กาง กม.ค้นเบื้องหลัง! กกต.ฟัน อนค. คดีกู้เงิน-จับตา 3 เส้นทาง(หาก)พรรคถูกยุบ?
“…เมื่อย้อนคำให้สัมภาษณ์ของ น.ส.พรรณิการ์ เคยระบุว่า การกู้เงินครั้งนี้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารพรรคแล้ว หมายความว่า คณะกรรมการบริหารพรรคทั้งหมด อาจเข้าข่ายถูกบทลงโทษตามมาตรา 126 ด้วยหรือไม่ เพราะมีส่วนรู้เห็นเกี่ยวกับการกู้เงินของพรรค ?...”
อุณหภูมิทางการเมืองกำลังร้อนฉ่าทุกองศา !
พลันที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 2 เสียง ให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญ ‘ยุบพรรค’ อนาคตใหม่ กรณีกู้เงินนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ วงเงิน 191.2 ล้านบาท โดยเห็นว่าฝ่าฝืน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 72 กรณีรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (อ่านประกอบ : กฎหมายไม่เปิดช่องให้ทำ! มติ กกต.ชงศาล รธน.ยุบอนาคตใหม่ปมกู้เงิน'ธนาธร')
เสียงวิจารณ์ทั้งทางบวกและทางลบกระหน่ำใส่ กกต. โดยทันที โดยเฉพาะนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ออกมาแถลงข่าวตั้งข้อสังเกตถึงประเด็นนี้เป็นฉาก ๆ ว่า เป็นการเร่งรัดดำเนินคดีหรือไม่ พร้อมหล่นวาทะ “เป็นวันอัปยศอีกครั้งหนึ่งในการทำหน้าที่ขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ” (อ่านประกอบ : คำต่อคำ 'ปิยบุตร' : กกต.ลงมติส่ง ศาลรธน.ยุบอนาคตใหม่ ..วันนี้เป็นวันอัปยศอีกครั้งหนึ่ง)
หลายคนอาจยังไม่ทราบว่า ประเด็นนี้ถูกเปิดขึ้นโดยนายธนารธเอง ตั้งแต่ช่วงเดือน พ.ค. 2562 เมื่อหล่นคำพูดต่อหน้าสื่อมวลชนที่สมาคมนักข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย ระบุว่า พรรคอนาคตใหม่เป็นหนี้ตนอยู่ประมาณ 110 ล้านบาท เพราะระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งรอบนี้ พรรคไม่สามารถหาเงินระดมทุนได้ทันเวลาสำหรับการหาเสียง ต่อมา น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ ออกมาชี้แจงว่า ไม่ได้เป็นการยืมเงิน แต่เป็นการปล่อยกู้ โดยมีตัวเลขอยู่ระหว่าง 90-110 ล้านบาท และการกู้เงินครั้งนี้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารพรรคแล้ว และพรรคจะเป็นผู้จ่ายเงินคืนแก่นายธนาธรทั้งหมด ส่งผลให้มีผู้ร้องเรียนต่อ กกต. ให้ตรวจสอบว่า การกู้เงินดังกล่าวทำได้หรือไม่ เพราะตาม พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ ไม่เปิดช่องให้สามารถทำได้
(นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ แถลงด่วนหลัง กกต. มีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคอนาคตใหม่)
เพื่อให้สาธารณชนเข้าใจที่มาที่ไปมากขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปข้อกฎหมายเกี่ยวกับกรณีนี้มาให้ทราบ ดังนี้
ตาม พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ พ.ศ. 2560 มีมาตราที่บัญญัติเกี่ยวกับวิธีการหาเงินเข้าพรรคอย่างน้อย 3 มาตรา ได้แก่ มาตรา 58, 59 และ 60 สรุปได้ว่า พรรคการเมืองต้องจัดทำบัญชีของพรรค ประกอบด้วย บัญชีรายวันแสดงรายได้หรือรายรับ และแสดงค่าใช้จ่ายหรือรายจ่าย บัญชีแสดงรายรับจากการบริจาค บัญชีแยกประเภท และบัญชีแสดงสินทรัพย์และหนี้สิน โดยงบแสดงฐานะการเงินต้องแสดงรายการสินทรัพย์ หนี้สิน และทุนของพรรคการเมือง ทั้งต้องแสดงที่มาของรายได้ตามมาตรา 62 และค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของพรรคการเมืองไว้ชัดเจน โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง และรายการอื่นตามที่ กกต. กำหนด
ส่วนมาตรา 62 ระบุว่า พรรคการเมืองอาจมีรายได้ ดังต่อไปนี้
1.เงินทุนประเดิมตามมาตรา 9 วรรคสอง (ทุนประเดิมไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท โดยผู้ร่วมกันจัดตั้งพรรคการเมืองทุกคนต้องร่วมกันจ่ายเพื่อเป็นทุนประเดิมคนละไม่น้อยกว่า 1 พันบาท แต่ไม่เกินคนละ 5 หมื่นบาท) 2.เงินค่าธรรมเนียมและค่าบำรุงพรรคการเมืองตามที่กำหนดในข้อบังคับ 3.เงินที่ได้จากการจำหน่ายสินค้าหรือบริการของพรรค 4.เงิน ทรัพย์สิน และประโยชน์อื่นใดที่ได้จากการจัดกิจกรรมระดมทุนของพรรค 5.เงิน ทรัพย์สิน และประโยชน์อื่นใดที่ได้จากการรับบริจาค 6.เงินอุดหนุนจากกองทุน 7.ดอกผล และรายได้ที่เกิดจากเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดของพรรคการเมือง
โดยการได้มาซึ่งรายได้ตาม 2. 3. 4. 5. ต้องมีใบเสร็จรับเงิน หรือหลักฐานการได้มาซึ่งรายได้นั้นเป็นหนังสือ ทั้งนี้ตามที่ กกต. กำหนด ส่วนการจำหน่ายสินค้าหรือบริการตาม 3. และการจัดกิจกรรมระดมทุนพรรคตาม 4. ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามที่ กกต. กำหนด ทั้งนี้รายไดของพรรคการเมืองจะนำไปใช้เพื่อการอื่นใด นอกจากการดำเนินงานของพรรคมิได้
ขณะที่มาตรา 66 บุคคลใดจะบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่พรรคการเมือง มีมูลค่าเกิน 10 ล้านบาทต่อพรรคการเมืองต่อปีมิได้ และในกรณีที่บุคคลนั้นเป็นนิติบุคคล การบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดให้แก่พรรคการเมืองไม่ว่าพรรคเดียว หรือหลายพรรค เกินปีละ 5 ล้านบาท ต้องแจ้งให้ที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นทราบในการประชุมใหญ่คราวต่อไปหลังจากบริจาคไปแล้ว
พรรคการเมืองจะรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดซึ่งมีมูลค่าเกินกว่าวรรคหนึ่งมิได้
เมื่อพิจารณาจากข้อกฎหมายข้างต้น เห็นได้ว่า ไม่มีมาตราใดเลย ‘เปิดช่อง’ ให้พรรคอนาคตใหม่สามารถใช้วิธีหาเงินเข้าพรรคในลักษณะ ‘กู้เงิน’ หรือ ‘ยืมเงิน’ ได้ ?
นั่นจึงนำไปสู่ประเด็นที่ กกต. มีมติและส่งศาลรัฐธรรมนูญคือ มาตรา 72 ห้ามมิให้พรรคการเมืองและผู้ดํารงตําแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงินทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
(คณะกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ 16 ราย ที่อาจถูกตัดสิทธิการเมือง หากศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรค)
ซึ่งเกี่ยวโยงกับ มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) เมื่อคณะกรรมการมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทําการฝ่าฝืนมาตรา 20 วรรคสอง มาตรา 28 มาตรา 30 มาตรา 36 มาตรา 44 มาตรา 45 มาตรา 46 มาตรา 72 หรือมาตรา 74 ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อยุบพรรคการเมืองนั้น ห้ามมิให้พรรคการเมืองและผู้ดํารงตําแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงินทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญดําเนินการไต่สวนแล้ว มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองกระทําการตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น
ประเด็นต่อมาเกี่ยวกับบทลงโทษหากฝ่าฝืนมาตรา 72 ได้แก่ มาตรา 126 ผู้ดํารงตําแหน่งในพรรคการเมืองผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 72 ต้องระวางโทษจําคุก ไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น
นั่นหมายความว่า ในทางลบที่สุด หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ นอกเหนือจากคณะกรรมการบริหารพรรคที่ต้องสิ้นสภาพ ส.ส. และถูกตัดสิทธิทางการเมืองแล้ว ยังอาจถูกจำคุกด้วย
เมื่อย้อนคำให้สัมภาษณ์ของ น.ส.พรรณิการ์ เคยระบุว่า การกู้เงินครั้งนี้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารพรรคแล้ว หมายความว่า คณะกรรมการบริหารพรรคทั้งหมด อาจเข้าข่ายถูกบทลงโทษตามมาตรา 126 ด้วยหรือไม่ เพราะมีส่วนรู้เห็นเกี่ยวกับการกู้เงินของพรรค ?
(มติ กกต.ส่งศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคอนาคตใหม่ ระบุข้อความเพียง 8 บรรทัด)
อีกประเด็นที่เกี่ยวพันต่อเนื่องกันคือ รัฐธรรมนูญ มาตรา 101 ระบุว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง เมื่อ (10) ขาดจากการเป็นสมาชิกของพรรคการเมือง แต่ในกรณีที่ขาดจากการเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองเพราะมีคําสั่งยุบพรรคการเมืองที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้นั้นเป็นสมาชิก และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้นั้นไม่อาจเข้าเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองอื่นได้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่มีคําสั่งยุบพรรคการเมือง ในกรณีเช่นนี้ให้ถือว่าสิ้นสุดสมาชิกภาพนับแต่วันถัดจากวันที่ครบกําหนดหกสิบวันนั้น
นั่นหมายความว่า คณะกรรมการบริหารพรรคทั้งหมด 16 ราย เป็น ส.ส. จำนวน 11 ราย (เดิม 12 ราย แต่นายธนาธร ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นสภาพไปก่อนหน้านี้) จะต้องสิ้นสภาพความเป็น ส.ส. และทำให้ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ จากเดิมมี 80 ราย ลดเหลือ 69 รายเท่านั้น และต้องหาสังกัดพรรคใหม่ภายใน 60 วัน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 หากเกินกำหนดให้ถือว่าพ้นสมาชิกภาพ ส.ส.
ประเด็นถัดมาคือ ความเป็นไปได้ของอนาคตทางการเมือง ส.ส. อีก 69 ราย จะไปอยู่ตรงจุดไหน ?
หนึ่ง ดำเนินการตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาใหม่ เพราะต้องไม่ลืมว่านอกเหนือจากนายธนาธร นายปิยบุตร และ น.ส.พรรณิการ์ แล้ว ยังมี ส.ส. ‘ระดับนำ’ อีกหลายราย เช่น นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ทายาทนักการเมืองดัง หรือนายรังสิมันต์ โรม ลูกศิษย์ก้นกุฏิของนายปิยบุตร นี่ยังไม่นับนายชัยธวัธ ตุลาธน รองเลขาธิการพรรค หนึ่งในสามผู้ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ ที่ไม่ได้เป็นกรรมการบริหารพรรค หลุดรอดการถูกตัดสิทธิทางการเมืองครั้งนี้ อาจดำเนินการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ เพื่อต่อสู้ทางการเมืองในระบบรัฐสภาอีกครั้ง
สอง ส.ส. อีก 69 ชีวิตที่เหลือ อาจย้ายไปซบพรรคการเมืองพรรคอื่น อาจเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้าน หรือพรรคร่วมฝ่ายรัฐบาล ตรงนี้ยังไม่มีใครคอนเฟิร์มแน่ชัด แต่อย่างน้อยที่สุด ส.ส. พรรคนี้จำนวนหนึ่งที่ถูกกล่าวหาว่าเป็น ‘งูเห่าสีส้ม’ อาจไม่อยู่ล่มหัวจมท้ายด้วยกันอีกแล้ว และนั่นอาจทำให้ยอด ส.ส. ลดลงจากเดิมเข้าไปอีก
สาม ในสถานการณ์สุกงอมที่สุดแล้ว อาจเป็นไปได้หรือไม่ว่าจะมีการนำมวลชนลงต่อสู้ทางการเมืองบนท้องถนน ?
ทั้งหมดคือเงื่อนปมของพรรคอนาคตใหม่ คดีกู้เงินนายธนาธร เข้าสู่ช่วง ‘ระทึกขวัญ’ อย่างแท้จริง ต้องรอลุ้นว่าศาลรัฐธรรมนูญจะรับคดีนี้หรือไม่ และจะนัดไต่สวน หรือนัดวินิจฉัยวันใด
ส่วนบทสรุปท้ายที่สุดจะออกมาหน้าไหน ต้องรอลุ้นกัน !
อ่านประกอบ :
คำต่อคำ 'ปิยบุตร' : กกต.ลงมติส่ง ศาลรธน.ยุบอนาคตใหม่ ..วันนี้เป็นวันอัปยศอีกครั้งหนึ่ง
กฎหมายไม่เปิดช่องให้ทำ! มติ กกต.ชงศาล รธน.ยุบอนาคตใหม่ปมกู้เงิน'ธนาธร'
ปัดมีใบสั่งการเมือง! กกต.โต้‘พรรณิการ์’ คดี อนค.กู้เงิน ยันเลขาฯมีสิทธิเสนอความเห็น
‘ปิยบุตร’โต้ กกต.คดี อนค.กู้เงิน ยันส่งหลักฐานสำคัญไปหมดแล้ว-ขู่ฟ้องใช้อำนาจมิชอบ
กกต.ตัดหลักฐานที่เหลือคดี อนค.กู้เงิน ‘ธนาธร’ 191 ล.เหตุส่งช้า-ชงที่ประชุม 11 ธ.ค.
กกต.ขยายให้แค่ 6 วัน! ขีดเส้น 2 ธ.ค. อนค.ต้องส่งเอกสารเพิ่มปมกู้เงิน‘ธนาธร’
กกต.เรียกหลักฐานเพิ่มจาก อนค.ปมกู้เงิน'ธนาธร' 191 ล.-ก่อนนี้อนุฯขอแล้วไม่ส่งให้
กาง กม.พรรคการเมือง ชำแหละปม ‘ธนาธร’ปล่อยกู้อนาคตใหม่ได้ไหม-ใช้คืนอย่างไร?
ปมใหม่‘ธนาธร’ปล่อยกู้ อนค.191 ล.รับคืนแล้วบางส่วน ไฉน! ไม่แจ้งรายได้กับ ป.ป.ช.?
โชว์ละเอียดสัญญาปล่อยกู้‘ธนาธร-อนค.’ 2 ครั้ง 191 ล.-คิดดอกเบี้ยไม่เท่ากัน?
‘ธนาธร’ตั้งข้อสังเกต 5 ปมถูกศาล รธน. ฟันพ้น ส.ส.ยันหลักฐานโอนหุ้นเป็นไปตาม กม.
4 ข้อสังเกต‘อิศรา’คดีหุ้น‘วี-ลัค มีเดีย’ สอดคล้อง คำวินิจฉัยศาล รธน.-หลักฐานเชิงประจักษ์
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/