสิทธิทางการเมืองครั้งนี้ อาจดำเนินการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ เพื่อต่อสู้ทางการเมืองในระบบรัฐสภาอีกครั้ง
สอง ส.ส. อีก 69 ชีวิตที่เหลือ อาจย้ายไปซบพรรคการเมืองพรรคอื่น อาจเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้าน หรือพรรคร่วมฝ่ายรัฐบาล ตรงนี้ยังไม่มีใครคอนเฟิร์มแน่ชัด แต่อย่างน้อยที่สุด ส.ส. พรรคนี้จำนวนหนึ่งที่ถูกกล่าวหาว่าเป็น ‘งูเห่าสีส้ม’ อาจไม่อยู่ล่มหัวจมท้ายด้วยกันอีกแล้ว และนั่นอาจทำให้ยอด ส.ส. ลดลงจากเดิมเข้าไปอีก
สาม ในสถานการณ์สุกงอมที่สุดแล้ว เป็นไปได้หรือไม่ว่าจะมีการนำมวลชนลงต่อสู้ทางการเมืองบนท้องถนน ?
ทั้งหมดคือแนวทางความเป็นไปได้ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญคดีเงินกู้ของพรรคอนาคตใหม่ ท้ายที่สุดผลจะออกมาเป็นอย่างไร ต้องติดตามในวันที่ 21 ก.พ. บ่ายสาม ห้ามพลาด!
อ่านประกอบ :
@คดีกู้เงินพรรคอนาคตใหม่
ไทม์ไลน์ 10 เดือนคดีเงินกู้ อนค.จากคำพูด‘ธนาธร’ถึงศาล รธน.-21 ก.พ. รอดหรือยุบ?
ศาล รธน.ไร้อำนาจยุบพรรค!‘ปิยบุตร’ แจงคดีกู้เงิน-รับความสามารถระดมทุนไม่เท่ากัน
รอศาล รธน.วินิจฉัยก่อน!ปธ.กกต. ชี้เงินกู้ อนค.-พรรคอื่นต่างกัน-คดีอาญา‘ธนาธร’งวดแล้ว
กกต.โดนอีก! ‘ธนาธร’จ่อฟ้องรายคนปมชงศาล รธน.ยุบ อนค.-ท้าสอบเงินกู้ได้มามิชอบอย่างไร
อนค.โต้ศาล รธน.! ไม่เปิดไต่สวนเป็นธรรมหรือไม่-หลังตีตกคำร้องแต่ขยายเวลายื่นคำให้การ
‘ปิยบุตร’ค้านคำสั่งศาล รธน.ขอให้เปิดไต่สวนพยาน-อ้างสื่อตีข่าวตุลาการฯเก่าตัดสินทิ้งทวน
มั่นใจไม่ถูกยุบ! ‘ปิยบุตร’แถลงแจงปมร้อนศาล รธน.นัดวินิจฉัยคดีกู้เงิน 21 ก.พ.
ศาล รธน.นัดชี้ชะตา! วินิจฉัยคดียุบ อนค. กู้เงิน 21 ก.พ.-ปมเสียบบัตร 7 ก.พ.
ขอศาล รธน.เปิดไต่สวนพยาน!โฆษก อนค. เผยส่งเอกสารเพิ่มคดีกู้เงินครบ-มั่นใจทำถูกต้อง
‘จารุวรรณ’ร้องสอดศาล รธน.ขอขยาย 30 วันแจง อนค.คดีกู้เงิน-ชี้ กกต.ยังไม่เปิดสำนวน
ทำตามขั้นตอน! กกต.แจงปมเอกสารลับยกคำร้องคดี อนค.กู้เงิน-สั่งสอบคนปล่อยหลุด
ศาล รธน.นัดวินิจฉัยคดี อนค.ล้มล้างการปกครอง 21 ม.ค. 63-สั่งแจงปมกู้เงินใน 15 วัน
อนค.เผยศาล รธน.ไม่รับคำร้องไต่สวนพยานคดีล้มล้างการปกครอง-รอนัดฟังคำวินิจฉัย
ปัดใช้เวลา 89 วันชงยุบพรรค! กกต.แจงรับคำร้องสอบ อนค.กู้เงิน'ธนาธร'ตั้งแต่ พ.ค.62
กกต.ยื่นศาล รธน.วินิจฉัยยุบ อนค.แล้ว-ลุ้น 18 ธ.ค.เข้าที่ประชุมตุลาการฯหรือไม่
เผยเหตุผล กกต.ชงศาล รธน.ยุบ อนค. ชี้ข้อเท็จจริงยุติแล้วเหลือแค่ตีความ กม.
กาง กม.ค้นเบื้องหลัง! กกต.ฟัน อนค. คดีกู้เงิน-จับตา 3 เส้นทาง(หาก)พรรคถูกยุบ?
คำต่อคำ 'ปิยบุตร' : กกต.ลงมติส่ง ศาลรธน.ยุบอนาคตใหม่ ..วันนี้เป็นวันอัปยศอีกครั้งหนึ่ง
กฎหมายไม่เปิดช่องให้ทำ! มติ กกต.ชงศาล รธน.ยุบอนาคตใหม่ปมกู้เงิน'ธนาธร'
ปัดมีใบสั่งการเมือง! กกต.โต้‘พรรณิการ์’ คดี อนค.กู้เงิน ยันเลขาฯมีสิทธิเสนอความเห็น
‘ปิยบุตร’โต้ กกต.คดี อนค.กู้เงิน ยันส่งหลักฐานสำคัญไปหมดแล้ว-ขู่ฟ้องใช้อำนาจมิชอบ
กกต.ตัดหลักฐานที่เหลือคดี อนค.กู้เงิน ‘ธนาธร’ 191 ล.เหตุส่งช้า-ชงที่ประชุม 11 ธ.ค.
กกต.ขยายให้แค่ 6 วัน! ขีดเส้น 2 ธ.ค. อนค.ต้องส่งเอกสารเพิ่มปมกู้เงิน‘ธนาธร’
กกต.เรียกหลักฐานเพิ่มจาก อนค.ปมกู้เงิน'ธนาธร' 191 ล.-ก่อนนี้อนุฯขอแล้วไม่ส่งให้
กาง กม.พรรคการเมือง ชำแหละปม ‘ธนาธร’ปล่อยกู้อนาคตใหม่ได้ไหม-ใช้คืนอย่างไร?
ปมใหม่‘ธนาธร’ปล่อยกู้ อนค.191 ล.รับคืนแล้วบางส่วน ไฉน! ไม่แจ้งรายได้กับ ป.ป.ช.?
โชว์ละเอียดสัญญาปล่อยกู้‘ธนาธร-อนค.’ 2 ครั้ง 191 ล.-คิดดอกเบี้ยไม่เท่ากัน?
‘ธนาธร’ตั้งข้อสังเกต 5 ปมถูกศาล รธน. ฟันพ้น ส.ส.ยันหลักฐานโอนหุ้นเป็นไปตาม กม.
4 ข้อสังเกต‘อิศรา’คดีหุ้น‘วี-ลัค มีเดีย’ สอดคล้อง คำวินิจฉัยศาล รธน.-หลักฐานเชิงประจักษ์
@32 พรรคอื่นปมกู้เงิน
ขมวดข้อเท็จจริง 8 พรรคแจ้งกู้เงินจาก หัวหน้า-กก.-คนนอก มิใช่เงินทดรองจ่าย?
เจออีก! 9 พรรคเล็กแจ้งมีเงินกู้-ทดรองจ่าย กกต.ลุยสอบ-ยอดพุ่ง 32 พรรค
อย่างน้อย 23 พรรคแจ้งกู้เงิน! ชัด ๆ รายละเอียดสัญญา-วัดบรรทัดฐาน กกต.?
อนค.เอฟเฟกต์! กกต.แจงสอบอยู่ปมพรรคการเมืองอื่นกู้เงิน-พบฝ่าฝืน กม. ดำเนินการแน่
ซ้ำรอยอนาคตใหม่! ‘ศรีสุวรรณ’ลุยร้อง กกต.สอบ 16 พรรคการเมืองปมกู้เงิน
คุ้ยเจออีก 7 พรรคเล็ก! แจ้งหนี้สินมีเงินกู้ยืม-ทดรองจ่าย? ยอดรวม 15 พรรค
ไม่ตรงตามธงเลยหาช่อง! ‘ปิยบุตร’แจงปม อนค.กู้เงิน-จี้ กกต.ต้องมีบรรทัดฐานให้ชัด
ไม่ใช่แค่ อนค.! เปิดอีก 7 พรรคกู้ยืมเงิน กก.บริหารฯหลักสิบล.-ใช้เป็นเงินทดรองจ่าย?
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/